เครื่องปั้นดินเผา ภูมิปัญญาชาวมอญเกาะเกร็ดที่กำลังเปลี่ยนไป

เครื่องปั้นดินเผา ภูมิปัญญาชาวมอญเกาะเกร็ดที่กำลังเปลี่ยนไป

หากพูดถึง “เกาะเกร็ด” จ.นนทบุรี สิ่งแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้น ชาวมอญ, ขนมไทยโบราณ เครื่องปั้นดินเผา และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในวันหยุดที่ไม่ไกลจากเมืองกรุงที่สามารถข้ามเรือมานั่งพักผ่อน ไหว้พระ และชมวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนมอญ

แต่ปัจจุบันนี้ชุมชมเกาะเกร็ดกลายเป็นที่ตั้งของร้านค้ามากมายที่จำหน่ายสินค้าผลิตจากโรงงาน จนชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปกลางเกาะหลายครอบครัวที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่โบราณถูกละเลยและปล่อยร้างตามกาลเวลา มีการเร่งการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเนื่องจากสินค้าขายดีติดตลาด แต่ปัญหาที่ตามมาคือสินค้าขาดคุณภาพ ขาดเอกลักษณ์ของความเป็นชาวมอญ รวมไปถึงชาวบ้านที่ทำโดนร้านค้าหรือพ่อค้าคนกลางกดราคา นายธวัชชัย เชื้อเต็ง ช่างปั้นและแกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ผู้ที่เกิดและเติบโตมากับชุมชมแห่งนี้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด 55 ปีเต็ม ถึงแม้ครอบครัวของเขาจะไม่ได้เป็นช่างปั้น แต่ด้วยความสนใจจึงได้ฝึกปั้นเองตั้งแต่ 14 ขวบ จนฝีมือพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในวัย 35 ปีที่หลายคนมองว่ามากเกินจะเรียนรู้ แต่เขาคิดว่าชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด นั่นคือจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนและก้าวเข้าสู่การเป็น “ช่างแกะสลัก” อย่างเต็มตัว

20170814182703668

เขาทุ่มเทฝึกฝน เรียนรู้ด้วยตนเอง สอบถามผู้รู้ ลองผิดลองถูก ฝึกทำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และยังคงเรียนรู้และทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผลงานที่ทำมีเอกลักษณ์ มีความแตกต่าง และพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็น การคิดค้นลวดลายแกะสลัก ความหนา-บางของดิน ส่วนผสมของกิน การทดลองเผาเพื่อให้หม้อดินมีสีแตกต่างกัน เช่น เทา, เทาดำ, การทดลองอุณหภูมิของเตาเผาเพื่อให้เครื่องปั้นออกมาดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ทำให้งานที่เขาทำใช้เวลานาน ประณีต และมีราคาค่อนข้างสูง ชิ้นละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ซึ่งเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดนั้นจะไม่มีการเคลือบน้ำยา ขอบปากภาชนะกลมกลึง ตกแต่งลวดลายที่เกิดจากการกดแม่พิมพ์หรือใช้มีดแกะสลัก “มีลูกค้าบางคนติดต่อมาซื้อกับผม ว่าอยากได้ชิ้นนี้มากยอมจ่ายหมื่นบาททันที แต่ผมไม่ขาย” นาย ธวัชชัย กล่าวพร้อมกับหยิบภาชนะดินเผาสีทองแดงออกมาให้ดู ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทดลองอุณหภูมิของเตาเผา ซึ่งเขาลองผิดลองถูกมานานกว่าจะได้สีที่ต้องการ และมีชิ้นเดียวเท่านั้น

20170814182703398

แต่ก่อนคิดจะทำเครื่องปั้นดินเผาสีดำก็โดนคนอื่นหาว่าไม่สวยหรอกหรือทำไม่ได้หรอก แต่พอทำได้มันก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาไป ซึ่งเขาได้คิดค้นเทคนิคการผสมดินที่ทำให้เผาออกมาแล้วไม่ดำด้าน มีมิติสวยงาม สำหรับ “หม้อน้ำลายวิจิตร” ที่เป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดนนทบุรีนี้ใช้เวลาแกะสลัก 7 วัน ราคาอยู่ที่ 30,000 บาท "มีคนติดต่อซื้อหม้อน้ำลายวิจิตรในราคาเพียงแค่ 10,000 บาท ซึ่งผมไม่ตกลง ถ้าผมยอมกดราคางานของเราแล้วต่อไปจะเหลืออะไรให้ลูกหลาน” เพียงแต่ในตอนนี้ชาวบ้านในชุมชนหลายรายไม่สามารถอยู่ได้จากการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เพราะขาดตลาด ขาดหน้าร้าน จึงเป็นการเปิดช่องทางให้กับพ่อค้าคนกลางและนักลงทุนเข้ามาทำกิจการ บางรายทำการตลาดแบบผูกขาดกับชาวบ้านที่มุ่งหวังกำไรจากการท่องเที่ยว ช่างปั้นและแกะสลักที่มีฝีมือต้องกลายเป็นแค่แรงงานฝีมือ โดนพ่อค้าคนกลางกดราคา นักปั้นฝีมือดีหลายคนเริ่มท้อถอยกับการพัฒนาฝีมือ บางคนเลิกกิจการไปเลยเพราะเครื่องปั้นดินเผาสำเร็จรูปจำนวนมากที่จำหน่ายอยู่ที่เกาะเกร็ดนั้นผลิตจากโรงงานที่เน้นการส่งออกในราคาต่ำ ทำให้คนปั้นที่เน้นงานประณีตแทบไม่เหลือรายได้ หรือก็ต้องยอมขายในราคาที่ต่ำมากๆ เพราะไม่มีหน้าร้าน จนงานหัตถกรรมได้แปรสภาพเป็นงานอุตสาหกรรม

20170814182701346

ความงดงามและเสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาของคนเกาะเกร็ด เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์, ลายบัวคว่ำ-บัวหงาย, ลายกนก, ประจำยาม ที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน คมชัด และมีสีเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของท้องถิ่นกำลังค่อยๆ เลือนหายไป ท่ามกลางสถานการณ์ของชุมชมเกาะเกร็ดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยว ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ในการดำรง รักษา และสร้างสรรค์งานหัตถกรรมเหล่านี้ให้คงอยู่ เพื่อไม่ให้เกาะเกร็ดเปลี่ยนไปโดยที่คนในพื้นที่ไม่ได้อะไรเลย เพราะถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป "เกาะเกร็ด” จะกลายเป็นแหล่งที่ “เคย” ผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่องลือ สินค้าท้องถิ่นที่เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่อยๆ หายไป กลายเป็นเพียงแหล่งจับจ่ายใช้สอยธรรมดาไม่ต่างอะไรจาก “ตลาดนัด” ที่พบเห็นได้ทั่วไป