‘อินทนนท์’ คนพันธุ์อึด!

‘อินทนนท์’ คนพันธุ์อึด!

บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ทรมานบันเทิง’ แม้จะดูเป็นคำทีเล่นทีจริง แต่การเผชิญหน้ากับขุนเขาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ 'ของจริง!'

บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ทรมานบันเทิง’ แม้จะดูเป็นคำทีเล่นทีจริง แต่สำหรับการต้องเผชิญหน้ากับขุนเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทยอย่างดอยอินทนนท์ ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่อยู่เหนือกว่ามนุษย์ตัวกระจิริด ทำให้ความทรมานนั้นต้องถูกขีดเส้นใต้ พอๆ กับความบันเทิงที่หลายคนได้รับอย่างไม่รู้ตัว

            เช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 ก.พ.) ที่บริเวณสามแยกอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเนรมิตเป็นพื้นที่รวมฝันของนักปั่นจักรยานทั่วประเทศ แม้ชื่อเสียงของงาน ปั่นพิชิตอินทนนท์ คนพันธุ์อึด จะเป็นไปในทางโหดหิน แต่จำนวนนักปั่นที่สมัครอย่างเป็นทางการก็เพิ่มขึ้นทุกปีๆ อย่างในปีนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 ก็คับคั่งถึง 5,000 คน หากนับรวมนักปั่นที่มาร่วมแบบไม่ได้ลงทะเบียนก็เกือบหมื่นคน!

            เบื้องหน้าคลื่นมนุษย์สองล้อเหล่านี้ คือ ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่จนเกินจะบรรยาย พวกเขารอคอยเวลาที่จะยกพลขึ้นไปต่อสู้กับอุปสรรคชิ้นโตโดยที่พวกเขามีอาวุธติดตัวไปไม่กี่อย่าง หนึ่งคือจักรยาน สองคือกำลังกาย และสามคือหัวจิตหัวใจ

            สิ้นเสียงสัญญาณปล่อยตัว คล้ายเสียงลั่นกลองรบ เหล่าทหารหาญในนามนักปั่นพากันควบสองล้อคู่ใจขึ้นไปยังยอดดอย แต่ขุนเขาก็คือขุนเขาวันยันค่ำ ใช่ว่าทุกคนจะพิชิตได้ง่ายดาย เพราะตั้งแต่ช่วงต้นทางที่เรียกกันในวงการว่า ‘เนินคัดตัว’ ก็ทำให้หลายคนต้องลงเข็นกันกว่าครึ่ง บางคนเข็นเพราะไม่ไหว และบางคนเข็นเพราะปั่นฝ่าฝูงชนไม่สะดวก แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทุกคนก็ผ่านเนินคัดตัวไปได้ ราบรื่นบ้าง ทุลักทุเลบ้าง

            เท่าที่สังเกตประชากรจักรยานทั้งหมด กว่าครึ่งคือจักรยานประเภทเสือหมอบหรือจักรยานถนน (Road bike) อีกที่เหลือก็แบ่งกันไประหว่างจักรยานเสือภูเขา (Mountain bike), จักรยานพับ (Folding bike) และประเภทอื่นๆ ซึ่งจักรยานแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียเมื่อต้องนำมาพิชิตความสูงชันแตกต่างกันไป อย่างจักรยานเสือหมอบจะได้เปรียบเรื่องน้ำหนักเบา ส่วนเสือภูเขาจะได้อัตราทดที่ดีกว่า ทว่าหลายคนก็ปรับตัวได้ดีโดยปรับแต่งจักรยานให้กลายเป็นเครื่องทุ่นแรง เช่น จับเฟืองอัตราทดแบบเสือภูเขา (เช่น 11-36, 11-40, 11-42) มาใส่รถเสือหมอบ ได้ทั้งเบารถและเบาแรง

            กลับมาที่ถนนขึ้นดอยอินทนนท์อีกครั้ง เสียงหายใจหอบ กับเสียงยางบดถนน คือเสียงหลัก ยิ่งขึ้นสูงทางยิ่งชัน จนหลายคนยอมแพ้นั่งนิ่งคล้ายคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตที่ถูกทิ้งไว้กลางทางเช่นนี้ จะขึ้นก็ไม่ไหว จะกลับลงไปก็เสี่ยงอันตรายเกิน บางคนแรงกายหมดแต่แรงใจยังมีก็เข็นบ้าง พักบ้าง อันที่จริงที่นี่ก็มีที่น่าแวะพักอยู่หลายจุดเพราะด้วยความที่เป็นผืนป่าดิบดึกดำบรรพ์จึงมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, น้ำตกแม่กลาง เป็นจุดแรกของประตูเข้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร ไหลสู่โกรกเขาเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อว่าวังน้อยและวังหลวง

            เสียงหอบและความเหนื่อยล้าค่อยๆ ทวีความรุนแรงไปพร้อมกับระยะทางและความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งสายตาเหลือบเห็นพระธาตุฯ ใช่แล้วครับ เราเห็นพระธาตุนภเมทนีดลและพระธาตุนภพลภูมิสิริ ซึ่งเป็นพระธาตุที่ทางกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมใจสร้างถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2530 และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 คล้ายว่าจะเป็นสัญญาณดี เป็นสิริมงคล เหมือนได้ขึ้นสรวงสวรรค์

            แต่ผิดคาด! นี่ไม่ใช่สวรรค์ คนที่เคยปั่นจักรยานขึ้นดอยอินทนนท์จะรู้ดีว่าเมื่อเห็นพระธาตุ นั่นคือ ‘นรก!’ เพราะเส้นทางจะยากขึ้นเป็นเท่าตัว ชันมากขึ้นจนอีกหลายคนต้องยอมแพ้

            หากกลั้นใจไปอีกหน่อย ก็จะถึงกิ่วแม่ปาน หลายคนเลือกแวะพักที่นี่ เพราะมีอาหารและห้องน้ำบริการแก่นักท่องเที่ยว ที่สำคัญที่นี่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้น เป็นวงรอบระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร วนรอบไปกลับในวันเดียว เส้นทางเข้าสู่ป่าดงดิบริมธารน้ำ เขียวขจีตลอดปี แต่สำหรับนักปั่นงานนี้คงต้องละที่เที่ยวไว้ก่อน เพราะอีกไม่ไกล พวกเขาจะได้ชื่อว่า ‘ผู้พิชิตดอยอินทนนท์’

            “อีกนิดเดียวครับ” เสียงผู้มาถึงก่อนซึ่งกำลังกลับลงสู่เชิงดอยตะโกนบอกเชิงให้กำลังใจนักปั่นที่บ้างปั่น บ้างเข็น

            พวกเขาไม่ได้โกหก เพราะระยะทางอีกแค่ไม่กี่กิโลเมตรก็จะถึงยอดดอย แต่น่าแปลกที่แต่ละเมตรค่อยๆ เคลื่อนผ่านเราไปอย่างช้าๆ (ในกรณีที่ไม่ใช่ขาแรง หรือขาไต่เขา) ผมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่ในหัวของผมคิดอยู่เสมอว่าเรามาทำอะไรที่นี่ ทำไมไม่พักอยู่บ้านหรือไปเที่ยวเล่นให้สบายกายสบายใจ แต่ทุกครั้งที่คิดมักจะจบลงด้วยคำตอบว่า เพราะผมอยากทำ อยากท้าทาย อยากมาพิสูจน์แรงกายแรงใจของตัวเอง และอยากเจอบรรยากาศที่ทุกคนคิดและทำสิ่งเดียวกันแบบนี้

            ไม่ว่าอุปสรรคจะหนักหนาจนคำถามเดิมผุดขึ้นมาซ้ำๆ แต่คำตอบที่ได้ก็ประคองผมและเกือบทุกคนมาถึงยอดดอยอินทนนท์จนได้

          หากคำว่า ‘ทรมานบันเทิง’ เป็นคำทีเล่นทีจริง การพิชิตยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศไทย คือ 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง คงเปลี่ยนความทีเล่นทีจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะที่นี่ เหนื่อยจริง โหดจริง ทรมานจริง แต่บันเทิง และมีความสุขจริงๆ