30ปี 'มหกรรมว่าวห้วยราช' และเสียงสะท้อนผู้นำชุมชน?

30ปี 'มหกรรมว่าวห้วยราช' และเสียงสะท้อนผู้นำชุมชน?

เสียงสะท้อนผู้นำชุมชน-คนจัดงาน "มหกรรมว่าวห้วยราช" ปีที่ 30 ก้าวต่ออย่างไร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

ควันหลง มหกรรมว่าวอีสาน ปีที่ 30 จัดขึ้นที่อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14-15 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ อาจจะดูเงียบๆ ไปบ้าง เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาแห่งการแสดงความอาลัย "ในหลวง รัชกาลที่9" เสด็จสวรรคต

น่าสนใจว่า กิจกรรมวันแรก (14ม.ค.) ที่สนามกีฬาอำเภอห้วยราช มีประกวดร้องเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงอาลัยพ่อ ระดับประถม และระดับมัธยม แข่งขันว่าว ทุกประเภท ช่วงเย็นมีขบวนแห่มหกรรมว่าว พิธีทำขวัญข้าว และช่วงค่ำถึงดึก จุดเทียนชัยถวายพระพรชัยชัยมงคล, ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี, พิธีวิ่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าในภาคกลางคืน การประกวดขับร้องสรภัญญะพื้นบ้าน, ชมการแสดงพื้นบ้านและการละเล่นของหมู่บ้านว่าว

ส่วนวันที่สอง (15 ม.ค.) ไฮไลท์แข่งขันการแกว่งแอก การแข่งขันว่าวแอกประดิษฐ์ยุวชน ช่วงบ่ายประกาศผลการแข่งขันว่าวทุกประเภท าและรับรางวัล, พิธีมอบรางวัล ปิดงาน

อย่างที่ทราบว่า งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ จะเกิดขึ้นช่วงต้นฤดูหนาว ระหว่างเก็บเกี่ยวข้าว จะมีการเล่นว่าวตามเป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่น ซึ่งงานจัดครั้งแรกเมื่อปี 2529 เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันชิงรางวัลกัน ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง 2 เมตรครึ่งขึ้นไป ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอก และลีลาของว่าวบนท้องฟ้า

จากการสอบถาม ร.ต.ท.รชต กุลบุตร รองสวป. สภ.ห้วยราช ให้ข้อมูลว่า ย้อนไปนับสิบปี สมัยเด็กๆ ตั้งแต่เรียนระดับมัธยมต้น ได้เคยมาเที่ยวชมงานว่าวที่ห้วยราชรู้สึกประทับใจ และโตมาจนได้มาทำงานประจำที่สภ.ห้วยราชกว่าปี4แล้ว เห็นว่าปีนี้คนร่วมงานน้อยกว่าที่ผ่านมา อาจเพราะการประชาสัมพันธ์น้อย การเตรียมการยังไม่ชัดเจนแต่แรก ว่าจะจัดงานหรือไม่จัดงาน ทำให้ภาพรวมออกมาเทียบกับปีก่อนๆ ไม่ได้ โดยบางปีที่จัดงานขึ้นนั้น เคยมีคนมาร่วมชม เชียร์ เที่ยวกันเป็นหมื่นคน

ทั้งนี้ งานว่าวก็ได้รับความร่วมมือของคนในชุมชนเป็นอย่างดี และภายในงานก็สงบเรียบร้อย แม้ขาดเรื่องประชาสัมพันธ์ก็ตาม อยากให้มีต่อไปเพราะเป็นประเพณีที่ควรสืบทอด เพื่อให้คนไทยต่างถิ่นมาเที่ยว รวมถึงชาวต่างชาติได้มาเห็นว่าวแอกของถิ่นอีสาน

หลังจากจบงานแล้ว มีวงเสวนาเล็กๆ ที่มี "ทิดเป้" อภิวัฒน์ จ่าตา ผู้ดำเนินรายงาน "รอบรั้วทั่วไทย" ช่องทีเอ็นเอ็น นำพูดกับ ศุภชัย นิธุรัมย์ ผอ.โรงเรียนวัดบ้านใหม่ ในฐานะประธานกรรมการตัดสินแข่งขันว่าว, อำนวย นพรัตน์ กำนันตำบลห้วยราช และ นพนภา มาศรักษา กำนันตำบลห้วยราชา

ผอ.ศุภชัย เล่าว่ากว่า 30 ปี ของมหกรรมว่าวอีสาน จุดเริ่มสมัยบรรพบุรุษพากันทำว่าวแอกเป็นการละเล่นในช่วยเก็บเกี่ยวข้าว มักจะมีลานข้าว ตอนเย็นจะมีลมหนาวก็พากันเล่นว่าวเฝ้าลานข้าวตามทุ่งนา จึงมีการเริ่มอนุรักษ์มีการจัดงานขึ้นและทำเรื่อยมา ซึ่งตัวเองมีส่วนรวมมาตลอดกว่า20ปีแล้ว และเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน เคยไปเห็นการแข่งขันว่าวที่ปักษ์ใต้ จังหวัดสตูล และภาคกลางก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วที่ห้วยราชจะจัดงานได้ดี มีความร่วมมือของชุมชนเป็นอย่างดี

ด้านกำนันอำนวย กล่าวเสริมว่า การเล่นว่าวเป็นการละเล่นของถิ่นแถบนี้มานานแล้ว และรู้สึกภูมิใจที่ทุกชุมชนในห้วยราชมีความร่วมมือให้งานได้เกิดขึ้น เพราะเป็นกิจกรรมสามัคคี และเป็นการรักษาศิลปะวัฒนธรรมอีสานใต้ไว้ด้วย

ส่วนกำนันหญิง-นพนภา มองว่า การจัดกิจกรรมเหมือนเป็นรักษาวิถีของปู่ยาตายายที่ได้ทำไว้จนเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำว่าวแอก หรือว่าวโบราณ และว่าวพัฒนาคือตกแต่งดัดแปลงให้สวยงามและมีสีสัน เพื่อดึงดูดผู้คนเป็นแหล่งท่องเที่ยว และให้ชาวโลกได้เห็นว่าวอีสานของห้วยราช เป็นที่รู้จักในแบบเทศกาลประจำปีที่ไม่ควรพลาด

กล่าวคือ ผู้นำชุมชนเห็นตรงกันว่า ปีนี้ขาดการประชาสัมพันธ์ และอยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนุบสนุนด้านงบประมาณ เพื่อให้คนชุมชนของห้วยราชได้สร้างมหกรรมว่าวที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้คนที่มาเที่ยวชมประทับใจและพูดต่อจนเดินทางมาเที่ยว

ทั้งนี้ ความเห็นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา สาคร จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ได้ลงพื้นที่พร้อมสังเกตการมหกรรมว่าวห้วยราช ซึ่งสนใจประเด็นเรื่องการใช้ว่าว "แคลนแมะโกน" ภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า "ว่าวแม่ลูก" ในการสร้างวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น และเป็นอัตลักษณ์นั้น ซึ่งน่าศึกษาว่า มีปัญหาหรือข้อมูลอะไรบ้าง อาจเป็นปัจจัยให้แคลนแมะโกนในห้วยราชเสื่อมถอย หรือก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ และอย่างไร

ปิดท้ายการสนทนาพูดคุย ดูเหมือนทุกฝ่ายต่างอยากให้มหกรรมว่าวอีสานที่ห้วยราชมีความเข้มแข็งและยั่งยืน ท่ามกลางความเห็นร่วมกันของภาครัฐและชุมชนที่ต้องการให้มหกรรมว่าวแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะเดินต่ออย่างไร มีองค์ความรู้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และอย่าปล่อยให้30ปีที่จัดมาอย่างดีแล้ว เสื่อมถอยปล่อยให้เป็นตำนานที่ไร้ชีวิตไปในที่สุด!!