23ก.ค.นี้ 'ดาวหางนีโอไวส์' เข้าใกล้โลกที่สุด!

23ก.ค.นี้ 'ดาวหางนีโอไวส์' เข้าใกล้โลกที่สุด!

23 ก.ค.นี้ ชวนชม “ดาวหางนีโอไวส์” เข้าใกล้โลกมากสุด พร้อมเผยไทยเห็นได้หลายช่วง

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เปิดเผยว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ “ดาวหางนีโอไวส์” ขึ้นแท่นวัตถุท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์ต่างเฝ้าจับตามองในขณะนี้ เนื่องจากมีความสว่างจนสามารถมองเห็นด้วยได้ตาเปล่า ขณะนี้มีผู้ถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ได้จากทั่วทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทยก็สามารถสังเกตได้เช่นกัน แต่เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูฝน อาจจะต้องลุ้นเมฆกันเสียหน่อย 

ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 7,125 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 และเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 1.9 (
ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้า ที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)

159462823886

ขณะนี้เราสามารถเฝ้าดูดาวหางดวงนี้ได้ในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตำแหน่งปัจจุบันของดาวหางนีโอไวส์อยู่ในกลุ่มดาวสารถี (Auriga) หลังจากนี้ดาวหางจะเคลื่อนที่ขยับไปทางทิศเหนือผ่านกลุ่มดาวแมวป่า (Lynx)

  • ในช่วงวันที่ 1 - 16 กรกฎาคม 2563 สามารถสังเกตได้ในช่วงเช้ามืด ใกล้เส้นขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าจะไม่สามารถมองเห็นได้
  • หลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป จะสามารถสังเกตดาวหางนีโอไวส์ได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ

159462824680

ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ที่ดีสุด คือช่วงวันที่ 20-23 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 3.6 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า

159462831053

สิ่งสำคัญของการตามล่าหา "ดาวหาง" เพื่อบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำ นอกจากฟ้าจะต้องใสแล้ว เราจะต้อง หาตำแหน่งมันให้เจอ โดยมี 3 เทคนิค "ล่าดาวหาง" ดังนี้

  1. เทคนิคการหาตำแหน่งดาวหาง จากโปรแกรม Stellarium รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2CcgdPi 
  2. เทคนิคการวางแผนถ่ายภาพดาวหาง รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2ZOjqwW 
  3. เว็บไซต์ตรวจสอบตำแหน่งแบบ Real Time ตามลิงก์ : https://bit.ly/38vluO6

ทั้งนี้ วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็นวันที่ดาวหางนีโอไวส์ เข้าใกล้โลกที่สุด หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