ความรัก ความทรงจำ จากยอดดอย...

ความรัก ความทรงจำ จากยอดดอย...

สืบเนื่องมาจากต้นกาแฟ 2-3 ต้น เมื่อปี พ.ศ.2517 ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ที่บ้านกะเหรี่ยงหนองหล่ม บนดอยอินทนนท์

     สืบเนื่องมาจากต้นกาแฟ 2-3 ต้น…

     เรื่องราวเริ่มต้นจากต้นกาแฟบนยอดดอย ต่อมากลายเป็นพืชเศรษฐกิจทำรายได้นับหลายร้อยล้านบาทต่อปี สมดังพระปณิธานที่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”

     และจากข้อความตอนหนึ่งของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ที่ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “โครงการหลวง” ว่า

   .....เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นาน เวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามาก ในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯ ด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อให้ทอดพระเนตร “ต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น” ซึ่งก็จริงอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯ ไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญจึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมายและก็เริ่มต้นจาก 2-3 ต้นนั่นเอง...

     อยากเห็นกาแฟต้นแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จทอดพระเนตรนั้นว่าเป็นอย่างไร ทริปบุกเขาปีนดอยที่นำโดย ศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง พาไปชมต้นกาแฟต้นเรื่อง หรือ ต้นกาแฟประวัติศาสตร์ ที่บ้านกะเหรี่ยงหนองหล่ม อำเภออินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

ต้นกาแฟ1re re_1 20170920_113956

    ณ ภูสูง ตอนใกล้ค่ำในปี พ.ศ. 2517 สมัยนั้นถนนหนทางไม่มี เส้นทางเป็นดิน หิน พื้นที่ลาดชัน สูง ๆ ต่ำ ๆ หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรต้นกาแฟที่มีอยู่ 2-3 ต้น พื้นที่อันทุรกันดารไม่เป็นอุปสรรคต่อการเสด็จฯ ของพระองค์เลย ลุงพะโย ตาโร ชาวเขาปะกากะเญอ ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า… “ตอนนั้นผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน พอรู้ว่าในหลวงจะเสด็จฯ ผมกับชาวบ้านก็ตื่นเต้นกันใหญ่ ท่านเสด็จฯ มาเพื่อดูต้นกาแฟ หลังจากที่ชาวบ้านนำเมล็ดกาแฟไปถวายท่าน ท่านทรงเห็นว่าที่นี่มีต้นกาแฟด้วยหรือเลยจะเสด็จฯ มาดู พอท่านเสด็จฯ มาเห็นว่าต้นกาแฟมีอยู่จริง ทรงบอกว่าอย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่ากาแฟสำคัญอย่างไร และจะทำให้ชาวบ้านสนใจ จะได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก แล้วท่านก็ถามว่า อยู่กันยังไง ข้าวพอกินมั้ย… ผมก็ตอบว่าเลี้ยงไก่เป็ดบ้าง มีสูบฝิ่นด้วย ชาวเขาบางเผ่ายังสูบฝิ่นอยู่สมัยนั้น พระองค์ท่านบอกว่า ถ้าอย่างนั้นจะแวะมาที่นี่จะมาช่วยจัดการให้ ท่านก็ถามเรื่องน้ำ ผมบอกว่าที่นี่มีห้วยแต่ไม่มีน้ำ บ้านยังมุงหญ้าคา พระองค์ท่านบอกว่า จะส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ช่วยลูกหลานให้มีรายได้แทนการปลูกฝิ่น สมัยนั้นยังไม่มีโครงการหลวง ในหลวงทรงช่วยนำพืชผักเมืองหนาวมาปลูก อีกไม่นาน พระองค์ก็เสด็จฯ มาอีก เอาต้นแฟมาให้ เอาพันธุ์พืชมาให้ หมูไก่ด้วย”

     เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเสริมว่า ต้นกาแฟบนดอยสันนิษฐานว่าอาจมาจากเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ที่เคยเข้ามาพัฒนาพื้นที่บนดอย นำต้นกาแฟมา แต่พอในหลวงเสด็จฯ มาถึงก็ริเริ่มให้มีโครงการวิจัยปรับปรุงหาพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับขนาดความสูงของพื้นที่คือ ราว 1,200-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตอนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มานั้น ทรงเดินเท้ามาจากปากทาง 7 กิโลเมตร ข้ามเขาดอยงาเข้ามา ไม่มีถนน แต่พอหลังจากในหลวงเสด็จฯ แล้วก็เริ่มทำถนนทางเข้าหมู่บ้าน

    ..ชาวเขาตอนนั้นตื่นเต้นกันมาก ในหลวงเสด็จฯ มากับพระราชินี, ในหลวง รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ ด้วย ตอนกลางคืนมีงาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงร้องเพลง “สาละวันเตี้ยลง” และทรงรำวงร่วมกับชาวบ้าน ความจริงชาวบ้านชาวเขาฟังภาษาไทยไม่ออก พูดไทยไม่ได้ จะมีแต่คุณลุงพะโย เป็นผู้ใหญ่บ้านที่สื่อสารภาษาไทยได้

    กาแฟ8 re      จากบ้านหนองหล่ม มาต่อที่บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ ลุงโยแส่ กิจจรูญชัย ดูแลไร่กาแฟของตัวเอง ส่วนหนึ่งส่งผลผลิตให้โครงการหลวง อีกส่วนหนึ่งก็ทำเมล็ดกาแฟขายเอง คุณลุงโยแส่ มีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 ถึง 6 ครั้ง ลุงโยแส่ เล่าว่า

   “เคยรับเสด็จ 6 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2517 ทรงเสด็จฯ มากับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เกิดโครงการหัตถกรรม ทรงประทานแกะให้ชาวบ้านเลี้ยง และนำขนแกะไปทอผ้าขนแกะ ตอนนั้นผมกับชาวบ้านตามเสด็จฯ ในหลวง พระองค์เหมือนเดินช้านะครับแต่ชาวบ้านต้องวิ่งตาม แล้วพอเดินไปได้สัก 500 เมตร ก็จะทรงหยุดครั้งหนึ่งดูแผนที่และสมุดจด”

ต้นกาแฟ88re

        จากกาแฟต้นประวัติศาสตร์ กลายมาเป็นไร่กาแฟที่ผ่านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกกาแฟ ในบริเวณ 4-5 หมู่บ้านบนดอยอินทนนท์ ชาวเขามีรายได้จากการส่งเมล็ดกาแฟปีละร่วม 60 ล้านบาท หรือประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนั้นที่หมู่บ้านแม่กลางหลวง ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ชมน้ำตกผาดอกเสี้ยว ชมหมุ่บ้านกาแฟ ชมงานหัตถกรรมชาวบ้าน มีกองถ่ายภาพยนตร์มาถ่ายหนังไปหลายเรื่อง ชาวบ้านนอกจากปลูกกาแฟแล้วก็ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น ฟักทอง ซุกกินี ผักชนิดต่าง ๆ และไม้ดอก สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นมาก

มะเดื่อ 1re

      จากกาแฟสู่ผล มะเดื่อฝรั่ง หรือ ฟิก (fig) ที่มีเรื่องเล่าว่า เป็นผลไม้จากต่างประเทศที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 โปรดเสวย และเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่พระราชทานให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น โดยเริ่มโครงการจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะ เมื่อปี พ.ศ.2530

     ม.จ.ภีศเดช รัชนี ทรงเคยให้สัมภาษณ์ว่า “พระเจ้าอยู่หัวจะโปรดเก็บลูกมะเดื่อฝรั่งหรือลูกฟิก ผลที่สุดแล้วมาเสวย พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่าทานแล้วมันดีต่อสุขภาพ”

     วันนี้ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง เชียงใหม่ เป็นศูนย์วิจัยและขยายพันธุ์พืชของมูลนิธิโครงการหลวง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2522 ปัจจุบันขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน เป็นสถานีวิจัยขยายพันธุ์พืชหลายชนิด นอกจากไม้ผลเมืองหนาว ไม้ดอกเมืองหนาว ไม้ผลเมืองร้อนและกึ่งร้อน ถั่วแขกและไม้ป่าโตเร็ว

มะเดื่อ 2re

      นักวิจัยไทยเก่ง สามารถพัฒนาผลไม้จากแถบเมดิเตอร์เรเนียน ปลูกได้ผลดีในโรงเรือน เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ที่อบอุ่น แห้ง และมีแสงแดด แต่บ้านเราฝนเยอะ การปลูกนอกโรงเรือนจะเจอสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จนถึงโรคของพืชและแมลง หลังจากทดสอบวิจัยอยู่ 25 ปี ก็ได้มะเดื่อ 4 สายพันธุ์ ที่เหมาะต่อการบริโภคสดและแปรรูป (มะเดื่ออบแห้ง) ต่อจากนี้ไปคนรักมะเดื่อ รอซื้อมะเดื่อจากโครงการหลวง ไม่ต้องเสียเงินซื้อมะเดื่อนำเข้า

รูบาร์บ1re

       ใครเคยบุกป่าฝ่าดอย ขึ้นเขาลงห้วยแถบภาคเหนือ คงนึกภาพสมัยที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเดินเท้าเข้าไปในดอยลึกภูสูง ได้อย่างไร… ถึงยุคนี้มีถนนเข้าถึง หากก็ยังนั่งเตัวอนไปเอนมา เอวเป็นรูปตัว S เพื่อขึ้นไปถึงยอดดอย แล้วเดินเท้าเข้าไร่เข้าสวนของชาวเขา ที่ซึ่งจุดหมายต่อไปคือ แปลง รูบาร์บ (Rhubarb)

   เรื่องของ “รูบาร์บ” เป็นอีกหนึ่งเรื่องประทับใจของในหลวง ที่ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ทรงเล่าถึงพระราชอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับชื่อที่เหมาะสมของผักชนิดหนึ่งที่โครงการหลวงนำเข้ามาวิจัย ทดสอบ และปลูกที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นั่นคือ “รูบาร์บ” ผักเชื้อสายยุโรป มีก้านสีแดงม่วง รสเปรี้ยวอร่อย นิยมมาทำพายหรือแยม เนื่องจากชื่อรูบาร์บ เมื่อคิดตามคำอ่านในภาษาไทยรู้สึกไม่เป็นมงคล อาจทำให้ดูไม่ชวนรับประทาน ม.จ.ภีศเดช จึงกราบบังคมทูลถามว่าจะเรียกรูบาร์บ ว่าอย่างไรดี

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งทันทีว่า โฮล ซิน -Hole Sin

     เราจึงชวนกันไปดู “โฮล ซิน” ที่หน่วยวิจัยย่อยขุนห้วยแห้ง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตำบลบบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ สถานที่ทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช ทั้งพันธุ์ไม้ผลและพืชไร่ที่มาจากต่างประเทศ อยากชมของจริงต้องเดินไต่เนินขึ้นลงไปจนถึงแปลงรูบาร์บ (ออกเสียงว่า รู-บ๊าบ) ต้นไม้ก้านสวยสีแดงอมชมพู ที่อยู่ในเมนูอาหารฝรั่ง ตอนนี้ที่สโมสรอ่างขาง มีเมนูรูบาร์บให้ชิม ได้แก่ ซี่โครงหมูตุ๋นรูบาร์บ แยมรูบาร์บ โครงการหลวงปลูกรูบาร์บ 2 สายพันธุ์คือ ชนิดก้านสีเขียวกับก้านสีชมพู ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่เป็นพืชที่ต้องดูแล ต้องตัดแต่ง มีพลาสติกคลุมดิน และปลูกได้เท่าไหร่ก็ขายหมดเพราะเชฟฝรั่งชอบใช้ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 42 บาท

ไหลสตรอว์เบอร์รี่re

    ในพื้นที่ใกล้ ๆ กันแต่ไกลกันเหมือนคนละดอย ต้องเดินขึ้นลงเนินเขาเพื่อไปชม ไหลสตรอว์เบอร์รี่ ผลไม้ยอดนิยมที่ปลูกได้เท่าไหร่ก็ขายหมด ทำไมต้องทำ “ไหล” นักวิชาการเกษตร สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ พรประเสริฐ ทามิน ให้ข้อมูลว่า กว่าจะได้ไหลเพื่อส่งต่อให้ชาวเขาปลูกนั้นต้องผ่านการวิจัยหลายรอบ ไหลสตรอว์เบอร์รี่ มีลักษณะเหมือนก้านอ่อนที่เลื้อยยาวออกไป เริ่มจากการเพาะเนื้อเยื่อสตรอว์เบอร์รี่ 2เดือน จนได้เป็นต้นอ่อน เรียกว่า G 1 จาก G 1 เพาะต่ออีก 2 เดือน มีไหลออกมาแล้วเรียกว่า G 2 ต้นอ่อนหรือไหลนี่จะเลื้อยลงถุงเรียกว่า “ล่อ” พอแยกไหลในรุ่นนี้ออกมารออีก 2 เดือน เรียกว่า G 3 รออีก 2 เดือนเพื่อให้ไหลแข็งแร็ง เรียกว่า G 4 ถึงจะนำไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกโครงการหลวง นำไปลงแปลงสตรอว์เบอร์รี่ ได้ผลผลิตช่วงเดือนตุลาคมจนถึงต้นปีหน้า รวมเวลา 6 เดือน กว่าสตรอว์เบอร์รี่จะลงแปลง

ซุปรูบาร์บre  

     กว่าจะได้มาทั้งรูบาร์บและสตรอว์เบอร์รี่ คือผลผลิตที่ต้องรอคอย เมื่อได้มาแล้ว ฟู้ดสไตลิสต์ คุณขาบ – สุทธิพงษ์ สุริยะ นำเสนอเมนูที่นำไม้ผลจากต่างประเทศ มาผสมผสานเกิดเป็นเมนูใหม่ชวนลอง...

     เรื่องราวของ “โครงการหลวง” จากน้ำพระทัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังมีอีกมากมาย โปรดตามอ่านตอนต่อไป….

ซุปรูบาร์บใส่สตรอว์เบอร์รี่ (สูตรจากสุทธิพงษ์ สุริยะ)

ส่วนผสม :

รูบาร์บโครงการหลวงหั่นท่อนยาว     4    ถ้วย

กรีกโยเกิร์ตโครงการหลวง              1   ถ้วย

สวีทเบซิลโครงการหลวงสับหยาบ     ¼   ถ้วย

สตรอว์เบอร์รี่สด                           1½  ถ้วย

น้ำ                                           3  ถ้วย

น้ำตาล                                      ¼ ถ้วย

เกลือ                                         ¼  ช้อนชา

พริกไทยดำป่น ตามชอบ

วิธีทำ

นำรูบาร์บมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วยกขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พักไว้ จากนั้นนำสตรอว์เบอร์รี่มาล้างน้ำให้สะอาด เช็ดให้แห้งและหั่นเป็นชิ้นบาง ใส่จานพักไว้ เตรียมหม้อใบใหญ่ใส่น้ำ 3 ถ้วย ตั้งไฟแรง เมื่อน้ำเดือดใส่รูบาร์บที่เตรียมไว้ลงต้มจนกระทั่งสุกและนิ่ม ใช้เวลาประมาณ 5 นาที แล้วยกขึ้นพักไว้ให้เย็น ขั้นตอนต่อไปเตรียมเครื่องปั่นผสมอาหารใส่รูบาร์บที่ต้มสุกลงไป ตามด้วยสตรอว์เบอร์รี่สด กรีกโยเกิร์ต น้ำตาล และเกลือ ปั่นจนส่วนผสมทั้งหมดละเอียดเข้ากันดี ได้เป็นซุปเนื้อเนียน ชิมปรับรสชาติตามชอบ แล้วเทใส่ถ้วย โรยสวีทเบซิลลงไป ตามด้วยพริกไทยดำป่น เสิร์ฟร้อน ๆ

หมายเหตุ : พบกับเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ “อาหารจากแผ่นดิน” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ในงาน รอยัล โปรเจ็คต์ แอด สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 23 – 29 พฤศจิกายน 2560 ที่ชั้น M และพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน