จารุทัศ สนิทวงศ์ ณ อยุุธยา ช่วยคน ต้องช่วยอย่างยั่งยืน

เรืองของคนหนุ่มที่อยากทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง สิ่งที่เขาแม้จะมีพื้นฐานการออกแบบ แต่เรื่องำอาหารศึกษาด้วยตัวเอง
ถ้าเข้าใจศาสตร์และศิลป์ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำ เหมือนเช่น จารุทัศ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทำอยู่เวลานี้ แม้จะไม่ได้เรียนด้านการทำอาหาร แต่เป็นเชฟได้ ก่อนหน้านี้เขาเรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ออสเตรเลีย แต่ที่สุดแล้วก็เลือกกลับมาทำงานที่เมืองไทย เพราะอยากทำประโยชน์ให้สังคมไทย ปัจจุบันเขาเป็นผู้ประสานงานพัฒนาผลิตผลอาหารและบริการ มูลนิธิโครงการหลวง ทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นเชฟของโครงการหลวง นอกจากนี้ยังหาเวลาไปช่วยเกษตรกรชาวอีสานสร้างแบรนด์ของตัวเองในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคม
และสิ่งที่ทำให้เขาเปลี่ยนไป คือ การบวชในสายพระป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต นั่นทำให้เขาเข้าใจชีวิตมากขึ้น และมีความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิต
ทำไมกลับมาทำงานเมืองไทย
ผมอยู่ออสเตรเลียสี่ปี เรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์และทำงานที่นั่นพักหนึ่ง เพราะผมชอบศิลปะและวิศวะ ก็เลยเลือกเรียนศาสตร์ที่ผสมผสานทั้งสองส่วน เราก็ทำงานออกแบบโปรดักส์ต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ กล้อง เครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ จนผมมาทำงานในบริษัทที่ออกแบบและผลิตวินด์เซิร์ฟ และไคท์เซิร์ฟในเมืองไทย และผมมาทราบภายหลังว่า เจ้าของบริษัทเป็นแชมป์โลกหลายสมัยในการเล่นวินด์เซิร์ฟ ซึ่งตอนผมกลับมาเมืองไทย ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง รัชกาลที่ 5 ตรัสว่า ลูกหลานพระองค์ที่ส่งไปเรียนเมืองนอก ไม่ใช่เพื่อความโก้ แต่ให้นำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ ตอนนั้นเราก็นึกในใจ เงินที่ส่งเราเรียนเมืองนอกก็เป็นเงินมรดกคุณทวด ซึ่งคล้ายๆ ศักดินาที่ได้มาสมัยรัชกาลที่ 5 พ่อแม่ก็ไม่ใช่พ่อค้าที่หาเงินมาเอง ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะกลับมาทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ
ไม่ได้เป็นคนหนุ่มที่อยากสร้างความมั่นคงให้ชีวิตการงาน ?
มีความอยากจะทำอะไรใหม่ๆ อยากทำอะไรก้าวหน้า แต่ไม่ชอบธุรกิจ ตั้งแต่เด็กๆ ไม่เชื่อในระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่ รู้สึกเหมือนของปลอม
เวลาศึกษาเรื่องใด คุณจะลงลึกจนรู้จริง ?
ในโลกนี้มีศาสตร์ให้เรียนรู้เยอะ ถ้าจะเรียนรู้ทั้งหมดภายในชาติเดียว คงเรียนรู้ไม่หมด ก็เลยเลือกสิ่งที่เราอยากทำ อาจมีอีโก้บางอย่างที่เป็นตัวผลักดัน แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นที่หนึ่งไปทำไม ไม่ต้องการได้เงินหรือทำเพื่ออาชีพ อย่างเราเราชอบร้องเพลงหรือดูนก ก็ทำมันให้ถึงที่สุด แล้วค่อยไปทำอย่างอื่น ก็แค่อยากทดสอบตัวเองว่าทำได้ไหม
ตอนอยู่ออสเตรเลียก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป กลับมาเมืองไทยคุณไปบวชและปฏิบัติธรรมอยู่ 7 เดือนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยปฏิบัติธรรมแล้วมีความสงบ ก็ไปหาพระอาจารย์ชยสาโร ปฏิบัติธรรมอยู่ 7 วัน ซึ่งเป็นเส้นทางธรรมะที่นำมาใช้กับชีวิตได้ ค่อยๆ รักษาศีล ลดละทีละอย่าง เมื่อก่อนชอบตกปลาก็เลิกไป เลิกดื่มเหล้า อยากบวชอีก เพราะตอนเรียนที่ออสเตรเลียหนักมาก เรารู้สึกว่า เราพยายามแทบตาย และชีวิตเราก็ไม่ได้มีความสุขอะไร ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่มีความสุข พอมาปฏิบัติธรรม เราเห็นความแตกต่าง การได้อยู่ในศีล ทำสมาธิและพระอาจารย์เทศน์ให้ฟัง ทำไมจิตใจสว่าง สงบ สดใส ทางนี้แหละ เราก็ปักใจว่า เราจะบวชให้ได้ แต่แม่ไม่ให้บวชตอนนั้นเพราะเพิ่งกลับจากเมืองนอก
