‘รถหาย-ของหายในโรงแรม’ ใครรับผิดชอบ

‘รถหาย-ของหายในโรงแรม’ ใครรับผิดชอบ

มาหาคำตอบกันว่า ทรัพย์สินที่นำติดตัวไปเกิดสูญหายระหว่างเข้าพักแรม ใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ระหว่างแขกหรือเจ้าของโรงแรม?

[บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 เขียนโดยสุพัทธ์รดา เปล่งแสง คอลัมน์ กฎหมาย 4.0 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]

โดยปกติเมื่อถึงเทศกาลวันหยุดต่างๆ นักท่องเที่ยวจะนิยมเดินทางไปพักผ่อนตามต่างจังหวัด

โดยหลายท่านเลือกหาสถานพักแรมที่ถูกใจ จองล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Agoda หรือ Booking.com เพราะราคาห้องพักที่ถูกกว่าการไปติดต่อหน้าเคาน์เตอร์ (walk in)

แต่นอกจากเรื่องความสะดวกสบายของสถานที่แล้ว การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าพักก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

ด้วยบางครั้งนักท่องเที่ยวบางท่านอาจโชคร้ายต้องประสบเหตุการณ์ที่ไม่น่าประทับใจ เช่น ทรัพย์สินที่นำติดตัวไปเกิดสูญหายระหว่างเข้าพักแรม อย่างนี้แล้วใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น แขกหรือเจ้าของโรงแรม? คำถามนี้มีคำตอบอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) โดยอยู่ในส่วนกฎหมายฝากทรัพย์ เรื่อง "วิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรม"

เมื่อผู้เข้าพักไปติดต่อขอเปิดห้องพัก นอกจากทำให้เกิดสัญญาบริการห้องพักขึ้นแล้ว กฎหมายยังให้ถือเสมือนว่าเกิด "สัญญาฝากทรัพย์โดยปริยาย" ขึ้นระหว่าง "เจ้าสำนักโรงแรม" (โรงแรม) ซึ่งหมายถึงเจ้าของโรงแรมหรือผู้จัดการกับ "ผู้เข้าพัก" รวมถึงผู้ติดตามอีกสัญญาหนึ่งด้วย โดยคำว่าโรงแรมนั้นหมายรวมถึงโฮเต็ล รีสอร์ท โฮสต์เทล โฮมสเตย์ รวมถึงชื่อเรียกอื่นๆ และจากสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าว โรงแรมมีความรับผิดในทรัพย์สินของผู้เข้าพัก ดังนี้

1.เมื่อทรัพย์สินที่ผู้เข้าพักนำติดตัวเข้ามาในโรงแรมสูญหาย โรงแรมต้องรับผิดเสมอตามหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องนำเข้ามาในตัวอาคารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถานที่ที่อยู่ในการบริหารจัดการของโรงแรมด้วย เช่น ลานจอดรถ บริเวณสระว่ายน้ำโรงแรม สถานออกกำลังกาย เป็นต้น

และแม้แต่กรณีรถยนต์ที่จอดหน้าโรงแรมบริเวณถนนสาธารณะหรือบริเวณอื่นตามที่พนักงานโรงแรมบอกให้จอดสูญหาย โรงแรมจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เข้าพัก ซึ่งทางปฏิบัติจะเป็นกรณีที่บริษัทประกันภัยรถยนต์รับช่วงสิทธิไล่เบี้ยจากโรงแรมภายหลังที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว

2.โรงแรมยังคงต้องรับผิดในความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เข้าพัก แม้ว่าการสูญหายจะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก เพราะโรงแรมได้รับค่าบริการตอบแทนจึงมีหน้าที่โดยสัญญาที่จะต้องดูแลทรัพย์สินของผู้เข้าพักแรมมิให้สูญหายหรือเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ความรับผิดของโรงแรมมีขอบเขตกำหนดไว้ซึ่งเป็นไปตามประเภทของทรัพย์สิน โดยหากเป็น "ทรัพย์สินที่เป็นของมีราคา" เช่น กระเป๋าเดินทาง รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ฯลฯ ทางโรงแรมต้องรับผิดเต็มจำนวนตามมูลค่าความเสียหายจริง

