“โขน” ชายแดนใต้

“โขน” ชายแดนใต้

‘โขน’ บนพื้นที่ปลายด้ามขวานทองของไทย ศิลปะชั้นสูงที่สร้างปรากฏการณ์การแสดงที่ผสานความกลมเกลียวสะท้อนวิถีแห่งวัฒนธรรม ‘พุทธและมุสลิม’

ร่วมสืบสานนาฏกรรมสนองพระราชเสาวนีย์แม่ของแผ่นดิน ต่อลมหายใจ ‘คนโขน’

เสียงปรบมือดังอื้ออึง...นานราวกับเข็มนาฬิกาหยุดนิ่งชั่วขณะทันทีที่การแสดงโขน ตอน ศึกพรหมาศ ของเหล่า “เยาวชนต้นแบบโขนปัตตานี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ที่หอประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มีเยาวชนนักแสดงวัยกระเตาะกว่า100 ชีวิต จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 9 แห่ง เสร็จสิ้นลงไปพร้อมรับรอยยิ้มและความประทับใจจากกลุ่มผู้ชมส่งผลไปถึงนักแสดงที่ยืนเรียงรายหน้าม่านสีแดงชาติด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่แสนปรีดายิ่ง

เยาวชนโขนรุ่นแรก

“อินทรชิตซึ่งเป็นฝ่ายยักษ์แปลงร่างเป็นพระอินทร์เพื่อลวงพระลักษมณ์และเหล่าพลลิง ก่อนแผลงศรพรหมาศต้ององค์พระลักษมณ์และพลลิงจนล้มตาย ต่อมาหนุมานตามคำแนะนำของพิเภก รีบไปหายามาแก้พิษศรพรหมาศ ซึ่งต้องแก้ให้ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และหนุมานก็ทำได้ทันเวลา ทำให้พระลักษมณ์และเหล่าพลลิงฟื้นขึ้นมาดังเดิม”

การเล่าเรื่องราวการแสดงโขนตอนศึกพรหมาศที่ ดานิยาน และ เซ็ง เด็กหนุ่มมุสลิมที่เพิ่งถอดหัวโขนในบทสุครีพ หนึ่งในเยาวชนต้นแบบโขนปัตตานีสรุปการทำศึกระหว่าง อินทรชิต กับ พระลักษมณ์ ได้อย่างคล่องแคล่วแบบไร้ที่ติ

ดานิยาน เด็กหนุ่มผู้หลงใหลศิลปนาฏศิลป์ยิ้มแฉ่งตลอดการพูดคุยถึงความสำเร็จที่ผ่านมาหมาดๆ ว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ภาคภูมิใจที่ได้ร่วมแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม หลังจากได้ซุ่มซักซ้อมร่วมกับเพื่อนๆ มาระยะหนึ่งด้วยความตั้งใจอยากให้ผลงานออกมาดีที่สุด  

เรื่องราวชีวิตของดานิยาน เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี ผูกพันกับการแสดงโขนมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี หลังจากที่ได้ชมการแสดงโขนผ่านวิดีโอในห้องเรียนนาฏศิลป์ร่วมกับกลุ่มเพื่อน 

เวลาผ่านไป 6 ปีเส้นทางชีวิตในวัย18 ปี ได้มีโอกาสโลดแล่นอยู่บนเส้นทางการแสดงโขนชายแดนภาคใต้อย่างที่ตั้งใจ

ดานิยาน เป็นเยาวชนต้นแบบโขนรุ่นแรกจากโรงเรียนบ้านสะบารังร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีก2 ชีวิต  คือ กิตติ ดำแก้ว และ มะรอเซะ ใจสมุทร ที่ร่วมกันอ้อนวอนครูให้ช่วยสอนการแสดงโขน จนก้าวสู่การเป็นคนโขนที่รู้จักกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจจุบัน

เขาบอกว่าในฐานะคนโขนได้มีโอกาสแสดงมาทุกบทบาทแล้วทั้งตัวเอกในฝันอย่างทศกัณฑ์ ยักษ์งามผู้ลือชื่อก็ผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้วในยุคแรกของการแสดง แต่ด้วยรูปร่างเป็นหนุ่มร่างเล็กจึงต้องพลิกมารับบทพระราม ก่อนจะปลี่ยนเป็นทหารเอกอย่างหนุมาน สุดท้ายลงตัวที่การสวมหัวโขนในบทสุครีพ ที่แสดงครั้งใดไม่เคยบ่นเหนื่อยกับการซักซ้อมให้ได้ผลงานที่สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้กับผู้ชม 

"จำได้ว่าครั้งแรกที่แสดงโขนอย่างเป็นทางการมีผู้ชมที่ไม่ใช่เด็กและครูในรั้วโรงเรียน คืองานแสดงวัฒนธรรมภายในห้องประชุมใหญ่โรงแรมซีเอสปัตตานี ภายหลังเสียงปรบมือชื่นชมยินดีมีผู้ใหญ่ใจดีชื่อลุงป๋อง ที่เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นเจ้าของโรงแรมได้ยื่นมือช่วยเหลือมอบโอกาสดีๆ ให้มีพื้นที่แสดงอวดสายตาคนภายนอก"ดานิยานกล่าวปลื้มใจ

ประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งที่ไม่เคยลืม คือได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

โขน ศิลปะวัฒนธรรมบำบัด

การแสดงโขนครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ชายแดนใต้ที่รวบรวมผู้เล่นทั้งไทยพุทธและมุสลิมเข้าร่วมสืบสานศิลปะชั้นสูง โดยนำมิติทางวัฒนธรรมสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่มาสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายบนดินแดนปลายด้ามขวาน โดยมีวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง เป็นผู้ฝึกซ้อม สอนการแสดงและขัดเกลาท่วงท่าลีลาให้ได้มาตรฐานคนโขนคุณภาพ

โดยเฉพาะเหล่าผ้าขาวที่เปื้อนคราบน้ำตาและหยดเลือดฝังลึกในความทรงจำที่แสนเจ็บปวด อันเป็นผลพวงจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

เฉกเช่น พงศธร แสงทอง วัย 7 ปี และ จารุกิตติ์ แสงทอง อายุ 12 ปี สองพี่น้องจากโรงเรียนเจริญศรีศึกษา อ.เมือง จ.ปัตตานี  หนึ่งในทีมนักแสดง “เยาวชนต้นแบบโขนปัตตานี” ที่ถูกฟูมฟักด้วยความรัก ความผูกพันจากเหล่าผองเพื่อนที่มีประสบการณ์ชีวิตที่ใกล้เคียงกัน วันนี้สองพี่น้องตกหลุมพรางหลงรักการแสดงโขนเข้าเต็มเปา

จากจุดเริ่มต้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรมไม่ต่างจากการใช้ศิลปบำบัด เพื่อหวังเป็นหนทางช่วยลบเลือนเรื่องราวความทรงจำที่เลวร้ายในวันที่สูญเสียพ่อและแม่ไปให้กับความรุนแรงในพื้นที่บ้านเกิด

เรื่องราวความสูญเสียเกิดขึ้นเมื่อค่ำคืนวันที่ 8 ต.ค.2555 คนร้ายดักยิง ศุภชัย ช่วยเสน และ ศิริขวัญ แสงทอง เสียชีวิตในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ส่งผลให้ชีวิตของ 2 เด็กชายพลิกผันกลายเป็นเด็กกำพร้าทันทีและเป็นที่มาส่วนหนึ่งของเยาวชนต้นแบบโขนปัตตานีที่มีคุณภาพในปัจจุบัน

"ผมเป็นลูกศรพุ่งแทงพระลักษมณ์แต่ไม่ตายเพราะหนุมานมาช่วยได้" พงศธรเปล่งเสียงตอบคำถามถึงบทบาทที่ได้รับบนเวทีการแสดงโขน

