26 สิงหาคม ‘วันสุนัขโลก’ เปิดประวัติ ที่มา ส่องปัญหาสุนัขจรจัด

26 สิงหาคม ‘วันสุนัขโลก’ เปิดประวัติ ที่มา ส่องปัญหาสุนัขจรจัด

26 สิงหาคม ตรงกับ "วันสุนัขโลก" หรือ "วันสุนัขแห่งชาติ" ชวนทาสน้องหมาร่วมเฉลิมฉลองให้กับเพื่อนแท้ขนฟู ที่อยู่เคียงข้างมนุษย์มายาวนานกว่า 14,000 ปี พร้อมส่องปัญหา "สุนัขจรจัด" ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

ทาสน้องหมาต้องรู้! วันนี้ 26 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสุนัขแห่งชาติ" หรือ "วันสุนัขโลก" จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับเจ้าตูบสี่ขา เพื่อนแท้ที่อยู่เคียงข้างมนุษย์มายาวนานกว่า 14,000 ปี เจ้าของผู้ดูแลอาจร่วมเฉลิมฉลองได้ด้วยการมอบอาหารมื้อพิเศษ หรือบริการนวดตัวให้เจ้าตูบของคุณสักหน่อย ก็น่าจะสร้างความสุขให้พวกมันได้มากขึ้น

ว่าแต่.."วันสุนัขแห่งชาติ" มีจุดเริ่มต้นเป็นมาอย่างไร? ใครเป็นผู้ก่อตั้ง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็คลิสต์ 7 ข้อต้องรู้ เกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของวันนี้ให้มากขึ้น 

1. "วันสุนัขแห่งชาติ" ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกปี 2547

วันสุนัขแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2547 โดย "คอลลีน เพจ" (Colleen Paige) ผู้สนับสนุนด้านไลฟ์สไตล์สัตว์เลี้ยงและครอบครัว และผู้สนับสนุนสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเป้าหมายของการก่อตั้งวันสุนัขโลก ก็เพื่อที่จะส่งเสริม และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการรับเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่ละเลยและทิ้งให้พวกมันไปอยู่ตามศูนย์ช่วยเหลือ

อีกทั้ง วันที่ 26 สิงหาคม ยังมีความสำคัญต่อ "คอลลีน" อย่างมาก เนื่องจากเป็นวันที่ครอบครัวของเธอรับเลี้ยง "เชลตี" สุนัขตัวแรกของเธอ เมื่อเธออายุได้ 10 ขวบ

2. วันสุนัขแห่งชาติ ปี 2564 ส่งเสริมสุนัขทั้งพันธุ์แท้-พันธุ์ทาง

สำหรับแคมเปญเนื่องในวันสุนัขแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 ก็คือ การรณรงค์และส่งเสริมการเป็นเจ้าของสุนัขทุกสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์บริสุทธิ์(พันธุ์แท้) และพันธุ์ผสม(พันธุ์ทาง) เพื่อให้สุนัขทุกตัวได้มีโอกาสมีชีวิตที่ดี ปลอดภัย มีความสุข และปราศจากการทารุณกรรม

ปัจจุบันเพื่อนขนฟูเหล่านี้มีรูปร่าง ขนาด และสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน หนึ่งในพวกมันเหล่านี้อาจมีสักตัวที่กลายเป็นเพื่อนแท้ของคุณ ดังนั้น การรณรงค์ของปีนี้ จึงมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนให้สุนัขทุกสายพันธุ์ ที่อยู่ในศูนย์พักพิงถูกรับไปเลี้ยงอย่างปลอดภัย และส่งเสริมการรับเลี้ยงสุนัขจรจัดที่ยังหาบ้านไม่ได้ 

3. กฎหมายนิวยอร์ก อนุมัติรับ "วันสุนัขแห่งชาติ"

จากจุดเริ่มต้น "วันสุนัขแห่งชาติ" ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2547 ต่อมาไม่นานวันสำคัญนี้ก็ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยในปี 2556 วันสุนัขแห่งชาติได้รับการอนุมัติ และบันทึกลงในกฎหมายของนิวยอร์กด้วย มาจนถึงปัจจุบันพบว่ามีการเฉลิมฉลองวันดังกล่าวไปทั่วโลก 

อีกทั้ง มีบรรดาพันธมิตรเพื่อนแท้สี่ขา อย่าง Human Society of The United States และ West Coast Labrador Retriever Rescue พวกเขาได้ทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการลดจำนวนสุนัขจรจัด โดยส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัข ไปรับเลี้ยงสุนัขจากศูนย์ดูแล แทนการไปซื้อตามร้านขายสัตว์เลี้ยง ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา คาดว่ามีสุนัขที่ได้รับการช่วยเหลือและถูกรับไปเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาแล้ว ประมาณ 1,000,000 ตัว 

