‘แพร่โมเดล’ ต้นแบบการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในสายตา ‘วสุ โปษยะนันท์’

‘แพร่โมเดล’ ต้นแบบการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในสายตา ‘วสุ โปษยะนันท์’

ทัศนะของสถาปนิกนักอนุรักษ์ ถึงปัญหาเรื่องสถาปัตยกรรมอาคารเก่า “แพร่โมเดล” คือบทนำของการอนุรักษ์สิ่งที่เรียกว่า “มรดกของชาติ”

จากกรณีรื้ออาคาร “บอมเบย์เบอร์มา” ที่จังหวัดแพร่ ในตอนนั้นอาจสะเทือนขวัญคนรักอาคารเก่า แต่นั่นเป็นเพียงฉากตอนหนึ่งของมหากาพย์การสูญสลายของสถาปัตยกรรม ที่ยังมีอีกหลายอาคารอาการน่าเป็นห่วง ทั้งด้วยความตั้งใจและด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่ง วสุ โปษยะนันท์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน และเป็นประธานจัด “งานสถาปนิก’64” ได้ยก “แพร่โมเดล” เป็นตัวอย่างของ “การทำลาย” และ “การอนุรักษ์” ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และต้องอยู่ต่อไป

  • ทำไมต้องเป็นแพร่?

จริงๆ เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ “บอมเบย์เบอร์มา” นี่แหละครับ แล้วเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่เกิดกระแสว่าคนรู้สึก จากเดิมที่ไม่เห็นคุณค่าแล้วรื้อไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทำไมถึงรื้อไปแบบนี้ แล้วในกลุ่มนั้นส่วนหนึ่งมีคนที่เป็นสถาปนิกด้วย สมาคมสถาปนิกสยามจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีและตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจจะนำเสนออยู่แล้วใน “งานสถาปนิก’64” ซึ่งจะจัดขึ้นในที่ 27 เม.ย. - 2 พ.ค. 64 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 ในคอนเซปต์ "มองเก่าให้ใหม่" เราจะให้คนมาคิดกันใหม่เรื่องมรดก เราจึงเลือกพูดถึงแพร่

แม้ว่าจะไม่มีงานสถาปนิกในปีที่ผ่านมา แต่การที่สมาคมลงมาช่วยเรื่องเคสของแพร่ เราก็หวังว่ามันจะขยายผลไปทำให้กลุ่มสถาปนิกที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆ ตื่นตัวขึ้นมา เห็นคุณค่าของมรดกที่อยู่ในบ้านตัวเองเหมือนกัน ผมยกตัวอย่างเช่นที่ต่อเนื่องจาก “บอมเบย์เบอร์มา” อย่างที่ลำปางเขาก็รู้สึกขึ้นมาเหมือนกันว่าของเขาก็มีมรดกอย่าง “บ้านหลุยส์” ซึ่งก็เป็นเรื่องของป่าไม้เหมือนกัน และกำลังโดนซ่อม เปลี่ยนไปโดยรูปแบบอาจจะไม่ถูกต้องเหมือนกัน ทางกลุ่มสถาปนิกของลำปางก็ลุกขึ้นมาว่าต้องหยุดก่อน ซึ่งก็ช่วยได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้

หรืออย่างกลุ่มที่เพชรบุรี ก็มีการแชร์ข้อมูลของโรงเรียนเก่าซึ่งเป็นงานไม้ที่สวยมาก แต่โดนทิ้งร้างอยู่ กลุ่มสถาปนิกที่เพชรบุรีก็รวมตัว แบบนี้คือกระแสที่คนที่มีวิชาชีพเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมตามที่ต่างๆ รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเขาด้วยนะ อย่าไปรอเพียงภาครัฐหรือกรมศิลปากรที่จะมาดูแลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราที่อยู่ในวิชาชีพเกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมที่จะต้องมาช่วยกันมอนิเตอร์ ช่วยกันมาดูแล

  • เป็นกระแสเฉพาะในวงสถาปนิกหรือเปล่า?

