You are ? What You Eat (หยุดกินปลานกแก้ว)

You are ? What You Eat (หยุดกินปลานกแก้ว)

กินอย่างไรเป็นอย่างนั้น ถ้าวันนี้คุณกินปลานกแก้ว รู้หรือไม่...คุณคือตัวการทำลายระบบนิเวศทะเลไทย

"เมื่อวันศุกร์ไปเดินตลาดสามย่านใหม่มาค่ะ เห็นมีอยู่ร้านนึงมีปลานกแก้วขายด้วย"

"ตอนอยู่เรือพรรคพวกเขาชอบล่ามันมาให้กินตอนออกไปดำน้ำวางทุ่นกัน"

"ถ้ามีโอกาสซื้อได้แบบขึ้นจากเรือสดๆ คุณจะรู้จักสุดยอดปลาสำหรับซาซิมิ"

"เราเอามาย่างทานอ่ะ ต้องนกแก้วเขียวนะ นกแก้วสีอื่นไม่หย่อย"

บทสนทนาบนเว็บบอร์ดยอดฮิตการันตีความนิยมรับประทานปลาสีสันสดใสที่ในปัจจุบันมีวางขายทั้งในซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด และร้านอาหาร ไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเล แต่กรุงเทพมหานครก็เป็นปลายทางของนักบริโภคผู้นิยมของแปลกเหล่านี้ด้วย

"กระแดะ" ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกอย่างนั้น

"ผมเคยกินตั้งแต่ปี 27 ชาวบ้านเขาเอามาให้กิน มันติดอวนมา ไม่อร่อยหรอก ถ้าอยากกระแดะกินก็เชิญ เพียงแต่ผมอยากบอกว่ามีปลาอีกล้านแปดพันเก้าให้คุณกินโดยที่ไม่ต้องทำลายธรรมชาติ"

ปลานกแก้ว หรือ Parrotfish เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งอยู่ในวงศ์ Scaridae อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีมากกว่า 20 ชนิด เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม ด้วยลักษณะฟันที่แหลมคมคล้ายจะงอยของนกแก้ว ยืดหดได้ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก

สมัยก่อนคนไทยไม่นิยมรับประทานปลาชนิดนี้ หากติดอวนชาวประมงขึ้นมาส่วนใหญ่ก็จะโยนกลับคืนสู่ท้องทะเล แต่หลังๆ เริ่มมีคนอยากลิ้มลองมันมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและไต้หวันที่รับประทานกันอยู่แล้ว อีกส่วนมาจากคำร่ำลือเรื่องรสชาติซึ่งผูกติดมากับความนิยมของแปลก ด้วยสีสันสดใสสะดุดตาเมื่อถูกนำมาวางรวมกับปลาอื่นๆ ทำให้อุปสงค์-อุปทานเพิ่มเป็นเงาตามตัว คราวนี้นอกจากปลานกแก้วที่ติดอวนจะไม่มีโอกาสกลับบ้านในแนวปะการังแล้ว ยังมีการจับพวกมันมาขายในเชิงธุรกิจด้วย ซึ่งดูเผินๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ถ้ารู้จักธรรมชาติและคุณูปการของ 'ปลานกแก้ว' แล้ว ต้องบอกว่า...นี่คือภัยคุกคามทะเลไทยรูปแบบใหม่

"ปลานกแก้วทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย" ดร.ธรณ์ ฟันธง ทั้งนี้เพราะปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังแทบทั้งหมดในประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง

"แนวปะการังมากกว่าครึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายอุทยานแห่งชาติ คงไม่ต้องพูดถึงว่าทำการประมงได้หรือเปล่า ขนาดเก็บหินยังไม่ได้เลย แล้วแนวปะการังที่อื่นๆ อย่างภูเก็ต กระบี่ หรือแม้กระทั่งเกาะล้าน ก็มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จังหวัดประกาศออกมาว่าเป็นเขตคุ้มครองห้ามจับสัตว์น้ำ เพราะฉะนั้นเรียกว่าแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยเป็นเขตคุ้มครอง ซึ่งปลานกแก้วมันอาศัยอยู่เฉพาะในแนวปะการัง เราไม่เจอปลานกแก้วตามป่าชายเลนหรือทะเลทั่วไป ดังนั้นแม้ว่าการจับปลานกแก้วจะไม่ผิดกฎหมาย แต่พื้นที่ที่ปลานกแก้วอยู่อาศัยเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตคุ้มครองห้ามจับสัตว์น้ำ"

ปลานกแก้วที่วางขายอยู่ตามตลาดปลาหรือแม้แต่ซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ๆ จึงมีที่มาไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ถึงอย่างนั้นด้วยช่องโหว่เล็กๆ ของกฎหมายที่ไม่สามารถเอาผิดผู้ขายปลานกแก้วได้ พวกมันจึงได้ไปอวดโฉมอยู่ตามที่ต่างๆ แทนที่จะเป็นในทะเล และเมื่อสอบถามพ่อค้าหัวใสบางรายก็จะบอกว่าเป็น "ปลาเลี้ยง"

"มันไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจหลักๆ เหมือนปลากระพงหรืออะไร เรื่องของการศึกษาในการเพาะเลี้ยงมันก็ไม่มี แล้วมันก็เป็นปลาที่ต้องอยู่ในแนวปะการัง กินพวกสาหร่ายและปะการังตาย เป็นปลาที่ใช้พื้นที่ในการหากินเยอะ ทำให้การเพาะเลี้ยงนั้นยากมาก"

"อีกอย่างต้องเข้าใจว่า ปลากระพง หรือกุ้งที่เราเลี้ยงกันเยอะๆ มันไม่ใช่ทำกันสองปีสามปีแล้วเลี้ยงได้นะครับ มันทำกัน 10-15 ปี คำว่าเพาะเลี้ยงหมายความว่าต้องทำกันครบวงจร คุณต้องเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จนออกลูกได้ แล้วนำลูกมาเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ จนครบวงจร วนอยู่เฉพาะการเพาะเลี้ยง ไม่ใช่จับปลาจากธรรมชาติจากแนวปะการัง แล้วมาใส่ตู้ในร้านอาหารรอไว้ แล้วบอกว่าเป็นการเพาะเลี้ยง นั่นไม่ใช่การเพาะเลี้ยงครับ" อ.ธรณ์ อธิบาย

เมื่อเลี้ยงไม่ได้ก็ต้องไปจับมาจากธรรมชาติ แต่ตรรกกะไม่ได้ง่ายๆ แค่พวกมันเริ่มหายไปจากแนวปะการัง นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลขยายให้เห็นถึงผลกระทบใหญ่หลวงที่จะเกิดกับระบบนิเวศ ชนิดที่เรียกว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" กันเลยทีเดียว

เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) คนแรกๆ ที่จุดประกายในโซเชียลมีเดียว่าปัจจุบันมีการนำเอาปลานกแก้วมาขายจำนวนมาก และอาจส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะปลานกแก้วถือเป็นปลาที่ช่วยรักษาระบบนิเวศในแหล่งปะการังที่ดีที่สุดในบรรดาสัตว์ทะเลทั้งหมด

"เนื่องจากปลานกแก้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง กินสาหร่ายทะเลเป็นอาหาร เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ปะการังบอบช้ำจากการฟอกขาว เวลาที่มีสาหร่ายมาปกคลุม เพราะปลานกแก้วจะช่วยกินสาหร่าย ทำให้ตัวอ่อนของปะการังสามารถเติบโตได้ อีกทั้งจากการวิจัยเก็บข้อมูล พบว่าปลานกแก้วแต่ละชนิดเฉลี่ยแล้วจะขับถ่ายออกมาเป็นทรายละเอียดถึงปีละ 90 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดทรายในทะเล หมุนเวียนแร่ธาตุในแนวปะการัง รวมทั้งถ้ามองแบบลึกๆ วิถีชีวิตของปลานกแก้วนั้นเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากการขับถ่ายนั่นเอง"

อ.ธรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปลานกแก้ว เป็นปลากินพืชในแนวปะการังที่โดดเด่นกว่าปลาอื่นๆ ตรงที่นอกจากมันจะกินสาหร่ายแล้ว ยังกินปะการังตายและถ่ายออกมาเป็นทราย

