รู้จัก ‘ซีม่า’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน ใช้ทา 'ลอกผิวขาว' ได้จริงหรือ?

รู้จัก ‘ซีม่า’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน ใช้ทา 'ลอกผิวขาว' ได้จริงหรือ?

รู้จัก "ซีม่า" ที่แม้จะติดปากว่า "ซีม่าโลชั่น" แต่ไม่ใช่โลชั่นทาตัวแบบสกินแคร์ทั่วไป แล้ว "ซีม่า" คืออะไร อันตรายแค่ไหน และสามารถนำไปทาเพื่อลอกผิวขาวได้จริงหรือไม่?

ซีม่าโลชั่นหนึ่งในประเด็นดราม่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รุ่นพี่วันประถมศึกษารุมแกล้งรุ่นน้อง ด้วยการราดซีม่าจำนวนมากทั่วทั้งตัว จนเกิดแผลพุพอง

ขณะเดียวกันอีกกรณีที่มีการนำซีม่าโลชั่นมาใช้เพื่อหวังลอกหนังด้านหรือลอกให้ผิวขาวขึ้น แต่ผลที่ตามกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ผิวกลับมีลักษณะไหม้ และสีผิวบริเวณนั้นดำกว่าเดิม

วันนี้จึงเกิดประเด็นคำถามว่าซีม่าโลชั่นช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้จริงหรือ? และอันตรายแค่ไหน?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นว่า จริงๆ แล้วซีม่าโลชั่นคืออะไร เป็นยาหรือโลชั่นกันแน่ มีวิธีการใช้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง?

161665061845

  • ซีม่าโลชั่น คืออะไร?

ต้นกำเนิดซีม่าโลชั่นนั้นเป็นผลิตภัณฑ์แรกของแบรนด์ซีม่า ที่บริษัทตั้งใจออกมาเพื่อรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราในร่มผ้า และโรคน้ำกัดเท้า ผลิตและจำหน่ายภายใต้ บริษัท สามัคคีเภสัช จำกัด อยู่ยาวนานมากกว่า 70 ปี

ภายใต้ขวดแก้วใส ฝาเขียวที่เป็นเอกลักษณ์นี้ ระบุไว้ชัดเจนว่ามีตัวยาสำคัญ คือ 

1.กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) 11.8%

2.เรซอซนอล (Resorcinol) 3.8%

3.ฟีนอล (Phenol) 0.825%

ซึ่งจากข้อมูลของเพจเฟซบุ๊คสาระสุขภาพยาน่ารู้ และจดหมายข่าวสุขภาพ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีการอธิบายไว้ว่า Salicylic acid เป็นกรดอ่อนๆ และมีฤทธิ์ลอกผิวเซลล์ชั้นนอก ขณะที่ Resorcinol ใช้ผลัดผิวเซลล์ได้ ส่วน Phenylic acid ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ disinfectant และ antisepic โดยเหล่านี้ทำให้เหมาะกับการใช้กับผิวหนังที่หนา ไม่มีแผลเปิด เนื่องจากจะทำให้แสบและระคายเคือง 

    

  •  วิธีใช้ "ซีม่าโลชั่น" ที่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ตัวยานี้จะใช้รักษาการติดเชื้อราร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาโรคผิวหนัง เช่น อาการคัน ผิวหนังอักเสบ ต่อมไขมันอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น 

สำหรับวิธีการใช้ จะทาบริเวณที่เป็นหรือมีอาการวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น หลังจากที่ทำความสะอาดร่างกายแล้ว ด้วยการใช้สำลีชุบนาและทาบางๆ เบา สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรถู แกะ หรือเกา ก่อนและหลังทา รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการทาใกล้บริเวณดวงตา เนื้อเยื่ออ่อน และไม่ควรใช้กับหญิงที่ตั้งครรภ์ ด้วยความที่ตัวยามีฤทธิ์เป็นกรดอาจทำให้มีการระคายเคืองผิว แสบร้อน มีการหลุดลอกของผิว หากเป็นรุนแรงอาจมีอาการไหม้ของผิวและเกิดแผล รอยดำ ตามมาได้

นอกจากนี้ยังมีอีกผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันคือ ซีม่าครีม  ซึ่งมีส่วนประกอบเดียวคือ Clotrimazole ใช้รักษาโรคเชื้อราได้เช่นเดียวกัน สามารถทาได้วันละ 2-3 ครั้ง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาการ

  

  •  "ซีม่า" อันตรายแค่ไหน? ทำให้ผิวขาวจริงหรือไม่?

อย่างที่กล่าวไปข้างบน เพจเฟซบุ๊คสาระสุขภาพยาน่ารู้อธิบายว่า เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ที่ลอกผิวเซลล์ ดังนั้นเวลาติดโรคเชื้อราจะเกาะกินที่ผิวหนังกำพร้า ถ้าเป็นไม่มาก ตัวยาจะไปลอกหนังที่มีเชื้อราออก จึงทำให้รักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังได้ 

แต่ถ้านำไปใช้กับผิวธรรมดาหรือผิวหนังแข็งๆ ก็สามารถลอกได้ แต่ต้องระวัง ทั้งในแง่ปริมาณยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ ตำแหน่งบริเวณผิวหนังที่เป็น เพราะหากนำไปหวังไปลอกผิวขาว ก็อาจจะทำให้ขาวได้จริง เนื่องจากผิวข้างบนลอกออกไป แต่จะได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นผิวจะกลับมาดำใหม่ หากโดนแสงกระตุ้น 

นอกจากนี้หากยากัดผิวลึกลงไปจนเกิดอักเสบ อาจเกิดเป็นแผนติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งจะทำให้ผิวด่างดำมากกว่าเดิม หรืออาจติดเชื้อถาวรได้ 

ดังนั้นก่อนใช้ยาประเภทใดก็ตาม ควรอ่านสลากให้ครบถ้วนและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเกิดการแพ้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที