สโลว์ไลฟ์ใน'นครพนม'

สโลว์ไลฟ์ใน'นครพนม'

เปลี่ยนโหมดคนเมืองไปใช้ชีวิตช้าๆ ในจังหวัดริมแม่น้ำโขงอันแสนสงบ

ถ้ามีใครสักคน (ซึ่งก็มีจริงๆ) ถามความเห็นว่า จังหวัดไหนในภาคอีสานที่คนนิยมเดินทางไปเที่ยวบ่อยที่สุด ผมคงตอบได้แบบไม่ต้องคิดมากว่าน่าจะเป็นเป็นโคราชกับบุรีรัมย์ จังหวัดแรกเหตุผลเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีมากมาย ส่วนจังหวัดหลังน่าจะมีสาเหตุจากเรื่องการกีฬา อย่างเมื่อเดือนก่อนที่พวกเขาเพิ่งฉลองแชมป์ฟุตบอลไทยลีกไป หลายๆ คนก็เช็คอินที่สนามไอโมบาย บุรีรัมย์

แต่เชื่อเถอะว่าหนึ่งในจังหวัดภาคอีสานที่น่าค้นหา แต่กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงอย่างที่ควรจะเป็นคือ จ.นครพนม เพราะเมื่อสอบถามถึงประสบการณ์ในจังหวัดนี้กับคนรอบๆ ตัว หลายคนบอกว่าเคยไปมาแล้วแต่กลับนึกรายละเอียดไม่ออก บางคนจำได้ว่าเคยไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเพื่อข้ามแดนชั่วคราวไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่บางคนเคยนั่งผ่าน แล้วแวะไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองเท่านั้น แต่ก็มีบางคนที่ยอมรับตรงๆ ว่าเคยมาทำธุระ 1-2 วัน แล้วก็รีบกลับ พลันถามย้อนกลับมาว่า “จังหวัดนี้มีอะไรบ้างเหรอ”

มันคงเป็นเรื่องของโอกาส ระยะเวลา และความสะดวกของแต่ละคน อย่าไปต่อว่าเขาเลยครับ แต่เอาเป็นเมื่อสัปดาห์ก่อนผมดันมีโอกาส เป็นโอกาสในวันเวลาที่ไม่เร่งรีบ จึงขอลองใช้ชีวิตช้าๆเพื่อศึกษา จ.นครพนมในเวลานี้กัน

  • นครพนมหนาว(ไม่) มาก

นครพนมอาจจไม่ป๊อบ เมื่อเทียบกับเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ฯลฯ แต่ช่วงใกล้สิ้นปีนี้อากาศที่นี่สบายดีไม่แพ้ที่ไหน เสื้อแขนยาวไม่ใช่เรื่องเวอร์วังในช่วงเช้า-สาย-บ่าย และเย็น แต่ถ้าตกค่ำแล้วยังอยากออกมาเดินเล่นคุณควรมีเสื้อให้หนากว่าเดิมสักหน่อยเพื่อรองรับอาการหนาว(ไม่มาก)

ผมไปถึงนครพนมในวันธรรมดา และในวันเช่นนี้ทำให้ไม่ยากนักที่จะสังเกตบรรยากาศที่ปราศจากการปรุงแต่ง ทิวทัศน์รอบๆ อ.เมืองที่คนขับรถรับจ้างพาไปสำรวจให้กลิ่นอายของเมืองเล็กๆที่ไม่พลุกพล่านมากนัก แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่ถึงกับว่าจะเงียบสงบสักทีเดียว หน้าโรงแรมใหญ่มีรถบัสจอดอยู่ ใกล้ๆ กับหอนาฬิกาซึ่งเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางมีร้านค้า ร้านอาหารเปิดทำการพร้อมหน้า มองไปรอบๆ เห็นตึกแถวเก่าบางห้องกำลังปรับปรุง ราวกับเจ้าของเก่าหรือใหม่ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อรองรับการเติบโต

ผมเริ่มจุดแรกของในฐานะนักท่องเที่ยวที่พระธาตุพนมอันเลื่องชื่อ พระธาตุพนมนี้ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม บรรยากาศภายในวัดไม่ต่างจากวัดใหญ่ๆ ทั่วไป ซึ่งมีบริเวณกว้างขวาง มีผู้ศรัทธาเข้ามาสักการะไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับรอบๆ วัด ซึ่งมักมีตลาดนัดสินค้าขายของพื้นเมืองและของที่ระลึกคอยเรียกเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยว

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุที่เก่าแก่มากที่สุดในภาคอีสาน เป็นพระธาตุประจำปีวอกและเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันอาทิตย์ คือแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดในจังหวัด ช่วงวันหยุดหรือเทศกาลสำคัญ บริเวณวัดพระธาตุพนมฯจะคึกคักมากไม่แพ้วันใดในภาคอีสาน

วันที่พวกเราเดินทางไป เราได้ยินภาษาอีสานจากกลุ่มนักท่องเที่ยวมากกว่าหนึ่งกลุ่ม โชเฟอร์รถตู้ที่มีภูมิลำเนาที่นี่ บอกว่า นอกจากผู้คนในภูมิภาคที่จะแวะเวียนมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่เป็นประจำแล้ว นักท่องเที่ยวชาวลาวก็มักเข้ามาฝั่งไทยเพื่อเดินทางมาที่วัดแห่งนี้ พระธาตุพนมได้รับการนับถือพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ที่นี่จะมีประเพณีรำบวงสรวงองค์พระธาตุพนม ซึ่งช่วงนั้นเองที่จะทำให้บรรยากาศในจังหวัดตั้งแต่สนามบินจนถึงที่ท่องเที่ยวต่างๆ คึกคักอย่างผิดหูผิดตาเลยทีเดียว

ส่วนในวันธรรมดาๆ ก่อนสิ้นปีอย่างวันนี้ แน่ละว่ามันคงไม่คึกคักเหมือนเทศกาลที่ว่า ที่เช็คอินแห่งแรกที่พวกเราได้ทำบุญ เดินรอบ ไหว้พระธาตุขอพร ไม่ต่างกับการเดินเล่นสบายๆ ใช้ชีวิตช้าๆ แบบที่ไม่ค่อยได้รู้สึกในชีวิตประจำวัน

  • ล่องเรือชิลชิลที่ริมโขง

ถัดจากพระธาตุ ผมขอลิสต์กิจกรรมล่องเรือชมวิวแม่น้ำโขงไว้เป็นลำดับสอง โดยจุดขึ้นเรืออยู่ที่ลานใกล้พญาศรีสัตนาคราชพ่นน้ำ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดไปเรียบร้อย

ค่าโดยสารสำหรับผู้ใหญ่คือ 50 บาท ในแต่ละวันจะมีเรือล่องแค่รอบเดียว คือ เวลา 17.00 น.ส่วนถ้านอกเวลา หรือมาหมู่คณะก็สามารถเหมาได้ในราคา 1000 บาท และสามารถโทรจองหรือสอบถามข้อมูลก่อนล่วงหน้าได้

เรือก็จะเริ่มออกเดินทางล่องไปตามแม่น้ำโขง โดยจะเลียบไปกับฝั่งไทย-นครพนมก่อน ซึ่งบนเรือก็จะมีไกค์คอยบรรยาย ให้ความรู้ แนะนำประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ที่ล่องผ่าน ช่วงเย็นๆ นี่คือความคลาสสิคที่ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวะแล่นของเรือที่ไม่เร็วไม่ช้าทำให้การนั่งเรือคือความผ่อนคลายอย่างแท้จริง ขณะที่บนเรือคุณสามารถสั่งอาหารเครื่องดื่มได้ในราคาที่ไม่แพงกว่านอกเรือมากนัก ผมซื้อน้ำอัดลมกระป๋องหนึ่งจิบระหว่างนั่งดูสองข้างทาง ระหว่างที่ชะโงกหน้าสำรวจความเป็นไปที่ท้ายเรือ พนักงานบอกผมตั้งแต่ยังไม่ถามด้วยซ้ำว่า “ท้ายเรือมีห้องน้ำ”

บรรยากาศยามเย็นกับวิวสองข้างทางคืออะไรที่ทุกคนชอบมาก เพื่อนๆ หลายคนในคณะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือจังหวะชีวิตที่ชิลมากๆ เมื่อเรือล่องเลียบฝั่งไทยได้สักราว 30-40 นาที ก็จะวกลอยลำข้ามไปล่องดูวิถีชีวิตของฝั่งลาว-แขวงคำม่วน ผมพยายามมองไปให้ไกลที่สุดเพื่อได้เห็นวิถีความเป็นอยู่ เห็นบ้านเรือน ร้านค้า และโรงแรมเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งไม่ต่างจากฝั่งไทย ทั้งนี้เรือจะใช้เวลาในการล่องทั้งหมดประมาณ 1 - 1.5 ชั่วโมง ซึ่งผมมองว่าคุ้มค่ากับ 50 บาทที่เสียไปมาก

ส่วนใครที่ไม่ชอบนั่งเรือ แต่อยากจะปั่นจักรยานเล่นรอบริมโขง ใกล้ๆ กันนี้ยังมีบริการเช่าจักรยาน ซึ่งคิดค่าเช่าเป็นรายชั่วโมง ภูมิทัศน์รอบๆ อ.เมืองนครพนมตอนนี้ จะมีเลนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยจังหวัดได้ทำเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เริ่มที่ หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ปั่นเลียบโขงไปเรื่อยๆ ไปต่อที่ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม, พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และไปสิ้นสุดที่ วัดนักบุญอันนา-หนองแสง วัดในศาสนาคริสต์ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2469 ลักษณะเด่นของโบสถ์ก็คือมีหอคอยคู่ยอดแหลมเด่นเป็นสง่าสวยงาม ถือเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนิกชนท้องถิ่น รวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร นี่จึงเป็นอีกทางเลือกที่ไม่ทำให้ผิดหวัง

  • บ้านลุงโฮฯ ประวัติศาสตร์สัมผัสได้

วันที่เราไปเป็นวันธรรมดา จึงไม่มีโอกาสเดินเล่นถนนคนเดินนครพนม ที่จะตั้งอยู่บริเวณหอนาฬิกา ถ.สุนทรวิจิตร ซึ่งเปิดทำการในคืนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

แต่ผลจากการเข้าห้องนอนเร็ว ทำให้เรานั่งรถออกจากเมืองนครพนมไปยังบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ เพื่อไปชมบ้านเก่าที่โฮจิมินห์ นักปฏิวัติชาวเวียดนาม ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) เคยมาใช้ชีวิตอยู่

เบื้องหน้าเราคือบ้านไม้เรียบง่ายตามแบบสมัยเก่า ขณะที่ด้านหลังประตูทางเข้า คือบริเวณที่กว้างออกไป ประหนึ่งครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

กรกนก วงศ์ประชาสุข ผู้ดูแลบ้าน ซึ่งเป็นลูกหลานของสหายในขบวนการ บอกว่าบ้านหลังนี้เคยเป็นฐานที่มั่นในการวางแผน ระดมความคิดกับพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ถือได้ว่าเป็นเพื่อนสนิทร่วมอุดมการณ์ เพราะในช่วงนั้นอยู่ในช่วงระหว่างสงครามที่ต้องหนีออกมาจากเวียดนาม ต่างคนจึงได้ต่างหลบหนีแยกย้ายกันไปหลบภัยต่างถิ่นกัน โฮจิมินท์เองก็ได้เดินทางโดยเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย รวมทั้งได้เปลี่ยนชื่อเรียกไปตามนั้นด้วย เพื่อเป็นการซ่อนตัวและไม่ให้ผู้ใดจำตนเองได้ ซึ่งหนึ่งในเพื่อนสนิทของลุงโฮนั้นเองก็เป็นบรรพบรุษของตนที่เข้ามาพำนักในประเทศไทยและมีครอบครัวที่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวใหญ่

พื้นที่อันเกี่ยวพันกับนักปฏิวัติผู้นี้ ถ้าคุณเดินออกจากบ้านหลังเก่าที่เรากล่าวมาในตอนแรก เลี้ยวขวาแล้วเดินตรงมาอีกไม่กี่อึดใจก็ถึงอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ ที่ส้รางโดยเงินทุนของรัฐบาลเวียดนาม โดยที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่อดีตประธานาธิดีผู้ยิ่งใหญ่ของชาวเวียดนาม และด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเวียดนาม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 นายเหงียนฝูจ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมาเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่บ้านนาจอกตามคำเชิญชวนของรัฐบาลไทย ได้มอบเงินจำนวน 45 ล้านบาท เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ เป็นเกียรติแด่วีรษบุรุษของคนเวียดนาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อีกแห่งของนครพนม

สะท้อนวิถีเมืองผ่านจวนผู้ว่าฯ

หากคุณเคยดูละครย้อนยุคและชื่นชอบกับฉากที่ทำให้เห็นบ้านทรงเก่า เห็นวิถีชีวิตของข้าราชการในจังหวัดใหญ่ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ นี่คือสถานที่ที่ไม่ควรพลาด

ผมรู้สึกเฉยๆ เมื่อพี่ร่วมคณะบอกว่าอยากจะไปจวนผู้ว่าเพื่อให้เห็นกับตาสักครั้ง ภายหลังเสพความงามผ่านภาพถ่ายในโลกโซเชียลมานาน ซึ่งหลังจากก้าวเท้าลงจากรถภาพที่เห็นคือสถาปัตยกรรมที่มีประตูโค้งครึ่งวงกลมหน้าต่างโค้ง เหนือประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น หรือแกะสลัก หลังคาไม่ลาดชันนัก อาคารมีเสาเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทั้งสิ้น และแม้จะมีอายุเก่าแก่มากแล้ว แต่ยังคงรักษาสภาพและความสวยงามต่างๆ ไว้ได้อย่างดีและยังคงความสวยงามจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมถูกปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่แห่งนี้มีเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถ.สุนทรวิจิตร อ.เมือง จ.นครพนม ตามประวัติระบุว่าจวนผู้ว่าหลังนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 80 ปี จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มีภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ที่เล่าเรื่องอดีตของเมืองนครพนมได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ถูกแบ่งเป็น 5 โซน แบ่งเป็นชั้นล่าง 3 โซน และชั้นบนอีก 2 โซน โดยโซนที่ 1 จะเป็นการเล่าเรื่องอาคารแห่งความทรงจำผ่านภาพ เป็นการเล่าที่มาของบุคคลที่เคยอาศัยอยู่ และประวัติของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เคยมาบริหารราชการในจังหวัดนี้

ส่วนโซนที่ 2 จะเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับย่านเก่านครพนม ที่ผู้ชมจะได้เห็นบรรยากาศเก่าๆ ของชุมชนริมโขง และบางส่วนที่เป็น UNSEEN จ.นครพนม และโซนที่ 3 คือ ม่วนซื่นนครพนม ที่โซนนี้จะมีภาพที่เล่าเรื่องราวความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคนไทย ลาว และเวียดนาม

 ตรงชั้นสอง มีภาพไฮไลท์ ยายตุ้ม จันทนิต พสกนิกรที่ถวายดอกบัวแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในสมัยที่พระองค์เสด็จประพาสเยือนถิ่นอีสานในปี 2498 และประทับที่แห่งนี้ 1 ราตรี โดยขณะนั้นยายตุ้มอายุได้ 102 ปี ด้วยความจงรักภักดียายเดินทางมารอรับเสด็จแต่เช้า จนดอกบัวที่รอถวายให้เหี่ยวลงเพราะแสงแดดที่แรงจัดในช่วงบ่าย อีก 3 ปีต่อมายายตุ้มก็สิ้นชีวิต

ส่วนที่อาคารด้านหลังได้ปรับปรุงให้เป็น “เฮือนเฮือไฟ” (เรือนเรือไฟ) เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการสร้างเรือไฟของ จ.นครพนม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ชมเรือไฟโบราณที่มีขนาดแค่ 4-5 ศอก และทำด้วยวัสดุธรรมชาติ นี่คือแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวนครพนม และปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายในจังหวัดนครพนม รวมถึงประสบการณ์เรื่องอาหารและมิตรภาพของผู้คน ที่ยังเล่าไม่หมดในโอกาสนี้ โดยความรู้สึกส่วนตัวจ.นครพนมมีเสน่ห์มากพอที่จะทำให้นักเดินทางหลงรักได้ไม่ยาก แม้ในอดีตการเดินทางมาอาจไม่ง่าย แต่ปัจจุบันสะดวกสบายขึ้นมาก ทั้งเครื่องบินและรถโดยสาร ซึ่งทั้งหมดล้วนเชื้อเชิญให้ผู้คนต้องมองหาและจดจำที่แห่งนี้ในฐานะเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ที่ให้บรรยากาศสบาย เหมาะกับการใช้ชีวิตช้าๆ เพื่อการพักผ่อน

2 วันแห่งการหยุดพัก มอบวิถีชีวิตที่เนิบช้า และความสุขของความสโลว์ไลฟ์ใน จ.นครพนม บันทึกไว้ตรงบรรทัดนี้

แต่ความทรงจำคงฝังอยู่อย่างถาวร