"ทรายพวกนี้ก็จะสะสมอยู่ในแนวปะการัง อย่าลืมว่าแนวปะการังถ้าไม่มีทรายก็พัง ข้อที่สองทรายพวกนั้นก็จะเข้ามาเติมทรายที่ชายหาดด้วย ชายหาดก็จะมีสีขาวสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่เกาะตาชัย เกาะสิมิลัน ทรายพวกนั้นก็มีส่วนหนึ่งมาจากปลานกแก้ว ซึ่งอันนี้เป็นกรณีพิเศษ เพราะมีปลานกแก้วกลุ่มเดียวเท่านั้นที่กินซากปะการังตายแล้วเติมทรายให้แนวปะการัง ตรงนี้สำคัญ"

ความสำคัญของปลาสีสดนี้ยังยืนยันด้วยผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Letter (2013) โดย ดร.ปีเตอร์ มัมบี้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่าปลากินพืชโดยเฉพาะปลานกแก้วช่วยให้ปะการังฟื้นตัวได้เร็วขึ้นถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับแนวปะการังที่ไม่มีปลา ทั้งนี้แนวปะการังที่มีการฟื้นตัวได้ช้ามีแนวโน้มเสื่อมโทรมถาวรเพราะถูกสาหร่ายและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขึ้นคลุมพื้นที่

ยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวเข้ามาอีก อ.ธรณ์ บอกว่า ประเทศไทยใช่ว่าไม่มีแนวปะการังที่พินาศย่อยยับไปเพราะปลาในแนวปะการังรวมถึงปลานกแก้วโดนจับ

"แนวปะการังแถวเกาะสมุย เกาะพงัน อันนั้นเห็นชัด หมู่เกาะแตนที่อยู่ใกล้ๆ เกาะสมุย ผมทำมาตั้งแต่ปี 27 ก็ 30 ปีมาแล้ว ผมเห็นมาหมด ตั้งแต่ตอนแรกแนวปะการังเนี่ยเพอร์เฟคตั้ง 80 กว่าเปอร์เซนต์ มีปลาท่วมเลย พอทำไปทำมา ปลาก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนตอนหลังเหลือปะการังอยู่ 70-80 เปอร์เซนต์ ใกล้เคียงของเดิมแต่ปลาหายหมด พอปลาหายหมดตอนนั้นก็เกิดปะการังฟอกขาว พอเกิดปะการังฟอกขาวปุ๊บ ปะการังตายหมด เหลืออยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าเกิดเป็นแนวอื่นในอุทยานบางแห่งที่ยังมีการดูแลดีๆ ต่อให้ปะการังเหลือ 5 เปอร์เซนต์สักเดี๋ยวมันก็จะฟื้นตัวขึ้นมา กลับมาเป็น 60-70 แล้วก็กลับมาเป็น 80 ในเวลา 10 ปี 20 ปีก็ว่ากันไป

แต่อย่างเกาะรอบๆ เกาะสมุย 5 เปอร์เซนต์แล้วก็อยู่อย่างนั้นเลย มีแต่สาหร่าย คราวนี้ตอนจบก็คือว่าไม่มีทั้งปลาไม่มีทั้งสาหร่ายไม่มีปะการัง เพราะฉะนั้นผลกระทบที่มันเกิดขึ้น อย่างแรกก็คือ การท่องเที่ยวจบไปเลย คนไปเที่ยวที่เกาะสมุยต้องแห่ไปดำน้ำที่เกาะเต่า นั่งเรือไปชั่วโมงครึ่ง จ่ายค่าเรือไปไม่รู้กี่พัน ข้อสองคือชาวประมงไม่มีอะไรจะจับ เพราะแนวปะการังมันพังไปแล้ว ปะการังมันเป็นแหล่งทุกอย่างของทะเลแถวนั้น ถ้ามีแนวปะการังอยู่สัตว์น้ำต่างๆ มันก็มี พอมันว่ายมาข้างนอกชาวประมงก็จับสัตว์น้ำได้ ...แนวปะการังมันไปแล้ว ไปเลย มีเงินหรือต่อให้เป็นคสช.ก็จะคงคืนความสุขให้แนวปะการังไม่ได้หรอกครับ"

