คาถาป้องกัน 'ภัยต้มตุ๋น'

คาถาป้องกัน 'ภัยต้มตุ๋น'

เปิดวิธี "ต้มตุ๋น" ที่ทำให้คนจำนวนมากเสียเงินได้ง่ายมีอะไรบ้าง? พร้อมส่องคาถาป้องกัน "ภัยต้มตุ๋น" ต้องทำอย่างไรบ้าง?

ข่าวอาชญากรรมในบ้านเราในปัจจุบันมีอยู่สองเรื่องคือ การฆ่ากันตายเพราะความหึงหวงกับการตุ้มตุ๋นเงินประชาชน แต่เมื่อนึกถึงพฤติกรรมมนุษย์ที่ถูกกำกับโดย “รัก โลภ โกรธ หลง” มาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้วก็พอเข้าใจ อย่างไรก็ดี ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดมันจึงปะทุขึ้นรุนแรงจนเป็นข่าวทุกวัน

ผู้เขียนได้เขียนถึงการคล้อยไปตามอารมณ์จนถูกต้มตุ๋นเป็นพิเศษของหญิงชายสูงอายุไปแล้วเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ครั้งนี้ขอกล่าวถึงการต้มตุ๋นคนทั่วไป ขอเริ่มตรงที่ว่าสังคมเอเชียเราพยายาม “รักษาหน้า” กัน ดังนั้น คนที่ถูกต้มตุ๋นจึงมักจะปิดปากเงียบไม่บอกใคร บางครั้งแม้แต่ภรรยาหรือสามีหรือลูกหลานก็ไม่รู้

เหตุใดจึงถูกต้มตุ๋น? มนุษย์นั้นมิได้อยู่อย่างสุขด้วยความสุขสบายทางกายเท่านั้น หากลึกเข้าไปในใจแล้วยังมีความต้องการการชดเชยทางจิตวิทยา เช่น การมีตัวตนผ่านการยอมรับจากครอบครัวและผู้อื่น การได้รับความรัก การเห็นคุณค่าของตนเองจากพ่อแม่และคนรอบข้าง ฯลฯ

อีกปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิดการต้มตุ๋นก็คือความโลภ หรือการอยากได้อยากมีที่เกินเหตุ และเมื่อมีมนุษย์บางพันธุ์ที่ไม่ต้องการทำงานหนักและซื่อตรงแบบชาวบ้าน หากต้องการรวยเร็วและขาดคุณธรรม กอปรกับตัวเองมีคุณสมบัติในเรื่องความลื่นและการพูดโน้มน้าวใจคน เมื่อมาพบกับความต้องการการชดเชยทางจิตวิทยาและความโลภของผู้คนบางกลุ่ม มันจึงเกิดเป็นการต้มตุ๋นขึ้น

การถูกต้มตุ๋นที่เกิดจากการมีคุณธรรมของผู้ถูกต้มตุ๋นก็มีไม่น้อย การมีจิตใจดีเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ตกอยู่ในความลำบากก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความช้ำใจได้เช่นกัน โดยสรุปปัจจัยที่ทำให้ถูกต้มตุ๋นคือ (1) ความต้องการการชดเชยทางจิตวิทยา (2) ความโลภ (3) ความมีจิตใจดีมีคุณธรรมจนเกิดจุดอ่อน

วิธีต้มตุ๋นใดที่ทำให้เสียเงินได้ง่ายของคนจำนวนมาก? ความโลภนั้นไม่เข้าใครออกใคร ถ้าได้ยินการได้รับผลตอบแทนที่สูงและง่ายนั้น มนุษย์ปกติทุกคนต้องหูผึ่ง แต่จะเกินจุดนั้นจนถูกหลอกลวงได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสติและปัญญาของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน

วิธีการต้มตุ๋นที่ทำให้เสียเงินได้มากของคนจำนวนมาก และกระทำกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีคนเข็ดก็คือวิธีที่ทั้งโลกรู้จักกันในนามของ Ponzi Scheme (ไทยเรียกแชร์ลูกโซ่หรือแชร์แม่ชม้อย) ในทศวรรษ 1920 โดยเรียกตามชื่อของยอดนักต้มตุ๋นชาวอิตาลีชื่อ Charles Ponzi (พอนชี) ที่หลอกลวงให้คนอเมริกันลงทุนและให้ผลตอบแทนที่สูงมาก

เขาอ้างว่าไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งเมื่อฟังแล้วน่าอัศจรรย์ใจในความฉลาดหลักแหลม แต่แท้จริงแล้วมิได้ลงทุนแต่อย่างใด เพราะไม่มีการลงทุนใดที่จะได้รับผลตอบแทนสูงขนาดนั้น สิ่งที่กระทำก็คือเอาเงินลงทุนของคนที่เข้ามาใหม่จ่ายให้แก่คนเก่า วนเป็นงูกินหางอย่างนี้จนมีเงินก้อนใหญ่ในมือ

บ่อยครั้งที่จะกระจายการต้มตุ๋นหรือการลงทุนให้กว้างขวางขึ้นด้วยการจัดกองทัพลงไปเป็นชั้นๆ แบบพีระมิด เพื่อหาเงินเข้ามาให้ได้มากที่สุดอย่างเร็วที่สุดแล้วก็เบี้ยวไม่จ่าย หลอกล่อต่อไปหรือไม่ก็หายตัวไปเลย วิธีนี้ได้เกิดขึ้นก่อนแล้วกว่า 50 ปีในในเยอรมนี และในนวนิยายหลายเรื่องก่อนที่ Ponzi จะเลียนแบบ และมีผู้ใช้วิธีเดียวกันอีกนับร้อยนับพันครั้งในประเทศต่างๆ ในเวลากว่า 150 ปีที่ผ่านมา

ครั้งใหญ่ล่าสุดคือกรณีของนาย Bernard Madoff ในระหว่างทศวรรษ 1990 ถึงกลางทศวรรษ 2010 ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ไว้วางใจของผู้คนในตลาดหุ้นสหรัฐ วิธีการ Ponzi ของเขามีวงเงินสูงถึง 64,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณกว่า 2 ล้านล้านบาท) การต้มตุ๋นวิธีการนี้จะได้ผลเมื่อมีความไว้วางใจกลุ่มเจ้าของโครงการลงทุน พวกเขาจะมีรูปถ่ายกับคนสำคัญและเรื่องราวในโซเซียลมีเดีย ทั้งเก่ง ฉลาด จิตใจดี รู้จักคนมากมาย มีอิทธิพล “เข้านอกออกใน” ได้ และประการสำคัญให้ผลตอบแทนที่สูงมาก

ในบ้านเราการต้มตุ๋น Ponzi มีมาตลอดให้ได้ยินแต่ที่ยังไม่ได้ยินและกำลังดำเนินการอยู่ก็มีอีกหลายวง ที่ถูกหลอกไปแล้วก็มีอีกหลายวง วิธีการหลอกอาจปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่หลักการใหญ่ก็คือให้ผลตอบแทนสูงมาก หัวโจกน่าเชื่อถือ ลงทุนอะไรชัดๆ ไม่รู้ ดูซับซ้อนด้วยเทคนิคแต่ดูล้ำลึกมีสายสนกลในที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงลิ่วได้

คาถาป้องกันภัยต้มตุ๋น (1) คิดในใจเสมอว่ามีคนจะจ้อง “เล่นเงิน” เราอยู่ตลอดเวลา จึงต้องระแวดระวังรักษาเงินทองและทรัพย์สมบัติที่มีให้ดี (2) จัดการความโลภในเรื่องเงินทองให้อยู่ในขอบเขตอย่าปล่อยให้ล่องลอย เพ้อฝันอย่างไร้สติเป็นอันขาด (3) ถ้าใครเสนอการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินกว่าระดับที่น่าเป็นจริงได้ ก็จงรู้ทันทีว่าเป็นการต้มตุ๋น 

(4) การงอกเงยของเงินทองต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง อย่ากระทำการใดที่โลดโผน อย่าเสี่ยงกับการสูญเสียที่เกินกว่าจะรับได้ การพนันคือเส้นทางความเสี่ยงที่อันตรายที่สุด (5) รู้จักตนเองให้ดีว่าลึกๆ แล้วมีความต้องการการชดเชยทางจิตวิทยาในเรื่องใด มีความเป็นคน “โลกสวย” เกินพอดีหรือไม่ มีความใจอ่อนมากน้อยเพียงใด ฯลฯ และ (6) จงท่องข้อ (1) ถึง (5) ให้แม่นๆ

สำหรับผู้ที่มีเงินเย็นออมในมือในยามอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเช่นปัจจุบัน อีกทั้งการเดินทางพบปะเพื่อนฝูงและการได้รับข้อมูลข่าวสารถูกจำกัดด้วยโควิด แถมมีเวลาว่างอยู่กับบ้านที่จะฝันเฟื่องได้มากกว่าปกติ หากมีใครมาชักชวนเข้าหุ้นหรือลงทุนในเรื่องใดโดยมีผลตอบแทนที่น่าตื่นเต้นก็ต้องระแวดระวังเป็นพิเศษ เพราะฝั่งนักต้มตุ๋น 18 มงกุฎนั้น เขาก็มีเวลาว่างให้ใคร่ครวญคิดหาวิธีใหม่ๆ มาหลอกเราเช่นกัน