'ซ่อมไฟ ซ่อมใจ' แสงสว่างบนทางที่มืดมน ของ 'เยาวชน' ในสถานพินิจ

'ซ่อมไฟ ซ่อมใจ' แสงสว่างบนทางที่มืดมน ของ 'เยาวชน' ในสถานพินิจ

เปิดห้องเรียนซ่อมไฟฟ้า สำหรับ "เยาวชน" ในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม ปฏิบัติการที่มุ่งซ๋อมใจไปพร้้อมๆ กับการสร้างทักษะอาชีพ

เหตุผลหลักของการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนคืออะไร? เพื่อให้หลาบจำ สาสมกับสิ่งที่ทำ หรือเพื่อชดใช้ความผิด แล้วสร้างโอกาสเพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดความอ่าน 

ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศหนึ่งที่มีสถิติอาชญากรรมต่ำที่สุดในโลก ระบบการลงโทษหรืองานราชทัณฑ์ของนอร์เวย์ยกเลิกแนวทาง “กักขังเพื่อลงโทษ” หรือ “แก้แค้นให้กับสังคม” มากว่า 20 ปีแล้ว กระทั่งมีหลายเสียงพูดเชิงหยอกล้อว่า เรือนจำนอร์เวย์เป็นเหมือนสวรรค์ของนักโทษ แต่หลังเปลี่ยนมาใช้แนวทางนี้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 อัตราการกลับมาทำผิดซ้ำของนักโทษลดลงอย่างมาก

จากสถิติอยู่ที่เพียงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่สูงถึงกว่าร้อยละ 75 และสหราชอาณาจักรที่สูงประมาณร้อยละ 50 คดีเด็กและเยาวชนในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียไม่ใช้ระบบศาลแต่มีระบบคณะกรรมการสวัสดิการสังคมสำหรับเด็ก การตัดสินลงโทษอยู่บนพื้นฐานของการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจให้เด็กและเยาวชนกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยไม่กระทำผิดซ้ำอีก 

สำหรับประเทศไทยเมื่อเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด (ถูกจับกุม) จะถูกส่งตัวมายังสถานพินิจเด็กและเยาวชนเพื่อรอคำพิพากษาของศาล แม้สภาพแวดล้อมในสถานพินิจฯ ไม่ได้เป็นกำแพงคอนกรีตสูงล้อมรอบด้วยขดลวดหนามเหมือนอย่างเรือนจำของผู้ใหญ่ แต่การขาดอิสรภาพและการถูกควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ใดพื้นหนึ่งแล้วมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า “ผู้คุม” คอยจับตามองส่งผลกระทบต่อสภาวะทางใจของเด็กไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม เป็นสถานที่รองรับเด็กและเยาวชนจากจังหวัดนครพนมและจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ สกลนครและมุกดาหาร ทำให้ต้องดูแลเด็กและเยาวชนจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ ด้วยสถานการณ์ที่เผชิญอยู่นี้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามาหนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูศักยภาพและสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยแก่แรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวดนครพนม สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีภารกิจทางวิชาการด้านการพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับงานช่างร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อยู่แล้ว แนวคิดของโครงการมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การเสริมความเข้มแข็งระหว่างองค์กร เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ จังหวัดนครพนม

159817477549

ก่อนริเริ่มโครงการฯ สถานพินิจฯ จัดคอร์สระยะสั้นเพื่อฝึกฝนอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอยู่บ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรที่มีครูฝึกอาชีพประจำอยู่เพียง 1 คน ทำให้ไม่สามารถอบรมและพัฒนาทักษะของเด็กๆ ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับระยะเวลาในการควบคุมตัวเด็กในแต่ละคดีแตกต่างกัน บางคนฝึกฝนได้ดีจนเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยสอนเพื่อนๆ ต่อได้ แต่ได้รับคำตัดสินให้ปล่อยตัวระหว่างทาง ความไม่พร้อมและความไม่แน่นอนนี้ทำให้สถานพินิจฯ ไม่สามารถจัดเวลาให้ลงตัวได้ จึงต้องอาศัยตัวช่วย!

