‘เอิน-ณิธิภัทร์’ ละครไทย...ทำอย่างไรให้สร้างสรรค์
เอ็กซ์คลูซีฟ ทอล์ค กับ 'เอิน-ณิธิภัทร์' ผู้จัด ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ละครสร้างสรรค์สังคมที่กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน ถึงละครใหม่ของเขาเรื่อง ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ และความเป็นไปในวงการละครไทยว่าทำไมถึงยังย่ำอยู่กับที่
‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นละครสร้างสรรค์สังคมที่กวาดรางวัลมาครองนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น 'รางวัลโทรทัศน์ทองคำ' สาขาละครสะท้อนสังคมดีเด่น และสาขาละครสร้างสรรค์สังคมดีเด่น, 'รางวัลคมชัดลึก อวอร์ด' และ 'รางวัลนาฎราช' สาขาบทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม
รวมไปถึง ‘รางวัลสื่อส่งเสริมสถาบันครอบครัว’ ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนอาจเรียกได้ว่า ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ เป็นละครน้ำดีที่สุดเรื่องหนึ่งของวงการละครบ้านเราในยุคนี้
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ คือละครเรื่องนี้เป็นผลงานของผู้จัดหน้าใหม่ ‘เอิน-ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล’ จากค่าย ‘มาสเตอร์วัน’ ซึ่งเคยแอนตี้ละครไทยมาก่อนว่าน้ำเน่า ไม่มีเหตุผล เขาจึงหนีไปดูหนังดูซีรีส์ต่างประเทศแทน แล้วพอต้องมาเป็นผู้จัดละครไทยที่ตัวเองเคยไม่ชอบมาก่อน เอิน-ณิธิภัทร์ ก็เลือกทำในแบบที่ไม่ฝืนความรู้สึกตัวเอง แล้วมันก็กลายมาเป็นละครสร้างสรรค์ที่ได้รับเสียงยกย่องชื่นชมอย่างที่เราได้เห็นกัน
วันนี้ เอิน-ณิธิภัทร์ มีละครใหม่เรื่อง ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ กำลังออกอากาศอยู่ทางช่อง 3 เราจึงชวนเขามาจับเข่าพูดคุยกันว่า การมีเครดิตในฐานะคนทำละครน้ำดีที่กวาดรางวัลมามากจนแทบไม่มีตู้จะเก็บนั้นช่วยอะไรบ้างไหม แล้วละครเรื่องใหม่ของผู้จัดไฟแรงที่มีความคิดแตกต่างแบบเขา มีความน่าสนใจตรงไหน
เอิน-ณิธิภัทร์ เรียนจบด้านบริหาร แล้วไปต่อด้านการวางแผนเมือง (Urban and Social Planning) การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เรียกได้ว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำละครเลย นอกเสียไปจากการเป็นทายาทผู้จัดรุ่นใหญ่ ‘แม่ก้อย-ทาริกา ธิดาทิตย์’ ซึ่งทำให้เขาได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ของช่อง 3 ที่ชวนเขามาช่วยคุณแม่ทำละคร เพราะทางช่องยังต้องการผู้จัดหน้าใหม่เข้ามาเสริมทัพ
ผู้จัดหน้าใหม่ไฟแรงคนนี้บอกว่าถึงจะไม่มีความรู้ในการทำละครมาก่อน แต่โชคดีที่ตัวเขาเป็นคนชอบดูหนัง ดูซีรีส์ เลยน่าจะเป็นจุดที่ทำให้จูนได้เร็ว
“เรามีความคิดมาตลอดว่าทำไมละครไทยมันนิ่ง มันมีความพัฒนานะครับ แต่มันอยู่ในจุดขึ้น ๆ ลงๆ ไปไม่สุดซักที เทียบกับต่างชาติอย่างเกาหลีที่เขาเริ่มพร้อมๆ เรา แต่ตอนนี้เขาไปไกลมาก ก็เลยเริ่มต้นหาว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร
จริงๆ เรื่องที่ดี ๆ สนุก ๆ ก็มี แต่มันมีน้อยไป แล้วเรามีคำถามตลอดว่าทำไมละครไทยไม่ค่อยมีเรื่องเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ เกี่ยวกับอาชีพอย่าง หมอ ตำรวจที่มันชัดๆ ลงไปเลย อย่างทีมหมอเข้าไปผ่าตัด หรือทีมสอบสวนที่มันดูจริงจัง เพราะเราโตมากับซีรีส์อย่าง CSI, Criminal Mind น่ะครับ”