162988848795

4. บทบาทของเจ้าตูบที่เป็นมากกว่าเพื่อนแท้

นอกจากนี้ Colleen Paige ผู้ก่อตั้งวันสำคัญนี้ ยังอยากให้ทุกคนร่วมเฉลิมฉลองให้กับสุนัขอีกหลายชีวิต ที่ไม่ใช่เป็นแค่เพื่อนคลายเหงาให้มนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการทำงานและช่วยเหลือด้านสังคม โดยใช้ความสามารถอันหลากหลายของพวกมัน เช่น 

  • การเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยหน่วยงานด้านกฎหมายในการติดตามวัตถุระเบิดหรือผู้ค้ายา
  • ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย ปัจจุบันสุนัขสามารถระบุมะเร็งในผู้ป่วยได้
  • ให้ความช่วยเหลือผู้พิการ สุนัขกู้ภัย (rescue dog)
  • ช่วยเยียวยาอาการผิดปกติทางด้านการเรียนรู้ของเด็ก (ออทิสติก,โอซีดี)

5. "วันสุนัขโลก" ในไทย ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า

จากการสำรวจจำนวนสุนัขเบื้องต้นประเทศไทย พบมีประมาณ 2 ล้านตัว เป็น "สุนัขจรจัด" มากกว่า 1 แสนตัว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า (เรบีส์) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย และสุขภาวะของผู้คนในสังคมเมือง และที่น่าเป็นห่วงคือ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีระบบลงทะเบียนข้อมูลการเกิด ตาย และย้ายถิ่นของสุนัข เพื่อการดูแลควบคุมประชากรสุนัขแต่อย่างใด

รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข ประจำศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ “แบบจำลองการระบาดและการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขประเทศไทย” ได้เผยข้อมูลจากศึกษาวิจัยว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการระบาดใหม่ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย มีอยู่หลายอย่าง ได้แก่

  • ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น
  • ประวัติการเกิดโรคในพื้นที่และระยะห่างจากจุดเกิดโรคเดิม โดยพบการอุบัติซ้ำ
  • ไวรัสมักจะยังคงอยู่ในสุนัขที่ได้รับเชื้อ แต่ยังไม่แสดงอาการ มีระยะฟักตัวประมาณ 3 - 8 สัปดาห์
  • โดยผู้ที่ถูกกัดและรับเชื้อจะเสียชีวิตทุกราย

6. วิธีป้องกันการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าให้ตรงจุด!

วิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่ยั่งยืนที่สุด คือ การไม่ทอดทิ้งสุนัขเลี้ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุนัขจรจัด นอกจากนี้ควรให้สุนัขเลี้ยงทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน “โรคเรบีส์” เป็นประจำทุกปี ตลอดจนควบคุมประชากรสุนัขด้วยการทำหมัน

โดยผลการวิจัยอีกส่วนหนึ่งยังชี้ให้เห็นว่า ความรู้ของเจ้าของสุนัข มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคเรบีส์ ดังนั้น การให้ความรู้อย่างต่อเนื่องถึงอันตรายและการป้องกันโรคเรบีส์ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน

7. วิธีหลีกเลี่ยงสุนัขจรจัด ไม่ให้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า

ดร.นายสัตวแพทย์อนุวัตน์ วิรัชสุดากุล ยังได้ให้คำแนะนำอีกว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า (เรบีส์) เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาเมืองและชุมชนให้ยั่งยืน สิ่งสำคัญคือต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบ

บ่อยครั้งมักพบว่า ผู้ที่รับเชื้อเรบีส์ไม่ได้มาจากเหตุโดนสุนัขจรจัดกัดเท่านั้น แต่กลับรับเชื้อจากสุนัขที่ตัวเองเลี้ยง โดยสุนัขของตัวเองรับเชื้อจากสุนัขจรจัดมาก่อนแล้ว ส่วนวิธีการป้องกันสุนัขกัด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเรบีส์ ควรปฏิบัติตามหลัก "5 ย" คือ อย่าแหย่, อย่าเหยียบ, อย่าแยก, อย่าหยิบ, อย่ายุ่ง และถ้าหากถูกสุนัขกัดควร "ล้างแผล ใส่ยา จับหมา หาหมอ"

-----------------------------

ที่มา : คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, nationaltoday.com