5 สัญญาณเตือนพ่อแม่ จากผลกระทบการ 'เลื่อนเปิดเทอม'

5 สัญญาณเตือนพ่อแม่ จากผลกระทบการ 'เลื่อนเปิดเทอม'

โควิด-19 กระทบการศึกษาโลกและประเทศไทย ทำให้ต้องมีการออกมาตรการเลื่อนเปิดเทอมกันถ้วนหน้า ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ บรรดานักเรียนและนักศึกษาทั่วโลกที่มีกว่า 1.3 พันล้านคน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับภาคการศึกษา ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ต้องประกาศเลื่อนเปิดเทอมจากกลางเดือนพฤษภาคม ออกไปเป็น 1 กรกฎาคม 2563 เช่นเดียวกับ 186 ประเทศทั่วโลก ก็ยังใช้มาตรการปิดโรงเรียนและเลื่อนการเรียนการสอนเช่นกัน ส่งผลให้นักเรียนและนักศึกษาทั่วโลกที่มีมากถึง 1.3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 73.8% ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้

ด้านศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา หรือฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จึงได้วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"การดี เลียวไพโรจน์" หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยธนาคารโลก (World Bank) ได้วิเคราะห์ไว้ว่าการปิดโรงเรียนในระยะเวลานาน จะทำให้แนวโน้มการเรียนรู้ของเด็กลดลง และหากอยู่บ้านนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะส่งผลให้ความรู้ของเด็กอาจสูญหายไปประมาณครึ่งปีการศึกษา 

โดยปัญหาเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง สถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จะต้องหันมาให้ความสำคัญและเตรียมแผนรับมือ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งถือเป็นอนาคตของประเทศ

ด้าน "วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ" นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวว่า จากผลจากการวิเคราะห์ผ่าน Web of Impact หรือเครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ครอบคลุมทั้งมิติด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และค่านิยมนั้น มี สัญญาณเตือนถึงพ่อแม่ จากผลกระทบการเลื่อนเปิดเทอมดังดล่าว ดังนี้

1. ปัญหาสุขภาพจิตและการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ยากจน เด็กกลุ่มนี้ต้องพึ่งพาอาหารเช้าและอาหารกลางวันจากทางโรงเรียน เมื่อต้องอยู่บ้าน ทำให้เด็กกลุ่มนี้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลต่อพัฒนาการและสติปัญญาของเด็ก

ซึ่งทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องการดูแลเด็ก และให้ความช่วยเหลือในการดูเด็กแทนผู้ปกครองที่ไม่สามารถดูแลได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย กลุ่มเด็กเปราะบางเด็กในระดับชั้นประถมศึกษา เช่น การเปิดศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยเฉพาะกิจ และเด็กวัยเรียน แต่ยังคงรักษา Physical Distancing อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องสุขภาพจิตของสมาชิกในครอบครัว ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ของเด็กและผู้ปกครอง

รวมถึงปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว อาจเกิดมากขึ้นในช่วงนี้ โดยอาการซึมเศร้าของเด็กและวัยรุ่นนั้นอาจแสดงอาการออกมาแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น มีปัญหาการเรียน ฉุนเฉียวง่าย ก้าวร้าว เก็บตัว หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น ทำร้ายตัวเอง ติดเกม ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด

ดังนั้นพ่อแม่ควรต้องใส่ใจการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ลูก และสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างเวลาที่มีคุณภาพในครอบครัว เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน หาความรู้ด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม หากพบปัญหามากขึ้นสามารถใช้บริการขอรับคำปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับพ่อแม่มากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรึกษาจิตแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสถานการณ์นี้ด้วย 

2. การปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์ 

แม้บางโรงเรียนเริ่มมีการปรับตัวใช้หลักสูตรออนไลน์ โดยมีหลักสูตรให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนของลูก แต่ยังมีปัญหาที่สำคัญอีกหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นการที่บางโรงเรียนปรับตัวไม่ทัน ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ ไม่มีหลักสูตรออนไลน์รองรับให้กับนักเรียน ครูหรือพ่อแม่ไม่มีทักษะรองรับการสอนออนไลน์ เด็กบางคนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน  และเรื่องภัยบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามหรือกลั่นแกล้ง (Cyberbullying) ที่เกิดขึ้นขณะเด็กใช้เทคโนโลยี โดยพ่อแม่อาจไม่ทราบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรระมัดระวังถึงความปลอดภัยของเด็กให้มากขึ้น

3.ผลกระทบจากเศรษฐกิจหยุดชะงัก 

จากมาตรการปิดเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก ผู้ประกอบการธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก ลูกจ้างบางคนถูกเลิกจ้างกะทันหัน ทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัวเด็กจำนวนมากเปลี่ยนไป เด็กมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อไปช่วยงานที่บ้าน หรือครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ผลกระทบของสิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กอย่างถาวร อีกทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเด็กอาจถูกปิดตัวลง อาทิ สวนสนุก สถาบันกวดวิชา หรือสถานศึกษา

นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงกลุ่มของนักศึกษาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนทางการศึกษาที่ถูกเปลี่ยนแปลง เรื่องการทำงานหารายได้พิเศษระหว่างเรียน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง หรือการสมัครงานของนักศึกษาจบใหม่อาจมีการเปิดรับน้อยลงหรือแข่งขันสูงขึ้น อาจทำให้เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่กดดันอย่างหนัก เกิดความเครียดสะสมได้

4.เด็กทุกคนควรมีพื้นที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย

เด็กทุกคนควรมีพื้นที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย สำหรับการเรียนรู้และการใช้ชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าเด็กไทยโดยเฉลี่ยมากกว่า 30% ไม่มีห้องส่วนตัวในการทำงานหรือทำการบ้าน แต่เด็กกลุ่มยากจนจะยิ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเกิดภาวะความเครียด ไม่มีสมาธิในการเรียน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงานอาจลดลง นอกจากนี้บางครอบครัวปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตอยู่บ้านตามลำพัง เนื่องจากพ่อแม่ประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ อาจส่งผลต่อเรื่องความปลอดภัยของเด็ก

5. ค่านิยมต่อสถานศึกษา 

การให้ความสำคัญกับโรงเรียน สถานศึกษา และครูผู้สอนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะคนบางกลุ่มคิดว่าการศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์จากบ้านได้ แนวคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีการเรียนเฉพาะในห้องเรียนหรือการเกิด Hybrid Homeschool อาจเกิดแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาและอาชีพครูโดยตรงที่จะต้องปรับตัว

นอกจากนั้นเรื่องค่านิยมในการศึกษาต่อต่างประเทศก็เกิดผลกระทบโดยตรงเช่นกัน เช่น ประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาต่อที่ประเทศจีนลดลงเหลือเพียง 21% ของจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด