อยากมี 'สัตว์เลี้ยง' ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

อยากมี 'สัตว์เลี้ยง' ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

เช็คลิสต์! ของต้องมี เมื่ออยาก "เลี้ยงสัตว์" คุณพร้อมแน่ หรือแค่เหงา?

"ความเหงา" "ความคลั่งไคล้" หรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการหา "สัตว์เลี้ยง" มาดูแลสักตัว แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น การเลี้ยงสัตว์ 1 ชีวิต มีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงมากมาย 

ภมรชัย อภิชาติประคัลภ์ ซีอีโอภมรชัย ซัพพลาย ผู้นำเข้าอาหารสัตว์ในไทย อธิบายถึงพฤติกรรมของคนไทยที่ทำให้ความนิยมเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

สะท้อนจากตัวเลขภาพรวมธุรกิจสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยที่ประมาณ 3.2 หมื่นล้าน ในปี 2561 ที่ผ่านมาและคาดว่าจะเติบโตที่ 3.5 หมื่นล้านในปี 2562 นี้ ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทยเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 10%

ตัวเลขเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยขึ้นแท่นอันดับ 2 ของเอเชียในกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง ด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 7-8 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ที่มีมูลค่าตลาดทิ้งห่างออกไปอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัตว์เลี้ยงที่รับความนิยมมากที่สุดในไทย คือ สุนัข และแมว

  •  ความเหงาเป็นเหตุ 

ข้อมูลจากงานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ปี 2562 พบว่า คนไทย 66.41 ล้านคน (ข้อมูลปี 2561) จัดอยู่ในกลุ่มประชากรคนเหงา 26.57 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.4% โดยกลุ่มที่เหงามากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่

- วัยทำงาน (23-40 ปี) 49.3%
- เยาวชนวัยเรียน (18-22 ปี) 41.8%
- วัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง (41-60 ปี) 33.6%
- ผู้สูงวัย (มากกว่า 60 ปี) ราว 24.5%

ไลฟ์สไตล์การอยู่คนเดียวมากขึ้น หรือรู้สึกเหงามากขึ้น มีส่วนทำให้คนทั้ง 2 กลุ่มนี้เลือก "สัตว์เลี้ยง" มาเป็นเพื่อนรู้ใจหรือดูแลเสมือนลูกมากขึ้น และมองว่าสัตว์เลี้ยงสามารถตอบโจทย์ชีวิตที่เป็นอยู่

ที่น่ากลัวมากกว่าความเหงา คือการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ได้ไม่ไหวเหมือนที่ตั้งใจไว้ตอนแรก ทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจรับสัตว์ใดๆ มาเลี้ยง

  •  เช็คลิสต์ก่อนเลี้ยงสัตว์ ไหวแน่ หรือแค่เหงา? 

159552095315

  •  สวัสดิภาพสัตว์ คือหัวใจของการเลี้ยงสัตว์ 

ภมรชัย เล่าว่าปัญหาที่ยังน่ากังวลในวงการสัตว์เลี้ยง คือปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ ที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยบั้นปลายของการทอดทิ้งสัตว์คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดจากสัตว์ งบประมาณการดูแลของรัฐ และระบบนิเวศที่มีปัญหา

การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดจึงต้องคำนึงถึง "Quality of life" หรือคุณภาพชีวิตของสัตว์เป็นอันดับแรก เพราะท้ายที่สุดแล้ว สุขภาพสัตว์ส่งผลต่อสุขภาพของคนเช่นกัน

ภมรชัย มองว่า การแก้ปัญหาสัตว์ถูกทิ้ง ควรเริ่มต้นจากการปรับแนวความคิด (Mindset) ในการเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ใช่แค่เลี้ยงแก้เบื่อ เมื่อหายเบื่อสัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นภาระ และนำไปสู่การทอดทิ้ง

แต่ปรับมุมมองให้เลี้ยงสัตว์แบบที่มีประโยชน์มากกว่าการแก้เบื่อ เช่น การเลี้ยงสุนัขเพื่อเฝ้าบ้าน ฝึกทักษะต่างๆ ช่วยคลายเครียด นำทางผู้พิการทางสายตา ฯลฯ ซึ่งการเลี้ยงสัตว์โดยมองเห็นประโยชน์มากกว่าการแก้เบื่อ หรือแม้แต่การเลี้ยง แมว นก กระต่าย ช่วยบำบัดความเครียดในผู้สูงอายุหรือเด็ก เป็นต้น

  •  ถ้าไม่มีความสามารถในการเลี้ยงแล้ว ควรทำยังไง? 

ถ้าคิดว่าจะเลิกเลี้ยงสัตว์ หรือไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้แล้ว อย่างแรกลองใช้วิธีหาบ้านใหม่ให้สัตว์เลี้ยง โดยอาจอาศัยช่องทางกลุ่มรักสัตว์ทางโซเชียลมีเดีย หรือโซเชียลมีเดียส่วนตัวของตัวเอง ประกาศหาบ้านใหม่ให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองแทนการปล่อยทิ้ง

นอกจากนี้ภมรชัยยังแนะนำว่า ปัจจุบันยังพอมีมหาวิทยาลัยที่มีคณะสัตวแพทย์บางแห่งเปิดรับสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง เลี้ยงเพื่อศึกษาวิจัยให้เป็นประโยชน์ โดยจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ไม่เป็นที่ต้องการของเจ้าของ ฉะนั้นควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ด้วยการประเมินตัวเองตั้งแต่ต้นว่าอยากเลี้ยงสัตว์จริง อยากเลี้ยงแก้เหงาแต่ไม่พร้อมดูแลเขาตลอดไป เพราะท้ายที่สุดแล้วสัตว์เลี้ยงจะเป็นผู้ร่วมชีวิตของผู้เลี้ยง ไม่ใช่แค่แก้เหงาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น