ทว่า พอได้ลงมาคลุกคลีกับการทำละครไทยด้วยตัวเอง เอิน-ณิธิภัทร์ก็ได้รู้คำตอบว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น โดยเขามองว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการละครไทยเป็นแบบที่เป็นอยู่น่าจะเป็น ‘กลุ่มเป้าหมายของคนดูละคร’ ที่ต้องให้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป
“คนไทยชอบอาหารไทย ถ้าเราเอาอะไรที่เป็นฝรั่งมากไปมาเสิร์ฟเขาก็ไม่ชอบ ต้องค่อย ๆ ปรับไป มันเป็นทั้งเรื่องของ nature (ธรรมชาติ) และ culture (วัฒนธรรม) ต่าง ๆ นานา” ณิธิภัทร์กล่าว “ปัจจุบันอาจจะเริ่มมีเด็กรุ่นใหม่ที่ติดซีรีส์ฝรั่ง ซีรีส์เกาหลีมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังมีอีกมาก ตั้งแต่วัยทำงานขึ้นไป ที่ยังดูแบบละครไทยอยู่ เรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ปรับตามสังคมไป”
นอกจากเรื่องกลุ่มเป้าหมายแล้ว เอิน-ณิธิภัทร์มองว่าละครไทยยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างในการทำงาน ทั้งเรื่องการทำบท ผลกระทบอย่างการทำละครที่ไปแตะกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แล้วจะมีคนออกมาประท้วงว่าทำให้พวกเขาเสื่อมเสียชื่อเสียง อย่างเช่นที่เราเคยเห็นข่าวกันมาแล้ว
ส่วนเรื่องโอกาสที่ละครเชิงสร้างสรรค์จะได้รับการไฟเขียวให้ผลิตมากเท่าละครแนวอื่นหรือไม่นั้น เขาตอบได้เฉพาะในส่วนของช่อง 3 ซึ่งถือว่าไม่น้อย เพราะผู้บริหารบอกไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้มีละครเชิงสร้างสรรค์ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี
นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ผู้จัด ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ยังบอกด้วยว่า การทำละครสร้างสรรค์จะมีผลลัพธ์อีกแบบหนึ่งที่ผู้จัดต้องยอมรับให้ได้ นั่นคือ เรตติ้งอาจจะน้อยหน่อย และถึงจะได้รับกระแสในเชิงบวก แต่ก็จะไม่ค่อยมีงานพรีเซนเตอร์ โฆษณา หรืออีเวนท์เข้าเหมือนละครแนวอื่น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ต้องแลกมา
นั่นทำให้เราถามเขากลับไปทันทีว่า แล้วอะไรทำให้เขายอมแลก เลือกที่จะทำละครสร้างสรรค์สังคมมากกว่าทำละครตลาด
“เพราะเรารู้ว่านั่นคือจุดที่เราอยากเปลี่ยนมาตั้งแต่แรก เราเห็นเมืองนอกทำซีรีส์สืบสวนสอบสวนอย่าง CSI แล้วรู้สึกว่าดูแล้วได้ความรู้ ก็อยากเอาตรงนี้เข้ามาสอดแทรก อย่าง ‘วัยแสบฯ’ จริง ๆ แล้วมันคือการ blend (ผสมผสาน) ปัญหาใกล้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่องชอบ เราเชื่อว่ารอบตัวเรามีคนมีปัญหาแน่ ๆ แต่เราไม่รู้จะไปปรึกษาใคร”
แล้วอุดมคติที่มีกับของจริงที่ประสบเมื่อลงมาทำละครด้วยตัวเองเป็นอย่างไร ต้องมีการปรับจูนมากน้อยแค่ไหน
เอิน-ณิธิภัรทร์บอกว่าต้องปรับเยอะมาก เริ่มต้นตั้งแต่การหาพล็อตเรื่องที่จะทำเลย เขาบอกว่าตอนเข้ามาไฟแรงมาก อยากทำแบบสุดไปเลย มีการฆาตกรรม สืบสวนสอบสวน มีทีมหมอเข้ามาจัดการนู่นนี่นั่น แต่บางทีมันมีเรื่องทางเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งบางอย่างพอไปสัมภาษณ์แล้วจึงทำให้รู้ว่านำเสนอได้มากน้อยแค่ไหน
