'สำร่ด' ผลไม้ที่ทำให้การท่องเที่ยวชุมชน 'เป็นสับปะรด'

'สำร่ด' ผลไม้ที่ทำให้การท่องเที่ยวชุมชน 'เป็นสับปะรด'

ภาษา ‘ตราด’ วันละคำ (สองคำ) เสนอคำว่า “สำร่ด” ผลไม้ที่ทำให้การท่องเที่ยวชุมชน “เป็นสับปะรด”

ถ้าที่ชลบุรีมีสับปะรดศรีราชา ที่ภูเก็ตมีสับปะรดภูเก็ต หรือที่เชียงรายมีสับปะรดนางแล ที่ “ชุมชนบ้านห้วยแร้ง” จังหวัดตราด ก็มี “สับปะรดตราดสีทอง” แต่คนตราดไม่ได้เรียกว่า “สับปะรด” เพราะสำเนียงเสียงถิ่นทำให้ผลไม้ชนิดนี้ที่มีตารอบตัว ถูกเรียกขานว่า “สำร่ด” หรือ "สำมะรด" (โดยต้องเน้นเสียงให้ทุ้มทรงพลังตามแบบฉบับคนตราดด้วย)

นอกจากชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ เรื่องรสชาติยังต้องบอกว่า “เป็นสับปะรด” เอามากๆ ถึงขนาดถูกบรรจุเป็นหนึ่งในของดีบนเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหารในพื้นที่พิเศษของ อพท. “Delicious Destinations @ Trat” เลยทีเดียว

160462227823

160462227714

“สับปะรดตราดสีทอง” เป็นผลไม้ที่ทั้งสร้างรายได้ และอยู่คู่ “ตำบลห้วยแร้ง” มาช้านาน ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สายพันธุ์สับปะรดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI นอกเหนือจากสับปะรดภูแล

เอกลักษณ์ของ “สำร่ด” พันธุ์นี้คือรสหวานกำลังดี เนื้อฉ่ำ นุ่มพอเหมาะ แกนกลางไม่แข็ง กรอบกินได้ทั้งแกน และที่ทำให้หลายคนประทับใจมากคือไม่กัดลิ้นแม้กินมาก เรื่องรสชาติที่ว่าหวาน แม้จะเป็นช่วงฤดูฝน “สับปะรดตราดสีทอง” ก็ยังหวาน ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง ความหวานจะยิ่งงวดจนเข้าขั้น “หวานฉ่ำ”

การพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่แค่ปลูกให้ได้ผลิตผลคุณภาพ แต่ชาวห้วยแร้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มมูลค่าเป็นอะไรต่อมิอะไรมากกว่าแค่กินผลสุก เช่น น้ำพริกเผาสับปะรด ซอสผัดไทยที่ทำจากสับปะรด ฯลฯ

160462227722

160462227799

ส่วนในวิถีชีวิตของชาวชุมชนห้วยแร้ง ก็มี “สำร่ด” อยู่ในแทบทุกมื้อทุกคำ อย่างในอาหารการกิน “สับปะรดตราดสีทอง” เป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ ตั้งแต่โบร่ำโบราณ ชาวห้วยแร้งมักจะห่อข้าวด้วย “กาบหมาก” พกไปกินเวลาเข้าเรือกสวนไร่นา ภายในห่อข้าวยุคนั้นอาจมีเพียง “ข้าวคลุกพริกเกลือ” (ทำนองเดียวกับน้ำจิ้มซีฟู้ด) แล้วไปหาหอยหาปลาเอาดาบหน้า พอมาถึงยุคนี้ที่การท่องเที่ยวส่งเสริมให้อาหารพื้นถิ่นกับความคิดสร้างสรรค์มาบรรจบกัน “ข้าวห่อกาบหมาก” จึงห่อทั้งวิถีการกิน และห่อเอารสชาติที่ผสมผสานความอร่อยของ “สำร่ด” เข้าด้วยกัน

เปิดห่อกาบหมากออกมา ในนั้นคือ ข้าวคลุกน้ำพริกลงเรือ มีหมูหวาน กุ้งหวาน ไข่เค็ม และมี “สับปะรดตราดสีทอง” เคียงข้างเอาไว้ตัดเลี่ยน

160462227620

160462227684

ในแง่การอนุรักษ์ กาบหมากเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แถมยังมีคุณสมบัติพิเศษที่กล่องโฟมหรือกล่องพลาสติกทำไม่ได้ คือ กาบหมากช่วยยืดอายุของอาหาร แม้จะห่อหิ้วไปหิ้วมาเป็นวันอาหารก็ยังไม่บูด การชูเรื่อง “ข้าวห่อกาบหมาก” เป็นกิมมิกการท่องเที่ยวจึงเป็นการถนอมอาหารที่ถนอมภูมิปัญญาไปพร้อมๆ กัน