เขาเป็นเด็กนักเรียนชั้นป.2 โรงเรียนเจริญศรีศึกษา ในวัย 7 ขวบ เด็กชายตัวน้อยขวัญใจเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มเยาวชนต้นแบบโขนปัตตานี ที่สร้างวีรกรรมความซนปนความน่ารักในแบบฉบับเด็กกล้าแสดงออกที่เริ่มฉายแววเป็นเด็กช่างพูดสนุกสนานกับการได้วิ่งเล่นบนเวทีใหญ่ ผลตอบรับคือเสียงฮือฮาปนอารมณ์ขำขันในมวลหมู่ผู้ชมที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่เด็กน้อยแต่งองค์เป็นลูกศรปรากฏตัวร่วมแสดงเพียงเสี้ยวนาที

การเรียนรู้ศิลปะการแสดงโขนที่ต้องอยู่กับคนหมู่มาก จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ขัดเกลาอารมณ์ในแง่บวกให้กลับสู่โหมดผ้าขาวที่ละทิ้งความเศร้าได้สำเร็จตามช่วงเวลาที่เหมาะสม

“โตขึ้นผมอยากเป็นพระราม” กลายเป็นความใฝ่ฝันของเด็กน้อยที่ตะโกนบอกก่อนหลบไปเล่นซนบนเวทีการแสดง ในมือถือลูกศรกวัดแกว่งไปมาตามประสาเด็ก แตกต่างจากท่าที จารุกิตติ์ แสงทอง ผู้เป็นพี่ที่เงียบเสียงไม่เผยตัวตนกับคนแปลกหน้า เว้นแต่เมื่อถูกถามเรื่องการแสดงโขนที่จุดประกายให้แววตาสดใสขึ้นมาในบัดดล

คันธงยักษ์ เป็นบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในทีมนักแสดงโขนโดยเจ้าตัวไม่เคยบ่นหรือเบี้ยวการซักซ้อมทุกครั้งที่นัดหมาย แม้ไม่ใช่ตัวหลักแต่ชอบที่ได้ดูการแสดงของเหล่าคนโขน

"ผมอยากเป็นหนุมานที่เก่งและปกป้องคนอื่นได้ แต่ตอนนี้ยังเป็นไม่ได้ ครูบอกว่าต้องให้โตกว่านี้และช่วงนี้ต้องซ้อมให้หนักเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม" เสียงที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังของเด็กชายที่ตั้งใจพัฒนาตนเองเพื่อช่วงชิงโอกาสเปลี่ยนบทบาทจากคันธงยักษ์ ก้าวสู่การเป็นหนุมาน ผู้นำฝูงลิงในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์

ครูโขนชายแดนใต้

กว่าจะเป็น ’เด็กโขน’ เส้นทางนี้ไม่ได้ง่าย ยิ่งโฟกัสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งต้องปรบมือให้กำลังใจเท่าทวีคูณกับผู้เบิกเปิดทางโขนชายแดนใต้ได้เจิดสรัส

สมวุฒิ กุลพุทธสาร หรือ ครูวุฒิ ครูโขนคนสำคัญที่เด็กๆ รู้จักกันดี แม้วันนี้จะไม่ได้ประจำการอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยความผูกพันที่มีต่อกันในฐานะนักแสดงโขน สายใยระหว่างครูและศิษย์จึงไม่เคยสะบั้น

ย้อนกลับไปปี 2547 เมื่อครั้งที่เป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์ โรงเรียนบ้านสะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้นำวีดิโอการแสดงโขนศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่ชอบเป็นการส่วนตัวมาเปิดให้เด็กชมตามปกติ 

สิ้นเสียงดนตรีไทยบรรเลงถูกกลบด้วยเสียงศิษย์ตัวน้อยประกาศลั่นแย่งชิงขอโอกาสสวมหัวโขนในบทลิงและยักษ์ตามความซุกซนประสาเด็ก

