การกลับมาของ 'เต็นท์พักแรม'

การกลับมาของ 'เต็นท์พักแรม'

จากอุปกรณ์เพื่อการยังชีพในป่า สู่เทรนด์การท่องเที่ยวสุดคูล การกลับมาของ "เต็นท์" สร้างปรากฏการณ์ท่องเที่ยวธรรมชาติที่น่าสนใจ

การท่องเที่ยวแบบ “กางเต็นท์” พักแรมในบ้านเรามีมานานแล้ว นานพอๆ กับที่มีการท่องเที่ยวแบบชีวิตกลางแจ้งเริ่มเข้ามาเผยแพร่นั่นเลยทีเดียว แต่เดิมนั้นคนไทยเราทำที่พักง่ายๆ ในระหว่างการเดินทาง เช่น อาจจะทำเป็นเพิงเล็กๆ ตัดกิ่งไม้ ใบไม้มาซ้อนกันเป็นหลังคาพอได้กันน้ำค้าง ในเส้นทางสัญจร เรียก “ทับ” แล้วตามด้วยสถานที่ ให้เป็นที่จดจำ เช่น ถ้ามีต้นไทรใหญ่ก็เรียกทับไทร ตรงที่ที่มีการทำหวายก็เรียกทับหวาย และปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มแรกการท่องเที่ยวแบบนี้ มากับการเข้าป่าล่าสัตว์ การตั้งแคมป์พักแรมในป่า มีการก่อกองไฟหุงหาอาหารกันในแคมป์  ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากทางตะวันตกนั่นเอง นี่อาจจะจุดเริ่มแรกของการท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์ในบ้านเรา สถานที่ยอดนิยมในการกางเต็นท์พักแรมต้องเป็นป่าและใกล้ลำธารยิ่งครบองค์ประกอบ การไปกางริมทะเลเพิ่งมีมาในตอนหลัง

ครั้นมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นในประเทศไทยปี 2505 ที่แรกคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็เลยมีคนที่มาท่องเที่ยวในอุทยานโดยการ “กางเต็นท์พักแรม” เต็นท์พักแรมรุ่นแรกๆ ยังคงมีการทำเลียนแบบเต็นท์ของทหาร คือทำแบบเอาผ้าใบมาประกบกัน มีเสาไม้กลมๆ เล็กๆ มาต่อกันเพื่อค้ำหลังคา ไม่ได้เป็นแบบสำเร็จรูป จะมีแค่หลังคากับฝา พื้นเป็นพื้นดิน ต้องเอาผ้าใบมาปูนอน เอามาต่อกัน ซึ่งเต็นท์แบบทหารนี้ ยังเป็นต้นแบบของเต็นท์พักแรมแบบถาวรของอุยานแห่งชาติภูกระดึงในยุคแรกๆ หรือเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าตั้งแต่เปิดภู ทำเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ มีประตูเป็นผ้าใบประกบกันหัว-ท้าย ภายในทำเป็นแคร่นอนยาวซ้าย-ขวา เว้นช่องทางเดินตรงกลาง เหล่านี้คือเต็นท์ที่เป็นต้นแบบมาจากเต็นท์ทหาร

ต่อมา "เต็นท์" พักแรมก็มีพัฒนาการ เป็นเต็นท์ขึง สำเร็จรูป ทำจากผ้าในล่อน เบา เป็นทรงมีจั่วสามเหลี่ยม มีพื้นเป็นผ้าใบเย็บติดกัน เวลาจะกางก็มีเสาอลูมิเนียมต่อกัน ขึงเชือกโยงดึงกันจนตึง ต่อมาเต็นท์จึงพัฒนามาเป็นเต็นท์โดม แบบใช้เสากราไฟต์ จนมาเป็นเต็นท์แบบสปริงหรือที่เรียกว่าแบบสะบัด จากเต็นท์ทรงเชยๆ มาจนเป็นเต็นท์ที่มีการออกแบบสวยงาม  จากราคามี่บาท มาเป็นเต็นท์ราคาหลายหมื่นบาทอย่างเช่นในปัจจุบัน และยังมีอุปกรณ์ใช้กับเต็นท์พักแรมอีกหลายอย่างตามมา ผ้าใบทำหลังคม ยางปูนอนถุงนอน

160894611924

อุทยานแห่งชาติออบหลวง

160894611919

อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น

160894612023

ลานกางเต็นท์บนดอยค้ำฟ้า อุทยานดอยผาแดง

160894623088

อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย

เต็นท์แบบจั่วยึดครองความนิยมมานาน ราว 10-20 ปี แทบไม่มีการพัฒนารูปแบบใหม่ แม้ว่าในเมืองไทยจะเริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเดินป่าไปกางเต็นท์นอนกันในป่าแล้วก็ตาม ซึ่งก็จะเริ่มสวนทางกับการไปเที่ยวป่าแบบไปล่าสัตว์ที่เริ่มไม่ได้รับความนิยม สังคมต่อต้านมากขึ้น    แม้ในยุคสมัยที่การสื่อสารยังเป็นไปได้ในวงแคบ มีคนกางเต็นท์หลายกลุ่มก็จริง แต่ก็จะเป็นแบบกลุ่มใครกลุ่มมัน ไม่ค่อยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือรู้จักกัน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนตั้งแต่ยุค 2000 เป็นต้นมา การสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว การเชิญชวนกลุ่มคนที่ชมชอบแบบเดียวกัน ให้มารวมกัน มีการอวดรูป อวดที่กางเต็นท์ อวดรูปแบบเต็นท์และมีคนเที่ยวแบบกางเต็นท์ขยายออกไปค่อนข้างมาก จากการเที่ยวแบบที่ดูว่าเป็นกิจกรรมของนักท่องเที่ยวกระเป๋าแฟบ มาจนถึงปัจจุบันไม่อาจพูดเช่นนั้นได้แล้ว เพราะมีคนทุกฐานะที่นิยมมากางเต็นท์นอน นับเป็นยุคของการท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์อย่างแท้จริง

