‘12 สิงหาคม’ เฉลิมพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ 'สมเด็จพระพันปีหลวง' ทรงเป็นผู้นำการแต่งกายด้วยผ้าไทย

‘12 สิงหาคม’ เฉลิมพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ 'สมเด็จพระพันปีหลวง' ทรงเป็นผู้นำการแต่งกายด้วยผ้าไทย

“12 สิงหาคม” ร่วมรำลึกพระราชกรณียกิจ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ผ่านฉลองพระองค์สากลที่แสดงอัตลักษณ์ "ผ้าไหมไทย" สู่สายตาโลกตะวันตกครั้งแรก

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นมหาคุณูปการให้กับผืนแผ่นไทยและคนในชาติโดยไม่แบ่งแยกไว้ทุกศาสตร์ทุกศิลป์

หนึ่งในนั้นคือ ทรงเป็นผู้นำในการแต่งกายแบบไทยอย่างแท้จริง ทรงให้ความสำคัญและวางรากฐาน ‘การแต่งกายอย่างไทย เพื่อให้สตรีไทยมี เครื่องแต่งกายที่แสดงออกถึงความเป็นชาติไทยได้อย่างสวยงามและสง่างาม เข้าได้กับทุกยุคสมัยจนกระทั่งถึงวันนี้ ขณะเดียวกันก็ทรงอนุรักษ์ ผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาหัตถกรรมดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไว้ได้ทุกท้องถิ่น ไม่เพียงอนุรักษ์ แต่ยังนำมาสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงงานเกี่ยวกับ ‘เครื่องแต่งกายอย่างไทย ย้อนกลับไปอย่างน้อยตั้งแต่ปีพ.ศ.2503

กล่าวคือ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปีพ.ศ.2493 ต่อมาในปีพ.ศ.2503 สมเด็จพระพันปีหลวง เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ  ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ ทรงมีหมายกำหนดการโดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและ 15 ประเทศในทวีปยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อประกาศให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศไทยดีขึ้น

162870079237

ฉลองพระองค์ชุดราตรี พ.ศ.2503 ตัดเย็บจากผ้าไหมซาติน งานปักบนฉลองพระองค์ได้รับอิทธิพลจากลวดลายตกแต่งแบบที่นิยมในยุโรปคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งนายปิแอร์ บัลแมง ชื่นชอบเป็นพิเศษ ปักประดับด้วยดิ้นโลหะ ดิ้นเหลือบและคริสตัล โดย ‘เลอซาจ’

สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงมองการณ์ไกลโดยตระหนักว่า การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นเป็นการตามเสด็จทางราชการครั้งใหญ่และครั้งใหม่ในฐานะพระราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย การปรากฏพระองค์ในฐานะพระราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นเสมือนตัวแทนของสตรีไทยทั้งชาติ จึงต้องทรงเตรียมพระองค์ให้พร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมฉลองพระองค์ให้เหมาะสมกับทุกโอกาส จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณข้าหลวงและนางสนองพระโอษฐ์ช่วยดูแลในการเตรียม ‘ฉลองพระองค์ และ เครื่องประดับให้เหมาะสมตามธรรมเนียมและโอกาส

162870142624

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน พ.ศ.2503 ทรงในการเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา(ก.ค.) และกรุงโรม อิตาลี(ก.ย.) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทย

นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงทั้ง ฉลองพระองค์ชุดไทย ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง เพื่อการถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้ชาวโลกได้ประจักษ์ และ ฉลองพระองค์แบบสากล เพื่อให้เหมาะสมกับงานพิธีแบบตะวันตก สภาพภูมิอากาศ สถานที่ราชการ และสถานที่หลายลักษณะที่ต้องเสด็จไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ ต่างแดน

จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าประวัติศาสตร์ธรรมเนียมการแต่งกายของไทยแต่โบราณ และออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ  เพื่อทรงในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น

แต่เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว สตรีไทยยังไม่มีแบบแผนของชุดประจำชาติที่แน่นอนอย่างสตรีอินเดียที่สวมส่าหรี และสตรีญี่ปุ่นที่สวมกิโมโน ประกอบกับช่างไทยในสมัยนั้นก็ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการตัดชุดหรือเครื่องแต่งกายแบบตะวันตก

162870425561

ฉลองพระองค์ชุดกลางวันและพระมาลา ตัดเย็บจากผ้าไหมพื้น ทรงในการเสด็จฯไปทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทพาราเมาท์พิคเจอร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายเอลวิส เพรสลีย์ เข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2503

