Six Scence @ ทะเลน้อย

Six Scence @ ทะเลน้อย

ทะเลน้อย...ปลายทางที่แม้ไม่เคยฝันก็ควรหาโอกาสไปสักครั้ง

         ได้ยินชื่อเสียงมานานว่าเป็นทะเลบัวแดงที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง และยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนกหลากหลายสายพันธุ์ ในวันที่ได้มาเห็นด้วยตาบอกได้เลยว่า ทะเลน้อย คือปลายทางที่แม้ไม่เคยฝันก็ควรหาโอกาสไปสักครั้ง 

          ชื่อ “ทะเลน้อย” ก็จริง แต่ทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้กว้างใหญ่ไพศาลกินพื้นที่ตำบลนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาด้วยคลองนางเรียมยาว 2 กิโลเมตร 

          ทะเลน้อยเป็นเขตห้ามล่าสัตว์แห่งแรกของไทย แต่โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

          ความสมบูรณ์สวยงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตรอบๆ ทะเลน้อยคือเสน่ห์ที่ไม่เคยจางหาย เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้ใครต่อใครเดินทางมาที่นี่ และเมื่อมาถึงแล้ว  มี 6 สิ่งที่ไม่ควรพลาด ‘ชม’ และ ‘แช๊ะ’  พร้อมเก็บความทรงจำดีๆ กลับไปเป็นพลังสำรองเพิ่งความมีชีวิตชีวาให้กับตัวเอง

  1. ยอยักษ์คลองปากประ

          ภาพแสงเงาเส้นสายของยอยักษ์ยามต้องแสงทองของดวงอาทิตย์ คือฉากประทับใจที่ใครต่อใครยกให้เป็นซีนขายของ “ทะเลน้อย” ในช่วงหลังๆ ซึ่งถ้าต้องการสัมผัสความงามอันน่ามหัศจรรย์นี้ต้องใช้ความพยายามประมาณหนึ่ง นั่นคือต้องตื่นก่อนตะวันเพื่อมารอแสงแรกที่สะพานปากประ เนื่องจากเป็นจุดที่จะเห็นทั้งยอยักษ์เรียงรายไปตามคุ้งน้ำ และเรือประมงของชาวบ้านที่เริ่มออกทะเลกันตั้งแต่เช้าตรู่

          ด้วยความที่ทะลน้อยมีระบบนิเวศหลากหลายจึงเป็นแหล่งอาศัยของปลาน้อยใหญ่  ทุกๆ คืนชาวประมงจะมาวางเบ็ดราว และอุปกรณ์การประมงอื่นๆ รวมทั้งยอ เพื่อขอแบ่งปันอาหารจากธรรมชาติ เครื่องมือประมงและชาวประมงเป็นเสน่ห์ของทะเลน้อย โดยมีคลองปากประเป็นโลเกชั่นที่ถ่ายทอดชีวิตจริงได้อย่างงดงาม

          คลองโบราณนี้คือพื้นที่ทำการประมงที่มียอเป็นเครื่องมือหลัก ยอขนาดใหญ่สร้างจากไม้ท้องถิ่นโดยชาวประมงที่มีความชำนาญ ซึ่งจะต้องมีการคำนวณอย่างแม่นยำให้ยอสามารถโน้มลงไปแตะผิวน้ำได้ไม่ว่าน้ำจะลงต่ำมากเพียงใด โดยทั่วไปยอจะถูกสร้างขึ้นริมตลิ่งให้ปลายด้านหนึ่งใช้จับสัตว์น้ำส่วนอีกด้านเป็นฝั่งบันไดชี้ขึ้น ตรงกลางของยอเป็นจุดหมุน หากจะยกยอขึ้นก็ใช้วิธีค่อยๆ เอนลงจนส่วนโค้งนั้นสัมผัสพื้น ด้านที่เป็นยอจะถูกยกสูงขึ้นแล้วใช้เชือกที่ติดไว้ตรงกลางยอค่อยๆ ดึงก้นยอ จากนั้นใช้กระชอนด้ามยาวตักสัตว์น้ำออกมา ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

          ยอยักษ์ ไม่เพียงสะท้อนความผูกพันกับสายน้ำของชาวทะเลน้อย แต่ยังกลายเป็นงานศิลปะกลางทะเลที่นักเดินทางหลายคนดั้นด้นมาชม เพราะนอกจากเส้นสายที่ถูกขับเน้นด้วยแสง เส้นแสงที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวัน ให้ภาพความประทับใจที่ไม่เคยซ้ำกันเลย

           

  1. ทะเลบัวสายแสนสวย

          เอ่ยชื่อ “ทะเลน้อย” ภาพที่ลอยผ่านหน้ามาทันทีก็คือ “ทะเลบัวแดง” หรือ “บัวสาย” ที่ใช้โปรโมทการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเมื่อถึงทะเลน้อยแล้ว การล่องเรือชมบัวในยามเช้า (ย้ำว่า“ห้ามสาย” ) คือกิจกรรมต้องห้ามพลาด ซีนบัวแดงชูช่อรับแสงตะวันบนผืนน้ำกว้างเป็นช็อตมหานิยมมาเนิ่นนาน ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการชมทุ่งดอกบัวคือตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธุ์ -เมษายน ถ้าก่อนหรือหลังจากนี้บัวจะเริ่มเหลือน้อยหร่อยหรอไปตามกาล บัวสายนี้เป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองที่แพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย ก้านใบสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ต้มกระทิ ผัดน้ำมัน หรือ ต้มจิ้มน้ำพริก ส่วนพืชพันธุ์อื่นๆ ที่จะได้ชมเป็นของแถม ก็ได้แก่ ผักตบชวา จอก แหน สาหร่ายต่างๆ รวมไปถึง กก กง ย่านลิเภา และกระจูด ซึ่งอย่างหลังชาวบ้านนำไปทำเป็นสินค้าที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเป็นของฝากด้วย  

  1. นกน้อยในบึงบัว

          ชมดอกไม้แล้วใยจะไม่ชมนก ในดงบัวสายสิ่งมีชีวิตที่อวดโฉมท้าทายความไวชัตเตอร์ นั่นก็คือนกน้อยนานาพันธุ์ โดยเฉพาะ นกยางกรอก นกอัญชันคิ้วขาว นกพริก หรือ นกอีแจว ที่มักจะเดินหากินอยู่บนใบบัวแบบเพลินๆ ซีนนี้ต้องอาศัยฝีมือกันสักนิดแต่ใครที่ได้ภาพสวยๆ ติดกล้องกลับมาอวดเพื่อน รับรองว่าเล่ากันสามวันไม่จบเลยทีเดียว 

          ว่ากันว่านกที่ทะเลน้อยมีให้ชมกว่า 287 ชนิด ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกอีโก้ นกระยาง นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกนางนวล นกกระเด็น นกกระสาแดง ฯลฯ ซึ่งนกจะชุกชุมมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยนกที่พบบ่อยในทะเลน้อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว (Whitewinged Tern) และ นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered Tern) ส่วนนกเป็ดน้ำนั้นมักจะโฉบไปโฉบมา ถ้าอยากเก็บไว้ในภาพถ่ายให้เล็งไปแถวๆ ดงกระจูดหนูที่ไม่หนาแน่น หรือตามดงบัวสาย ส่วนใครไม่ใช่สายตรงเรื่องนก นั่งชมลีลาของนกแต่ละชนิดก็เพลินตาเพลินใจดี

 

  1. ดำผุดดำว่ายควายน้ำ

          ถ้าชอบของใหญ่ ดำ ล่ำ นิ่ง ต้องสัตว์สี่เท้าคู่สังคมชาวนาไทยมายาวนานอย่างควาย แต่ควายที่นี่ไม่ธรรมดาเพราะอาศัยอยู่ใกล้น้ำจึงช่ำชองในการว่ายน้ำไปหาอาหาร จนได้ชื่อว่าเป็น “ควายน้ำ” 

          หลายคนอาจเคยเห็นภาพฝูงควายลอยคอในกอบัว นั่นแหละ...ควายน้ำแห่งทะเลน้อย ที่จริงพวกมันก็คือควายธรรมดาสามัญของชาวบ้านแถบนี้ซึ่งถูกเลี้ยงในพื้นที่ทะเลน้อยมานานกว่า 100 ปี โดยการปล่อยให้ออกไปกินหญ้าเองตามทุ่งขนาดใหญ่เหมือนชาวบ้านในพื้นที่อื่น ต่างกันก็ตรงที่สภาพแวดล้อมบริเวณนี้ ในยามที่น้ำในทะเลสาบลดต่ำไปจนถึงแห้งขอด ควายจะและเล็มกินหญ้าบนสันดอนที่โผล่ขึ้นมา แต่พอถึงหน้าน้ำหลาก ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งหากินต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำเป็นเวลาถึง 5 เดือน พวกมันจึงต้องว่ายน้ำเป็นระยะทางไกล เพื่อดำน้ำลงไปกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำ 

