คืนนี้รอดู 'ซูเปอร์ฟูลมูน' ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

คืนนี้รอดู 'ซูเปอร์ฟูลมูน' ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

คืนนี้รอดู "ซูเปอร์ฟูลมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนคนไทยติดตาม ปรากฏการณ์ ส่งท้ายเดือนเมษายน 2564 คือ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ "ซูเปอร์ฟูลมูน" (Super Full Moon) คืนวันอังคารที่ 27 เมษายน 2564  เวลา 22:25 น. ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

161951947865

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 

161951949315

สำหรับความพิเศษของช่วงดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก คือเราจะเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าช่วงปกติเล็กน้อย หากเราเฝ้าสังเกตดวงจันทร์ในช่วงที่กำลังโผล่จากขอบฟ้า เมื่อเทียบขนาดดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณขอบฟ้าแล้วทำให้เรารู้สึกว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ นอกจากนั้นหากใครที่อยู่ใกล้กับทะเลยังมีโอกาสได้เห็นปรกฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ที่สูงกว่าช่วงปกติด้วยเช่นกัน

ขนาด (Size)

เราจะเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าช่วงปกติเล็กน้อย โดยช่วงที่ใหญ่ที่สุดอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงที่เล็กที่สุดถึง 14 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นหากเราเฝ้าสังเกตดวงจันทร์ในช่วงที่กำลังโผล่จากขอบฟ้า เมื่อเทียบขนาดดวงจันทร์กับวัตถุที่อยู่บริเวณขอบฟ้าแล้วทำให้เรารู้สึกว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ แต่นั้นเป็นเพียงภาพลวงตา รู้จักกันในชื่อ Moon Illusion เนื่องจากดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้าที่เห็นด้วยตามักมีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ จึงทำให้คนดูรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ แต่ในขณที่ดวงจันทร์อยู่กลางท้องฟ้ากลับทำให้ดูเหมือนว่าดวงจันทร์มีขนาดเล็ก เพราะไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบขนาดนั้นเอง 

ความสว่าง (Brightness)

ในช่วง Super Full Moon ดวงจันทร์อาจมีความสว่างเพิ่มขึ้นได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น มีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นทำให้มีพื้นที่ในการสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์มากขึ้นนั่นเอง

เกร็ดความรู้เรื่อง “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี”

ในแต่ละเดือนดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้นวงโคจรที่เป็นวงรีจึงทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์นั้นไม่คงที่ ทำให้บางครั้งดวงจันทร์ก็จะอยู่ใกล้ และบางครั้งก็จะอยู่ไกลโลก นักดาราศาสตร์ เรียกจุดที่ไกลที่สุดในวงโคจรระหว่างโลกกับดวงจันทร์นี้ว่า apogee ซึ่งอยู่ห่างจากโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร และเรียกจุดที่ใกล้ที่สุดว่า perigee ซึ่งเป็นระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตรจากโลก โดยจะเกิดขึ้นอยู่ทุกๆ 27.3 วัน ตามคาบการโคจรของดวงจันทร์ไปรอบๆ โลก

สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ในคืนวันเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” หรือ "ซูเปอร์ฟูลมูน" ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ก็สามารถเริ่มถ่ายภาพกันได้แล้ว โดยจะขอแนะนำหลักการเบื้องต้นง่ายๆ ดังนี้

  1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆ ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งหากสามารถถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ ก็จะทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า (ยิ่งมีทางยาวโฟกัสสูงๆ ยิ่งได้เปรียบ)
  2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป ซึ่งดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ความไวแสงสูง ก็จะทำให้เราได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว
  3. การปรับโฟกัสภาพ ใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง ช่วยการปรับโฟกัสให้คมชัดมากที่สุด โดยเลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด
  4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป โดยอาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบดูว่า ภาพเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่
  5. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M ซึ่งในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก
  6. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s หรือมากกว่าซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี
  7. รูรับแสง อาจใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ
  8. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์
  9. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
  10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

ที่มา : https://www.narit.or.th/