จริงๆ เรื่องการอนุรักษ์เป็นเรื่องของสหวิชาชีพ แต่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมมันก็เลยเป็นตัวหลักที่ออกมา เหมือนกับว่าแล้วคนที่จะทำหน้าที่ออกแบบ บูรณะ ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ ซึ่งเป็นงานของวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม แต่การนำมาซึ่งการตัดสินใจว่าจะอนุรักษ์ด้วยวิธีการไหน จะออกมาเป็นแบบไหน ข้อมูลที่จะเอามาซัพพอร์ทสิ่งที่เราจะตัดสินใจมันต้องมาจากหลายวิชาชีพ อาจจะมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ถ้าบางที่มีการซ้อนทับกันของงานก่อสร้างก็อาจจะต้องมีงานโบราณคดีเข้ามาเกี่ยวข้อง

บางอันเป็นเรื่องการเสื่อมสภาพของวัสดุก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาไหม หรือเราจะมีวิธีการไหนเข้ามาเพื่ออนุรักษ์ตัววัสดุต่างๆ บางอันเป็นเรื่องโครงสร้างไม่มั่นคง งานวิศวกรก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องครับ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่เราอาจจะเป็นหนึ่งในกลไกในหลายๆ อันที่จะมาร่วมกัน

เนื่องจากว่าการที่เราจะไปทำอะไรกับโบราณสถานหรืออาคารเก่า เขาก็จะต้องดูว่าคุณค่าอยู่ตรงไหน คนที่จะบอกได้ว่าคุณค่าอยู่ตรงไหน สถาปนิกจะเป็นคนหนึ่งที่บอกได้ ก็อาจจะมาเริ่มต้นที่เรา เหมือนกับเราจะต้องทำหน้าที่ประสานกับหลายๆ วิชาชีพด้วย ไม่ใช่เราทำเพียงลำพัง

160730689817

  • คนในพื้นที่บางคนมองว่าเป็นโบราณสถานเป็นเพียงอาคารหลังหนึ่ง สถาปนิกมีการเชื่อมโยงคนในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญของสถาปัตยกรรมเหล่านี้อย่างไร?

สิ่งหนึ่งที่เราต้องมารีโฟกัสกัน คือพอคนพูดถึงคำว่าโบราณสถาน ก็จะนึกถึงอะไรที่ห้ามแตะต้อง หรือจะต้องเก็บไว้แบบดั้งเดิม ที่สำคัญคือเป็นเรื่องของกรมศิลปากร เป็นสิ่งที่กรมศิลปากรต้องมาทำ เราอยากให้เปลี่ยนแนวความคิดนี้ เพราะจริงๆ แล้ว เราอยากเปลี่ยนคำว่าโบราณสถานมาสู่คำว่ามรดก พอเป็นคำว่ามรดก เราจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนส่งมาให้เรา แล้วมันมีคุณค่าที่ตกทอดมา เขาถึงอยากให้รักษาไว้จากรุ่นเราไปสู่รุ่นต่อไปด้วย

ทีนี้พอเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาถึงเรา เราจะต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าของ อย่างกรณีของบอมเบย์เบอร์มา คนในท้องถิ่นเองต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าของ จะมาปัดภาระไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของภาครัฐ ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องของเราต่างหาก เพราะนี่เป็นของๆ เรา เรามีสิทธิ์ที่จะเป็นคนบอกว่าอยากให้เก็บไว้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้ สถาปนิกจะเป็นคนที่มาช่วยทำความต้องการนั้นออกมาเป็นแบบ เป็นรูปธรรมที่จะไปต่อได้ว่าสิ่งที่คุณอยากได้จะออกมาเป็นอย่างไร

เหมือนกับงานออกแบบใหม่ คุณอยากสร้างบ้าน อยากได้บ้านแบบไหน คุณมีหน้าที่บอกสถาปนิกว่าคุณจะใช้สอยอย่างไร คุณต้องการบ้านที่เป็นแบบไหน อารมณ์ไหน ก็เหมือนกันครับ พอเรามีมรดกอยู่ คุณเห็นคุณค่าของมรดกนี้อย่างไร แล้วสถาปนิกจะทำหน้าที่ทำแบบเพื่อจะรักษาคุณค่าของมรดกนั้น แล้วให้สอดคล้องกับการใช้งานที่คุณต้องการในปัจจุบันอย่างไร จริงๆ เหมือนกันเลยไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบใหม่ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับอาคารเก่า มันคือศาสตร์แบบเดียวกัน

  • ในบางชุมชนที่มองว่าการบูรณะโบราณสถานให้สวยขึ้นเช่นการทาสีโบสถ์เก่า จริงๆ คือการอนุรักษ์หรือทำลาย?

ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะว่า ส่วนมากตัดสินโดย อาจจะเป็นคนที่มาทำบุญที่วัดที่ต้องการทำบุญ ทางวัดเองก็ไม่กล้าจะขัดศรัทธา หรืออาจจะเป็นความคิดของท่านเจ้าอาวาสเองที่เห็นว่าเก่าแล้วอยากทาสีใหม่ แต่ไม่มีใครมาช่วยบอกว่าใช้สีแบบไหน คือการขาดกระบวนการในการถามว่าคุณค่าของมรดกคืออะไร ในขณะที่อาคารเก่าคนบอกว่าเป็นโบราณสถานก็คอยแต่จะให้กรมศิลปากรดูแล วัดก็เหมือนกัน คนจะบอกว่าแล้วแต่พระท่าน เป็นของพระ จริงๆ แล้วเราต้องมองว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นมรดกของชุมชน ก็ควรจะเป็นเรื่องที่ทางวัดเองก็ต้องถามไถ่ชาวบ้าน หรือท่านเองก็ต้องมีองค์ความรู้ถึงสิ่งที่ท่านดูแลจากรุ่นสู่รุ่น ก็ต้องรู้ว่าตรงไหนของวัดที่มีคุณค่า ศิลปะแบบไหนที่ถ้าเสียไปคือเสียเลยนะ ท่านไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าของเท่านั้นนะครับ แต่ท่านต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่ท่านดูแลอยู่นั้นมันมีคุณค่าตรงไหน

ถ้าท่านไม่รู้ เราต้องช่วยกัน สังคมต้องช่วยกัน ผู้รู้ในท้องถิ่น นักวิชาการท้องถิ่นก็ต้องมาช่วยดูว่าวัดแบบนี้มีคุณค่าตรงไหน แล้วจะนำมาสู่การปรับปรุงเพื่อรักษาคุณค่านั้นไว้ได้ ให้ดูดี ดูเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่เสื่อมสภาพ แต่รักษาคุณค่าเหล่านั้นไว้ได้ นี่ต่างหากคือสิ่งที่เราต้องการ

  • กว่าจะไปถึงจุดที่ทำให้คนตระหนัก ยังติดขัดอะไรที่ทำให้ยังเกิดกรณีการทำลายมรดกเหล่านี้?

เพราะเราปล่อยให้เป็นแบบนี้มานาน เราปล่อยให้วัดตัดสินใจเอง เรามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเรา ในหลายๆ วัด แม้แต่ที่แพร่เอง ก็จะเห็นว่ามีการปูพื้นกระเบื้องที่ดูไม่เข้ากับคุณค่าของวัด ความเป็นพื้นถิ่น ความเป็นโบราณหายไป ท่านอาจจะไปดูตามร้านขายวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ตามแคตตาล็อกมีอะไรก็สเป็กตามนั้น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ศาสตร์ของการออกแบบช่วยได้

ปัญหาหนึ่ง คือ เนื่องจากการก่อสร้างสิ่งใดๆ ในวัดจะได้รับการยกเว้นตาม พรบ. ควบคุมอาคาร ไม่ต้องขออนุญาตเขต ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้าง เพราะฉะนั้นแบบก่อสร้างต่างๆ ในวัด ไม่ต้องมีสถาปนิก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนที่มีวิชาชีพด้านการออกแบบไม่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยตัดสินใจ งานออกแบบต่างๆ ก็เลยเป็นแบบที่ว่า กระเบื้องสีนั้นสีนี้ ถ้าเราให้คนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ทำ ผมว่าอาจจะได้คำตอบที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

160730689848

  • ภาครัฐมีส่วนช่วยให้ดีขึ้นได้ไหม?

