จัดยิ่งใหญ่! รำบูชาพระธาตุพนม ออกพรรษาวันไหลเรือไฟ

จัดยิ่งใหญ่! รำบูชาพระธาตุพนม ออกพรรษาวันไหลเรือไฟ

จัดยิ่งใหญ่! "7 เผ่านครพนม" แต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่า รำบูชาพระธาตุพนม ชมได้เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.60 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา การรำบูชาพระธาตุพนมเกิดขึ้น ณ บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม มีพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เป็นประธานสงฆ์ นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ผู้ว่าฯ นครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมประกอบพิธีทางศาสนาในพิธีรำบูชาพระธาตุพนม ซึ่งจังหวัดนครพนม คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ร่วมจัดขึ้นในพิธีก่อนไหลเรือไฟ การรำบูชาถวายองค์พระธาตุพนมนี้เป็นประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดนครพนม ซึ่งถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเทศกาลงานสำคัญ เช่น งานเทศกาลนมัสการพระธาตุพนม หรือในวันออกพรรษาก่อนงานไหลเรือไฟ ก่อนการรำบูชานั้น ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ร่วมกันแห่เครื่องสักการบูชา ประธานในพิธี กล่าวคำบูชาไหว้พระธาตุพนม หลังจากนั้น ได้จัดชุดรำบูชาพระธาตุพนมจำนวน7ชุด คือ รำตำนานพระธาตุพนม,รำศรีโคตรบูร,รำผู้ไทย,รำหางนกยูง,รำไทยญ้อ,รำขันหมากเบ็ง,และรำเซิ้งอีสาน มีประชาชน และนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด มาเที่ยวชมประเพณีรำบูชาประธาตุพนม อย่างเนืองแน่นเสมอ

พิธีรำบูชาพระธาตุพนม ทั้ง 7 ชุดรำ เริ่มจากรำตำนานพระธาตุพนมที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนม โดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนมทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรี ซึ่งกล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนมการรำชุดนี้แสดงครั้งแรกในงานสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2522 ถือเป็นเอกลักษณ์ใช้รำเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมทุกครั้งจนถึงปัจจุบัน และได้นำมารำบูชาพระธาตุพนมในงานไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนมตั้งแต่ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา

ชุดที่ 2 รำศรีโคตรบูร ด้วยนครพนมเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโคตรบูร ที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นอาณาบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง อยู่ในที่ตั้งของจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณแขวงคำม่วนและสะหวันเขตในปัจจุบัน เป็นดินแดนแห่งการสั่งสมวัฒนธรรมอันเก่าแก่แห่งหนึ่ง รำศรีโคตรบูรถูกปรับปรุงให้เป็นชุดรำประจำจังหวัดนครพนม เพื่อแสดงให้ระลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตสืบมา บ่งบอกถึงการแสดงที่ผสมผสานกันของการรำเซิ้งที่มีความสนุกสนาน กับการรำภูไทที่มีความอ่อนช้อย สวยงาม มีลักษณะท่ารำตามแบบฉบับของชาวอีสาน คือ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง จากความกลมกลืนระหว่างท่ารำกับดนตรีพื้นเมืองอีสานที่มีเสียงไพเราะและสมบูรณ์ยิ่ง รำศรีโคตรบูรจึงถือเป็นท่ารำอีกชุดหนึ่งในการรำบูชาพระธาตุพนมในเทศกาลไหลเรือไฟทุกปี

ชุดที่ 3 รำภูไท(ผู้ไท) เป็นการฟ้อนประเพณีที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปลงเมือง การฟ้อนภูไทนี้ถือว่าเป็นศิลปะเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ประจำเผ่าของภูไทเรณูนคร ถือว่าฟ้อนภูไทเป็นการฟ้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ลักษณะการฟ้อน ชายหญิงจับคู่เป็นคู่ ๆ แล้วฟ้อนท่าต่าง ๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อนซึ่งหญิงสาวที่จะฟ้อนภูไทเรณูนครต้อนรับแขก จะได้ต้องเป็นสาวโสด ผู้ที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อน เวลาฟ้อนทั้งชายหญิงจะต้องไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญคือในขณะฟ้อนภูไทนั้น ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้

ชุดที่ 4 รำหางนกยูงถือกำเนิดมาแล้วประมาณ 100 ปีเศษ ใช้สำหรับรำบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประทานพรให้มีชัยชะและแคล้วคลาดจากภยันตรายในการเข้าแข่งขันชิงชัยต่างๆ โดยเฉพาะในการแข่งขันเรือยาวในเทศกาลออกพรรษา ปกติการรำชนิดนี้จะแสดงท่ารำบนหัวเรือแข่ง และรำถวายหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ท่ารำได้ดัดแปลงมาจากการรำไหว้ครูของนักรบก่อนออกศึกสงครามในสมัยก่อน โดยรำอาวุธตามที่ตัวเองฝึก คือรำดาบ รำกระบี่กระบองเข้าจังหวะกลองยาว

ชุดที่ 5 รำไทญ้อ เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขต อ.ท่าอุเทน,นาหว้า,และโพนสวรรค์ โดยปกติการรำไทญ้อจะพบเห็นในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลที่สำคัญเท่านั้นในเทศกาลสงกรานต์ชาวไทญ้อจะมีสรงน้ำในตอนกลางวัน โดยตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ลงมาตามลำดับ ตั้งแต่วันขึ้น1 ค่ำ เป็นต้นไป จนถึงวันเพ็ญ15 ค่ำ เดือน5 ในตอนกลางคืน หนุ่มสาวชาวบ้านจะจัดทำขบวนแห่ดอกไม้บูชาพระธาตุ โดยนำต้นดอกจำปา(ลั่นทม) ไปบูชาวัดต่างๆ เริ่มจากวัดใต้สุดไปหาวัดเหนือสุดเมื่อเสร็จพิธีแห่ดอกไม้บูชาองค์พระธาตุ จะเป็นช่วงแห่งความสนุกสนานของหนุ่มสาว จะมีการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน

ชุดที่ 6 รำขันหมากเบ็ง ซึ่งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของภาคอีสาน คำว่า “เบ็ง” มาจาก “เบญจ” หมายถึงการบูชาพระเจ้า5พระองค์ คือ กกุสันโท,โกนาคมโน,กัสสโป,โคตโม,และอริยเมตตรัยโย เล่าต่อๆกันว่าในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลนำขันหมากเบ็งถวายพระพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้ชาวอีสานโดยเฉพาะเผ่ากะเลิงใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงได้นำมาประดิษฐ์เป็นท่าฟ้อนรำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการแสดงการฟ้อนรำขันหมากเบ็งแสดงถึงพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูรได้นำขันหมากเบ็งมาถวายองค์พระธาตุพนม

สำหรับชุดที่ 7 ชุดสุดท้าย เป็นการรำเซิ้งอีสานบ้านเฮา โดยรวบรวมเอาชุดรำทั้ง6ชุดมารวมกันซึ่งเป็นการจบอย่างยิ่งใหญ่อลังการเรียกเสียงปรบมือจากนักท่องเที่ยวกึกก้อง โดยในค่ำคืนวันเดียวกัน เขตเทศบาลเมืองนครพนม เวลาตั้งแต่ 18.00 น. การไหลเรือไฟจำนวน 14 ลำ จะเริ่มลอยโชว์ในกลางสายน้ำโขง มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาคับคั่ง การจราจรเส้นทางมุ่งสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงติดขัดเป็นทางยาว แต่ไม่เป็นอุปสรรคที่ทุกคนเฝ้ารอคอยชมความงามกลางแม่น้ำโขง