‘ทวิดา กมลเวชช’ : นายกฯบริหารวิกฤตโควิดล้มเหลว ควรลาออกไหม?

‘ทวิดา กมลเวชช’ : นายกฯบริหารวิกฤตโควิดล้มเหลว ควรลาออกไหม?

3 คำตอบกับการจัดการวิกฤต"โควิด" โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด "นายกรัฐมนตรี"ควรลาออกหรือไม่ เรื่องนี้ "ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็น 

ในสถานการณ์วิกฤตโควิด ทำให้ประเทศไทยมีปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะชูเรื่องไหน ก็เป็นปัญหาไปหมด สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่คิดช้า คิดวันต่อวัน และไม่แน่ใจว่า คิดถึงอนาคตประเทศไทยบ้างไหม

ลองอ่านบทสนทนาฉบับย่นย่อจากจุดประกาย "กรุงเทพธุรกิจ" กับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสาธารณะและนโยบาย และภัยพิบัติ 

ว่ากันว่า เมื่อเกิดวิกฤตบ้านเมือง อาจารย์ทวิดา เป็นนักวิชาการอีกคนที่วิเคราะห์ไปถึงแก่นของปัญหาและหาทางออกให้ และครั้งนี้ คุยกันเรื่อง การบริหารจัดการสถานการณ์โควิดภาครัฐ ,อนาคตประเทศไทย และที่สุดของปัญหา นายกรัฐมนตรีควรลาออกหรือไม่... 

“ถ้าลาออกเลย โดยไม่วางมาตรการไว้ ดิฉันยอมไม่ได้...” คำตอบสั้นๆ จากอาจารย์ทวิดา แต่มีคำอธิบายยาวๆ  

 

1.มีประเทศไหนบริหารจัดการวิกฤตโควิดได้ดี และน่าจะเป็นตัวอย่างได้บ้าง

เงื่อนไขของแต่ละประเทศเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้

ประเทศที่จัดการได้ดีคือ ประเทศที่จัดการเรื่องวัคซีน มีวัคซีนเหลือเฟือ และเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ตอนนี้เราจะเห็นประเทศเหล่านั้นวุ่นวายกับคนที่ติดโควิดใหม่ แต่จัดการไม่ยาก

ส่วนประเทศที่มีการกระจายวัคซีนได้ไม่มาก การเยียวยาไปไม่ถึงคนตัวเล็กตัวน้อย เกิดปัญหาอย่างที่เราเห็น ก็อินเดีย แต่ตอนนี้ดีขึ้นเยอะ และประเทศที่เริ่มตามหลังคนอื่นคือ เมียนมา มีภัยธรรมชาติอีก

162979770832

(วิกฤตโควิดในประเทศไทย มีปัญหาที่ต้องปลดล็อคอีกหลายเรื่อง) 

ในเรื่องวิธีการจัดการวิกฤตโควิด ดิฉันชอบ สิงคโปร์ ไต้หวันและนิวซีแลนด์ เยอรมัน แต่ประเทศเหล่านั้นก็มีเงื่อนไขต่างกัน

ชอบการจัดการของ จาซินดา อาร์เดิร์น ประธานาธิบดีนิวซีแลนด์ พยายามจัดการเรื่องโควิดให้เป็นเรื่องของครอบครัว ถูกเป้ามาก ประเทศเขาก็มีเคอร์ฟิว มีประกาศอะไรเหมือนไทย

แต่สิ่งที่เขาทำได้ดี คือ เขาสื่อสารกับคนของเขาว่า โควิดเป็นเรื่องของครอบครัว เขาไม่อาศัยวาทกรรมชาติ ไม่อาศัยการสั่งสอน ไม่อะไรเลย

วิธีการของเขาแค่พูดว่า “ดูแลตัวเองดีๆ ดูแลคนที่เรารัก ครอบครัวและเพื่อนบ้าน แล้วเราสู้ไปด้วยกัน” แค่นี้จบเลย แล้วทุกคนก็อยู่แนวทางนี้มาตลอด ประชาชนร่วมมือดี พอมีปัญหาขึ้นมา เขาก็จัดการได้

แต่ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้ทั้งสิงคโปร์ นิวซีแลนด์และเยอรมัน ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนไทย ทำให้ส่วนหนึ่งเราจัดการโควิดได้ไม่ดี เวลาพูดเรื่องนี้ ทุกคนชอบพูดเฉพาะวิกฤต แต่ก่อนหน้าวิกฤต เราต้องดูว่ารัฐบาลทำอะไรมาบ้าง

อย่างสิงคโปร์มาตรการดี ผลักดันให้ไปในทิศทางเดียวกัน คนสิงคโปร์มีความนอกลู่นอกทางน้อยกว่าคนเยอรมัน ที่มีความแข็งขืนในตัวเอง มีวัฒนธรรมแบบตะวันตก มีเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากกว่าคนเอเชีย

