'โคโรน่าไวรัส' จะระบาดน้อยลงในช่วง 'หน้าร้อน' นี้หรือไม่?

'โคโรน่าไวรัส' จะระบาดน้อยลงในช่วง 'หน้าร้อน' นี้หรือไม่?

ชวนหาคำตอบว่าอุณหภูมิสูงในช่วง "หน้าร้อน" จะช่วยฆ่า 'โคโรน่าไวรัส' ให้ตายเร็วขึ้นหรือไม่? และจะช่วยยับยั้งหรือชะลอการระบาดของ "โควิด-19" ได้แค่ไหน?

จนถึงตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โคโรน่าไวรัส" สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทยก็ยังพบการระบาดต่อเนื่อง แต่ที่น่าดีใจคือพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ล่าสุด.. ศบค. ออกมาแถลงข่าววันนี้ (13 เม.ย.) ว่าไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเพียง 28 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รักษาหายป่วยและกลับบ้านแล้วรวมทั้งหมด 1,288 ราย ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ ศบค.แถลงในวันนี้ มีจำนวนลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 5 แล้ว 

มีข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ ดร. วราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) ที่ได้อธิบายเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยพบอัตราการติดเชื้อ โคโรน่าไวรัส  ในเดือนมีนาคม มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19.2% ต่อวัน แต่ในเดือนเมษายนพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือเพียง 4.8% ต่อวัน

หากพบยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มปรับลดลงวันละ 5% ของยอดผู้ติดเชื้อวันก่อนหน้า อย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีของไทย ในการพบยอดผู้ติดเชื้อ "โคโรน่าไวรัส" รายใหม่เป็น 0 ราย ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อพฤติกรรม "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" สัมฤทธิ์ผลทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจาก "พฤติกรรมของบุคคล" ยังเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยยะสำคัญ!

อ่านเพิ่มเติม :

- นักวิจัยชี้ หากผู้ป่วย 'โควิด' ลดวันละ 5% จะเหลือ 0 รายในเดือน มิ.ย.

ไทยพบผู้ป่วย 'โควิด-19' เพิ่ม 28 ราย สะสม 2,579 ราย (13 เม.ย.)

แม้ว่าปัจจัยเรื่อง "พฤติกรรมของบุคคล" จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ยังมีปัจจัยรองอย่างเรื่องอุณหภูมิสูงใน "หน้าร้อน" ที่หลายคนมองว่า อาจจะ ส่งผลต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของ "โคโรน่าไวรัส" ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศทั่วไปให้ลดจำนวนลงได้ เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าเชื้อไวรัสจะตายเมื่อโดนความร้อน

158677576597

แต่เรื่องนี้ก็ยังฟันธงลงไปชัดๆ ไม่ได้ มีข้อมูลวิชาการจากหลากหลายแหล่งออกมายืนยันว่าสภาพอากาศร้อนใน "หน้าร้อน" ช่วงนี้ของประเทศแถบเอเชีย อาจจะไม่มีผลต่อการยับยั้งหรือชะลอการระบาดของโควิด-19 เนื่องใจากโรคระบาดนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องศึกษาไปพร้อมๆ กับสถานการณ์รายวัน

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าการแพร่ระบาดของ "โคโรน่าไวรัส" สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอเกิดโรคโควิด-19 ในภูมิภาคแปซิฟิกยังไม่จบสิ้นลง และการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อาจจะต้องกินเวลาไปอีกนาน ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าปัญหาการระบาดใหญ่ทั่วโลกนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานเท่าไหร่ รวมทั้งไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงหน้าร้อนจะทำให้อัตราการระบาดลดลงเหมือนที่หลายคนคาดหวังไว้

WHO ยืนยันว่า "โคโรน่าไวรัส" สามารถแพร่กระจายได้ทั้งในที่อากาศร้อนชื้น และในอากาศแห้งและหนาว แต่ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนและในสภาพอากาศแบบใด สิ่งสำคัญคือปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ ปิดปากเวลาไอหรือจามด้วยทิชชู่หรือข้อพับแขนด้านใน หลังจากทิ้งทิชชู่แล้วต้องล้างมือทันทีทุกครั้ง

