เที่ยวกระบี่ ที่ ‘แหลมสัก’ เสน่ห์ชุมชม 3 วัฒนธรรม

เที่ยวกระบี่ ที่ ‘แหลมสัก’ เสน่ห์ชุมชม 3 วัฒนธรรม

สัมผัสเสน่ห์ชุมชน 3 วัฒนธรรม ไทย-จีน-มุสลิม จับพู่กันเพ้นท์ผ้าบาติกชิ้นเดียวในโลก แล้วแวะกิน ‘ข้าวคลุกกะปิกุ้งตัก’ กับ ‘ขนมโกสุ้ย’ ที่ “แหลมสัก” จังหวัดกระบี่ เที่ยวได้ทั้งปีไม่มีเบื่อ

‘กระบี่’ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีทั้งทะเลและภูเขาให้เราได้เที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงอนุรักษ์ ที่ไม่ว่าจะยุคไหนก็ยังฮิตติดเทรนด์เสมอ เพราะการท่องเที่ยวสไตล์นี้นอกจากจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน กินอาหารพื้นถิ่นจากรสมือแม่ครัวเจ้าบ้าน ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผ่านการลงมือทำงานศิลปะที่แม้จะมีลวดลายเหมือนกัน แต่บอกเลยว่ามีชิ้นเดียวในโลกแน่นอน

เช้าวันที่สดใสได้เพียงชั่วครู่ เนื่องจากฝนค่อยๆ โปรยลงมาอย่างเป็นจังหวะ พอดีกับที่เราเดินทางมาถึง ‘ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก’ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก ซึ่งกิจกรรมแรกที่แพลนไว้ว่าจะนั่งเรือหัวโทง เที่ยวชมความมหัศจรรย์ของทะเลอ่าวลึกก็เป็นอันว่าต้องพักก่อนเนื่องด้วยสภาพอากาศไม่เป็นใจ แต่ก่อนจะไปว่ากันที่กิจกรรมต่อไป เราทักทาย โกเล็กชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ ประธานชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก ที่ต้อนรับแขกในฐานะเจ้าบ้านอย่างยิ้มแย้มกันเสียก่อน

ที่นี่แหลมสักเราเป็นปลายแหลม มีทะเลอันดามันและภูเขาโอบล้อม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ 'ทะเลใน' เรามีชัยภูมิที่ดีทำให้พอมีมรสุมเข้ามาก็ไม่รุนแรง เรามี 3 วัฒนธรรมไทย-พุทธ ไทย-มุสลิม แล้วก็ไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีมาเกือบ 200 ปีแล้วโกเล็ก เกริ่นถึงปูมหลังเรื่องราวของชุมชนแหลมสัก ก่อนจะเล่าถึงตัวอาคารสีน้ำเงินเข้ม ทรงจีนก็ไม่ใช่ฝรั่งก็ไม่เชิงแห่งนี้

160178164952

160178165187

‘บลูเฮ้าส์’ บุหลันอันดาบาบ๋า รีสอร์ท

อาคารที่พูดถึงนั้นชื่อว่า ‘บลูเฮ้าส์เป็นส่วนหนึ่งของ ‘บุหลันอันดาบาบ๋า รีสอร์ท’ ซึ่งใช้ต้อนรับแขกที่จะเข้าพักและเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวชุมชนแหลมสัก สถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ตกแต่งด้วยลวดลายดอกโบตั๋น ดอกไม้ของจีน ที่เรียก 'ชิโน-โปตุกีส' เพราะว่าโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาในไทย และมักใช้ช่างจีนสร้างบ้าน ซึ่งช่างจีนมักจะใส่ศิลปะของตัวเองเข้าไปด้วย

ที่นี่เริ่มมา 5 ปีแล้ว เกิดจากแนวคิดที่ว่าอยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมของคนในชุมชนไว้ และผลักดันสู่การท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนทั้งจากร้านค้า เจ้าของเรือหัวโทง หรือแม้แต่ที่พักต่างๆ แต่ช่วงแรกไม่มีนักท่องเที่ยวสักคน เราก็มารวมกลุ่มกันพยายามทำหากิจกรรมที่จะบ่งบอกถึงแหลมสัก แต่กว่าทุกอย่างจะเข้าที่ก็เริ่มปีที่ 2 แล้ว