แม้ประธานาธิบดีทั้งเยอรมันและสิงคโปร์จะใช้วิธีการต่างกัน แต่เนื้อในคือ พยายามให้ประชาชนอยู่ในมาตรการ

อย่างอังเกลา แมร์เคิล เยอรมัน นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เขารู้จักคนของเขาดี ที่สำคัญคือ แมร์เคิลเป็นนายกรัฐมนตรีที่คนเยอรมันนับถือ ตอนที่หมดวาระออกจากตำแหน่ง ประชาชนยืนตบมือให้ยาวนานหกนาที ตอนเกิดโควิดระบาด เธอพูดสั้นๆ ตรงๆ  ว่า”ช่วยกันหน่อย รู้ว่าอยากกินขนมปัง แต่ตอนนี้กินแครกเกอร์แห้งๆ อยู่บ้านไปก่อน"  

แต่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ใช้วิธีการพูดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเงื่อนไขต่างกัน แต่อย่างน้อยเขาน่าจะเลือกวิธีแบบประธานาธิบดี

ลี เซียนลุง บ้าง คือ มาแบบลุงใจดีที่เหนื่อยจากการทำงาน ยอมรับไปเลยว่า โควิดระลอกนี้หนัก รัฐทำเองไม่ไหว ประชาชนช่วยกันหน่อย  

เพราะอะไรคนสิงคโปร์ช่วยเหลือกันในช่วงวิกฤตโควิด เพราะการสื่อสารทุกครั้งของ ลี เซียนลุง มีการออกแบบล่วงหน้า จากนั้นพูดภายใน 7-10 นาทีให้ประชาชนรู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร แล้วออกมาตรการตามหลัง

สิ่งสำคัญคือ พูดอะไร วางอะไร แล้วทำตามนั้นให้ได้หมด สักเรื่องหนึ่งก็ยังดี เพื่อแสดงให้คนเห็นว่า รัฐของเรามีความมั่นคงมากพอทำงานเป็น

ส่วนไต้หวัน เคยมีคนบอกดิฉันว่า เห็นไหม...ไต้หวันได้วัคซีนช้ากว่าเรา แต่อย่าลืมว่า ประเทศเขาไม่มีวิกฤต แต่ประเทศเราวิกฤต 

ดิฉันขอเทียบแบบนี้ ไต้หวันพบผู้ป่วยโควิดคนแรกหลังประเทศไทย แต่ไต้หวันจัดการได้ มาตรการทั้งหลายของรัฐ เว้นระยะห่าง เงินชดเชยภาคการท่องเที่ยวได้ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ตอนนั้นไทยยังไม่ประกาศเลยว่า โควิดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง

เพราะฉะนั้นการช่วงชิงพื้นที่ของไต้หวัน ประธานาธิบดีไต้หวันมีมือขวาเป็นแพทย์ เขาใช้วิธีทำคลิปให้เห็นว่า ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดี เดินไปคุมศูนย์เอง ไปหาหมอ จัดการท่องเที่ยวที่สนามบิน พูดกับผู้ประกอบการ ออกไปตรวจระบบการจัดสรรหน้ากากอนามัย มาตรการมาพร้อมกับการลงมือทำแล้วได้ผล

ก่อนหน้านี้ ไต้หวันเรียนรู้จากการระบาดของซาร์สกับเมอร์ส ตอนนั้นจัดการได้แย่ จึงหันมาจัดการด้วยแนวทาง"กันไว้ ดีกว่าแก้" ไม่สนใจว่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ มาตรการจึงโอเว่อร์ตลอด ทั้งๆ ที่ไต้หวันพบผู้ป่วยโควิดหลังเรา กลับมีมาตรการเยอะกว่า มีนโยบายดักหน้าปัญหา ก่อนจะเกิดขึ้นได้ดีกว่าเรา

 

 

2.ประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศ อยากให้นายกรัฐมนตรีลาออก อาจารย์มีความเห็นและทางออกอย่างไร

ถ้าลาออกตอนนี้ก็สบาย ประเด็นนี้ต้องแยกออกจากเรื่องการเรียกร้องทางการเมือง ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้ท่านนายกรัฐมนตรีลาออกเมื่อช่วงพักเบรกเดือนสิงหาคม-กันยายนปีที่แล้ว ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ๆ

162979779424

(ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสาธารณะและนโยบาย)

 

เพราะต่างประเทศไม่เชื่อมั่นที่จะเข้ามาท่องเที่ยว ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อมั่นโรคระบาด แต่พวกเขาไม่เชื่อมั่นสถานการณ์การเมือง จังหวะนั้นท่านนายกฯ บริหารจัดการวิกฤตโควิดระลอก 1  แล้วมีความเสียหายเกิดขึ้นบางส่วน ตัวเขาก็เห็นความขัดแย้ง เห็นปัญหาที่จะต้องฟื้นฟูประเทศ

