เที่ยว 3 วัด งามเด่นในงานศิลป์

เที่ยว 3 วัด งามเด่นในงานศิลป์

"เที่ยววัด" ถ้าไม่ไหว้พระ ก็เพลิดเพลินกับงานศิลป์ บางคนอาจไม่เคยเข้าไปด้านในวัดบวรฯ มีพระตำหนักที่สวยงาม หรือด้านหลังวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มี เขามอ ภูเขาจำลองสร้างจากแนวคิดหยดเทียนขี้ผึ้ง


เวลาไปเที่ยววัด สิ่งที่ฉันชื่นชมมากเป็นพิเศษ ก็คือ การเดินชมศิลปะ ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในวัด และถ้าจะเที่ยวให้สนุก ต้องเดินตามผู้รู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปะที่คอยอธิบายให้ความรู้  ซึ่งปัจจุบันก็มีกลุ่มที่จัดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่บ้าง ยิ่งเราเข้าใจวิธีคิดและวัตถุประสงค์ในการสร้างวัดนั้นวัดนี้สักนิด รู้ที่มาที่ไปสักหน่อย ก็จะเชื่อมโยงกับยุคสมัยได้

เที่ยววัด ชมโบราณสถาน จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งของการท่องเที่ยว...

1.พระตำหนักวัดบวรฯ
ฉันเคยไปเที่ยววัดบวรนิเวศวิหาร ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งได้เยี่ยมชมพระตำหนักต่างๆ

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร บนถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ส่วนในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุต

นอกจากจะมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์แล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้อัญเชิญบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ซึ่งเป็นพระประธานองค์หนึ่งของวัด และใต้ฐานบัลลังก์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

วัดแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมพระตำหนักหลายรัชกาลที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคที่เริ่มเปิดรับอารยธรรมตะวันตก

ที่นี่จึงมีอาคารที่งดงามและหาชมได้ยากหลายแห่ง อาทิ พระตำหนักจันทร์,พระตำหนักเพ็ชร ,พระตำหนักเดิม พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักซ้าย พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักล่าง และพระตำหนักปั้นหยา ฯลฯ

160214787316

(พระตำหนักเพ็ชรในวัดบวรฯ) 

วัดบวรนิเวศฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 เนื่องจากพระองค์เคยทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระชนมพรรษา 29 พรรษา เป็นเวลา 15 วัน และประทับขณะทรงผนวช ณ พระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2499

พระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงที่ทรงผนวชที่ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ส่วนใหญ่ถ่ายด้านในพระตำหนักปั้นหยา ซึ่งไม่อนุญาติให้สตรีเพศเข้าออก ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 )

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีหลายรัชกาล และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทรงผนวช และประทับที่พระตำหนักปั้นหยา

ส่วนพระตำหนักเพ็ชร ซึ่งอยู่ติดกับพระตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2457 และที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น

พระตำหนักแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ด้านนอกมีความเป็นไทย ด้านในตกแต่งแบบคลาสสิค หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระล้อมด้วยลายเครือเถา เคยเป็นท้องพระโรงที่เจ้านายที่เป็นภิกษุสงฆ์ใช้ ปัจจุบันด้านในยังมีพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะของรัชกาลที่ 4 ประดิษฐาน ซึ่งเหมือนพระองค์จริง

เพราะความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระตำหนักเพ็ชร จึงได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539

160214775242

(พระตำหนักจันทร์)

ส่วนพระตำหนักจันทร์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษจันทร์ ทรงพระราชทานอุทิศให้สร้างถวาย มีพระแท่นศิลาหน้าพระตำหนักจันทร์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดประทับพักผ่อนซึ่งเป็นหลักฐานอีกชิ้นทางประวัติศาสตร์

พระตำหนักปั้นหยา ตึกสามชั้นสไตล์ยุโรป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่2) เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช

160214796311

(พระพุทธรูปในวัดบวรฯ)

ต่อมาเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้ก่อนไปประทับที่อื่น
หน้าบันพระตำหนักปั้นหยา เป็นลวดลายปั้นเครือเถาดอกพุดตาน ล้อมรอบราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยฝีมือช่างไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในอาคารมีห้องพระ ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร รวมถึงศิลาจารึกพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 4 จารึกไว้ว่า “ห้ามไม่ให้สตรีเพศเข้าออก” เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดให้ผู้หญิงขึ้นมาในสถานที่ของสมณะ

นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักที่สำคัญอีกแห่ง คือ พระตำหนักทรงพรต เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวชหลังจากประทับที่พระตำหนักปั้นหยา 1 คืนตามพระราชประเพณี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็เคยประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้
ว่ากันว่า ในอดีตวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดในเขตคลองผดุงกรุงเกษม

2. สไตล์ฝรั่งในวัดประยุรฯ
เป็นครั้งแรกกับการเยือนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ที่นี่โดดเด่นในเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ จนได้รางวัลจากยูเนสโก้ ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

วัดแห่งนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างให้ชม
เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2375 ได้ถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” ชาวบ้านเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก”