ปัจจุบันที่นี่มีทั้งไกด์นำเที่ยวประจำถิ่น โดยแบ่งกิจรรมเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ‘ล่องทะเลใน’ นั่งเรือหัวโทงพาชมร่องรอยประวัติศาสตร์ภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3,000 ปีที่ถ้ำชาวเล ชมป่าโกงกาง ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ชมวิถีประมงชายฝั่งที่กระชังสาหร่ายพวงองุ่น กระชังปลาและกุ้งมังกร หรือจะพายเรือคายัคชิลๆ ด้วยตัวเองก็น่าสนใจ

ส่วนกิจกรรมบนบก คือ ‘ท่องวิถีชุมชน’ เช่น ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ตุกนทราย หาดทรายกลางทะเล จิบกาแฟ เพ้นท์ผ้าบาติกและเรือหัวโทง ปั่นจักรยานชมชุมชน 3 วัฒนธรรมเริ่มจากวัดมหาธาตุแหลมสัก ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย และไปจบที่มัสยิดซอลาฮุดดีน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม CSR หลายอย่าง เช่น ปลูกจากฝากใจ ปล่อยปู ซึ่งทั้งหมดนี้โกเล็กบอกว่าเป็นการเชื่อมโยงวิถีถิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว

หลังจากเดินชมศิลปะพร้อมๆ กับฟังเรื่องราวของชุมชนแหลมสักกันพอสังเขปแล้ว ก็ถึงเวลาของชั่วโมงศิลปะ ยิ่งเลอะยิ่งเยอะประสบการณ์ ในกิจกรรมแรก ลงพู่กันสี ‘เพ้นท์ผ้าบาติก’ เป็นของที่ระลึกกลับบ้าน แต่อีกหนึ่งผลงานที่พวกเราละเลงฝีมือไปนั้นไม่สามารถนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้ เนื่องจากขนาดที่ใหญ่และมีเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ ‘การเพ้นท์เรือหัวโทง’ ของจริง ที่ในอนาคตไม่ช้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งลวดลายของงานศิลปะล้วนเป็นตัวแทนของสตอรี่ชุมชน ไม่ว่าจะดอกไม้อย่างดอกโบตั๋นและกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ สองดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ หรือภาพปลาที่ว่ายในท้องทะเลอย่างสง่างาม

160178163615

'เพ้นผ้าบาติก' ชิ้นเดียวในโลก เป็นของที่ระลึกกลับบ้าน

160178164629

'เพ้นท์เรือหหัวโทง' เชื่อมโยงวิถีถิ่น

เมื่อเสร็จชั่วโมงศิลปะแล้ว เวลาอาหารมื้อเที่ยงก็มาถึงพอดี กับเมนูเด็ด ‘ข้าวคลุกกะปิกุ้งตัก’ กะปิกุ้งเคยแท้ คลุกกับข้าวสวยอย่างทั่วถึง พร้อมเครื่องเคียงอย่างไข่เจียวหันฝอย ผักต่างๆ และกุ้งแห้งหวานแทนหมูหวานที่เราเคยกินในข้าวคลุกกะปิ อร่อยสมกับคำร่ำลือว่ากะปิดีต้องแหลมสัก และที่สำคัญคือตักได้ไม่อั้น นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่นอย่าง ส้มตำสาหร่ายพวงองุ่น ปลาแดดเดียวทอดกรอบ

กะปิของที่นี่รสกลมกล่อม มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การช้อนตักกุ้งเคยที่จะเลือกใช้เฉพาะกุ้งเคยเท่านั้น ไม่นำสัตว์น้ำอื่นๆ มาด้วย นำมาผสมกับเกลือและหมักเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เป็นกะปิที่ไม่ผสมอย่างอื่นเลย ไม่ว่าจะน้ำตาล ผงชูรส หรือแป้ง เพราะฉะนั้นจะได้กินกุ้งเคยแท้ๆ 100 เปอร์เซ็นต์