ดังนั้นหากเทียบความสำคัญในระบบนิเวศ อ.ธรณ์ ยกให้ ปลานกแก้วมีความสำคัญสูงสุดในแนวปะการัง "ปลานกแก้วในแนวปะการังเนี่ยไม่ได้มีแค่ 5 ตัว 10 ตัว บางฝูงเนี่ยเป็นร้อยตัว สมัยผมดำน้ำใหม่ๆ ฝูงหนึ่งสองร้อยตัวสามร้อยตัว ผมก็เคยเห็นมาแล้ว แต่ปัจจุบันเห็นอย่างมากก็สองตัวสามตัว ห้าตัวอย่างเก่ง แต่ก่อนผมเคยนั่งนับฝูงปลานกแก้วว่ายน้ำผ่านหน้าผม ผมอยู่สองสามนาทีกว่าจะหมดฝูง เดี๋ยวนี้มาถึงวูบ ถามว่าลดน้อยลงแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าลดลงเยอะมาก"

เมื่อผลกระทบที่คาดการณ์ได้คือ ปลานกแก้วหาย ปะการังตาย ทรายลดลง คำถามก็คือถึงเวลาหรือยังที่จะต้องดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง

"เรากำลังจะเปิดให้คนทั่วไปร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ห้างขนาดใหญ่ยุติการนำปลานกแก้วมาจำหน่าย เพราะมันเป็นการสร้างดีมานด์โดยไม่จำเป็น คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นิยมกินกัน แต่ซัพพลายเออร์เป็นคนสร้างดีมานด์ตรงนี้ขึ้นมา อีกอย่างการเพาะเลี้ยงเท่าที่ถามผู้รู้ ยังทำไม่ได้ ถึงเพาะได้ ถามว่าจำเป็นขนาดไหน แล้วถ้าเพาะได้จริงจะตรวจสอบอย่างไรว่าปลาที่เห็นวางขายอยู่มาจากการเพาะหรือมาจากธรรมชาติ ซึ่งก็จะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง" เพชร ให้ความเห็น

"ในระยะสั้นนอกจากรณรงค์ให้.ห้างทั้งหลายประกาศยุติการนำปลานกแก้วมาขาย ในพื้นที่เราอยากให้ตัวผู้ใช้ทรัพยากรตระหนักว่าปลานกแก้วมีบทบาท มีความสำคัญกับแนวปะรัง ระยะยาวก็อยากให้กรมประมงคิดมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน เช่นเป็นไปได้มั้ยที่จะให้ปลานกแก้วเป็นชนิดพันธุ์อนุรักษ์ โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่มันหมดไป เพราะถ้ารอให้ถึงวันนั้น ก็เท่ากับเราสูญเสียชนิดพันธุ์ที่่จะรักษากลไกลของระบบนิเวศไปแล้ว"

สำหรับนักวิชาการอย่างอ.ธรณ์ มองว่ามาตรการทางสังคมน่าจะได้ผลมากกว่ามาตรการทางกฎหมาย ต้องทำให้ผู้ที่รับซื้อปลานกแก้วจำนวนมากมาขาย ตระหนักว่าสังคมไม่เห็นด้วย

"สังคมไม่เข้าใจว่าทำไมซุปเปอร์มาเก็ตของคุณขายของมหาศาลต้องมาฝากความหวังไว้กับการขายปลานกแก้ว กำไรจากการขายปลานกแก้วมันกระผีกเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องบอกผู้ประกอบการใหญ่ๆ เหล่านั้นซึ่งมีอยู่ไม่กี่เจ้า ก็รู้ๆ กันอยู่ ให้ช่วยคิดตรงนี้สักนิดนึง และถ้าเป็นไปได้ ไม่รับซื้อ ไม่จำหน่ายปลานกแก้ว ก็จบแล้ว"

และไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการใดๆ สำคัญคือควรเริ่มตั้งแต่นาทีนี้ ไม่เช่นนั้นอาจสายเกินไป

"เรากำลังจะเจอกับเอลนิโญ่ ข้อมูลก็ชัดเจนว่าปีนี้โดนแน่ เอลนิโญ่จะมาพร้อมกับปะการังฟอกขาว ตอนนี้เริ่มมีรายงานปะการังฟอกขาวประปรายแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีปะการังฟอกขาว ปะการังตาย แล้วไม่มีปลานกแก้วช่วยจะทำยังไง ก็ต้องเริ่มนาทีนี้ เพราะถ้าไม่เริ่ม ปีหน้าเราก็จะสูญเสียแนวปะการังแน่นอน"