อย่างกฎหมายเราก็มีอยู่ มี พรบ.วิชาชีพคุ้มครองให้ศาสตร์ของการออกแบบสงวนไว้สำหรับคนที่เป็นสถาปนิกเท่านั้น หรือทางวิศวกรก็มี พรบ.วิชาชีพของเขาเหมือนกัน แต่ว่าในทางปฏิบัติในการเอากฎหมายไปบังคับใช้ เราอาจจะไม่มีใครไปตามจี้ว่าการออกแบบโดยไม่มีสถาปนิกกับวิศวกรออกแบบมันผิดกฎหมายนะ พอไม่มีการบังคับใช้กฎหมายก็เลยมีการปล่อยให้เคสต่างๆ เกิดขึ้นเหมือนเป็นปกติ ทำให้คนไม่รู้ว่าแบบนี้มันผิดนะ ผมว่าถ้าเราเข้มงวดขึ้นหรือมีการบังคับใช้กฎหมายแบบนี้ให้มากขึ้นก็อาจจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วย พอมีการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ต่อไปนี้ทุกการออกแบบก็จะทำโดยผู้มีใบประกอบวิชาชีพถูกต้อง ก็จะทำให้คนที่ประกอบวิชาชีพเองมีประสบการณ์ และมีความชำนาญในแต่ละกรณีมากขึ้น

สมมติแรกๆ งานในวัด งานอาคารเก่า สถาปนิกและวิศวกรอาจจะมีโอกาสน้อย เพราะที่ผ่านมาก็ทำกันเอง ลุยกันเองไปเรื่อย ตอนแรกๆ อาจเป็นไปได้ว่าสถาปนิกและวิศวกรยังไม่มีก็จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นการบังคับใช้กฎหมายจะสร้างโอกาสให้เขาจำเป็นต้องใฝ่หาความรู้ พัฒนาการออกแบบของแต่ละคนให้เข้าสู่กรอบที่ถูกต้อง นั่นจะทำให้สภาพของงานทั้งหมดออกมาอย่างที่มันควรจะเป็น

  • ในมุมของสถาปนิก ที่แพร่มีอะไรยังไม่เข้าที่เข้าทาง?

จริงๆ ก็มีหลายที่ครับ เอาอย่างง่ายๆ ตามวัด ก็จะเห็นการเสริมนู่นแต่งนี่ กระเบื้อง วัสดุ ทาสีใหม่ ซุ้มประตูโขงเคยเป็นซุ้มประตูทำไมมากั้นเป็นซุ้มพระไปเสียแล้ว คุณค่าและฟังก์ชันบางอย่างหายไป หรืออะไรที่เคยเป็นลวดลายปูนปั้นดีๆ ก็กลายเป็นเอาวัสดุใหม่มาปิดทับ ก็มีครับ เพราะท่านขาดคนแนะนำ ก็อย่างว่า คนจะคอยพึ่งแต่กรมศิลปากร เขามีเจ้าหน้าที่ที่จำกัดครับ ขนาดกรมศิลปากรเอง สถาปนิกและวิศวกรก็มีแค่ที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ การประสานงานในกรมศิลปากรเองก็ลำบาก เพราะฉะนั้นเราจะมาหวังพึ่งกรมศิลปากรคงไม่พอ ถ้ามีกลุ่มสถาปนิกในแต่ละท้องที่ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลมรดกทั้งวัด ทั้งอาคารเก่า ที่อยู่ในพื้นที่ มันก็จะดูดีขึ้น

อย่าง “บ้านวงศ์บุรี” เป็นมรดกของบ้านของตระกูลของเขาเอง แล้วเขามีการจัดการของเขาเอง ก็จะดูดี เรียบร้อยในลักษณะหนึ่ง ในขณะที่ “คุ้มเจ้าหลวง” เป็นอาคารทางราชการ ทางออกง่ายๆ ก็คือเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่จริงๆ แล้วทางออกเรื่องการจัดการอาคารเก่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น พอเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็จะเห็นคราบน้ำรั่ว ทำไมไม่ซ่อมให้ทันท่วงที ก็ตั้งคำถามในใจครับ

  • บ้านวงศ์บุรี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของอาคารอนุรักษ์?

