TRAWELL เที่ยวคุ้มกำลังสอง

TRAWELL เที่ยวคุ้มกำลังสอง

คนรุ่นใหม่ไฟแรงขอเสนอโมเดลธุรกิจท่องเที่ยว “ของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน” ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสารพัดในสังคม พร้อมรับประกันความยุติธรรมทุกข

เมื่อฝันจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ก็ต้องลงมือทำ

สมาชิกกลุ่ม TRAWELL ก็คิดเช่นนั้น และไม่ลังเลที่จะส่งใบสมัครเข้าร่วมค่ายผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคม กิจกรรมส่วนหนึ่งของเวทีเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด "One Young World 2015" ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และพวกเขาก็แจ้งเกิด เมื่อโปรเจคที่คิดได้เข้าตากรรมการระดับโลกจนคว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมเงินทุน 2 ล้านบาท สำหรับสร้างกิจการให้เกิดขึ้นจริง

การรวมตัวกันเพราะค่าย แม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความที่สนใจเรื่อง “การท่องเที่ยว” เหมือนกันจึงทำให้สมาชิกในทีมวัยยี่สิบต้นๆ ทั้ง 5 คน คือ ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์สุรัชนา ภควลีธรกีรติ วุฒิสกุลชัยศานนท์ หวังสร้างบุญ และสพณ พิทักษ์ ช่วยกันผลักดันร่าง Social Enterprise รูปแบบใหม่เป็นผลสำเร็จ

อาจจะคิดว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่เกินตัวหรือเปล่าสำหรับการสร้างธุรกิจของวัยเริ่มทำงาน แต่พวกเขาไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่นั้นเกิดจากความตั้งใจ การสานต่อโปรเจคที่ตัวเองร่วมกันระดมสมองมานับเดือนจึงกำลังเข้าสู่กระบวนการทำให้ “เป็นจริง”

 

เที่ยวเพื่อรายได้ชุมชน

"เราต้องการให้มีธุรกิจที่ทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน” ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์ หรือ มัย หนึ่งในสมาชิกทีม TRAWELL เอ่ย ก่อนจะอธิบายว่า รูปแบบการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น คือ การท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร โดยมี TRAWELL เป็นตัวกลางเชื่อมชุมชนกับคนภายนอกให้ได้มีโอกาสรู้จักกัน โดยที่สมาชิกในชุมชนจะได้เป็นเจ้าของการจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง

“ทุกวันนี้ปัญหาจากการท่องเที่ยวมันอยู่ที่ว่า บ้านไหนที่ทำธุรกิจดี เปิดร้านอาหาร เปิดร้านกาแฟ เขาก็จะได้รายได้อยู่คนเดียว รอบข้างไม่ได้ผลประโยชน์ ก็จะทะเลาะกัน ทำไมนักท่องเที่ยวต้องมาวุ่นวาย ทำไมทุกคนไม่ได้ประโยชน์ด้วย มันก็ควรจะมีธุรกิจส่วนกลาง ในเมื่อไหนๆ นักท่องเที่ยวต้องมาใช้ทรัพยากรของชุมชนแล้วก็ควรจะต้องแบ่งให้กับทุกคนในชุมชน" มัยอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียการสร้าง Co-ownership Business ในชุมชนที่ทุกคนในทีมเห็นตรงกัน

ด้วยความถนัดเฉพาะตัวของคนในทีมที่เป็นทั้งครีเอทีฟ เจ้าของโฮสเทลในย่านเก่า ทำทัวร์ท่องเที่ยวชุมชน ก็ทำให้มีไอเดียใหม่ๆ ช่วยกันเติมเข้าไปจนเกิดแผนการดำเนินงานที่ “ใหม่” ขึ้น

“เราก็เหมือนเป็นบริษัทหนึ่ง” มัยบอก แม้เธอจะถนัดงานหน้ากล้อง ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวของช่อง NOW 26 แต่ก็สนใจเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมเป็นพิเศษ เธอเห็นว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในกรุงเทพฯ อาจจะเคยมีมาบ้าง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยต่อยอดให้ทั้งชุมชนได้เป็นเจ้าของจริงๆ