แต่ถ้าเป็น "ทรัพย์สินที่เป็นของมีค่า" เช่น เงินทอง พันธบัตร เช็ค อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ทำนองเดียวกัน เช่น พระสมเด็จเลี่ยมทอง นาฬิกาหรูฝังเพชร เช่นนี้โรงแรมจะรับผิดจำกัดจำนวนเพียงไม่เกิน 5,000 บาท แต่ก็มีข้อยกเว้นคือถ้าผู้เข้าพักได้บอกฝากของมีค่าเหล่านี้แก่โรงแรมโดยตรง และได้บอกราคาของนั้นไว้โดยชัดแจ้งแล้ว โรงแรมก็ต้องรับผิดเต็มตามราคาที่แจ้ง

ตัวอย่างผู้เข้าพักนำสร้อยคอทองคำมูลค่า 3 หมื่นบาทติดตัวมาด้วย แต่ไม่ได้บอกฝากและไม่ได้แจ้งราคา ถ้าสร้อยคอเส้นนั้นสูญหาย โรงแรมจะต้องรับผิดเพียง 5,000 บาท แต่หากผู้เข้าพักได้บอกฝากสร้อยคอแก่โรงแรมและบอกราคาโดยชัดแจ้งแล้ว ทางโรงแรมก็ต้องรับผิดเต็มทั้ง 3 หมื่นบาท

ข้อสำคัญคือเมื่อทรัพย์สินสูญหายแล้ว ผู้เข้าพักจะต้องแจ้งให้โรงแรมทราบในทันที มิฉะนั้นโรงแรมจะพ้นความรับผิดทั้งปวง และนอกจากนี้การสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินนั้นต้องไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากสภาพของทรัพย์สินนั้นเอง หรือเกิดจากความผิดของตัวผู้เข้าพักเองหรือจากบริวารญาติมิตร เช่น ผู้เข้าพักประมาทเลินเล่อลืมล็อกประตูห้องพัก กรณีนี้โรงแรมก็ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน

ส่วนกรณีผู้มาใช้บริการในโรงแรม เช่น มารับประทานอาหาร ใช้บริการนวดแผนโบราณ หรือฟิตเนส แล้วนำรถยนต์มาจอดไว้ หากรถยนต์สูญหายกรณีนี้ทางโรงแรมไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นการใช้บริการเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อต้องการพักผ่อนเท่านั้น มิได้เข้าพักค้างคืนจึงไม่อยู่ในความหมายผู้เข้าพักที่กฎหมายคุ้มครอง

อนึ่ง เวลาเข้าพักในโรงแรมหลายท่านอาจเคยเห็นประกาศที่ปิดไว้ตามที่ต่างๆ ในโรงแรมหรือในห้องพัก มีข้อความทำนองว่า "โรงแรมจะไม่รับผิดในความสูญหายไม่ว่าในกรณีใดๆ" เป็นต้น ข้อความประเภทนี้โดยหลักจะมีผลเป็นโมฆะไม่สามารถใช้บังคับได้ เนื่องจากโรงแรมได้ทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อประโยชน์ของตนเอง

อย่างไรก็ดี ถ้าหากผู้เข้าพักได้ทำความตกลงชัดแจ้งยอมรับข้อความดังกล่าว เช่นได้ลงลายมือชื่อยอมรับตามประกาศที่ปิดไว้ ข้อความเหล่านั้นก็จะมีผลใช้ได้ แต่ทั้งนี้การที่ผู้เข้าพักเพียงอ่านรับทราบข้อความยังไม่ถือได้ว่าเป็นการตกลงกัน จุดนี้นักท่องเที่ยวจะต้องใช้ความระมัดระวังในเวลาที่โรงแรมให้ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ถ้ามีข้อความทำนองนี้ก็สามารถปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อได้

ท้ายที่สุด หากโรงแรมไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้เข้าพักก็ต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้นภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ตนเดินทางออกจากโรงแรม มิฉะนั้นจะขาดอายุความ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญา

กล่าวโดยสรุป เรื่องความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรม แม้ชื่อกฎหมายจะฟังดูล้าสมัยไม่เหมาะกับยุคไทยแลนด์ 4.0 แต่บทบัญญัติเรื่องนี้ยังมีประโยชน์ในทางปฏิบัติ และมักพบเห็นข้อกฎหมายนี้อยู่เสมอเมื่อเข้าพักแรม ดังนั้นจึงเป็นการดีหากท่านผู้อ่านหรือนักท่องเที่ยวได้ทราบถึงสิทธิหน้าที่และข้อควรระวังต่างๆ เพื่อที่จะได้เดินทางท่องเที่ยวด้วยความสบายใจและไม่ประมาท