พิพิธภัณฑ์ไทดำ แหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมของ'ลาวโซ่ง'

พิพิธภัณฑ์ไทดำ แหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมของ'ลาวโซ่ง'

พิพิธภัณฑ์ไทดำบ้านนาป่าหนาดจ.เลย เกิดจากความคิดว่าเรามันไม่เหมือนใคร ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เริ่มล้มหายตายจากไป แล้วจะเหลืออะไรให้ลูกหลานได้ศึกษา

บนถนนของทางหลวงชนบทที่ 3011 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 11-13 ที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีหมู่บ้านเล็กๆ หมู่บ้านหนึ่งที่มีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 900 คน 300 ครอบครัว ซึ่งประชากรทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวไทดำที่อพยพหนีภัยสงครามจากดินแดนของบรรพบุรษ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่แทบทั้งสิ้น หมู่บ้านแห่งนี้คือบ้านนาป่าหนาด ซึ่งหลายปีมานี้หลายคนเริ่มรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี หลังจากที่ชาวไทดำที่นี่ได้ร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำบ้านนาป่าหนาดขึ้น ในราวปี พ.ศ.2555 เพื่อเป็นแหล่งสืบสาน อนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำดั่งเดิมให้คงอยู่

เพชรตะบอง ไพศูนย์ ประธานพิพิธภัณฑ์ไทดำบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนและเพื่อนบ้านอีก 4 คน ได้พาพี่น้องชาวบ้านนาป่าหนาดจัดทำศูนย์วัฒนธรรมไทดำขึ้นในหมู่บ้าน ในปี พ.ศ.2539 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของไทดำ เมื่อสร้างเสร็จได้ให้พี่น้องชาวไทดำช่วยกันดูแล ขณะนั้นตนเองก็เกษียณอายุราชการด้วย ก็เลยอาศัยว่าตนมีโอกาสได้เรียนหนังสือมาเยอะกว่าคนอื่นๆ ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน อย่างไร

"เราไม่รู้ว่าเราเติบโตขึ้นมาได้อย่างไรเราไม่รู้ว่าทำไมเราถึงไม่เหมือนชาวบ้านแถวนี้ ในหลายๆเรื่อง จึงเริ่มค้นคว้าหาตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหน กระทั้งได้รู้ว่าเราเป็นไทดำ เพราะมันมีอะไรที่ไม่เหมือนกับผู้คนที่อยู่รอบๆ เรา เช่น ภาษา ความเชื่อ ลักษณะบ้านเรือนอาหารการกินรวมถึงวัฒนธรรม"เพชรตะบอง บอก

เพชรตะบอง เล่าต่อว่า ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำบ้านนาป่าหนาด ในปี พ.ศ.2555 เมื่อทำเสร็จชาวบ้านก็เกิดมีความเชื่อมั่นกว่าครั้งที่ทำศูนย์วัฒนธรรมไทดำ เพราะที่นั้นเป็นของส่วนรวม เราไปก้าวก่ายไปอะไรมากไม่ได้ แต่ตรงนี้เราทำได้อิสระ เรามีรูปแบบของเราอยู่แล้ว อดีตของเราเป็นยังไงเราก็ศึกษาและถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา โดยการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้นเริ่มต้นจากความคิดที่ว่าเรามันไม่เหมือนใคร ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เริ่มล้มหายตายจากไป แล้วจะเหลืออะไรให้ลูกหลานได้ศึกษา เราในฐานะคนที่เป็นลูกหลานก็ดูอยู่ว่าจะมีคนที่จะมีความสามารถที่จะกล้าหาญพาทำได้หรือไม่ ก็ยังไม่มีวี่แวว ประกอบกับเราเองก็เริ่มอายุมากขึ้นแล้วก็เลยก็ตัดสินใจว่า เอ้า!ทำ!ก็เลยเป็นตัวหลักในการทำเรื่องนี้โดยมีชาวบ้านช่วยกันออกค่าใช้จ่ายจัดซื้อวัสดุ ส่วนแรงงานในการก่อสร้างมาจากชาวบ้านช่วยเหลือกัน

"พิพิธภัณฑ์นี้บังเอิญว่าพ่อแม่เรามีของเก่าแก่โบราณหลายอย่าง จะเอาไปทิ้งก็เสียดาย เราเลยทำเป็นพิพิธพันธ์ เรามีที่ดินอยู่นิดนึงเราก็ทำบ้านหลังนี้เป็นเรือนเก่าที่พ่อแม่เราทิ้งไว้ให้ รวมทั้งยุ้งข้าว จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ เริ่มสร้างหลังแรกในปี พ.ศ.2555เราไม่มีงบประมาณอะไรมากแต่เราก็ค่อยๆทำมา ก็น่าคิดและแปลกอยู่เหมือนกัน เพราะวันที่เราเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์วันนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก ยุ้งข้าวใหญ่พอตั้งเสาเสร็จฝนกระหน่ำแรงมาก จนหลังคาถูกแรงลมยกลงมาอยู่ข้างล่างเฉยเลย"เพชรตะบอง เล่าให้ฟัง