ลักษณะของธุรกิจที่เกิดขึ้นจะคล้ายๆ กับการตั้งบริษัท โดยที่ทุกคนในชุมชนมีโอกาสในการถือหุ้น และได้รับเงินปันผลจากรายได้ที่เข้ามาจากธุรกิจกลางที่ทุกคนเป็นเจ้าของ อาจจะเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ เช่น พื้นที่ส่วนกลาง ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ หรือโฮสเทล

“มันเป็นโมเดลที่หลายประเทศเขาก็ทำ การเป็นเจ้าของร่วมมันมีหลายแบบ ในไทยก็มีที่จันทบูร (จ.จันทบุรี) ที่บ้านหลวงราชไมตรี เป็นธุรกิจที่เกิดจากชาวบ้านประมาณ 500 คน ลงทุนร่วม เกิดประมาณ 8,000 กว่าหุ้น แล้วพอปลายปีก็ปันผลคืนสู่ชาวบ้าน ที่เราคิดก็มีความคล้าย แต่จะไม่ได้โฟกัสไปที่ธุรกิจเดียว (ของจันทบูรคือโรงแรม) เรามุ่งในการพัฒนาทางพื้นที่ที่เป็นตึกเก่า ตลาด หรือว่าอะไรที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ เราก็จะไปลงทุนร่วมกับชาวบ้านที่ทำธุรกิจตรงนั้น” ศานนท์ หวังสร้างบุญ สมาชิกอีกคนที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจโฮสเทลของตัวเองช่วยเสริม

TRAWELL ยังมองไปถึงการสร้างความเท่าเทียมในชุมชน ด้วยการจำกัดหุ้นของผู้ลงทุน เช่น ไม่ให้คนนอกเข้ามาถือหุ้นมาเกินไป หรือจำกัดจำนวนหุ้นให้เสมอกัน ไม่ว่าบ้านไหนจะได้รายได้มากหรือน้อย โดยในระยะ 6 เดือนแรกของโปรเจคนั้น ทางทีมจะให้ความสำคัญกับเรื่องการทำสถานที่ให้เป็นที่รู้จักให้มากขึ้น โดยเอาวิธีการทาง “การตลาด” เข้ามาใช้ก่อน เช่น การโปรโมทเรื่องราวของสถานที่ สร้างกิจกรรมให้พื้นที่ ไปจนถึงการบูรณะป้ายบอกความสำคัญของสถานที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพูดถึง และตัดสินใจมาเที่ยวมากขึ้น หรือในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ ทำให้ “ดีมานด์” มีมากขึ้นก่อน หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ขยับขยาย “ธุรกิจส่วนกลาง” ให้เกิดขึ้นจริง

"ธุรกิจเซอร์วิสมันไม่ได้หนักเรื่อง infrastructure (โครงสร้างทางกายภาพ) เราอาจจะทำกับมันก่อนในปีสองปีแรก เมื่อชาวบ้านเขามีเศรษฐกิจที่หมุนเวียนจากการท่องเที่ยว พอมีผลกำไรส่วนหนึ่งแล้ว เราก็เอามาร่วมลงทุนกับ assets (สินทรัพย์) เก่าๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดธุรกิจหน่วยอื่นต่อไป” สุรัชนา ภควลีธร หรือ นุ่น ที่เคยทำทัวร์ท่องเที่ยวชุมชนในที่อื่นๆ มาบ้างแล้วอธิบาย

ทีม TRAWElLL เห็นว่า Co-ownership Business จะเป็นคำตอบของ “การรักษา” ชุมชนอย่างยั่งยืนได้ เพราะการทำให้ชุมชนมีคุณค่าในสายตาของทั้งคนในและนอก ก็จะทำให้เกิดการหวงแหน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการละทิ้งชุมชนจนไม่เหลือร่องรอยของความมีชีวิตแบบเก่าที่เราเห็นกันมากขึ้นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร

ยิ่งนุ่นและมัยเคยมีประสบการณ์ที่เห็นบ้านเก่าที่มีคุณค่าในย่านพระนครถูกทุบทิ้งไปต่อหน้า ทั้งๆ ที่ยังเคยเดินสำรวจพื้นที่ และชื่นชมความสวยอยู่ด้วยกัน ก็ยิ่งกระตุ้นให้ต้องรีบทำโปรเจคให้เป็นรูปเป็นร่างเร็วๆ เพราะกลัวว่า จะเสียความเป็นชุมชนไปในที่สุด