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ target group (กลุ่มเป้าหมาย) ของทางช่อง 3 ว่าคือกลุ่มไหน โดยทางช่องอยากให้จับคนดูกลุ่มหนึ่งเอาไว้เป็นอย่างน้อย ประกอบกับคนดูละครหลังข่าวบางทีก็อยากดูอะไรที่ไม่ต้องคิดมาก เพราะเรามีเรื่องที่ต้องคิดเยอะแล้วในชีวิต แล้วช่วงเวลาออนแอร์ก็มีส่วน
- คนเขียนบท….ยังขาดแคลน
พล็อตที่หละหลวม ขาดเหตุผล เป็นสิ่งหนึ่งที่ละครไทยถูกโจมตีมาตลอด พอเราถามผู้จัดละคร ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ถึงปัญหานี้ก็ได้รับคำตอบว่า คนเขียนบทในเมืองไทยยังมีน้อย แถมยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ทั้งที่คนเขียนบทถือเป็นหัวใจสำคัญของละครเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
อย่างเมืองนอกจะมีการทำงานเป็นทีม 40-50 คน กว่าจะได้ละครหรือภาพยนตร์ออกมาซักเรื่องหนึ่ง มีการปรับหลายอย่างจนลงตัว แต่ในเมืองไทย ส่วนใหญ่คนเขียนบทมักจะฉายเดี่ยว หรือมีซัก 3-4 คนต่อหนึ่งเรื่อง แต่ก็ถือว่ายังน้อย
สำหรับ เอิน-ณิธิภัทร์ เขามองว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนเขียนบทนั้นลงลึกไปถึงระบบการศึกษาของไทยกันเลยทีเดียว
“เรามีวิชาเขียนบท แต่เราไม่มีการสร้างคนขึ้นมาเป็นคนเขียนบทแบบจริงจัง” เอิน กล่าว พร้อมอธิบายว่า หลักสูตรการศึกษาในไทยมีการเรียนการสอนเรื่องการแสดง ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุก็จริง แต่ ‘การเขียนบท’ เป็นเพียงวิชาเดียวในหลักสูตรเหล่านั้น ไม่ได้มีการปั้น “อาชีพนักเขียนบท” ขึ้นมา ซึ่งถ้ามีการการันตีให้คนเห็นชัดว่าหากเรียนเขียนบทจบมาแล้วหางานทำได้ มันก็จะดีขึ้นเยอะ
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนจากทางภาครัฐก็มีส่วน โดย เอิน-ณิธิภัทร์ กล่าวว่า อย่างประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ทำให้คอนเทนต์เกี่ยวกับกีฬาบูมขึ้นมาเพราะมีการเริ่มจากการ์ตูน
การมีการ์ตูนกีฬาแทบทุกประเภทออกมา ไม่ว่าจะเป็น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล เบสบอล ทำให้คนรู้สึกอยากเล่นกีฬา เป็นการสร้างสมมาตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เมื่อเด็ก ๆ อ่านการ์ตูนเหล่านี้แล้วก็ทำให้พวกเขาอยากเป็นนักกีฬา หรือเกาหลีใต้ที่อยากสร้างผู้ชายให้อบอุ่น เป็นไอดอล เป็นฮีโร่ จึงทำละครเกี่ยวกับหมอ ตำรวจ ทหารที่เก่งๆ ออกมา เรียกว่าต้องมีการสั่งการจากภาครัฐมาเลย
“มันทำได้ถ้าเรามีคนซัพพอร์ต มีคนสั่งการให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่มีจุดยืน จะทำอะไรกลาง ๆ เข้าไว้ เพราะถ้าทำผิด เราโดน แต่ในขณะที่ถ้าเราทำถูกก็ไม่มีคนสนับสนุน แต่ถ้ามีคนสั่งการมาเลย เช่น ถ้ารู้สึกว่าเราขาดแคลนคนทำงานด้านหมอ รัฐบาลก็สั่งมาเลย ทำละครเกี่ยวกับหมอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเป็นหมอ เรารู้สึกว่าแรงงานครูเราขาด ก็ทำละครที่สนับสนุนความเป็นครู เพื่อปูพื้นฐาน สร้างเยาวชน”
นั่นเท่ากับว่าการทำละครไม่ใช่ทำขึ้นมาเรื่องเดียวแล้วจบเลย แต่มันต้องมีการวางแผนระยะยาว และต้องจัดหาคนดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ
“อย่างเช่น เทรนด์ประเทศเรา อีก 5 ปีจะมีคนแก่มากขึ้น เด็กจะมีน้อยลง เราจะสามารถทำอะไรเพื่อซัพพอร์ตได้ไหม ให้เรารู้สึกว่าควรจะต้องมีลูกมากขึ้น มันควรจะมีคนเข้ามาช่วยวางแผนอนาคตตรงนี้ให้ด้วย”
โดดเดี่ยวไหมกับการทำละครสร้างสรรค์สังคมแบบนี้?