160178164093

'ข้าวคลุกกะปิกุ้งตัก' เมนูเด็ดจากวัตถุดิบชั้นดีของชุมชนแหลมสัก

กินข้าวเสร็จแล้ว ก็น่าจะมีของหวานตบท้ายเสียหน่อย เลยต้องไปเป็นลูกมือคุณย่าคุณยายที่กำลังเตรียมวัตถุดิบให้เราได้ลงมือทำ ‘ขนมโกสุ้ย’ ขนมพื้นถิ่นของชาวบาบ๋า ย่าหยาที่หาทานได้ในแถบพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน เป็นขนมทำไม่ยาก วัตถุดิบหลักๆ มีเพียงแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว แต่ใช้แป้งถึง 3 ชนิด คือ แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง และแป้งท้าวยายม่อม ส่วนน้ำตาลใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว และน้ำเปล่ากับเกลือด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขูดมะพร้าวซึ่งจะใช้โรยหน้าขนม ผสมวัตถุดิบที่เหลือให้เข้ากัน จากนั้นก็นำไปหยอดใส่ถ้วยตะไลขนาดเล็กที่ถูกอุ่นเครื่องไว้ในซึ้งแล้ว ใช้เวลานิ่งราว 15-20 นาทีก็จะได้ขนมโกสุ้ย หอม หวานและละมุนน้ำตาลทรายแดง อร่อยจนหยุดไม่ได้ที่ถ้วยเดียว

160178164251

160178165285

'ขนมโกสุ้ย' ขนมโบราณหาทานยาก

หลังจากอิ่มหนำสำราญกับอาหารมื้อเที่ยงแล้ว ไกด์ท้องถิ่นของเราก็พาไปเดินย่อยในเส้นทางธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติป่าชายเลนเขาช้างหมอบ ภายในอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ระยะทาง 700 เมตร กับ 7 สถานีที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวของป่าชายเลน ป่าเขาหินปูน สายน้ำกับชีวิต ที่ที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น กุ้งกุลาดำ ปูแสม ปลากะพงขาว แล้วหยุดชมความงามของทิวเขาและแม่น้ำที่หอคอยชมวิว

ไฮไลท์ของที่นี่คือ ‘กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่’ ด้วยรูปลักษณ์คล้ายกับรองเท้าของเจ้าหญิงและมีสีเหลือง จึงเรียกว่า รองเท้านารีเหลืองกระบี่ ซึ่งเป็นพืชสงวนและเป็นกล้วยไม้ประจำจังหวัด พบตามภูเขาหินปูน ติดชายฝั่งทะเลหรือตามเกาะหนาผาสูงชัน ธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลนี้สืบพันธุ์โดยการแตกหน่อและจะตายเมื่อออกดอกแล้ว

อีกทั้งความสวยงามของดอกทำให้ในอดีตมักถูกลับลอบเก็บไปขาย ทำให้มีโอกาสสูญพันธุ์สูง แต่พื้นที่ป่าบริเวณเขาช้างหมอบมีลักษณะธรรมชาติที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ชนิดนี้ ปัจจุบันจึงกลายเป็นแหล่งอนุรักษ์ ซึ่งทุกเดือนสิงหาคมของทุกปีจะรวมกลุ่มกันเอาส่วนนี้ไปปลูกคืนในป่าเขาช้างหมอบ และกล้วยไม้จะบานสะพรั่งให้ชมในช่วงเดือนพฤศจิกายน -ธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี

160178165646

อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

และอีกหนึ่งไฮไลท์ก่อนที่จะจบวันนี้ไปคือ การแต่งชุดบาบ๋า-ย่าหยาไปถ่ายรูปวิวแหลมสักแบบ 360 องศา ที่วัดมหาธาตุแหลมสัก ซึ่งโกเล็กบอกว่าจริงๆ แล้วเป็นคำเรียกแทนผู้ชายกับผู้หญิงเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน คำว่า บาบ๋าคือ ผู้ชาย ส่วน ย่าหยาคือผู้หญิง ที่มาแต่งงานกับคนพื้นถิ่นปักษ์ใต้ เมื่อมีลูกก็จะมีเลือดผสมกลายเป็นคนพื้นถิ่นที่เขาเรียกว่า บาบ๋า ย่าหยา นั่นเอง จากนั้นก็รับประทานอาหารมื้อเย็นพร้อมกับชมดนตรีและการแสดงพื้นบ้านที่สนุกจนต้องลุกไปออกสเต็ปกันสักหน่อย 

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนแหลมสักเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก Laemsak CBT โทร. 080 594 5919 และจองที่พักได้ที่เฟซบุ๊ก Bulan Anda Baba Resort บุหลัน อันดา บาบ๋า รีสอร์ท โทร. 081 615 9398

160178163558