"เราไปถามลุง ทำไมลุงทุบบ้าน มันน่าเสียดายมากเลย ซึ่งเราก็ได้คำตอบ ทุกคนบอกว่ามันสวย แต่สุดท้ายแล้วจะอนุรักษ์เพื่ออะไร เพราะมันไม่มีค่า มันเลยต้องมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเพื่อให้อยู่ได้ในปัจจุบัน” นุ่นเล่า

 

เที่ยวเพื่อรักษาชุมชน

“เราก็อยากจะให้มันเป็นที่ท่องเที่ยวประจำที่ไม่ใช้แค่จัดอีเวนท์แล้วก็หายไป” มัยเอ่ย

ชุมชนที่ TRAWELL จะเข้าไปทำงานด้วยจะอยู่ในย่านเก่าที่ควรรักษาเอาไว้ และมีวิถีชีวิตที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนได้ เช่น บ้านบาตร วังกรม ป้อมมหากาฬ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะเริ่มจากที่ นางเลิ้ง เป็นที่แรก เพราะเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมี “ของดี” อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยการผลักให้เข้าตานักท่องเที่ยวให้มากขึ้น

"คนนึกถึงตลาด เสาร์-อาทิตย์ก็อาจจะมานางเลิ้งก็ได้ ไม่ต้องไปไกลๆ รายได้มันก็หมุนเวียนกันมากขึ้น พอมากขึ้นปั๊บ เราก็จะออมไว้ให้ชุมชน เพื่อให้อีกสองสามปีถัดไปเอามาสร้าง Co-ownership Business เกิดมาเป็นธุรกิจของชุมชนขึ้นมา ซึ่งในระยะยาว พอชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่ของตัวเองมีค่า พื้นที่ของตัวเองเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว เขาก็จะไม่หายไปไหน ไม่ทุบบ้านทิ้ง เขาเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวแล้ว เขาก็จะสร้างคุณค่าให้กับชุมชนมากขึ้น” มัยเสริม

จากการระดมสมองกันของทีมก็ได้ผลสรุปออกมาว่า ในช่วงแรกของโครงการ รายได้หลักก็จะมาจาก Local Pass หรือตั๋วเข้าไปยังชุมชน โดยมีสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ชุมชนมอบให้ หรือร่วมกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งรายได้ตรงนี้จะเข้าสู่ส่วนกลางเอาไว้ลงทุนหรือปันผลต่อไป

"มันเป็นใบเบิกทางเหมือนเวลาไปต่างประเทศ เวลาเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยว มีใบเดียวมันก็จะคุ้มค่า เพราะถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเฉยๆ เขาก็อาจจะไม่ใช้จ่ายอะไรเลย เพราะฉะนั้นชุมชนก็จะไม่ได้ แล้วก็อาจจะไปใช้จ่ายบางบ้าน ทำยังไงให้เราเก็บที่เป็นของส่วนรวมได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้ามาที ก็เต้องเก็บตั้งแต่ต้นทาง แล้วเขาก็จะได้รับสิทธิพิเศษ เราเองก็มองในฝั่งนักท่องเที่ยวว่า ทำไมเขาถึงจะต้องซื้อ เขาเดินเข้ามาฟรีๆ เลยก็ได้นี่นา เราจึงแถมสิทธิพิเศษให้ เช่น อยากจะมาเวิร์คชอป อยากจะมาดูละครชาตรี คุณจะต้องมีบัตรนี้นะ” มัยเล่า

ธุรกิจที่เกิดขึ้นมองจากพื้นฐานปัญหาหลายๆ เรื่อง เช่น โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน การลดลงของศิลปวัฒนธรรม การขยายของระบบนายทุน ตลอดจนความยากจนในเมืองใหญ่ การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนตรงนี้จึงต้องช่วยตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ให้ได้

ไม่ใช่แค่สิ่งที่จับต้องได้ แต่ว่าอาชีพ วัฒนธรรมก็ตายไปแล้ว อย่างตรอกระหว่างบ้านเต้นรำกับละครชาตรี มันคือตรอกที่ทำพายเรือ ตอนนี้ไม่มีคนทำแล้ว เราก็จะเน้นว่า มันอาจจะขายในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เราก็ต้องขายในเชิงนักท่องเที่ยวแทน อาจมีกิจกรรมอะไรสนุกๆ ที่ดีกว่าการขายหน้าร้านปกติ เป็นการสร้างสตอรี่ใหม่ สร้างใหม่ให้กับศิลปะนั้นๆ เราไม่อยากให้มันตาย มัยให้ความเห็น

Local Pass และธุรกิจส่วนกลางที่จะเกิดขึ้นจะไม่ได้แค่การสร้างรายได้ให้ทั่วถึงในชุมชน แต่ยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น นำไปสู่การสานต่อสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้สูญหายไปง่ายๆ และเป็นภูมิคุ้มกันของการลงทุนที่หวังผลแต่ทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้คิดถึงมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมด้วย

“มันน่าจะเป็นระบบทุนที่เกิดเทรนด์ใหม่ขึ้นมา ที่บอกว่า เทรนด์เก่ามันไม่ดี” ศานนท์เอ่ย

ในความเห็นของ TRAWELL ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นเจ้าของ แน่นอนว่า จะเกิดแต่ผลดีในหลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะไม่ปล่อยให้สกปรกเหมือนหลายที่ ที่มี “นายทุน” เป็นเจ้าของ แต่ทั้งนี้ชุมชนต้องมีความแข็งแรงในระดับหนึ่งก่อน และพวกเขาก็จะสร้างการพัฒนาไปควบคู่กัน

“นายทุนปกติก็คิดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ผมไปซื้อของที่เวิ้งนาครเกษม คนขายบอกว่า ปลายปีหน้าเขาต้องออก เพราะมันจะกลายเป็นห้าง ผมก็คิดว่า ห้างที่มีอยู่ยังไม่พออีกเหรอ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มันสร้างไม่ได้ภายในวันเดียว มันเกิดชีวิต เกิดวัฒนธรรมตรงนั้น มันเกิดอะไรแบบนี้ ทำไมไม่เคยมอง มองแต่จะพัฒนาตึก ก็สะท้อนผมกลับมาว่า ผมต้องต้องทำแล้ว” ศานนท์เล่า

 

เที่ยวจากความเห็นชุมชน

ณ ตอนนี้ โครงร่างที่มี ก็พอจะครอบคลุมไอเดียหลักๆ ที่จะนำทางชุมชนเข้าสู่ความยั่งยืน แต่หน้าตาของโครงการอาจจะยังเห็นไม่ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ทาง TRAWELL เองก็อยากจะให้ทุกอย่างเกิดด้วยการตกลงกันของชุมชนด้วย

“เราก็ไม่อยากสรุปกันเอง ให้ชุมชนคุยกันดีกว่า เพราะสุดท้ายคนที่จะมาจัดการไม่ใช่เรา แต่เป็นชุมชน” นุ่นบอก ก่อนจะเล่าขั้นตอนต่อไปว่า เป็นการทำความเข้าใจกับชุมชนให้ตรงกันทั้งหมด ซึ่งดูแล้วเป็นงานที่มีสเกลใหญ่มาก และต้องใช้เวลา แต่เธอ และทีมก็ไม่ได้ห่วง อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดความพร้อมจริงๆ

ด้าน บุญเลิศ เสาะแสวง หัวหน้ากองโครงการชุมชน 3 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ดูแลพื้นที่ส่วนที่จะเกิดการพัฒนา เห็นว่า การทำธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนในลักษณะนี้เป็นเรื่องใหม่ของพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ความเป็นไปได้ของโครงการมีมาก เพราะเป็นการให้โอกาสชุมชน แต่ต้องมีแผนที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และระดมความเห็นโดยชุมชน

“ต้องเสนอโปรเจคนี้เข้าสู่ชุมชน เขาต้องพัฒนาต้องโยนโจทย์ลงไปพัฒนาร่วมกัน มีกฎระเบียบที่ต้องวางร่วมกันขึ้นมาให้ได้ ต้องให้ชาวบ้านวางเห็นโอกาส และประโยชน์ที่เขาจะได้ เขาต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเองให้ได้” บุญเลิศเล่า