“โดดเดี่ยวครับ” เอิน-ณิธิภัทร์ ตอบเราพร้อมเสียงหัวเราะขื่น ๆ
เขาบอกว่าสิ่งที่จะช่วยผลักดันวงการละครบ้านเราให้พัฒนามากไปกว่านี้คือ การซัพพอร์ตจากข้างบนลงมา กระทรวง ทบวง กรม ทุกอย่าง
“ตอนนี้ก็มีอยู่แต่ยังไม่ชัดเจน เรายังต้องวิ่งหาอยู่ กว่าจะทำเรื่องต้องของบเข้าไป แล้วกว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนมาได้ก็ไม่รอดพอดี แต่ถ้ามีการสั่งการชัดเจนว่าให้ไปทำโน่นนี่นั่น ต้องการ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ละครเด็ก เยาวชนทุกช่องต้องมี มีการกันเวลาไว้ให้ลงละครเด็กเลย ไม่ใช่เอาแต่ละครรุนแรง เราก็จะไปไกล ถ้าทำแล้วไม่มีการสนับสนุนมันจะทำให้รู้สึกว่า ไม่ทำดีกว่า อยู่ในเซฟโซนของตัวเองไปก็พอ”
คำตอบที่ได้รับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราถามไปว่า
แล้วรางวัลที่ได้มาจากการทำละคร ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ช่วยอะไรเขาได้บ้างไหม?
“ไม่ช่วยอะไรเลยครับ” เอิน ตอบเรามาพร้อมเสียงหัวเราะแบบเดิม “ผมก็ไม่รู้ว่ามันช่วยอะไรเราบ้างทุกวันนี้”
“พอมันเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ผมเชื่อเลยว่าหลาย ๆ คน หลาย ๆ ค่ายที่ได้รางวัลมาก็คือ ได้มาแล้วก็จบไป แต่มันก็ช่วยในเรื่องของจิตใจนิดหนึ่ง เวลาเราไปเจอผู้คนแล้วรู้สึกว่าเขาได้อะไรจากละครของเรา ถ้าดูแล้วเขาได้เราก็แฮปปี้ แต่สุดท้ายแล้วเราจะไม่รอด
เราทำแล้วไม่มีคนสนับสนุน อย่างตอนเราทำวัยแสบฯ บริษัทเราก็ส่งไปถามคนนั้นคนนี้ให้ช่วยสนับสนุน ช่วยโปรโมทได้ไหม เป็นละครสร้างสรรค์นะ แต่มันก็เป็นเรื่องของเม็ดเงิน เราต้องยอมรับว่าถ้าเป็นเรื่องดี ๆ คนไม่ค่อยหยิบมาพูดถึง แต่ถ้าเป็นอะไรไม่ดีจะมีการขยี้ ละครที่รุนแรงมีกระแสก็จะมีการพูดกันต่อ แต่เรื่องดี ๆ ถูกชมแล้วก็หายไป”
ในเมื่อประสบการณ์ที่ได้รับมาจากการทำละครสร้างสรรค์สังคมในบ้านเราเป็นเสียแบบนี้ จึงน่าสนใจว่าแล้วละครเรื่องใหม่ ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ ที่กำลังออนแอร์อยู่ขณะนี้ล่ะ เอิน-ณิธิภัทร์ ทำมันออกมาแบบไหน
‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ เป็นละครแนวโรแมนติก คอเมดี้ เรื่องราวของหญิงสาวชื่อ ‘ลัคกี้’ ที่เชื่อเรื่องดวงเข้าขั้นงมงาย หมอดูทักอะไรเป็นเชื่อหมด รวมถึงเรื่องที่ว่าแฟนเก่า ‘โชคบดี’ เป็นตัวซวย จนทำให้เลิกรากันไป ก่อนที่ ‘ดวง’ จะทำให้ทั้งคู่ได้กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง
ละครเรื่องนี้เป็นการโคจรมาเจอกันครั้งแรกของ ‘อาเล็ก-ธีรเดช เมธาวรายุทธ’ และ ‘มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง’ ร่วมด้วย ออกัส-วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์ ,เดี่ยว-สุริยนต์ อรุณวัฒนกูล ,ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ ,ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล ,ขวัญฤดี กลมกล่อม ,น้ำฝน-สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ , กิ๊ก-มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ ฯลฯ บทประพันธ์ของ “ปราปต์” จากโปรเจ็ค Good Plot บทโทรทัศน์โดย ‘ฤกษ์ดี’ กำกับการแสดงโดย ‘ศุภฌา ครุฑนาค’