“ครูครับผมอยากเรียนโขน” ข้อความปนเสียงเว้าวอนของเด็กนักเรียนป.5 หลังชมการแสดงโขนผ่านหน้าจอทีวีในห้องนาฏศิลป์จบลง กลายเป็นจุดเริ่มต้นและจุดประกายความหวังหาคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสานต่อการแสดงโขนที่ชื่นชอบ และที่ตั้งใจที่สุดคือการได้สนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงอยากให้มีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะศิลปะการแสดงโขนของไทยสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ครั้งหนึ่งขณะเรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับทุนจากสมเด็จพระนางเจ้าฯนั่นเอง

"ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งมาปฏิบัติในการสอนนาฏกรรมชั้นสูง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของเหล่าทะโมนผ้าขาวให้ภูมิใจในการเป็นคนไทย" ครูสมวุฒิกล่าวปลาบปลื้ม

การแสดงโขนครั้งล่าสุดนี้จึงเป็นงานใหญ่ที่ครูและศิษย์ที่ต่างเติบโตมีภารกิจหน้าที่ตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคนได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกันอย่างเต็มตัวอีกครั้งในรอบ 10 ปี ความตื่นเต้น ดีใจ กดดัน และคาดหวังจึงบังเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย

"วันนี้ได้มีโอกาสนั่งคุกเข่าต่อหน้าศิษย์เพื่อร่วมแต่งองค์ทรงเครื่องส่งผ่านความมั่นใจให้ศิษย์กล้าก้าวออกไปแสดงบทบาทโขนชายแดนใต้บนเวทีบ้านเกิดอย่างภาคภูมิใจ คือความสุขที่ใหญ่ยิ่งในฐานะครูโขน" ความในใจของครูสมวุฒิที่เต็มเปี่ยมด้วยความประทับใจ

ครูสมวุฒิ บอกว่าความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้การเรียนโขนต้องอาศัยหลักการที่ลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจที่เต็มใจ เช่นเดียวกับความตั้งใจที่ต้องจริงจัง เพราะการเรียนโขนไม่ใช่เพียงแค่การร่วมอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยเท่านั้น

หากแต่โขนเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความอดทนและฝึกฝนอย่างหนัก ที่สำคัญครอบครัวและสังคมรอบข้างต้องเข้าใจในความละเอียดอ่อนที่เปราะบางทางความรู้สึก วันนี้เด็กโขนทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดไม่่ใช่อุปสรรค เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน กำแพงความรู้สึกที่ถูกมองว่าแตกต่างได้พังทลายลงโดยอัตโนมัติ เหลือเพียงการใช้ใจในความเคารพซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันครูสมวุฒิยังคงทำหน้าที่สืบสานงานนาฏกรรมในฐานะครูผู้สอนโขน อยู่ที่โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และยังคงทุ่มเทสนับสนุนทุกกิจกรรมการแสดงโขนร่วมกับเยาวชนต่อไป

โขนต้นแบบปัตตานีมีที่มา 

รอยยิ้มและเสียงปรบมือของกลุ่มผู้ชม คือความสุขล้นใจที่ยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จที่มีผลต่อ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจังหวัดปัตตานี หรือ “ลุงป๋อง” สรรพนามที่เหล่าเด็กโขนชายแดนใต้เรียกผู้ใหญ่ใจดีที่โอบอุ้มและให้การช่วยเหลือเยาวชนโขนมาตลอด อีกทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมสู้และสร้างเรื่องราวดีๆ ให้กับจังหวัดปัตตานีถิ่นบ้านเกิดเมืองนอน

“การแสดงโขนวันนี้เกิดขึ้นโดยนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ได้ฝึกซ้อมโขนด้วยความสนใจในนาฏศิลป์การแสดงชั้นสูง โดยมีครูสมวุฒิ กุลพุทธสาร ครูประจำโรงเรียนบ้านสะบารังเป็นผู้ฝึกสอน เป็นเสียงพิธีกรบอกที่มาของทีมนักแสดง ภายในห้องจะบังติกอ โรงแรมซีเอสปัตตานีเมื่อปี 2547" ลุงป๋อง บอกเล่าถึงข้อความที่จุดประกายให้เกิดการรวมกลุ่มเยาวชนต้นแบบโขนปัตตานี