158677576531

ในทำนองเดียวกันกับ Sugiyono Saputra นักวิจัยด้านจุลชีววิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย อธิบายว่า “มันง่ายเกินไปที่จะบอกว่าภูมิอากาศแบบเขตร้อนสามารถหยุด "โคโรน่าไวรัส" ได้เพราะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันในพื้นที่แออัด ปัจจัยนี้เองที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อไวรัสเลยก็เป็นได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าปัจจัยเรื่องอุณหภูมิสูงใน "หน้าร้อน" อาจจะช่วยยับยั้งหรือช่วยฆ่าไวรัสในอากาศได้ โดยนายแพทย์ วิลเลียม ชาฟเนอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เขาคิดว่าช่วงอากาศร้อนของซัมเมอร์นี้อาจพอมีหวังเล็กน้อยว่ามันอาจจะช่วยยับยั้งไวรัสได้

นายแพทย์ วิลเลียม ชาฟเนอร์ อธิบายอีกว่า การแพร่กระจายของไวรัสทางเดินหายใจบางชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปจะมีจำนวนลดลงในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและอุณหภูมิสูง ไม่ชัดเจนว่าทำไมอุณหภูมิและความชื้นจึงมีผลกระทบต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสตามฤดูกาลอื่นๆ แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อคุณหายใจออกไวรัสเหล่านั้นจะถูกห่อหุ้มด้วยละอองไอน้ำทรงกลมขนาดจิ๋ว (ดูได้จากกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น) แล้วถูกปล่อยออกสู่อากาศภายนอกผ่านทางลมหายใจออกดังกล่าว

เมื่อละอองไอน้ำทรงกลมนี้อยู่ในสภาพอากาศที่มีความร้อนชื้น (เช่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ความชื้นที่มีมากจะเข้าไปจับกับละอองนั้นแล้วทำให้มีน้ำหนักตกลงสู่พื้นโลกตามแรงโน้มถ่วง ไม่ค่อยฟุ้งกระจายในอากาศ ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะแพร่เชื้อผ่านอากาศ แตกต่างกับ สภาพอากาศที่มีความเย็นและแห้ง แบบนี้เชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองไอน้ำทรงกลมขนาดจิ๋วจะสามารถลอยฟุ้งไปมาในอากาศได้ยาวนานกว่า ทำให้มีโอกาสสูงที่จะแพร่เชื้อสู่คนได้ในบริเวณกว้าง

อีกทั้ง มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าการแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่จะลดลงสู่ระดับที่ต่ำมากในช่วงฤดูร้อน ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่กังวลเกี่ยวกับการติดไข้หวัดมากนักเมื่อเข้าสู่ช่วง "หน้าร้อน" ของแต่ละปี

แต่ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า นี่เป็นเพียงสมมติฐานจากการเปรียบเทียบกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับ "โคโรน่าไวรัส" สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ เนื่องจาก "โคโรน่าไวรัส" มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงและกว้างขวางมากกว่าไวรัสไขหวัดใหญ่ ดังนั้น เราทุกคนจึงยังต้องเฝ้าระวังและต่อสู้กับโรคโควิด-19 กันต่อไป อย่านิ่งนอนใจ ไม่ว่าอากาศร้อนจะมีผลต่อการชะลอการแพร่ระบาดของ "โคโรน่าไวรัส" หรือไม่ก็ตาม 

158677576569

---------------------

อ้างอิง:

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/myth-busters

https://forum.thaivisa.com/topic/1153911-can-hot-weather-stop-coronavirus-southeast-asia-surge-raises-doubts/

https://www.livescience.com/warmer-weather-slow-coronavirus-spread.html

https://www.washingtonpost.com/weather/2020/03/24/warm-humid-weather-coronavirus/