เล่าเรื่องผี ที่ "ปางมะผ้า"

เล่าเรื่องผี ที่ "ปางมะผ้า"

ถ้าจะมี "ผี" สักประเภทที่ทำให้เรารู้สึกอยากเดินทางเพื่อไปพิสูจน์ความลึกลับต่างๆ ได้ "ผีแมน" น่าจะอยู่ในลิสต์ของผีที่น่าสนใจเป็นลำดับต้นๆ

นานมากแล้วที่คำว่า "ผีแมน" เข้ามาสะกิดต่อมอยากรู้ให้ฉันต้องสืบค้นที่มาของคำๆ นี้ แต่ก็ยังไม่เคยกระจ่างแจ้งกับตาตัวเองสักที กระทั่งมีโอกาสได้เดินทางไปถึงพื้นที่ที่ถือเป็น "จุดเกิดเหตุ" จากความน่าสะพรึงที่เคยมีในตอนแรกถูกแปรเปลี่ยนเป็นความน่าสนใจ เพราะผีแมนที่ว่านี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนในชาติเลยทีเดียว

ไม่ได้ตั้งใจจะชวนเดินทางไปค้นหา "ความตาย" แต่พยายามจะชวนไปศึกษา "รากแห่งอดีต" ที่มีคุณค่าต่อลมหายใจของมนุษยชาติต่างหาก(ดูยิ่งใหญ่จริงๆ)

เมื่อจัดคิวการเดินทางของตัวเองได้ ในบ่ายแก่ๆ ของวันที่ฤดูหนาวยังคงทำงาน ฉันจึงนั่งรถตู้จากเชียงใหม่มาลงที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ดูเหมือนว่า ปางมะผ้า จะเป็นปลายทางของการเดินทาง แต่จริงๆ แล้วที่นี่คือต้นทางของเรื่องราวที่ฉันกำลังค้นหา

1.

"ถิ่นผีแมน แดนร้อยถ้ำ งามล้ำขุนเขา รวมเผ่าชาวดอย" คำขวัญประจำอำเภอปางมะผ้า บอกความสำคัญของอำเภอที่มีประชากรรวมกันไม่ถึง 20,000 คน ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ดีทีเดียว

จำได้ว่าเมื่อราว 10 ปีก่อน มีคนพูดถึง "ปางมะผ้า" ฉันยังขมวดคิ้วสงสัยอยู่เลยว่า ปางมะผ้าคืออะไร และอยู่ที่ไหน แต่เมื่อสงสัยก็หาคำตอบ จนวันนี้สามารถอธิบายให้ใครต่อใครฟังได้แล้วว่า ปางมะผ้าเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งคำว่า "ปางมะผ้า" นั้นเป็นภาษาไทยใหญ่ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า "ปาง" หมายถึงที่พักชั่วคราว ส่วน "มะผ้า" เพี้ยนมาจากคำว่า "หมากผ้า" ที่แปลว่า มะนาว เมื่อรวมความกันแล้วจึงหมายถึง ที่พักชั่วคราวที่มีมะนาว นั่นเอง

ทีนี้หลายคนอาจจะงงต่อ มะนาวเกี่ยวอะไร ยังไง จากข้อมูลของอำเภอปางมะผ้ามีการเล่าย้อนไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นกองทหารญี่ปุ่นตัดถนนจากเมืองปายไปยังแม่ฮ่องสอนเพื่อเข้าสู่ประเทศพม่า จึงมีประชาชนใช้เส้นทางนี้กันจำนวนมาก และก็มักจะมีการแวะพักแรมที่จุดนี้ จนราวปี พ.ศ.2491 ราชการได้ตั้งสถานีตำรวจภูธรเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรไปมา ณ บริเวณที่เรียกว่า "ปางมะผ้า" ส่วนที่เรียกแบบนี้ก็เพราะว่าละแวกนี้สามารถหามะนาวมาปรุงอาหารได้ง่ายกว่าจุดอื่นๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นแหล่งปลูกมะนาว เมื่อมาพักที่นี่จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสถานที่นั่นเอง