หลังจากที่ TRAWELL สร้างระบบที่ลงตัวแล้ว การบริหารในช่วงแรกก็จะเป็นหน้าที่ของพวกเขา คอยแก้ปัญหาที่พวกเขาก็ยอมรับว่า อาจเกิดขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อลงตัวดี พวกเขาก็เห็นว่า ชุมชนก็ต้องมีโอกาสมาบริหารธุรกิจร่วมกัน

"ด้านธุรกิจ เราก็เอาความถนัดของเราไปคิดให้เขา ให้เขาเป็นคนทำ แต่ว่าสิ่งที่เราทำ คือ เราไปร่วมกับเขาตั้งแต่แรก ให้เขาเป็นคนคิดเองด้วยซ้ำว่า เขาจะทำแบบนี้ดีไหม สิ่งที่เราทำก็คือ เอา framework (กรอบการทำงาน) ไปช่วย คนที่มีความเชี่ยวชาญไปช่วย” ศานนท์บอก

สำหรับชุมชนนางเลิ้งที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม หรือมรดกเก่าแก่ของชุมชน อาหาร และขนมที่ขึ้นชื่อ ก็อาจจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนได้เร็วกว่าที่อื่นๆ โดยมุมมองของผู้นำชุมชนที่ดูแลเรื่องการอนุรักษ์ของดีในชุมชนมานานอย่าง สุวัน แววพลอยงาม วัย 56 ปี เห็นว่า มีความเป็นไปได้ เพราะตัวเขาเข้าใจว่า คนรุ่นใหม่คิดอะไร ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่เขากำลังผลักดันให้เกิดให้ชุมชนอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ขอให้คนที่คิดมาพัฒนาคิดอยู่เสมอว่า "ถ้าทำแล้ว ชุมชนจะได้อะไร?"

  “เราไม่อยากให้การท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนเราจนขาดวิถีชีวิต ขยะเพิ่มขึ้น มีคนเข้ามา วิถีชีวิตเปลี่ยน อย่างตลาดน้อย หรือที่ไหน เราอยากให้เข้ามาปุ๊บ สร้างรายได้ ในรูปแบบของความยั่งยืน ในรูปแบบของการสร้างอาชีพ มันยากสำหรับเมืองไทย แต่ถ้าชาวบ้านมีการจัดสรร ก็โอเค ทุกวันนี้คนที่มาเที่ยวในชุมชนก็เพราะเขาชอบในความเป็นธรรมชาติของคนในชุมชน ไม่ใช่เปิดร้านกาแฟ เปิดร้านกิ๊ฟต์ช็อป ขายของบ้าบอ เสียงจาก ‘คนอยู่จริง’ ให้ความเห็น

ความเป็นไปได้ของโครงการคงจะอยู่ “ความเข้าใจ” ระหว่างชุมชนและเหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ แม้ว่าการดำเนินการอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าสตาร์ทอัพในยุคนี้ที่ร่ำรวยแบบก้าวกระโดด แต่เชื่อว่า ผลที่ได้นั้นจะคุ้มค่า

"ในระยะยาวชุมชนก็ต้องบริหารเอง เราไม่ได้ทำแค่นางเลิ้งที่เดียว เราอยากจะให้ไปหลายๆ ที่ เพราะหนึ่งเหตุผลที่กรรมการตัดสิน มันต้องอิมแพคไปในวงกว้างได้ บางคนอาจจะเห็นว่า มาลงกับชุมชนก็ได้แค่ชุมชนเดียวสิ แต่เขาก็มองเห็นว่า ถ้าทำหนึ่งชุมชนก็เป็นต้นแบบไปอีกหลายๆ ที่ได้เหมือนกัน” มัยบอก

แน่นอนว่า เมื่อเกิดโมเดลแบบเดียวกันขยายไปยังที่อื่นๆ ไม่ใช่แค่เพิ่ม มูลค่าทางรายได้ให้ชุมชน แต่ว่าจะเกิด คุณค่าทั้งทางกายภาพและจิตใจไปพร้อมกัน