เดิมทีอุทยานแห่งชาตินั้นไม่ได้จัดที่ทางไว้เพื่อนักท่องเที่ยวแนวกางเต็นท์โดยเฉพาะ กางกันเป็นการสะดวก แต่ต่อมาเมื่อเริ่มมีคนนิยมมากขึ้น อุทยานแห่งชาติจึงเริ่มจัดทำ “ลานกางเต็นท์” ขึ้นมา และพัฒนาการมาเรื่อยๆ สนามหญ้าตัดหญ้าเรียบกริบ มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีแคร่ยกพื้นขึ้นมา บางที่มีไฟส่องสว่าง ที่ดีขึ้นกว่านั้นคือที่ชาร์จไฟไว้ให้บริการด้วย  

และเมื่อมีคนมา “กางเต็นท์” มากขึ้น อุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุสัตว์ป่านั้น ก็จะต้องมีกฎระเบียบไว้ให้คนหมู่มากมาใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะการห้ามใช้เสียงดัง ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งมีระเบียบการห้ามใช้เสียงดังอยู่แล้ว ในลานกางเต็นท์ยิ่งต้องห้าม แต่ก่อนเราอาจจะเคยประสบกับวงเหล้าที่ดื่มกิน เล่นกีตาร์ เปิดเพลงกันดึกดื่น หรือเล่นไพ่กันร้องเฮๆกันลั่น ยิ่งดึกเสียงยิ่งดัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว หลายอุทยานแห่งชาติจะมีเสียงตามสายประกาศเป็นระยะๆ ว่าห้ามส่งเสียงดง ห้ามเปิดเพลงเสียงดัง ไม่เช่นนั้นจะมีการไปเตือน ถ้าไม่ฟัง เจ้าหน้าที่จะจับปรับแล้วเชิญออกจากพื้นที่ ยิ่งอุทยานไหนที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดความเป็นธรรมชาติก็จะกลับมาสู่ลานกางเต็นท์ยิ่งขึ้น ในบางอุทยานฯ อาหารทำได้แต่ต้องไม่ก่อกองไฟบนพื้น ต้องมีเตา ไม่ทิ้งเศษอาหาร รวมทั้งการห้ามไม้ให้อาหารสัตว์ด้วย และนักท่องเที่ยวควรที่จะนำขยะที่ตัวเองนำมา นำออกไปจากพื้นที่เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ในการกำจัดขยะ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างคนต่างให้ความร่วมมือ ต่างคนต่างปฏิบัติตามระเบียบของการอยู่รวมกัน ลานกางเต็นท์ที่ว่าคนมากก็จะยังแต่ความเป็นธรรมชาติ

160894627439

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย

160894627426

เต็นท์พักแรมรุ่นใหม่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

160894627436

การนอนเต็นท์ ถือว่าได้ใกล้ชิดธรรมชาติอที่สุด

160894627534

ลานกางเต็นท์อุทยานฯน้ำตกสามหลั่น

การเติบโตของการท่องเที่ยวแบบเต็นท์พักแรมนั้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยวแนวนี้เพิ่มขึ้นด้วย นับตั้งแต่ร้านขายอุปกรณ์แค้มปิ้งที่ขยายตัวขึ้นมาก “เต็นท์” มีหลากหลายรูปแบบขึ้น หลายราคามากขึ้นจนแพงเกือบแสนบาทก็มี พื้นที่ของเอกชนบางแห่งที่ทำเลดี มีการปรับเป็นที่กางเต็นท์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ล้นออกมาจากอุทยานแห่งชาติด้วย

กิจกรรมยามไป “ตั้งแคมป์” นั้น นอกจากจะนั่งพักผ่อน ชื่นชมธรรมชาติแล้ว เดี๋ยวนี้ยังนิยมการทำอาหาร แล้วถ่ายรูปมาอวดกัน มีการ “ตกแต่งเต็นท์” ให้มีสีสัน มีการตกแต่งไฟ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการตั้งแคมป์ขายดีทุกอย่าง

การเข้าไปใช้บริการ “สถานที่กางเต็นท์” ใน “อุทยานแห่งชาติ” นั้นจะต้องมีการจองสถานที่กางเต็นท์เพื่อความแน่นอน โดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติที่ได้รับความนิยมเช่นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งหลายพ้นที่มีการจำกัดจำนวนคนพักแรม นักท่องเที่ยวจึงควรเช็คจำนวนคนและจองที่กางก่อนการเดินทาง

การกลับมาของ “เต็นท์พักแรม” จึงไม่ใช่ดีแค่ “อุทยานแห่งชาติ” ที่มีคนนิยมไปใช้พื้นที่เท่านั้น ยังรวมถึงเอกชน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากายที่ได้รับอานิสงส์มากขึ้นด้วย ใครยังไม่เคยท่องเที่ยวแบบนี้ อาจจะลองดูบ้างก็ได้ บางทีอาจจะได้ตำตอบว่าทำไม คนส่วนหนึ่งจึงชอบเที่ยวแบบ “กางเต็นท์” กันนัก และทำไมอุทยานแห่งชาติทุกแห่งจึงต้องมี “ลานกางเต็นท์”