“สำหรับมหาวิทยาลัยนครพนม บทบาทหน้าที่ของเรานอกจากการสอนในมหาวิทยาลัย คือการให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชน แต่เราขาดกลุ่มเป้าหมาย 

ทำไมถึงเป็นเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ อย่างแรกเมื่อมองจากภายนอกอาจเห็นแค่ว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเยาวชนที่ถูกขุมขัง แต่ข้อเท็จจริง คือ ในจำนวนเด็ก 170 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาเเค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กมักโดนคดีตอนกำลังเรียนช่วงชั้น ป.6 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และไม่ได้เรียนต่อ

อย่างที่สองเด็กเหล่านี้ขาดโอกาสตั้งเเต่ต้น กลาง เเละปลาย ทำให้เขามีปัญหา เมื่อเด็กอยู่ที่บ้านเขาด้อยโอกาสอยู่เเล้ว เพราะทุกคนมองเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเกเร เเละมักไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม เมื่อถูกคุมขังออกไปแล้ว เขาอาจถูกจับกลับเข้ามาเหมือนเดิมหรือโดนคดีโทษหนักกว่าเดิม ภาคีจึงช่วยกันออกแบบหลักสูตรไม่ให้ซ้ำกับหลักสูตรทั่วไปที่มีอยู่เดิม” ผศ.บุญเยี่ยม กล่าว

159817477593

เชฏฐกฤท วรจันทร์ ผู้อำนวยการสถานพินิจเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม กล่าวว่า เด็กในสถานพินิจฯ มีพฤติกรรมหลากหลาย ทั้งพื้นฐานวุฒิภาวะพื้นฐานการศึกษา และสภาพจิตใจของเด็กที่แตกต่างกัน เด็กที่เข้ามาส่วนใหญ่มีปัญหายาเสพติด จิตวิทยาในการบำบัดคนต้องมีอาชีพ ต้องมีเพื่อน ต้องมีครอบครัว เด็กถึงจะเลิกยาเสพติดได้ โครงการฯ เข้ามาเติมเต็มปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของสถานพินิจฯ

“สถานพินิจฯ ต้องการฝึกวิชาชีพให้กับเด็กเพราะเรารู้ว่าเด็กชอบ ถ้ามีชั่วโมงฝึกเขาจะรีบเข้าเรียนเลย ยิ่งเรามีกิจกรรมให้ทำ เด็กจะไม่หลบหนี แต่เพราะเรามีบุคลากรที่ฝึกอาชีพได้เพียงคนเดียวนอกนั้นเป็นผู้คุมที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กที่มีเราไม่สามารถจัดฝึกวิชาชีพให้ครอบคลุมได้” ผอ.สถานพินิจฯ กล่าว

ปฏิบัติการซ่อมแซมข้อผิดพลาด สำหรับจุดเด่นของโครงการ ผศ.บุญเยี่ยม กล่าวว่า โครงการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป รวมทั้งหมด 150 คน ใช้เวลาทั้งหมด 36 ชั่วโมง แบ่งเป็นการฝึกอบรม 30 ชั่วโมงและกิจกรรมอาสาซ่อมบำรุงอีก 6 ชั่วโมง อ้างอิงโครงสร้างหลักสูตรจากระเบียบสำนักพัฒนาฝีมือเเรงงานและหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำชั่วโมงเรียนไปเทียบหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อได้ 

หลักสูตรการเรียนประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเป้าหมายชีวิต ทักษะการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเเละการซ่อมระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย และกฏหมายการทำงาน กฏหมายเเรงงาน และพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือเเรงงานแห่งชาติ ทุกคนได้เรียนรู้ทักษะการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีดและหม้อหุงข้าว และการซ่อมระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักอาศัย เช่น หลอดไฟ เป็นต้น

“ทีมงานใช้ข้อมูลเบื้องต้นจากเด็กๆ ว่ามีข้อจำกัด มีความต้องการอะไร เเละสุดท้ายต้องสอนอะไรบ้าง เมื่อร่างหลักสูตรเสร็จแล้วจึงให้ภาคีทั้งหมดร่วมพิจารณาหลักสูตรเเละให้ข้อเสนอเเนะเชิญวิทยาการจากภายนอกที่มีความรู้ด้านการศึกษาและการฝึกวิชาชีพ 5 คน มาร่วมวิพากษ์วิจารณ์และขยายผล จนได้โครงสร้างหลักสูตรที่ชัดเจน”

“ปัจจุบันมีพ.ร.บ. เกี่ยวกับเรื่องงานช่างออกมาว่า ช่างที่ปฏิบัติงานไฟฟ้าในอาคารต้องเป็นผู้ที่ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถจากกรมเเรงงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากช่างที่ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง หลักสูตรของโครงการเป็นโอกาสให้เด็กไปต่อยอดสอนตั้งแต่เรื่องวงจรไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์เครื่องมือ การซ่อมแซมและเส้นทางอาชีพในอนาคตความคาดหวังของโครงการนี้คือส่งให้เด็กไปถึงฝีมือเเรงงานให้ได้” ผศ.บุญเยี่ยม กล่าว

