เรื่องชวน(ปวด)หัวของการเขียนแผนที่

เรื่องชวน(ปวด)หัวของการเขียนแผนที่

การบุกเข้ายึดครองคาบสมุทรไครเมียของรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะทำให้นักการทูตต้องปวดเศียรเวียนเกล้า

แต่มันยังกลายเป็นปัญหาหนักอกสำหรับนักเขียนแผนที่ที่กำลังปวดหัวว่าควรจะวาดแผนที่ระบุให้ไครเมียเป็นของใครดี ระหว่างยูเครน รัสเซียหรือพื้นที่พิพาท

รัฐบาลสหรัฐเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแผนที่ทางการของไครเมีย ส่วนนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กลับเลือกที่จะปักป้ายให้ไครเมียเป็น "พื้นที่ที่มีสถานะพิเศษ"

ในขณะที่เสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิลกลับแสดงความซับซ้อนของสถานการณ์ได้ดีที่สุด ในช่วงปลายเดือนเมษายน คนจัดทำแผนที่ระดับโลกอย่างกูเกิล แมพ มีการระบุแผนที่ของไครเมียเป็น 3 เวอร์ชั่น ถ้าใครเข้ากูเกิล แมพจากยูเครน แผนที่ของไครเมียจะปรากฎเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนหรืออยู่ที่เดิมก่อนที่จะถูกรัสเซียบุก แต่ถ้าเข้ากูเกิล แมพจากรัสเซีย ไครเมียจะอยู่แยกจากยูเครนโดยมีเส้นแบ่งเป็นเส้นหนาทึบ สำหรับคนที่เข้ากูเกิล แมพจากประเทศอื่นๆ จะเห็นแผนที่ของไครเมียมีเส้นประซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเขตแดนที่มีข้อพิพาท

และตอนนี้ในภาวะที่สถานการณ์ยังคงไม่สามารถควบคุมได้ ชาวยูเครนจะมองเห็นแผนที่ของไครเมียเป็นเส้นประ แต่ก็เป็นเส้นบางๆ กว่าแผนที่ที่คนทั่วโลกมองเห็น

การจัดทำแผนที่มักเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยนักเขียนแผนที่ที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองที่มักมีความขัดแย้งกับความต้องการของผู้รับสาร

"คนทั่วไปมักคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเพียงเรื่องของภาวะวิสัย และคิดว่าการจัดทำแผนที่เป็นเพียงตัวสะท้อนโลกที่อยู่ภายนอก แต่ความจริงแล้วมันไม่เคยชัดเจนเช่นนั้น" คริสทีน ลูเอนเบอร์เกอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ที่ทำวิจัยเรื่องการเมืองและการทำแผนที่กล่าว

"แผนที่เป็นเรื่องของการเลือกเฟ้น คุณจะต้องมีการละเว้น (บางอย่าง) ให้มากพอๆ กับการผนวก (บางอย่าง) เข้าด้วยกัน ดังนั้นแผนที่จึงเป็นเรื่องการเมืองเสมอ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างแผนที่ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย" คริสทีนกล่าว

กรณีของดินแดนเขตเวสต์แบงก์ องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ซึ่งนักเขียนแผนที่หลายคนหันไปพึ่งทิศทางของยูเอ็นในการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนก็มีการใช้เทคโนโลยีจีพีเอสในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของกำแพงแบ่งแยกดินแดนและเชื้อชาติระหว่างอิสราเอลและเขตเวสต์แบงค์ แต่สำหรับบางคนแล้ว ตำแหน่งดังกล่าวยังไม่ถูกต้องแม่นยำพอ

คริสทีนบอกว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นชาวปาเลสไตน์แย้งว่าตำแหน่งที่ตั้งของกำแพงดังกล่าวไม่ได้แสดงความเป็นจริงของภูมิศาสตร์ทางการเมืองบนพื้นดิน เพราะกำแพงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผนังและรั้ว แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของเขตที่มีการแบ่งแยกดินแดน

"ดังนั้น คุณจึงไม่สามารถเขียนแผนที่แยกกำแพงออกมาจากด่านตรวจและเขตอันตรายห้ามเข้าซึ่งอยู่ใกล้กับกำแพง แต่คุณจะต้องเขียนแผนที่รวมทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน" คริสทีนกล่าว

