มรดกศิลปะของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

มรดกศิลปะของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

ถ้าจะก้าวไปสู่เส้นทางศิลปินระดับโลก ไม่ยากเลยสำหรับศิลปินคนนี้

แต่เขาเลือกที่จะทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอาราม เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกให้คนไทย

“...ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใสและจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริงในความงามอันเร้นลับอยู่ใต้สภาวะธรรม ผลงานอันเกิดจากกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจของข้าพเจ้า ขอน้อมอุทิศให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า...”

คำประกาศอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะของ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปีพ.ศ.2528 ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ”

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เกิดเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ.2453 ที่ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย เสียชีวิตเมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ.2536 สิริอายุ 83 ปี 180 วัน

อาจารย์เฟื้อศึกษาระดับประถมศึกษาที่วัดสุทัศน์ และระดับมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เริ่มศึกษาศิลปะอย่างจริงจังเมื่อพ.ศ.2472 ที่โรงเรียนเพาะช่างจนถึงชั้นปีที่ห้า ก่อนเดินออกจากโรงเรียนเนื่องจากมีแนวความคิดในการทำงานศิลปะที่เป็นตัวของตัวเอง แตกต่างจากหลักสูตรการเรียนการสอนในสมัยนั้น จนกระทั่งได้มาศึกษาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร (ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร)

ระหว่างศึกษาในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม อาจารย์เฟื้อได้เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย ทำให้เกิดความใฝ่ฝันว่าจะต้องเดินทางไปประเทศอินเดีย จนกระทั่งในปีพ.ศ.2483 อาจารย์เฟื้อได้เดินทางไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน

ที่นี่ อาจารย์เฟื้อได้พบเห็นแนวทางการอนุรักษ์งานจิตรกรรมของอินเดียที่มีการส่งศิลปินไปคัดลอกภาพเขียนที่มีคุณค่าตามแหล่งต่างๆ ของประเทศไว้เพื่อการศึกษา ทำให้อาจารย์เฟื้อเกิดความคิดว่านักศึกษาศิลปะของไทยได้ศึกษาศิลปะของชาติต่างๆ แต่กลับไม่มีโอกาสเรียนรู้มรดกทางศิลปะของไทยเท่าที่ควร ทำให้อาจารย์เฟื้อหันมาศึกษาค้นคว้าศิลปะไทยอย่างจริงจัง ทั้งเพื่อการอนุรักษ์และต่อยอดการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมแนวใหม่ต่อไป

เดือนตุลาคม พ.ศ.2497 อาจารย์เฟื้อ ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถานที่กรุงโรม ด้วยทุนของรัฐบาลอิตาลีเป็นเวลาสองปี โดยมีเพียงจดหมายรับรองของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่กล่าวถึงอาจารย์เฟื้อว่า “เป็นหนึ่งในศิลปินสยามที่ดีที่สุดในเวลานั้น”

ศิลปินระดับโลก-ศิลปินแห่งประเทศชาติ

อาจารย์เฟื้อ ได้ค้นคว้าและทดลองเทคนิคใหม่ๆ ทางจิตรกรรม รวมทั้งทดลองสร้างผลงานแนวนามธรรมและคิวบิสซึ่ม (Cubism) ผลงานสร้างสรรค์ของอาจารย์เฟื้อนับว่าเป็นผลงานที่แปลกใหม่ไปจากผลงานศิลปะของศิลปินไทยในขณะนั้น จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย

อาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์เฟื้อ เล่าถึงผลงานของอาจารย์เฟื้อว่า ท่านเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการทำกิจทุกอย่าง เมื่ออยากทำสิ่งใดจะทำจริงจังที่สุดเพื่อให้สำเร็จผล

“หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ก่อนที่อาจารย์เฟื้อจะมาเรียนศิลปะ ท่านเคยเป็นนักมวยคาดเชือก ชกแบบไม่สวมนวม สู้กันแบบลูกผ้ชาย เป็นคนที่มุ่งมั่นในการฝึกฝนจนเป็นนักมวยชั้นแนวหน้าในสมัยนั้น พอได้เรียนศิลปะท่านก็มุ่งมั่นอย่างยิ่งจนได้รับความสำเร็จ หลังจากกลับมาจากอินเดีย ไปต่ออิตาลี กลับมาเป็นอาจารย์ ท่านก็เป็นอาจารย์ที่มุ่งมั่นกับการสอนอย่างจริงจัง”