จะว่าไป ความเก่าแก่โบราณของชุมชนในอำเภอปางมะผ้าไม่ได้ย้อนไปหยุดแค่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ปางมะผ้าเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีหลักฐานเป็นร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ในถ้ำต่างๆ ทั่วพื้นที่ของอำเภอนี้กว่า 70 ถ้ำ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุ เช่น หม้อดินเผา เครื่องมือขวานหิน เครื่องประดับ กี่ทอผ้า ฯลฯ รวมถึงการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือโลงศพโบราณ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า "โลงผีแมน" อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งการค้นพบเหล่านี้เองที่เป็นหลักฐานสำคัญบ่งบอกให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันรู้ว่า เรามีรากความเป็นมาของอดีตอย่างไร

2.

สายลมเย็นๆ ยังคงพัดพลิ้วอยู่ในป่าที่สลับซับซ้อนของปางมะผ้า ฉันเริ่มทำความรู้จักกับอำเภอที่มีชาวไทยหลากหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่รวมกัน ณ ชุมชนบ้านไร่ ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

บ้านไร่ เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีผู้คนหลากเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน โดยมีชาวไทยใหญ่เป็นประชากรหลัก นอกจากนี้ก็ยังมีชาวม้ง ลีซู และคนเมืองอาศัยอยู่ด้วย

ฉันพบกับ พ่อหลวงซัวหยี้ แซ่หัน ซึ่งเป็นอดีตพ่อหลวงของชุมชนบ้านไร่ ท่านเล่าให้ฟังว่า ชาวไทยใหญ่เป็นกลุ่มชนแรกๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นอาศัย ณ บริเวณนี้ โดยเข้ามาราวปี 2516 จากนั้นก็เริ่มมีชุมชนอย่างจริงจังในปี 2522 ซึ่งชื่อบ้านไร่ ก็มาจากภาษาไทยใหญ่ที่ว่า "บ้านไฮ่" หมายถึง ชุมชนที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก

พ่อหลวงบอกว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านไร่ดำเนินมาอย่างปกติ กระทั่งมีการค้นพบโลงผีแมนจำนวนมากที่เพิงผาบ้านไร่ นั่นเองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับชุมชนบ้านไร่ของเขา เพราะเริ่มมีนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์เข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น

"ตอนนั้นพวกเราเองก็รู้สึกตื่นเต้นมากเลย เพราะมันใหญ่มาก" พ่อหลวงเล่าอย่างตื่นเต้น ก่อนจะพาเราเข้าไปใน พิพิธภัณฑ์บ้านไร่ ซึ่งเป็นจุดแรกที่นักท่องเที่ยวควรเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ก่อนจะเดินทางไปชมจุดอื่นๆ

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณของชาวบ้านไร่ นอกจากนี้ยังมีการจำลอง "เพิงผาบ้านไร่" ที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีโลงผีแมนจำนวนมากตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี โดยแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่นั้นตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปราว 3 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเพิงผารูปพระจันทร์เสี้ยวที่อยู่สูงจากเชิงเขาราว 170 เมตร เพิงผาแห่งนี้มีความกว้างมากถึงขนาดที่มีโลงผีแมนโบราณจำนวนมากตั้งอยู่ ถือเป็นเพิงผาเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการพบโลงผีแมน

สำหรับวัฒนธรรมโลงไม้ หรือ โลงผีแมน เป็นลักษณะเฉพาะของการปลงศพที่พบในพื้นที่สูงอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการปลงศพมีความโดดเด่นอยู่ตรงที่ประกอบด้วยโลงไม้ ซึ่งมักจะทำจากไม้สักผ่าครึ่งและขุดส่วนกลางออก ส่วนปลายทั้งสองด้านมีการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ไม้ที่ผ่าครึ่งจะประกบกันเป็นคู่ และวางบนเสาไม้จำนวน 4-6 เสา หรือวางไว้บนคานภายในถ้ำ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เกือบจะอยู่บนยอดของเทือกเขาหินปูนในภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) โบราณวัตถุที่พบร่วมกับโลงไม้ ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดูกคน หม้อและเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินรมควันลายเชือกทาบ ลูกปัดแก้ว เครื่องมือสำริด และเครื่องมือเหล็ก

ส่วนที่เรียกว่า “โลงผีแมน” นั้น พ่อหลวงซัวหยี้ บอกว่า มาจากชาวบ้านที่พบโลงผีและเรียกต่อๆ กันมา ซึ่งคำว่าผีแมนเป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึง ผีที่โผล่ขึ้นมาจากดิน

การพบโลงผีในพื้นที่อำเภอปางมะผ้าเป็นหลักฐานชิ้นใหญ่ที่จะบอกได้ว่า มนุษย์ในอดีตมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และมันก็จะเชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคปัจจุบันได้

3.

แดดบ่ายกำลังทำร้ายผิวเราอย่างรุนแรงเมื่อเราเดินทางมาถึง บ้านจ่าโบ่ ชุมชนชาวลาหู่ที่ตั้งอยู่ในตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ที่นี่น่าจะเป็นชุมชนที่ได้ "รับแขก" บ่อยกว่าชุมชนอื่นๆ ในปางมะผ้า เพราะค่อนข้างพร้อมกว่าทั้งในแง่ของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว และทรัพยากรบุคคลที่ลงมือทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ

"อาบูดายา(สวัสดี)" ศรชัย ไพรเนติธรรม ผู้ประสานงานชุมชนบ้านจ่าโบ่ ร้องทักเป็นภาษาลาหู่มาแต่ไกล ก่อนจะยกมือไหว้และเริ่มแนะนำชุมชนให้ผู้มาใหม่อย่างเราได้รู้จัก

จ่าโบ่ เป็นชุมชนของชาวลาหู่กลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอำเภอปางมะผ้าเมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมา โดยมาตั้งชุมชน ณ ที่ปัจจุบันอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2532 วิถีชีวิตของชาวจ่าโบ่ก็ไม่แตกต่างจากชาวบ้านไร่เท่าไรนัก คือประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และผู้คนส่วนมากก็นับถือ "ผี" ทั้งผีบ้าน ผีเรือน ผีน้ำ ผีฟ้า ผีไร่ ฯลฯ และมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษา

เอ่ยถึง "ผี" ที่บ้านจ่าโบ่ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่พบว่ามี "โลงผีแมน" อยู่ภายในถ้ำ เมื่อรู้ดังนั้นเราจึงขอให้ศรชัย หรือชื่อในภาษาลาหู่ว่า "จ่ายอ" พาเราขึ้นไปชมความลึกลับของโลงผีที่ว่า ณ ถ้ำจ่าโบ่

ภูเขาหินปูนลูกนั้นตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่โล่งหลังหมู่บ้าน ฉันแหงนหน้ามองจนคอตั้ง และก็พบว่ามีบันไดไม้เล็กๆ ทอดวนไปเวียนมาอยู่บนไหล่เขา และเพราะคนที่นี่ยังนับถือผีเป็นใหญ่ ก่อนเดินทางเข้าถ้ำจ่าโบ่ ศรชัยจึงต้องจุดธูปเพื่อทำพิธีขออนุญาตก่อนเข้าชม

ถ้ำจ่าโบ่ เป็นแหล่งโบราณคดีที่พบโลงไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุ 2,600-1,100 ปีมาแล้ว นับเป็นวัฒนธรรมสำคัญของคนโบราณที่ปางมะผ้าอีกแห่งหนึ่ง เราเดินฝ่าความสูงชันขึ้นไปตามบันไดไม้กระทั่งถึงผาหน้าถ้ำ ตรงนั้นมีโลงไม้ หรือโลงผีแมน ชนิดที่เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุดอยู่ 1 โลง ลักษณะเป็นโลงไม้สักขนาดยาวราว 3 เมตร ตั้งอยู่บนเสาที่ใช้ทำเป็นคานไม้

"ลักษณะการวางโลงไม้ที่เห็นจะเป็นแนวคิดเดียวกับเรื่องของฮวงจุ้ยชัดเจน" รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชวนเราเดินทางไปด้วยเกริ่นขึ้น ก่อนจะเล่าต่อว่า โลงไม้ที่ถ้ำจ่าโบ่น่าจะมีอายุราว 2,000 ปี แต่ไม่มีรายละเอียดให้วิเคราะห์มากกว่านี้ เพราะหลักฐานหลายๆ อย่างอาจถูกชาวบ้าน หรือผู้คนที่ขึ้นมาในถ้ำเมื่อสมัยก่อนทำลายไป สิ่งที่พบจึงเป็นเพียงเศษหม้อลายเชือกทาบ ที่อาจจะเป็นของเซ่นในโลงศพ

"ถ้ำจ่าโบ่เราไม่พบกระดูกคนเลย เราจึงศึกษาได้เฉพาะอายุของโลงไม้ ศึกษาวงปีไม้ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะใช้ไม้ในพื้นที่ราบ คือไม่ใช่ไม้แถวนี้ แล้วจากการศึกษาลักษณะของวงปีไม้ก็วิเคราะห์ได้ว่าน่าจะตัดมาจากพื้นที่ราบ ปัญหาคือไม่รู้ตัดมายังไง" นั่นเป็นปริศนาที่นักวิจัยยังต้องค้นหาคำตอบ

เราเดินเลาะถ้ำผ่านโลงไม้อีกหลายโลงลงไปชมโลงไม้ที่อยู่ด้านล่างสุด ก่อนจะปีนกลับขึ้นมาด้านบน เพื่อชมโลงไม้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ ณ จุดที่เรียกว่ามีภูมิทัศน์งดงามที่สุด คืออยู่บริเวณปากถ้ำพอดี ซึ่งการวางโลงศพแบบนี้อาจารย์รัศมีบอกว่า เป็นวัฒนธรรมที่คล้ายกับการฝังศพที่คำนึงถึงฮวงจุ้ยเหมือนการฝังศพในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

.......................

จริงๆ แล้วในอำเภอปางมะผ้ามี "โลงผีแมน" ที่เป็นแหล่งโบราณคดีให้ศึกษาอีกมากมายหลายแห่ง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะรู้จักโลงผีแมนที่ตั้งอยู่ภายใน ถ้ำลอด หรือถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของอำเภอนี้ และมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมอยู่เป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม โลงผีแมนทุกแห่งนั้นล้วนเป็นหลักฐานสำคัญที่ "อาจจะ" ช่วยยืนยันอดีตของพวกเราชาวไทย โดยเฉพาะชาวบ้านในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ว่า คนไทยอยู่ที่นี่จริง

และถ้าเรื่อง "โลงไม้" หรือ "ผีแมน" ได้รับการพิสูจน์แล้วก็อาจจะทำให้คำถามที่ว่า "คนไทยมาจากไหน" ถูกไขปริศนาได้ในที่สุด

..................

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ไปอำเภอปางมะผ้าได้หลายรูปแบบ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล เครื่องบิน และรถตู้ประจำทาง สำหรับรถยนต์แนะให้ใช้ทางหลวงสายเอเชีย ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร จนถึงลำปาง จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ถึงเชียงใหม่ จากเชียงใหม่ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 เส้นทางไปอำเภอแม่แตง พอเห็นป้าย "ปาย" ที่บริเวณทางแยกแม่มาลัย ให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย-ปาย วิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนเลยอำเภอปาย อีกไม่นานก็จะถึงอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ถ้าเป็นเครื่องบิน แนะนำให้มาลงที่เชียงใหม่แล้วต่อรถตู้ประจำทาง เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ไปจะสะดวกกว่า แต่ถ้ามาลงแม่ฮ่องสอนก็เช่นเดียวกัน นั่งรถตู้มาลงที่อำเภอปางมะผ้าได้ การบินไทย มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน ทุกวัน สอบถามที่ โทร. 1566 หรือ www.thaiairways.com สายการบินนกแอร์ มีเส้นทางบินระหว่างแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ สอบถาม โทร. 0 5361 2057 ต่อ 106 หรือ call center โทร. 1318 หรือ www.nokair.com ส่วนสายการบินเอสจีเอ มีบริการเที่ยวบินระหว่าง เขียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่-ปาย ทุกวัน โทร. 0 2664 6099 หรือ www.sga.co.th