‘‘ก่อนจะสร้างต้องซ่อมเสียก่อน’’ เป็นบทเรียนที่ได้รับจากการเปิดใจพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายทีมงานค้นพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีสมาธิสั้นอ่อนด้านทฤษฎีแต่ชอบการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ก่อนเริ่มต้นเนื้อหาเชิงทฤษฎี ทีมงานจึงปรับทัศนคติด้วยการสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย ใช้ “ใจ” กระตุ้นให้เกิดการการลงมือทำ หลังจากนั้นจึงค่อยพัฒนาทักษะวิชาชีพ โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาฝีมือเเรงงาน แล้วให้เด็กนำความรู้ไปปฏิบัติจริง

“โครงการจัดกิจกรรมให้มีการซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าในสถานพินิจและในขั้นตอนสุดท้ายจะชี้ให้เด็กและเยาวชนเห็นว่า เมื่อออกไปเเล้วเขาควรใช้ชีวิตต่อยังไง

กลุ่มเยาวชนในสถานพินิจเป็นวัยรุ่น เราต้องไม่สร้างช่องว่างระหว่างตัวเรากับเขาแต่ดึงเขามาเป็นพวก ขณะเดียวกันเราก็เป็นพวกเขาด้วย คอยรับฟังเรียนรู้เข้าไปทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนม และละลายพฤติกรรมเราพบว่าเด็กที่ออกไปเเล้วบางคนไปเรียนต่อบางคนโทรมากลับมาสอบถามขอคำปรึกษา สะท้อนให้เห็นว่านอกจากความรู้ทางวิชาการแล้วเขายังต้องการที่ปรึกษาอยู่ในชีวิตของเขา” ผศ.บุญเยี่ยม อธิบายกระบวนการทำงาน

159817477536

การเรียนรู้เหมือนการก้าวขึ้นบันไดทีละขั้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย สุกรรณ ชัยพันธ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายโครงการ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยเข้าเรียนหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่เป็นการเรียนภาคทฤษฎี จบหลักสูตรแล้วก็ยังไม่สามารถซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าจริงๆ แต่การเรียนครั้งนี้ทำให้เขาลงมือทำงานได้อย่างมั่นใจ

“ผมเริ่มทดลองซ่อมวิทยุก่อนพอได้เรียนกับอาจารย์ก็ซ่อมเครื่องซักผ้าอัตโนมัติได้ รับซ่อมตามบ้านรับจ้างตัดหญ้า ฉีดยาฆ่าหญ้าบ้างงานซ่อมตามบ้าน ถ้าขยันทำทั้งวันก็ได้อยู่วันละ 500-600 บาท แต่หลังจากเรียนกับอาจารย์มาก็มาเปิดร้านของตัวเองด้วย” สุกรรณกล่าว 

ความเป็นกันเองของอาจารย์ผู้สอนทำให้บรรยากาศการเรียนตลอดทั้ง 5 วัน มีความสนุกสนาน กลุ่มเป้าหมายรู้สึกเหมือนมีที่ปรึกษาผู้ที่ทำให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจ

“การติดอยู่ที่นี่ไม่มีอิสระ ผมออกไปแล้วก็ไม่อยากกลับเข้ามาอีกแต่ที่นี่ให้โอกาสได้เรียนรู้ เราก็ค่อยๆ หาประสบการณ์ไปก่อนใครได้ออกไปแล้วสนใจทำงานต่อก็สามารถติดต่อกลับมาขอทำงานได้” สอง (นามสมมุติ) กล่าว

“มันทำให้ผมมองเห็นว่าคนเรามีความเก่งคนละด้าน คนหนึ่งอาจมีความรู้แต่ไม่เก่งทำงาน บางคนเก่งทำงานแต่อาจไม่ได้เรียนสูงๆ ก็ได้งานช่างไฟฟ้าเป็นงานที่ให้อิสระ ไม่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์มากเกินไปเราทำงานที่รับผิดชอบให้ดี เก็บงานเสร็จก็เรียบร้อย เป็นงานที่ผมทำได้” สาม (นามสมมุติ) กล่าว

ผศ.บุญเยี่ยมเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรของจังหวัดนครพนมว่า ปัจจุบันระบบเกษตรกรรมชุมชนในจังหวัดนครพนมหันมาใช้พลังงานจากแผงโซลาเซลล์มากขึ้น โดยเฉพาะระบบสูบน้ำ ถือเป็นโอกาสด้านอาชีพที่อ้าแขนรับเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจฯ หากพวกเขาพัฒนาฝีมือจนชำนาญและมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง 

การสร้างชีวิตใหม่ให้เด็กและเยาวชนออกไปสู่สังคมด้วยความภาคภูมิใจไม่ใช่แค่การสร้างความหวัง แต่เป็นการสร้างโอกาสในชีวิตที่เกิดขึ้นได้จริงจากศักยภาพของตนเอง อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นและศรัทธาจากผู้ใหญ่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกปลอดภัย ความมั่นคงทางใจที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าจะไม่ถูกปล่อยมือให้เคว้งคว้างระหว่างทางต่อไปอีก