สมเด็จพระพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นาย ปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) นักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้ดูแลการออกแบบตัดเย็บและให้คำแนะนำเรื่องการแต่งกายตามธรรมเนียม และนาย ฟรองซัวส์ เลอซาจ (Francois Lesage) ช่างฝีมือในการปักเสื้อชื่อดังของฝรั่งเศส เป็นผู้ดูแลเรื่องงานปักฉลองพระองค์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับการจัดเตรียมฉลองพระองค์ทั้งหมด

162870224142

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน พ.ศ.2503 เสด็จฯ ออกจากศาลสูงสหรัฐ ไปยังบ้านอดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่เมานท์ เวอร์นอน มลรัฐเวอร์จิเนีย

ฉลองพระองค์ที่นาย ปิแอร์ บัลแมง ออกแบบทูลเกล้าฯ ถวาย ‘สมเด็จพระพันปีหลวงสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปครั้งนั้น มีความงดงามและสมพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง สื่อมวลชนและชาวต่างประเทศให้ความสนใจ ชื่นชมพระสิริโฉมของ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ เป็นอย่างมาก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก ต่างเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีของประเทศไทยเวลานั้นให้เป็น 1 ใน 10 สตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก พ.ศ.2503(International Best Dressed List Hall of Fame in 1960) และ สตรีที่แต่งกายงดงามที่สุดในโลกปี พ.ศ.2507 (The 1964 list of the world's best dressed)

ต่อมาในปีพ.ศ.2508 มีการจารึกพระนามาภิไธยในหอแห่งเกียรติคุณ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ทรงเป็น 1 ใน 12 สุภาพสตรีที่แต่งกายงามที่สุดในโลก(12 the World's Best-Dressed Women Hall of Fame1965 in New York)

162870285626

(ซ้ายสุด) ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน ทรงในการเสด็จฯ ไปยังสถานีโทรทัศน์ เอบีซี เพื่อพระราชทานสัมภาษณ์ในโอกาสเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 ก.ค.2503

นายปิแอร์ บัลแมง ถวายงานรับผิดชอบดูแลฉลองพระองค์ ‘สมเด็จพระพันปีหลวงทั้งแบบไทยและสากลซึ่งส่วนใหญ่ตัดเย็บจากผ้าไทย เป็นระยะเวลา 22 ปี จวบจนเขาเสียชีวิตลงในปีพ.ศ.2525 ด้วยวัย 68 ปี

ในปีพ.ศ.2511 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเผยความในพระราชหฤทัยที่ทำให้ทรงตัดสินพระทัยให้ความสำคัญกับการเตรียม ฉลองพระองค์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทย ก่อนการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเจริญสัมพันธไมตรีครั้งใหญ่กับต่างประเทศเมื่อปีพ.ศ.2503 ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” ความตอนหนึ่งว่า

 “ดีไม่ดีหนังสือพิมพ์ต่างประเทศก็จะวิจารณ์กันยุ่งใหญ่ว่า เสื้อประจำชาติไทยที่พระราชินีทรงนี่ แบบไหนกันหนอ ฝรั่งก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง”

162870557892

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน พ.ศ.2503 ในนิทรรศการ "งามสมบรมราชินีนาถ"

162870576293

ฉลองพระองค์ชุดราตรี พ.ศ.2503 ในนิทรรศการ "งามสมบรมราชินีนาถ"

นอกจากนี้ ฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ ที่ทรงในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น ต่อมา ‘สมเด็จพระพันปีหลวงทรงแนะนำให้ปรับปรุงเพิ่มเติม กลายเป็นต้นแบบชุดประจำชาติไทยสำหรับสตรี เป็นที่รู้จักกันดีภายหลังในชื่อ ชุดไทยพระราชนิยม มีทั้งหมด 8 แบบ ในเวลาต่อมา

ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วย ผ้าไหมไทย แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการทอผ้าที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย ขณะเดียวกัน การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบต่างชาติที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงเข้ามาดูแลฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทย

ยังถือเป็นพระราชกุศโลบายในการส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลกได้เป็นอย่างดี

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงและภาพ :

- พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : นิทรรศการ “งามสมบรมราชินีนาถ” สิงหาคม พ.ศ.2559– เดือนเมษายน พ.ศ.2562

- เว็บไซต์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน