วิวัฒนาการของดิสนีย์ : เมื่อเจ้าชายตกกระป๋อง

วิวัฒนาการของดิสนีย์ : เมื่อเจ้าชายตกกระป๋อง

โมอาน่า ประกาศชัดเจนแจ่มแจ้ง หลายครั้งในแอนิเมชั่นล่าสุดของดิสนีย์ว่า “ฉันคือโมอาน่าแห่งโมทูนุย” เหมือนจะบอกว่า "ยุคเจ้าชายฮีโร่ จบแล้ว"

“ฉันคือโมอาน่าแห่งโมทูนุย”

ไม่มีคำไหนที่บ่งบอกถึงสถานะ “เจ้าหญิง” ในอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดรับลมหนาวของดิสนีย์  ไม่มีคำไหนที่พูดถึงเจ้าชายรูปงามที่พร้อมจะขี่ม้าขาวมาช่วย แต่ “โมอาน่า” อนิเมชั่นดิสนีย์ในปี 2016 นี้ได้พูดถึงฮีโร่ในร่างของเด็กผู้หญิงผมหยักศกตัวเล็กๆที่เป็นลูกสาวหัวหน้าเผ่า ณ เกาะโมทูนุยแห่งโพลีนีเซีย

 เจ้าหญิงยุคใหม่ ?

 เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เจ้าหญิงของดีสย์ จะสังเกตได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนาการของเจ้าหญิงหรือ “ฮีโร่” ที่เป็นผู้หญิงในด้านที่แปลกใหม่ ต่างจากเจ้าหญิงแบบฉบับคลาสสิคของดิสนีย์อย่างสโนไวท์ (1937) ซินเดอเรลล่า (1950) หรือเจ้าหญิงนิทรา (1959) ที่พูดถึงเรื่องราวเจ้าหญิงแสนสวยที่พยายามหนีชะตากรรมชีวิตบางอย่างและจบลงด้วยเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยในตอนสุดท้ายซึ่งเรื่องราว “เจ้าชายช่วยเจ้าหญิง” นั้นเปรียบได้เหมือนขนบเจ้าหญิงตามแบบฉบับของดิสนีย์ที่จะเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมาถึงสถานะที่ไม่เท่าเทียมของผู้หญิงและผู้ชาย

 อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงในยุคคลาสสิคที่ดิสนีย์เอามาดัดแปลงจากต้นฉบับนิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สันในเวลา 30 ปีต่อมานับจากเปิดตัวเรื่องเจ้าหญิงนิทราก็ได้เร่ิมแหวกขนบของเจ้าหญิงทีละน้อย เช่นในเรื่อง “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” ที่สร้างขึ้นและฉายครั้งแรกในปี 1991 เรื่องราวและการผูกปมในเรื่องดูเหมือนจะเป็นการสลับบทบาทของเจ้าหญิงกับเจ้าชายจากเมื่อ 30 ปีก่อน เจ้าชายไม่ได้เป็นฝ่ายช่วยเจ้าหญิงเสมอไป และ “เบลล์” ซึ่งเป็นฮีโร่หญิงนี้ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นแบบฉบับเจ้าหญิงเสียด้วยซ้ำ แต่โฉมงามกับเจ้าชายอสูรนี้ในนำเสนอเรื่องราวของสาวชาวบ้านที่บ้าหนังสือและการรักการอ่านของเธอนั้นทำให้คน

ในหมู่บ้านคิดว่าเธอ “แปลก” แต่ด้วยความชาญฉลาดของเธอก็ได้ปลดปล่อยเจ้าชายอสูรให้พ้นจากมนต์สะกดในการถูกจองจำในร่างอันน่าสยดสยองนี้ โฉมงามกับเจ้าชายอสูรไม่ได้สะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่ที่

เจ้าชายต้องมาช่วยเจ้าหญิงแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและได้เห็นถึงจุดบกพร่องที่

มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน สิ่งที่น่าติดตามคือ “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” ฉบับคนแสดงที่ดิสนีย์ได้นำมาทำใหม่

และจะฉายในปี 2017 ที่จะถึงนี้จะนำเสนอเรื่องราวที่ต่างจากเรื่องต้นฉบับอย่างไร โดยนักแสดงที่ได้รับบทเป็น “เบลล์” คือเอมม่า วัตสันผู้ได้รับการขนานนามว่า

เป็นเฟมินิสต์แห่งวงการบันเทิงนี้จะนำตัวละครเบลล์แหวกขนบไปได้แค่ไหน โฉมงามกับเจ้าชายอสูรฉบับนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในวงการเจ้าหญิงดิสนีย์ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตามองของปี 2017 ที่กำลังจะถึงเจ้าหญิงดิสนีย์ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆจนถึงปี 2009 ที่ดิสนีย์ได้สร้างเจ้าหญิงแบบฉบับใหม่จาก “Princess and the frog” ให้ผู้ชมเข้ามารู้จัก “เทียน่า” ตัวเอกของเรื่องไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหญิงแต่อย่างใดแต่กลับเป็นสาวชาวบ้านย่านนิวออลีนส์ที่มีความฝันอยากจะเป็นเจ้าของภัตตาคาร และเจ้าชายที่ควรจะเป็นหนุ่มรูปงามกลับเป็นกบทะเล้นที่หลงตัวเอง 3 ปีต่อมาดิสนีย์ได้สร้างเจ้าหญิงเมริด้าจากเรื่อง “Brave” ขึ้นมาซึ่งภายในเรื่องไม่ได้มีเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าหญิงเจ้าชายแต่อย่างใด แต่เต็มไปด้วยความกล้าหาญและความพยายามของเจ้าหญิงผมหยิกสีแดงตัวน้อยกับเรื่องราวความรักแบบครอบครัวระหว่างเธอกับแม่ การเปลี่ยนแปลงของเจ้าหญิงดิสนีย์ไม่ได้มีเพียงความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวที่

ไม่ต้องพึ่งเจ้าชายมาช่วยเพียงเท่านั้น แต่รูปลักษณ์ยังมีความหลากหลายมากขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่เจ้าหญิงผิวขาวผมทอง เช่น เทียน่ามีผิวสีเข้ม และเมริด้ามีผมสีแดงและหยิกฟูฟ่อง

เจ้าชายอกหัก ?

ตั้งแต่เรื่อง “Brave” นำมาฉายขึ้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของดิสนีย์ที่ไม่ได้นำเรื่องราวความรักชายหญิงมาเป็นประเด็นสำคัญในเรื่อง แต่ได้เน้นความรักของครอบครัวมากขึ้นดังที่ด้กล่าวไปเรื่องความรักระหว่างแม่กับลูกของเจ้าหญิงเมริด้า ในปี 2013 อนิเมชั่นตระกูลเจ้าหญิงดิสนีย์ที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากและจะขาดไปไม่ได้คือ “Frozen” กับเจ้าหญิงแอนน่าและราชินีเอลซ่าที่ทำให้วงการเจ้าหญิงของดิสนีย์พัฒนามากขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับเรื่อง “Brave” ประเด็นความรักหญิงชายดูจะไม่สำคัญเท่าความรักครอบครัวซึ่งในเรื่องนี้ได้นำเสนอผ่านสายสัมพันธ์ของสองพี่น้องเอลซ่าและอันนา เอลซ่าที่เป็นราชินีแห่งแอลเรนเดลกลับไม่ได้เป็นราชินีที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นเจ้าหญิงที่มีปัญหาในเรื่องสภาพจิตใจและเป็นคนเก็บกดมาก่อนเนื่องจากถูกเลี้ยงดูมาให้เก็บพลังของตนเองไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมา แต่ด้วยความรักและสายสัมพันธ์ของพี่น้องทำให้ผ่านอุปสรรคนั้นไปได้โดยที่ไม่ได้มีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยในตอนจบ เจ้าหญิงดิสนีย์ได้เปลี่ยนแปลงจากการรอเจ้าชายมาจุมพิตรักแท้ มาเป็นใช้พลังและความสามารถของตนเองผ่านอุปสรรคมาได้โดยไม่ต้องพึ่งเจ้าชายอีกต่อไป

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดิสนีย์พยายามสร้างหนังที่สะท้อนประเด็นทางสังคมมากขึ้นและลด

เรื่องราวความรักลงไป หนึ่งในเรื่องที่ดูจะสะท้อนสังคมมากที่สุดคือ “Zootopia” ที่เล่าประเด็นเรื่องความแตกต่างและความเท่าเทียม โดยนำเสนอให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ทีไหนแต่สิ่งมีชีวิตก็ย่อมมีความแตกต่างเป็นธรรมดา แต่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้ความแตกต่างไม่สร้างความไม่เท่าเทียมให้กันและกัน

MOANA, The New Princess

มาถึงโมอาน่า เจ้าหญิงยุคใหม่แห่งปี 2016 เรื่องรวในเรื่องได้ดำเนินไปตามรอยพัฒนาการของเจ้าหญิงดิสนีย์และประเด็นของเรื่องที่ไม่ได้เน้นในเรื่องความรักหญิงชาย แล้วโมอาน่าได้อิทธิพลในประเด็นเจ้าหญิงยุคใหม่อย่างไรและจากอนิเมชั่นตระกูลเจ้าหญิงดิสนีย์นี้จะทำให้เรื่องราวของเจ้าหญิงในอนาคตเป็นไปในทิศทางใด

  1. เราจะเห็นได้ถึงความ “ทันสมัย” ของผู้คนในเกาะโมทูนุย จะเห็นได้ว่าชาวบ้านในเกาะหรือแม้แต่พ่อของโมอาน่าเองไม่คัดค้านที่จะมีหัวหน้าเกาะคนต่อไปเป็นผู้หญิง แต่การเลือกผู้ปกครองนั้นจะเลือกจาก“ความสามารถ” ไม่ใช่จากเพศสภาพของบุคคลนั้นๆ

  2. ประเด็นสำคัญในเรื่องเป็นการ “ค้นหาตัวตน” ไม่ว่าจะเป็นโมอาน่า มาวอิ เทพเทฟิติหรือชนเผ่าในเกาะ โมอาน่าพยายามค้นหาว่าตนเองเป็นใคร บรรพบุรุษของเธอเป็นอย่างไร เธอไม่ได้เป็นเพียงแค่ลูกสาวของหัวหน้าเผ่า แต่สิ่งที่สำคัญคือเธอต้องหาให้ได้ว่าอะไรคือตัวตนที่แท้จริงของเธอที่ทำให้ โมอาน่าเป็นเด็กสาวผู้ถูกเลือกโดยท้องทะเล เธอไ่ได้มีพลังพิเศษ แต่ความพิเศษของเธออยู่ที่การขวนขายความรู้ เพิ่มพูนความสามารถของตัวเองและก้าวเป็นหัวหน้าเผ่าที่เหมาะสมโดยไม่ได้รับตำแหน่งเพียงเพราะเป็นลูกสาวหัวหน้าเผ่าที่สืบทอดตำแน่งจากบิดา

  3. มาวอิ แม้จะเป็นครึ่งคนครึ่งเทพแต่สุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงแค่ชายคนหนึ่งที่ติดเกาะร้างเมื่อไร้ซึ่งพลังที่ได้มาจากเทพ อีกทั้งยังหลงตัวเองและคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แม้จะตัวสูงใหญ่แต่เมื่อไร้อาวุธ มาวอิก็เป็นเพียงชายธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วมาวอิเองก็หลงลืมตัวตนและพลังที่มาจากตัวเองจะเห็นว่าดิสนีย์ลดบทบาทของเจ้าชายหรือผู้ชายที่ดูมีพละกำลังกล้าแกร่งลงและแสดงให้เห็นความเปราะบางของตัวละครไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม แต่เน้นไปที่ตัวตนของแต่ละตัวละครที่จะรู้จักตนเองและก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆไป

  4. เช่นเดียวกับหลายๆเรื่องของดีสนีย์ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องราวความรักดูจะได้ได้รับการลดบทบาทลงไปและเน้นไม่ที่ความสามารถเฉพาะบุคคลของเจ้าหญิงหรือฮีโร่หญิงแต่ละคนแทน ตัวละครชายที่มาคู่ฮีโร่ของเราอย่างมาวอิ ก็ไม่จำเป็นต้องมีสถานะเป็นเจ้าชายและมีบทบาทเป็น “คู่รัก” เสมอไป แต่อาจจะเป็นคู่หูที่ช่วยกันพยายามพาเพื่อนพ้องผ่านอุปสรรคต่างๆเพียงเท่านั้น

 เจ้าหญิงในอนาคต ?

การเปลี่ยนแปลงของเจ้าหญิงดิสนีย์ในช่วงหลายปีมานี้ทำให้มีการคาดเดาและวิเคราะห์ไปต่างๆนานาว่าเจ้าหญิงในอนาคตจะเป็นไปในทางใด แน่นอนดิสนีย์ได้ผลักดันบทบาทของผู้หญิงให้เห็นถึงความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้นและเห็นถึงความหลากหลายมากขึ้นทำให้เจ้าหญิงไม่จำเป็นต้องผิวขาวเท่านั้น เช่น โมอาน่าเป็นชาวโพลีนีเซียในหมู่เกาะแถบแปซิฟิกใต้ และเทียน่าเป็นสาวผิวคล้ำในย่านนิวออนลีนส์

การลดบทบาทผู้ชายและเรื่องราวความรักระหว่างชายหญิงลงก็เป็นที่น่าจับตามองว่าดิสนีย์จะพัฒนาบทบาทของเจ้าหญิงไปได้ไกลเท่าใด นักวิเคราะห์บางกลุ่มได้ตั้งทฤษฎีว่าความรักระหว่างแอนนาและเอลซ่าว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรักร่วมเพศหรือ LGBT ของดิสนีย์หรือไม่ ในขณะที่ก็มีบางกลุ่มคัดค้าน แต่การถกเถียงนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ทำให้เราต้องจับตามองต่อไปว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ดิสนีย์จะพาเจ้าหญิงไปไกลถึงขนาดเปิดประเด็นทางสังคมอย่าง LGBT

การนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมและการค้นหาตัวเองยังเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวของดิสนีย์เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า “เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี” จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ความน่ารักแบบเด็ก แต่ภายในเรื่องกลับแฝงสิ่งสำคัญแบบผู้ใหญ่ที่จะให้คนดูกลับไปคิดข้ามคืนได้เลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความคาดหวังของผู้ชมที่มาดูเรื่องราวของดิสนีย์ในแต่ละเรื่องนั้นได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปีพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่แปลกใหม่ที่เพิ่มขึ้นของเหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์ในแต่ละยุค