เพราะความยากลำบากในการเขียนแผนที่ นักเขียนแผนที่ส่วนใหญ่จึงมีแนวทางในการตัดสินใจจัดการกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แรนด์ แมคนัลลี่ นักเขียนแผนที่ในสหรัฐอเมริกา เขาจะเปลี่ยนแปลงเส้นพรมแดนของประเทศก็ต่อเมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ แม้ว่ามันจะทำให้พื้นที่นั้นๆ กลายเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทก็ตาม

แต่นักทำแผนที่ที่มีคนดูเป็นสากลมากกว่าอย่างกูเกิลจะต้องมีความละเอียดอ่อนเป็นการเฉพาะ การทำแผนที่แสดงอาณาเขตในบางลักษณะอาจไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ใช้บริการไม่พอใจเท่านั้น แต่มันอาจหมายถึงแผนที่นั้นถูกจัดทำขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบและกฎหมายของภูมิภาคนั้นๆ และอาจเป็นการทำผิดกฎหมายหรืออย่างน้อยก็ทำให้คนไม่ใช้บริการ

HERE ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นบอกทางของบริษัทโนเกียมักจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ จากข้อมูลของคริสตอฟ เฮลล์มิส รองประธานของ HERE ระบุว่า รถยนต์ทั่วโลกราวร้อยละ 80 มีการติดตั้งแผนที่จีพีเอสของโนเกีย ซึ่งก็ยึดตามแผนที่ของยูเอ็น แต่ถ้าแผนที่นั้นๆ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่นแล้ว แน่นอนว่าทางโนเกียก็ต้องสนับสนุนลูกค้าของพวกเขาด้วยการทำแผนที่ให้สอดคล้องกับท้องถิ่น

เขาบอกว่า รถยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีจีพีเอสที่จะส่งไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแผนที่นั้นๆ ถูกใช้ในส่วนอื่นของโลกที่ไม่ใช่จีน แผนที่ต้องระบุว่าไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่สำหรับรถยนต์ที่ถูกส่งไปยังจีน ไต้หวันจะถูกระบุในแผนที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ในขณะที่เหล่านักเขียนแผนที่ต้องต่อสู้กับการนำเสนอภาพแผนที่โลกให้สามารถตอบสนองความต้องการทั้งด้านการศึกษา การพาณิชย์และการเมือง พวกเขายังต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่นั่นคือนักทำแผนที่ปัจเจกบุคคล ตอนนี้ทุกคนสามารถสร้างแผนที่ของตัวเองผ่านซอฟท์แวร์ที่ชื่อ Scribblemaps และแชร์ให้คนอื่นได้ด้วย การทำแผนที่โดยใช้ Crowd Sourcing หรือการร่วมสร้างสรรค์ของกลุ่มคนเพื่อร่วมกันทำหรือสร้างสิ่งต่างๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาร่วมกันกลายเป็นเทรนด์ฮิตของการทำแผนที่ ผู้ใช้บริการกูเกิล แมพสามารถแก้ไขแผนที่ได้ แม้ว่าจะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการอนุมัติการแก้ไขก่อนที่จะปรากฏบนโลกออนไลน์

แผนที่ไม่เพียงแต่จะเป็นภาพสะท้อนการรับรู้ของเราที่มีต่อโลก แต่มันยังช่วยสร้างการรับรู้ด้วย วิธีการของกูเกิล แมพ อาจเป็นความชาญฉลาดในเชิงพาณิชย์ที่ทำให้คนยูเครนมองเห็นความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ในขณะที่ชาวรัสเซียจะเห็นความจริงอีกแบบหนึ่ง แต่ความล้มเหลวในการนำเสนอความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความจริงที่แตกต่างกันในมุมมองของผู้ใช้บริการ

ถ้า Crowd Sourcing เป็นอนาคตของการทำแผนที่ การนำเสนอภาพสะท้อนของโลกอาจจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นและแน่นอนว่าจะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

..................................

ที่มา เว็บไซต์บีบีซี