แต่จังหวะตอนนี้มีความคุกรุ่นทางการเมืองสูง ที่ไม่เหมือนกันคือ ถ้าลาออกตอนนี้ ลอยตัวเลยกับสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ควรอยู่รับผิดชอบ อย่างน้อยจัดการวางมาตรการ ปรับแก้ระเบียบให้เสร็จ แก้สถานการณ์สู่สภาวะปกติเฉพาะเรื่องวิกฤต บริหารจัดการให้มั่นคง เพราะใช้พรก.ฉุกเฉินมาไม่รู้กี่ร้อยวัน ก็ไม่คุ้ม 

ถ้าลาออกเลย โดยไม่วางมาตรการไว้ ดิฉันยอมไม่ได้ ต้องเซ็ตระบบมาตรการ ใช้อำนาจที่มีให้ระบบทำงานได้ แก้ไขข้อขัดแย้ง อนุมัติให้วัคซีนเข้ามาอย่างเหลือเฟือ แล้วให้มีการบริหารจัดการตามกลุ่ม ใช้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพได้ แล้วควรลาออก เพราะดิฉันมองสภาพของประเทศ ถ้าปล่อยแบบนี้ จะฟื้นอย่างที่เราอยากให้ฟื้น ไม่แน่ใจนัก

 

 

3สถานการณ์วิกฤตโควิดตอนนี้ ประชาชนแทบจะหมดหวัง รัฐต้องมีแผนในอนาคตอย่างไร

สถานการณ์เดือนกันยายน 64 มีการคาดการณ์ว่า อัตราผู้ติดเชื้อโควิด น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่ แล้วจะดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ารัฐนั่งเฉยๆ มาตรการใหม่ๆ ก็ต้องออกมา อนาคตรอเราอยู่ แต่เราต้องอ่านให้ออกว่า อะไรรอเราอยู่

ปลายปี 64 นักศึกษาน่าจะกลับมาเรียนได้ และต้องให้แท็กซี่กลับมาทำงานได้ มีมาตรการช่วยเหลือพวกเขา ไม่ใช่จอดทิ้งแบบนี้ คนไทยต้องใช้ชีวิตเกือบเป็นปกติได้ 

แต่ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เผื่อมีการระบาดระลอก 5 เพื่อที่จะไปถึงตรงนั้นคือใช้ชีวิตได้เกือบปกติ รัฐต้องวางนโยบายตั้งแต่วันนี้เลย

ถ้าจะทำให้ประเทศมีอนาคต มาตรการต้องออกมาเลย ถ้าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว พื้นที่แดงเข้มในวิกฤตโควิดต้องไม่เหลือ ให้คิดเลยว่าในเดือนมกราคม 65 อยากให้ประเทศเป็นแบบไหน เราต้องอยู่ต่อไปให้ได้ อย่าเพิ่งติดโควิดนะ 

ถ้าเราจะเปิดท่องเที่ยวในประเทศ ต้องมีมาตรการทยอยหยุด  มีนักท่องเที่ยวเป็นระลอก ไม่ควรหยุดโครมเดียวทั้งประเทศ เพราะจะถาโถมไปจังหวัดท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์ แล้วจังหวัดรองไม่ได้นักท่องเที่ยวอีก

จึงต้องมีการจัดการอนาคต อย่าปล่อยให้เป็นคำถาม ปัญหาที่ยังกังวลคือวัคซีน ต้องคิดต่อว่า วัคซีนที่จะเข้ามาเยอะๆ ในไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจไม่ใช่โควิดสายพันธุ์เดลต้าแล้ว อาจเป็นเอปซิลอน หมายความว่า วัคซีนที่ฉีดไปแล้วอาจตีกลับเหมือนซิโนแวคจัดการเดลต้าไม่ได้ นั่นหมายความว่า วัคซีนเป็นคำตอบที่จะไขสู่ทุกอย่าง แต่หลังจากนั้น รัฐคิดเรื่องนี้หรือยัง

แม้ต่อไปจะฉีดวัคซีนทั้งประเทศเกิน 70 % มั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ภูมิคุ้มกันหมู่ของพวกเรา ก็เป็นวัคซีนวาไรตี้มาก ไวรัสกลายพันธุ์ที่เคยจัดการไม่ได้ ครั้งต่อไปจะพร้อมหรือไม่ อย่าประมาท

และวัคซีนจะเป็นคำตอบสำหรับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่หรือไม่ หรือภาวะวิกฤตครั้งใหม่เมื่อเปิดประเทศ รัฐต้องเตรียมแผนไว้ด้วย