เพชรตะบอง บอกว่าการสร้างพิพิธภัณธ์ไทดำบ้านาป่าหนาด ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ1) เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาของไทยดำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน2)เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าประวัติ เรื่องราว และภาษาไทดำ3) เป็นแหล่งสร้างจิตสำนึกให้กับชาวไทดำให้เห็นคุณค่าวัฒนธรรมของตน และ4) เป็นแหล่งสืบสานอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิม 

โดยภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะประกอบไปด้วยหลายส่วน เช่น บ้านไม้ทรงไทดำ ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นแบบเฉพาะของตน ใช้วัสดุง่ายๆ ในท้องถิ่น หลังคาและปีกนก หัวท้ายบ้านลากยาวมาเสมอกัน หลังคาบ้านมีลักษณะโค้งเป็นกระโจม ขณะที่ยอดจั่วบนหลังคาบ้านมีการประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควาย หรือเขากวางไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งแบ่งตามฐานะและตระกูล เช่น ขอกุดจิม ขอกุดบัว ขอกุดหม้าย เป็นต้น ส่วนใต้ถุนบ้านจะสูงโล่งกว้าง ใช้เก็บสิ่งของเครื่องใช้ บันไดบ้านจะทอด ขึ้น-ลง สองทาง คือด้านกว้านสำหรับผู้ชาย กับด้านชานสำหรับผู้หญิง ภายในตัวบ้านเปิดโล่ง และจะมีการจัดแบ่งเป็นส่วนบรรพบุรุษ พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว

"นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาที่นี่เขาจะสนุก มีความสุข เราจะเปิดเพลงลำแคนต้อนรับ เขาก็จะฟ้อนตั้งแต่ลงมาจากบนรถ 400-500 คน แล้วก็รำวงไทดำ แซไทดำ ถ้านักท่องเที่ยวมาที่นี่อยากดูการแสดงเขาก็จะแจ้งเรามาก่อน เราก็จะได้เตรียมการแสดงไว้ บางคนอยากขึ้นไปดูบนบ้านก็ขึ้นไปได้ผู้ชายขึ้นฝั่งกว้าน ผู้หญิงขึ้นฝั่งชาน เราจะแบ่งชัดเจน เพราะผู้ชายกับผู้หญิงจะไม่ใช้บันไดร่วมกัน เพราะทางผู้ชายขึ้นมันมีห้องผีเรือนอยู่ตรงนั้น ผู้หญิงจะลุกล้ำไม่ได้ ถือว่าเป็นการล่วงเกินและไม่สมควรตามจริงแล้วผู้ที่จะขึ้นไปบนบ้านได้จะเฉพาะเจ้าบ้านหรือสมาชิกในเรือนเท่านั้น แต่เมื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ไม่เป็นไร แต่เราก็ยังต้องบอกกล่าวว่าผีบ้านผีเรือนว่ามีพี่น้องมาเยี่ยมมาเยือนนะ ไม่ได้มาเหยียบย่ำ เหยียบหยามอะไร เราก็ขออนุญาตก่อน"

นอกจากนี้ยังมีการละเล่นโยนมังกรรอดห่วง  เป็นการเสี่ยงทายของหนุ่มสาวที่โยนเข้าไปว่าจะมีคู่ไหม ถ้าคนมีคู่แล้วก็อธิษฐานอย่างอื่น ด้านล่างยังมีกลุ่มทอผ้าฝ้ายให้ศึกษา มีร้านจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของไทดำอีกด้วย

"วันเวลาที่ผ่านมาชาวไทดำได้อพยพ แตกกระจัดกระจายออกจากบ้านเมืองของตนในสิบสองจุไทไปอยู่ทั่วโลก ไม่รู้ว่าชาวไทดำได้อะไรบ้าง เสียอะไรบ้าง อยู่กินอย่างไร มีความอยากลำบากหรืออยู่อย่างสุขสบาย อนาคตชาวไทยดำจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ไทดำจะรักษาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้นานเพียงใด ไม่มีใครรู้ แต่สำหรับชาวไทดำบ้านนาป่านาด ขณะนี้มีบ้านเรือนที่มั่นคง มีที่ดินเป็นของตนเอง ทำนาทำไร่ หาเลี้ยงชีพตนเองไปตามอัตภาพ หลายคนอยากลำบาก เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ ได้เข้าโรงเรียน มีสิทธิเท่าเทียมในเมืองไทยทุกประการ" เพชรตะบอง กล่าว