ถือเป็นตัวอย่างที่ดีครับ เพราะสมาคมฯ ก็ได้ให้รางวัลอนุรักษ์ดีเด่นอยู่เหมือนกัน แต่ก็หลายปีแล้ว ซึ่งมาตรฐานการให้รางวัลก็ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการแต่ละสมัย อย่างเช่นในอดีตเราก็จะมีการให้รางวัลมาทุกปี ที่ผ่านมาเราจะให้รางวัลในระดับเดียวกันหมด เรียกว่า “รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น” ซึ่งเราให้รวมหมดเลย ทั้งอาคารที่ออกแบบดีจริงๆ ทั้งอาคารที่มีความเสี่ยงที่เจ้าของจะรื้อแล้ว เรารีบไปให้รางวัลก่อนเพื่อที่จะเบรกเขาไม่ให้รื้อ นี่คือสิ่งที่ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผมเข้ามาดูแลตรงนี้ คณะกรรมการของเราก็มาพิจารณากันว่าการที่จะให้รางวัลในลักษณะเดียวกันแบบนี้มันเหมาะสมหรือเปล่า เพราะหลายรางวัล หลายอาคารที่ได้รับรางวัลในอดีต ได้ไปในลักษณะที่ตอนแรกยังไม่ได้อนุรักษ์ดีมากนัก แต่เราไปให้ไว้ก่อนเพื่อเป็นกำลังใจ แล้วปรากฏว่าภายหลังมีสถาปนิกที่ไปออกแบบอาคารเหล่านั้นที่อนุรักษ์ได้ดีแต่กลายเป็นว่าเป็นอาคารที่ได้รางวัลไปแล้ว ก็เลยไม่มีรางวัลตรงไหนที่จะไปมอบให้สถาปนิกหรือเจ้าของที่กลับมาตั้งใจอนุรักษ์อาคารนั้นได้อย่างดี

เราก็เลยคิดว่ากลับมาทบทวนกันใหม่ในการให้รางวัลของเรา น่าจะมีการแบ่งระดับ ถ้าเป็นประเภทเดิม ยังอยู่ดี ยังไม่รื้อ หรือมีความเสี่ยงแล้วเรารีบไปให้รางวัลไว้ก่อน จะเป็นรางวัลระดับหนึ่ง แต่ในขณะที่เป็นระดับที่ดีขึ้นมา เราก็จะให้เป็นระดับดี ระดับดีมาก ไปถึงระดับดีเยี่ยม ซึ่งเราจะเก็บไว้ให้กับประเภทที่เหนือความคาดหมาย คือ มาตรฐานดีทุกอย่างแล้ว แต่พอเห็นแล้วมันมีผลกระทบที่โอ้โห ดีเกินความคาดหมายจริงๆ เราถึงจะให้เป็นตัวท็อป ซึ่งปีที่ผ่านมายังไม่มี

160730689866

  • สถาปัตยกรรมบ้านเรา อะไรที่ต้องทบทวนกันใหม่บ้าง?

หลักๆ ก็คือเรื่องอาคารเก่า จริงๆ แล้วมีคุณค่า และเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของใครบางคน ไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม ไม่ใช่เรื่องห้ามแตะต้อง นี่น่าจะเป็นตัวหลักที่เราจะนำเสนอ อย่าง “สถาปนิก’62” ที่เราว่าด้วยเรื่อง Green จริงๆ แล้วการนำอาคารเก่ามาใช้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกรีน มันคือการที่เราประหยัดทรัพยากร อะไรที่มีอยู่แล้ว และเรานำมาประยุกต์ใช้สืบทอดต่อไป นี่มันคือส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • สถาปนิกทุกคนหรือเปล่าที่จะทำงานอนุรักษ์ได้?

ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราขาดความมั่นใจ เพราะ Mindset ของเราอาจจะไม่ได้ตั้งไว้สำหรับการที่บอกว่าฉันก็ทำงานกับอาคารเก่าได้ เพราะว่าเราไปฟังหัวไว้แล้วว่าอาคารเก่าห้ามแตะต้อง แต่จริงๆ ถ้าใครได้มีโอกาสไปเรียนต่อ หรือไปศึกษาวิชาด้านการอนุรักษ์ต่อ

อย่างผมเองกล้าพูดได้เลยว่ามันไม่แตกต่างกันเลย เป็นเรื่องที่สถาปนิกทุกคนทำได้ ดีไซเนอร์ทุกคนทำได้ เพียงแต่เปิดใจอย่าไปกลัวว่านั่นเป็นสิ่งที่ห้ามแตะต้อง แต่มันคือข้อมูลหนึ่งที่จะใช้ในการออกแบบนั่นเอง