อาจารย์แนบ เล่าว่า หากเปรียบเทียบผลงานของอาจารย์เฟื้อที่สร้างขึ้นที่เมืองไทย กับผลงานที่เกิดขึ้นหลังจากไปศึกษาที่ประเทศอิตาลี จะเห็นว่ามีพัฒนาการที่ชัดเจน เดิมนั้นอาจารย์เฟื้อนับว่ามีนิสัยทางการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมในแนวทางอิมเพรสชั่นนิสม์ หรือผลงานที่เกิดจากการถ่ายทอดความรู้สึกบันดาลใจในสิ่งที่พบเห็นอย่างฉับพลัน และเมื่อได้ไปศึกษาต่อที่อิตาลี ได้เห็นผลงานของศิลปินระดับโลกก็ยิ่งเกิดความก้าวหน้า จนกระทั่งสามารถสร้างผลงานระดับโลกได้มากมายหลายชิ้น

แต่ในที่สุด อาจารย์เฟื้อก็เลือกที่จะหันหลังให้เส้นทางสู่การเป็นศิลปินระดับโลก หันไปอุทิศชีวิตและเวลาให้กับงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ

“ทราบจากอาจารย์อวบ สาณะเสนว่า ได้ยินอาจารย์เฟื้อทะเลาะกับอาจารย์ศิลป์ เพราะเมื่ออาจารย์เฟื้อกลับจากอิตาลีได้ไปสำรวจงานจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ แล้วเห็นว่าหายนะกำลังเกิดกับผลงานเหล่านี้ด้วยความเก่า อาจารย์เฟื้อเลยหยุดการทำงานสมัยใหม่ที่ได้เรียนมา หันมาบูรณะงานจิตรกรรมฝาผนัง เหตุการณ์นั้นอาจารย์ศิลป์ไม่พอใจ เพราะอาจารย์เฟื้อควรจะเป็นศิลปินที่จะเดินไปข้างหน้าเทียบระดับโลกได้ อยากให้อาจารย์เฟื้อสร้างผลงานใหม่เพื่อต่อยอดต่อไป แต่อาจารย์เฟื้อเสียดายสมบัติของชาติ ก็เลยหยุดการทำงานส่วนตัวหันมาทำงานอนุรักษ์”

มรดกของอาจารย์เฟื้อ

“ผลงานของพ่อมีอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ ส่วนมากอยู่เมืองนอก และก็อยู่ในมือนักสะสมเอกชนหลายคน คนที่เขาเก็บงานไว้ส่วนใหญ่ก็ไม่เปิดเผย แต่ที่ผมไม่มีเลย...แปลกมั๊ย ตอนนั้นพ่อฝากงานให้ญาติเก็บไว้ แล้วก็สั่งไว้ว่าฝากไว้ที่คนนี้นะ แต่พอเราไปถามหาเขาก็เฉย เราก็เลยปลง” อาจารย์ทำนุ หริพิทักษ์ บุตรชายคนเดียวของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อธิบาย

แม้จะไม่มีมรดกเป็นชิ้นงานศิลปะ แต่สิ่งที่อาจารย์เฟื้อถ่ายทอดให้บุตรชายที่เลือกเดินบนเส้นทางศิลปะเช่นกัน คือ แนวคิดในการทำงานศิลปะ ซึ่งทรงคุณค่าไม่แพ้กัน

“พ่อสอนเรื่องชีวิต สอนเรื่องศิลปะ สอนให้มีกำลังใจทำงาน ท่านบอกว่าคนเราต้องอัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ผมก็ยึดอันนี้ สอนว่าชีวิตคือการต่อสู้ ต้องอยู่อย่างเรียบง่าย มีชีวิตอย่างเรียบง่าย กินง่าย อยู่ง่าย แล้วก็ทำงานให้มากๆ อย่างผมชอบเขียนรูป นี่แกบอกเขียนไป...ถ้าชอบเขียนไป ไม่ต้องกลัวเรื่องขายได้ไม่ได้ ถ้างานดี มีคนเห็น เงินก็มาหาเอง ไม่ต้องไปแคร์ ไม่ต้องไปฝากอะไรกับใคร แล้วก็สอนเรื่องเขียนรูปอยู่บ้าง ว่าเขียนยังไง เราก็ได้ความรู้มา...”