เขาเล่าต่อว่า ครั้งแรกที่ได้ชมการแสดงของน้องๆ ถึงกับอึ้งและทึ่งกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า ข้อแรกคือทึ่งในความตั้งใจของทีมแสดงโขน ทั้งที่โอกาสมีน้อยมากที่จะได้รับการตอบรับจากคนดู เพราะมีการแสดงมากกมายที่เป็นจุดขายของวัฒนธรรมในพื้นที่ ข้อสองทึ่งในข้อจำกัดที่มีอยู่มากมายแต่ยังสามารถรวบรวมกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซุ่มซ้อมจนสามารถทำการแสดงได้ 

ข้อสามทึ่งในหัวใจของเด็กๆ ที่แม้นไม่มีโอกาสขึ้นทำการแสดงนักแต่ยังเลือกที่จะเรียนรู้ และทึ่งสุดท้าย ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังมีคนกลุ่มหนึ่งสนใจและอยากเผยแพร่การแสดงโขน ศิลปะชั้นครูที่ในระดับภูมิภาคมีน้อยมาก 

ด้วยเหตุผลสุดทึ่งที่ว่านี้ อนุศาสน์จึงไม่รีรอเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนและอุปถัมป์สร้างทางและให้โอกาสสร้างสรรค์วัฒนธรรมและเรื่องราวดีๆอวดสายตาสังคมนอกพื้นที่ให้หยุดความหวาดกลัวที่มีต่อพื้นที่ชายแดนใต้

นอกจากการช่วยเหลือที่รอบด้านแล้วยังให้โอกาสนักแสดงโขนร่วมชมการแสดงโขนพระราชทานเป็นประจำทุกปี โดยการอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ใจดีอีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นท่าน ผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี และหม่อมหลวงอนุพร เกษมสันต์ โอกาสที่ดีเหล่านี้คือสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาแต่สามารถรับรู้ด้วยใจ ตอกย้ำให้เห็นถึงแรงหนุนที่ส่งให้เด็กมีแรงกำลังใจฝึกซ้อมพัฒนาฝีมือมากขึ้น สิ่งที่สัมผัสได้คือทุกรอบที่แสดงทักษะความสามารถพัฒนาขึ้นตามลำดับ

ปัจจุบันความนิยมโขนเพิ่มขึ้นอย่างงดงาม ยกตัวอย่างการแสดงโขนตอนศึกพรหมาศเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคมครั้งล่าสุดนี้ มีสถาบันการศึกษาร่วมรังสรรค์ศิลปวัฒนธรรมเป็นทางการ 9 แห่ง อาทิ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี, โรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล จ.ปัตตานี,โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา จ.ปัตตานี ,โรงเรียนเมืองปัตตานี, โรงเรียนเจริญศรีศึกษา จ.ปัตตานี, โรงเรียนสุคิรินวิทยา จ.นราธิวาส, วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานีและวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี

อนุศาสน์บอกด้วยความโล่งใจอีกว่า ไม่เพียงเท่านี้แรงสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วนก็เริ่มขึ้นเช่นกัน ล่าสุดคณะกรรมาธิการการศาสนาคุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม เสนอกระทรวงวัฒนธรรมให้สนับสนุน “โครงการเยาวชนต้นแบบโขนปัตตานี” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีได้ประสานวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุงเข้ามาร่วมฝึกสอนศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

ก้าวแรกของกลุ่ม 'เยาวชนต้นแบบโขนปัตตานี' นับเป็นก้าวย่างสำคัญของการสืบสานมรดกชาติเพื่อก้าวสู่การเป็น 'คนโขน' ประดับไว้บนผืนแผ่นดินไทยที่ปลายด้ามขวาน