‘มานพ เพียรชอบไพร’ ฟื้นชุมชนด้วย‘กาแฟ’ 

‘มานพ เพียรชอบไพร’  ฟื้นชุมชนด้วย‘กาแฟ’ 

"กาแฟ"ต้นหนึ่ง ไม่ได้มีแค่เมล็ดกาแฟ ยังมีดอกกาแฟที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ชุมชนแห่งนี้ยังนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคุู่กับการรักษาป่า

"ถ้าเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ต้องรอคนมาซื้อถึงจะขายได้ แสดงว่าไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้เลย" ‘มานพ เพียรชอบไพร’ ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟบ้านแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงพยายามหาทางออกให้กับชุมชนตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม

มานพ บอกว่า สภาพภูมิอากาศของที่นี่ กลางวันอุณหภูมิ 22-28 องศาเซลเซียส กลางคืนลดลง เป็นอุปสรรคกับการจัดการผลผลิตกาแฟ เพราะตากเมล็ดกาแฟไม่แห้งสักที 

"มีอยู่วันหนึ่ง ตอน 11 โมง ผมกำลังตากเมล็ดกาแฟ ทั้งๆ ที่แดดเปรี้ยง อยู่ๆ ฝนก็ตก ทำให้กาแฟที่ตากไว้เสียหายทั้งหมด 6 หมื่นกว่าบาท "

และนี่คือ บทสนทนาที่ว่าด้วยการพลิกฟื้นชุมชนให้อยู่รอดด้วย กาแฟ 

160352905167

  • เริ่มต้นผลิตกาแฟ จนเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่างไร 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มีโครงการสนับสนุนให้แต่ละชุมชน คิดค้นหรือนำนวัตกรรมไปใช้ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับบริบทของแต่ละชุมชน ผมก็เลยเขียนโครงการส่งไปว่า เราต้องการระบบลดความชื้นและอบแห้งผลิตภัณฑ์กาแฟ มีแนวคิดจะเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟ และเพิ่มรายได้จากผลผลิต 

เขาก็ตอบกลับมา โครงการนี้ทำให้เราได้ห้องอบมูลค่า 5 แสนกว่าบาท กระบวนการก็เปลี่ยนไปจากเดิม มีการคัดคุณภาพ เข้าห้องอบ ให้ความร้อน แล้วรีดน้ำออกด้วยเครื่องลดความชื้น ดูดความชื้น ทำให้กาแฟแห้งไวขึ้น สะอาดขึ้น ไม่มีกลิ่นอื่นๆ ปนเข้ามา เราได้เครื่องวัดความชื้นที่มาตรฐาน เครื่องวัดอุณหภูมิ สภาวะอากาศ ทำให้เราควบคุมได้ทั้งหมด 

  • ห้องอบและเครื่องอบที่ได้มาทำงานอย่างไร

เคยตากกาแฟใช้เวลา 14-15 วัน ตากในห้องอบเหลือแค่ 8 วัน ค่าแรงลดลง ค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่คิดแล้วทดแทนกันได้ คุณภาพดีกว่า อย่างกระบวนการดรายโปรเซส ถุงสีฟ้ากลิ่นจะหอมกว่า หมักได้ดีกว่า สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ ปริมาณการอบในห้องอบได้รอบละ 1.4 ตัน แบ่งเป็นชั้นๆ ให้ความร้อนผ่านได้ทั่วถึง เครื่องดูดความชื้นก็ดูดน้ำออก เพราะเมล็ดดิบจะมีน้ำ 120 ลิตรต่อวัน

เราอยากให้กาแฟของเราดีที่สุด ตั้งแต่เป็นเมล็ดจนถึงพร้อมดื่มในแก้ว กาแฟที่ดีเป็นยังไง ก็ส่งทีมงานไปอบรม ไปเรียนคัดเมล็ดกาแฟ เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าคุณภาพคืออะไร เป็นแบบไหน ถ้ากาแฟของเราดี คนซื้อจะไม่ต่อราคา ตอนนี้ผมเป็นคนตั้งราคาแล้วว่าตัวไหนต้องขายเท่าไร เพราะเรารู้ว่าต้นทุนเท่าไร แล้วเราจะขายเท่าไร

  • หลังจากใช้นวัตกรรม ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น?

เมื่อก่อนเราขายเล็กๆ น้อยๆ กาแฟสดดิบกิโลกรัมละ 16-18 บาท พอเรามาตากแห้งผ่านกระบวนการ ขายได้กิโลกรัมละ 125 บาท เกิดการจ้างงาน เยาวชน นักเรียน ผู้สูงอายุ ให้มาคัดกาแฟ ตากกาแฟ กาแฟคั่วเราขายได้กิโลกรัมละ 450 บาท ทำให้ชุมชนมีรายได้ 450,000 บาทต่อปี นวัตกรรมไม่ได้ตอบโจทย์แค่กลุ่มเรากลุ่มเดียว ยังขยายไปสู่ชุมชน 78 ครอบครัวที่ส่งกาแฟให้เรา

160352893221

  • นอกจากกาแฟ ยังมี ‘ชาดอกกาแฟ’ ด้วย มีที่มาอย่างไร

เรามีความคิดว่า จะพัฒนากาแฟต้นเดียวให้เกิดมูลค่ามากกว่าเมล็ดกาแฟ ตามธรรมชาติของดอกกาแฟเมื่อติดผลแล้วจะร่วง ดอกกาแฟเป็นดอกไม้ที่สะอาดมาก เมื่อนำเข้าเครื่องอบแห้ง สีจะไม่ค่อยเปลี่ยน ถ้านำมาแช่น้ำจะสดเหมือนอยู่บนต้นเลย ยังคงสภาพ สี กลิ่น รส  ขณะที่เมล็ดกาแฟต้องใช้เวลา 4-5 เดือน มีฤดูกาลออกดอกแค่อาทิตย์กว่า วันสุดท้ายที่ดอกร่วงเราก็เขย่า ให้เด็กนักเรียนเอาตาข่ายมารอง เอาดอกกาแฟมาทำชาซองละ 25 กรัม กิโลกรัมละ 1200 บาทตอนนี้ราคาขึ้นเป็น 3,500 บาท แล้ว เพราะชาดอกกาแฟ มีปริมาณจำกัด เวลาชงกลิ่นไม่เปลี่ยนเหมือนตอนอยู่บนต้น มีรสหวาน ไม่เหมือนชาทั่วไป มีผู้บริโภคต้องการมาก เป็นผลผลิตที่สร้างมูลค่าได้มากที่สุด ขายดีที่สุด ผลิตออกมาก็ขายได้เลย

  • ช่วงโควิด เป็นอย่างไรบ้าง

ผลผลิตมี แต่ออกไปขายไม่ได้ เราก็คิดโครงการ ‘ผูกปิ่นโตรักษ์ป่า’ จัดส่งกาแฟคั่วสดใหม่ให้ถึงบ้านเดือนละ 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 12 เดือน ในราคา 5,000 บาท คนซื้อประหยัดไป 1000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็น หมอ, นักเดินทาง, ข้าราชการ ตอนนี้มีคนผูกปิ่นโตอยู่  32 ชุด ถ้าคุณเป็นลูกค้าเรา นอกจากช่วยกันดื่มกาแฟไทย ดูแลเกษตรกรไทยแล้ว คุณยังได้ดูแลป่าเมืองไทยด้วย

  • จุดเด่นของกาแฟหอมเหาะเป็นอย่างไร

กาแฟที่นี่มีกลิ่นคาราเมลกับโกโก้ ถ้าสีออกมาแล้ว รสชาติไม่เหมือนเดิม ผมจะคัดทิ้ง ปกติจะคัด 3 รอบ คัดจากเมล็ดดิบ แล้วคัดจากเมล็ดคั่วอีก บรรจุเป็นถุงก็คัดอีก เป็นกาแฟที่ปลูกแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ปลูกผสมผสานกับต้นไม้อื่น ทำให้มีกลิ่นเครื่องเทศ สินค้าได้มาตรฐาน

  • ได้ส่งกาแฟเข้าประกวดไหม

กาแฟของเราส่งประกวดเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรได้ที่ 1 ของจังหวัด เป็นวิสาหกิจดีเด่นระดับจังหวัด และส่งกาแฟไปประกวดระดับเขตภาคเหนือ 19 จังหวัดได้รางวัลชมเชย ได้เป็นกาแฟพิเศษลำดับที่ 15 ตอนนี้มีคนตามหาสินค้าเราทั้ง ดรายโปรเซส, ฮันนี่โปรเซส, เว็ทโปรเซส ราคา 450, 600, 700 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อคุณภาพกาแฟเพิ่มขึ้น ราคาก็ตามมา เรามีวิวัฒนาการการจัดการและการตลาดเป็นที่สนใจของหลายๆ ที่ ที่นี่เป็นจุดศึกษาดูงานเรียนรู้เรื่องกาแฟและเกษตรผสมผสาน ในหัวข้อการสร้างรายได้จากสวนเกษตรหนึ่งแปลงให้ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง

  • ดูเหมือนว่ากาแฟที่นี่มีราคาค่อนข้างสูง

กาแฟเราราคาสูง 450 บาทต่อกิโลกรัม บางคนบอกที่อื่นราคาถูกกว่า เราก็บอกว่าจะเลือกสินค้าราคาถูกหรือสินค้าดี สุดท้ายเขาก็เลือกกาแฟเรา ถ้ารสชาติดีคนก็จะซื้อซ้ำ เพราะชุมชนแม่เหาะ อยู่บนดอย อากาศดี มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เราไม่ได้บอกว่า กาแฟเราดีที่สุดในโลก แต่เราบอกว่ากาแฟแม่ฮ่องสอน ลดการทำลายป่า ลดการเผาป่า สร้างอาชีพให้เกษตรกร ถ้าคุณดื่มกาแฟที่นี่ คุณมีส่วนช่วยรักษาป่า

 ...................

(กาแฟหอมเหาะ www.homhoh.com โทร. 099 242 5395)