"...อย่างให้ผมคัดลอกรูปวัดต่างๆ ก็ไปตรวจ ให้ความรู้ตลอด พ่อจะสอนว่าการคัดลอกรูปจากโบราณเนี่ย เพื่อที่จะเอามาพัฒนาต่อ รูปไทยนี่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ คนเอเซีย อินเดีย จีน เรามีตรงนี้ เราเอาความรู้ตรงนี้ไปพัฒนา สอนให้ผมเรียนรู้จากอดีตแล้วสร้างงานที่เป็นเอเซีย ไม่ใช่ไปลอกฝรั่ง นี่สมัยใหม่เห็นฝรั่งเขาสมัยใหม่ก็จะสมัยใหม่กันบ้าง ต้องทำงานที่เกิดจากจิตใจ จิตวิญญาณของเราจริงๆ

การก่อตั้ง “มูลนิธิอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์” เป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อศึกษา รวบรวม และเผยแพร่ เรื่องราวชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อ รวมทั้งกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทย และสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจและความสามารถได้สร้างสรรค์ผลงานตามแนวคิดการสืบสานและสร้างสรรค์ศิลปกรรมไทยประเพณีและศิลปกรรมไทยร่วมสมัย

ก้าวแรกของงานนี้เริ่มที่การจัดนิทรรศการ “เส้น สี ที่ฝากไว้” เพื่อเผยแพร่ผลงานจิตรกรรมของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ รวมทั้งหารายได้เป็นกองทุนตั้งต้นสำหรับการจัดตั้งหอศิลป์อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นที่รวบรวมผลงาน ข้อมูล ความรู้ หนังสือ เทปบันทึกเสียง และสื่อต่างๆ เกี่ยวกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทย

ลลิสา จงบารมี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร อธิบายว่า ...“อาจารย์เฟื้อเป็นศิลปินระดับโลกที่ได้ฝากงานไว้ในสยาม ผลงานของท่านอยู่ในการครอบครองของชาวต่างชาติมากกว่า 60% อยู่ที่สิงคโปร์บ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ผลงานมีราคาตั้งแต่ 7 หลัก ไปจนถึง 8 หลัก เราไม่สามารถจะนำผลงานจริงกลับจากต่างประเทศมาแสดงได้ แต่อาจารย์ทำนุ ก็ได้ใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการติดตาม ติดต่อ รวบรวมว่าไปอยู่ที่ใครบ้าง ใช้เวลา 5 ปีในการสืบค้น ส่วนหนึ่งได้มาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อีกส่วนอยู่ที่หอศิลป์ พีระศรี และก็นักสะสมชาวไทยอีกหลายๆ คน งานนี้นับว่าเป็นก้าวแรกก่อนที่จะต่อยอดการศึกษาผลงานของอาจารย์เฟื้อต่อไป”

“ในระยะต่อไปเราอาจจะสร้างอาคารถาวรเพื่อแสดงผลงานของอาจารย์เฟื้อให้คนรุ่นหลังได้ไปดู ไปศึกษา แล้วก็ถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่อาจารย์เฟื้อสอนเรื่องการพัฒนาจากลายเส้นซึ่งเป็นหัวใจ เป็นไวยากรณ์ของศิลปะ ต่อเนื่องไปเป็นผลงาน ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เห็นตรงนี้ เพื่อจะได้พัฒนาไป เด็กจะได้พัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด” อาจารย์ทำนุ สรุป

...

เส้น สี ที่ฝากไว้ ของอาจารย์เฟื้่อ หริพิทักษ์

28 มิถุนายน - 18 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องแสดงนิทรรศการ มูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร 177 ลลิสาเพลส สุขุมวิท 39 กรุงเทพฯ เชิญชมนิทรรศการ “เส้น สี ที่ฝากไว้” จัดแสดงและจำหน่ายผลงานศิลปะภาพพิมพ์จากผลงานจิตรกรรมและงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้่อ หริพิทักษ์ เป็นผลงานที่คัดลอกจากภาพต้นฉบับของจริงที่อยู่ในการครอบครองของนักสะสมงานศิลปะหลายราย จำนวนกว่า 60 ภาพ รายได้จากการจำหน่ายผลงานสนับสนุนการจัดตั้ง “มูลนิธิอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์” สอบถามโทร.0 2662 8377