          บางตัวสามารถดำน้ำได้นาน ด้วยวิธีมุดหัวลงน้ำเท้าหลังชี้ขึ้นฟ้ากินหญ้าน้ำได้คราวละหลายนาที แต่ถ้าเป็นพวกลูกควายตัวเล็กๆ จะดำน้ำลงไปทั้งตัว ความน่ารักก็คือ พวกมันมักจะพร้อมใจกันลงไปลอยคอหาอาหารกินในน้ำกันเป็นฝูง ใครเห็นก็อดแช๊ะภาพไม่ได้ กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของทะเลน้อย ทว่า การล่องเรือชมควายน้ำนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา โดยในช่วงน้ำหลากประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธุ์ จะสามารถพบเห็นควายออกหากินในน้ำหรือ “ควายน้ำ” ที่ชาวบ้านเรียกขานได้มากที่สุด

  1. สะพานไม้สายชิลล์

          อีกหนึ่งทางเลือกของคนที่อยากชมทิวทัศน์ทะเลน้อยโดยไม่ต้องลงเรือ สะพานไม้รอบที่ทำการอุทยานนกน้ำทะเลน้อยคือคำตอบ สิ่งที่น่าสนใจตามเส้นทางเดินเท้านี้ นอกจากบัวสายสีสวย ก็ได้แก่ นกชนิดต่างๆ เช่น นกอีโก้ง นกพริก นกอีล้ำ นกยางควาย ฯลฯ และที่ไม่ควรมองผ่านไปเฉยๆ ก็คือ “ต้นกระจูด” ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป ต้นไม้ชนิดนี้ชาวบ้านแถวทะเลน้อยนิยมมาทำเป็นงานหัตถกรรมขายเป็นของที่ระลึก จึงได้มีการนำมาปลูกแสดงไว้ใกล้ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ชมลักษณะดั้งเดิมของต้นกระจูด ก่อนนำไปผ่านขบวนการผลิต 

          ระหว่างทางที่เดินผ่านไปตามเสาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสาไม้หรือเสาปูน หากสังเกตดูดีๆ จะว่าเห็นวัตถุก้อนสีขาวหรือก้อนสีชมพูบนกอผักตบชวาหรือพืชน้ำที่ถูกกันไว้ นั่นคือ แหล่งสร้างรังวางไข่ของนกน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น และยังเป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย 

          ที่นี่นอกจากจะเดินทอดน่องชมนกชมไม้ได้ชิลล์ๆ แล้ว สะพานไม้ที่รายล้อมด้วยดอกบัวและบางจังหวะอาจมีนกน้ำโฉบมาให้เห็นยังเป็นฉากสวยๆ ที่ไม่ต้องลงแรงมากมายอะไร

  1. แสงสุดท้าย ณ สะพานยาวที่สุด

          ใครมีโอกาสนั่งเรือชมทะเลน้อย จะต้องสะดุดตากับสะพานที่ทอดยาวกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งก็คือสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่ได้รับการกล่าวขานว่ายาวที่สุดในประเทศไทย สะพานนี้เป็นส่วนฃหนึ่งของเส้นทางเชื่อมจากอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไปยังอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ข้ามผ่านทะเลน้อยอันงดงาม ทำให้เมื่อมองมาจากบนสะพานจะเห็นทัศนียภาพของผืนน้ำและผืนหญ้าตลอดจนเกาะแก่งต่างๆ กว้างไกลสุดสายตา ยิ่งถ้าได้มาชมในช่วงอาทิตย์อัสดงความงดงามจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในทางกลับกันเมื่อมองจากทะเลน้อยไปยังสะพานก็จะได้พบกับภาพที่สวยงามแปลกตา ถือเป็นอีกหนึ่งมุมที่มีเฉพาะทะเลบัวแดงแห่งนี้เท่านั้น