160214840522

มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้ เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สั่งเข้ามาจากอังกฤษ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3 ใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่ไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายเท่าน้ำหนักเหล็กแลกกับรั้วเหล็ก
วัดนี้เป็นเสมือนประตูรับแขกของชาวฝั่งธน มีอายุกว่า 185 ปี เป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างพรินทร์ปริยัตติธรรมศาลา ที่ปัจจุบันเรียกว่า ประยูรภัณฑาคาร เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในพุทธศาสนาและพุทธศิลป์รูปแบบใหม่ สร้างตามสไตล์ตะวันตก

ว่ากันว่า ในสมัยก่อน ถ้าล่องเรือมา แล้วเห็นพระปรางค์วัดอรุณ ก็หมายถึงเข้าเขตบางกอกแล้ว และถ้าเห็นยอดเจดีย์สีขาว วัดประยุรวงศาวาส ก็หมายถึงได้เข้าเขตแดนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 4 แล้ว พระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่นี้เป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

“วัดนี้แปลกมากสามารถเดินเข้าไปที่ตัวเจดีย์ได้ ปกติเจดีย์ทั่วไปจะไม่สามารถเดินลึกไปถึงแกนด้านในได้ แต่เจดีย์นี้สร้างด้วยเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ทั้งๆ ที่อยู่ริมน้ำ แต่ปรากฎว่า แกนในเจดีย์หัก จนมีการบูรณะ เจดีย์กลับมาตรงได้เหมือนเดิม” จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรม เคยเล่าถึงการบูรณะจนได้รางวัลจากยูเนสโก้ โดยด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ จะมีเสาขนาดใหญ่ค้ำยัน และดูสงบเงียบเหมาะกับการนั่งสมาธิ

ส่วนพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมผสานผสานแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ลดทอนเครื่องบน อย่างบัวหัวเสา ทำเสาพาไลรับชายคา แต่ยังคงเครื่องบนตามแบบประเพณีนิยม มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน ซึ่งในเวลาต่อมามีการสร้างวัดวาอาคารลักษณะนี้มากขึ้น

และที่พลาดไม่ได้เลย ก็คือ เขามอ ภูเขาจำลองสร้างจากแนวคิดหยดเทียนขี้ผึ้ง ที่ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานขี้ผึ้งแก่สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เขามอสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระพุทธรูปสำคัญๆ
สมัยก่อนเขามอเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญในตระกูลสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่พักสายตาและผ่อนคลายสบายๆ สำหรับคนมาเที่ยววัดแห่งนี้ เพราะมีทั้งต้นไม้และสายน้ำเป็นองค์ประกอบ

นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอก ในบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) เก็บไว้ เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในงานฉลองวัด ซึ่งเคยทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ จนเกิดระเบิด ทำให้มีคนล้มตาย หมอบรัดเลต้องมาช่วยผ่าตัดสดครั้งแรกที่วัดประยุรวงศาวาสในวันฉลองวัดนั่นเอง

นี่คือ วัดในฝั่งธนบุรีที่โดดเด่นวัดหนึ่ง

3. วัดเบญจมบพิตรฯ
มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงรับจ้างถ่ายรูปด้วยฝีมือพระหัตถ์ของพระองค์เองในงานรื่นเริงทีี่่จัดขึ้นในวัดเบญจมบพิตรฯ เพื่อหาเงินเข้าวัด และราษฎรก็จะมีโอกาสเข้าเฝ้าในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ

หากใครอยากชื่นชม สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ต้องมาเที่ยววัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เจ้านายเรียนจบจากเมืองนอก มาพบปะกับสตรีชั้นสูง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเจ้านาย 5 พระองค์ คือ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์,กรมพระพิทักษ์เทเวศร์,พระองค์เจ้าหญิงวงศ์,กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ และพระองค์เจ้าหญิงอินทนิล ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดที่ชื่อว่า วัดเบญจบพิตร

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระประสงค์จะใช้พื้นที่ในวัดสร้างพลับพลาในพระราชอุทยานสวนดุสิต จึงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2442 และพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จึงเป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 5

160214878191

(อุโบสถด้านในวัดเบญจมบพิตร)

160214989631

(พระพุทธรูปในวัดเบญจมบพิตรฯ)

160215002538

(ศิลปะในวัดเบญจมบพิตรฯ)

ว่ากันว่า เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบวัดแห่งนี้ได้งดงามเทียบเท่านานาชาติ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยออกแบบพระอุโบสถทำเป็นวิหารคดรอบด้าน ลงรักปิดทองทึบ หน้าบันจำหลักลายไทยประกอบภาพตราต่างๆ ลงรักปิดทองประดับกระจก

รอบๆ พระอุโบสถที่ปูด้วยหินอ่อน มีพระพุทธรูปปางต่างๆ กว่า 50 องค์ ทั้งอิริยาบทนั่ง ยืน นอน และที่น่าสนใจ ก็คือ พระพุทธรูปปางลีลาสององค์ ดีไซน์เหมือนมีกรอบเป็นซุ้มกลีบบัว ขณะที่พระพุทธรูปองค์อื่นๆ อยู่ในช่องเสาธรรมดา

ในอดีตกาล วัดแห่งนี้เป็นวัดนอกเขตคลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบ้ันอยู่บนถนนพระราม 5 เขตดุสิต