เอิน-ณิธิภัทร์ บอกว่าจริงๆ ไอเดียเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ตอนทำวัยแสบฯ แล้ว คือเวลาที่เด็กมีปัญหา นอกจากจิตแพทย์ และครูแล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งพวกเขาจะไปปรึกษาพระกับหมอดู มันเลยเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใกล้ตัว น่าจะเข้าถึงกลุ่มแมสได้ง่าย แล้วหลังจากทำละครซีเรียสมาซักพักแล้วเขาก็รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนทางบ้าง
สำหรับความสนุกของละครเรื่องนี้ เอิน-ณิธิภัทร์บอกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนดูจะต้องมีประสบการณ์ร่วมด้วย ไม่กับตัวเองก็กับคนใกล้ตัว อาทิ การไปขอพรเรื่องความรัก การใส่เสื้อผ้าสีมงคล อ่านดวงประจำวัน เชื่อเรื่องจิ้งจงทัก ฯลฯ ประกอบกับช่วงนี้คนไทยผ่านเรื่องดรามากันมาเยอะ จึงอยากจะชวนมาดูอะไรที่ผ่อนคลาย โดยเขาอยากให้ ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ เป็นละครที่คนดูแล้วอมยิ้ม สนุกสนาน ไม่เครียด ได้หลับฝันดีก่อนนอน
ส่วนใครที่เคยเป็นแฟนละครแนวสร้างสรรค์ของเขานั้น เอิน-ณิธิภัทร์บอกว่ายังทำอีกแน่นอน แต่ช่วงนี้ขอพักแป๊ปนึงเพื่อหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเองนิดหนึ่ง เพราะการทำละครเป็นเรื่องของความหลากหลาย ถ้าทำอะไรแบบเดิมไปนาน ๆ มันก็ตันเหมือนกัน
แต่แน่นอนว่าถึงแม้จะเป็นละครแมสที่ฉีกแนวไปจากเดิม แต่ผู้จัดน้ำดีแบบเอินก็อดไม่ได้ที่จะสอดแทรกสาระเข้าไปด้วย เช่น เรื่องที่ว่าบางทีความเชื่อบางอย่างมันก็มีอีกด้านหนึ่งในเห็น ต้องเปิดกว้างให้หลาย ๆ มุม แล้วฟังให้เยอะ
สำหรับโจทย์ที่เขาได้รับจากช่องตอนทำ ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋” คือเป็นละครที่ไม่เครียด เสิร์ฟความสบาย ความสนุก ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระทบใคร หรือเป็นการชักจูงให้เห็นไปในทางหนึ่งมากเกินไป และอยากให้ใช้วิจารณญาณในการรับชมและรับฟัง
แน่นอนว่าความสำเร็จของ ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ย่อมทำให้ เอิน-ณิธิภัทร์ มีเครดิตของตัวเองในการเป็นผู้จัด แล้วตัวเขามองว่าผู้ใหญ่น่าจะมองว่า ‘เครดิต’ ของตัวเขาคืออะไร
“น่าจะเป็นคนคิดเยอะ (หัวเราะ) ทำอะไรจะชอบคิดเยอะ คิดไว้ก่อนว่าจะกระทบตรงนี้ไหม กระทบตรงนั้นไหม การจะนำเสนอภาพหนึ่งที่ค่อนข้างรุนแรงจะโอเคไหม ทางช่องอาจจะเห็นว่าทำเรื่องเกี่ยวกับดวง แล้วเราเป็นคนคิดเยอะ บางทีเราไม่อิน ถ้าบทมาแล้วมันเยอะไป เราก็จะขัด จะดักไว้ก่อน เราเป็นคนชอบมีเควสชั่น”
ความเป็นตัวตนแบบนี้ของ ‘เอิน-ณิธิภัทร์’ น่าจะทำให้ละครเรื่องนี้เป็นละครสายมูที่มีรสชาติแตกต่างออกไปอีกแบบ พิสูจน์ด้วยตัวคุณเองได้ใน ‘ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋’ ออกอากาศทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.20 น. ทางช่อง 3 กด33