‘ศิลปากร’ เปิดจอง ‘พระพิฆเนศ’ รุ่นพิเศษ สู้โควิด-19

‘ศิลปากร’ เปิดจอง ‘พระพิฆเนศ’ รุ่นพิเศษ สู้โควิด-19

“มหาวิทยาลัยศิลปากร” เปิดจอง “พระพิฆเนศ” สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน และลดภาระแก่โรงพยาบาลในการสู้ โควิด-19

สถานการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 ยังเป็นสถานการณ์ที่สังคมไทยต้องช่วยกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะปริมาณผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดทำ พระพิฆเนศ รุ่นพิเศษ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ขึ้นเพื่อร่วมบริจาคให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาภัยที่เกิดขึ้น ลดภาระต่างๆ แก่โรงพยาบาลที่เกิดจากไวรัส โควิด-19 และเป็นกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์

โดย ประติมากรรม พระพิฆเนศ รุ่นเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ เป็นเนื้อทองเหลือง ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว สร้าง 999 องค์ ทุกองค์มีหมายเลขกำกับจำนวนการสร้างและมีใบ Certificate of Authenticity รับประกันผลงาน เป็นการร่วมกันออกแบบโดยกลุ่มศิลปิน คณาจารย์ และประติมากรของไทย

158718657843

หลังจากเปิดให้สั่งจองบูชาเพียงคืนเดียวปรากฏว่ามียอดจองไปแล้วกว่า 400 องค์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งจอง และสอบถามรายละเอียดได้ที่ 081-901-0886 , 061-719-7155 ID Line : suas_project สำหรับผู้ที่ทำการจอง พระพิฆเนศ รุ่นพิเศษจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร จะได้รับผลงานภายใน 90 วันหลังจากวันที่สั่งจองบูชา

158718656410

พระพิฆเนศ มีชื่อเรียงที่แตกต่างกันออกไป อาทิ พระพิฆเนศวร พระคเณศ พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศวร์ หรือ พระคณปติ เป็นเทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู ด้วยพระลักษณะที่โดดเด่นจากเทพองค์อื่นๆ คือ พระเศียรเป็นช้าง  และเป็นที่รู้จักกันในนาม เทพแห่งศิลปวิทยา อันเป็นผู้ประสิทธิประสาทความรู้และความสำเร็จในการศึกษา และการสร้างสรรค์ศิลปกรรมทุกแขนง นอกจากนั้น ยังเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรคปัญหาทั้งปวง

สันนิษฐานกันว่า พระพิฆเนศ น่าจะปรากฏขึ้นเป็นเทพเจ้าครั้งแรกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 ส่วนหลักฐานยืนยันว่ามีการบูชากันย้อนกลับไปเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ ๔ - ๕ สมัยอาณาจักรคุปตะ ถึงแม้พระลักษณะจะพัฒนามาจากเทพเจ้าในพระเวท และยุคก่อนพระเวท เทพปกรณัมฮินดูระบุว่า พระพิฆเนศทรงเป็นพระบุตรของพระศิวะ และพระปารวตี โดยพบบูชากันอย่างแพร่หลายในทุกนิกายและวัฒนธรรมท้องถิ่นของศาสนาฮินดู

ประเทศไทยเอง พระพิฆเนศ เป็นเทพที่สังคมไทยยอมรับนับถือมาเป็นเวลานาน และนิยมสร้างรูปเคารพไว้บูชา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพะรมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ด้วยความเลื่อมใสของพระองค์ที่มีต่อพระพิฆเนศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวาลัยเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปพระพิฆเนศขึ้น ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับพระพิฆเนศไว้สำหรับการนาฏศิลป์โดยเฉพาะ เมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็พระราชทานเทวรูปพระพิฆเนศเป็นตราประจำสถาบันนั้น

เมื่อกรมศิลปากรเกิดขึ้น และรับตราดังกล่าวมาเป็นตราประจำกรม โดยเป็นรูปพระพิฆเนศประทับลวดลายกนกลักษณะคล้ายเมฆ ทรงถือปาศะครอบน้ำวัชระ และทันตะอยู่ในวงกลมที่ล้อมรอบด้วยดวงแก้ว 7 ดวง หมายถึงศิลปวิทยา 7 อย่างที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของกรมศิลปากร และต่อมายังได้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร  วิทยาลัยช่างศิลป์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์