จนได้มาบวชก็อธิษฐานว่า ขอให้รู้ธรรม เห็นธรรม ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์สอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราก็ไปพบครูบาอาจารย์ เมื่อฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านก็อยากพาให้เราหมดกิเลส เรียกว่าทำทุกอย่างเพื่อตัดจากโลก ก็เลยเป็นประสบการณ์ชีวิตที่แหวกแนวจากมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ เราไต่ทีละระดับของธรรมะพระพุทธเจ้า เป็นขั้นเป็นตอนและทำได้จริง ผลเกิดได้จริง และทุกอย่างมันเป็นระบบเชื่อมโยงกันหมด จนมาถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่า มันมีสภาวะแบบนี้ด้วยหรือ ไม่ใช่จากสมาธินะ แต่เป็นการพิจารณาสิ่งต่างๆ หลุดเข้าไปในอะไรบางอย่าง แล้วเราก็ค้างอย่างนั้น 24 ชั่วโมง เป็นสภาวะที่ไม่มีวันลืมเลยในชีวิต
นำธรรมะมาใช้กับชีวิตอย่างไร
หลังจากบวช มันปูพื้นฐานชีวิตเราใหม่หมดเลย เปลี่ยนวิธีมองโลก เหมือนนักวิทยาศาสตร์เข้าไปเห็นระบบอิเลคตรอนว่ามันโคจรอย่างไร สสารทั้งหลายก็มีแค่นี้ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีอะไรคงอยู่ถาวร แต่ความตายมีอยู่แน่ๆ และผมก็ระลึกถึงเรื่องความตาย บางทีวางแผนอะไร ก็วางแผนเลยภพชาติไปเลย เรารู้ว่า เราต้องตายและต้องไปต่อ คิดแบบนี้ ก็ต้องเตรียมตัว ตอนเป็นพระทำสมาธิลงไปสู่ผัสสะทั้งหลายในร่างกาย ทำให้เราเห็นความละเอียด แล้วอะไรคือความสมดุล พอสึกออกมา เราก็รู้สึกว่า มันมีอยู่แค่นี้เองคนเรา คนเป็นเชฟ นักดนตรี นักวาดรูปเก่งๆ จิตของเขาต้องละเอียดมาก เราทุ่มเทกับการเสพสัมผัสผ่านรูป รส กลิ่น เสียง แล้วเข้าใจว่าจะปรุงแต่งอย่างไร ซึ่งความละเอียดแบบนี้ผมได้จากการบวช
ไม่เว้นแม้กระทั่งการร้องเพลง
ตอนเป็นพระได้ฝึกสติกับการเคลื่อนไหวร่างกาย มันทำให้เราละเอียด พอสึกออกมา อะไรที่เป็นงานศิลปะทั้งหลาย เมื่อจินตนาการแล้วสวมวิญญาณว่าเป็นเขา อย่างการร้องเพลงจากความรู้สึก มันแปลกมาก กลายเป็นว่าเรามีความสามารถในการเลียนแบบ เข้าใจอะไรง่ายขึ้น อย่างเวลาเราไปคุยกับเชฟขั้นเทพ แม้ไม่มีประสบการณ์ แต่ไม่ได้เข้าใจยาก เหลือแค่กลับเข้าไปทำ เพราะการบวชนั่นแหละที่ให้โอกาสเราไปเรียนรู้
ที่สุดแล้วก็เลือกทำงานที่โครงการหลวง ?
เราก็มีภารกิจบางอย่างทำให้ไม่สามารถบวชระยะยาว บวชแค่ 7เดือนที่วัดบุญญาวาส จ.ชลบุรี ซึ่งตอนนั้นพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต สอนธรรมะให้ เราก็คิดว่าถ้าสึกออกมาจะทำประโยชน์สูงสุด ก่อนสึกออกมาอธิษฐานว่า อยากช่วยงานในหลวง ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน ก็จะมีช่องทางของมันเอง ก็ได้มีโอกาสมารู้จักโครงการหลวง เพราะเพื่อนสมัยเรียนเป็นหลานหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี จึงทูลท่านว่า อยากมาช่วยงานโครงการหลวง ผมมีความรู้เรื่องออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมขออยู่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ. เชียงใหม่ ช่วยทำเรื่องเหล่านี้
แต่ที่สุดก็สนใจการทำอาหาร ?
ตอนนั้นถ้าจะแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ ก็ต้องอบไม้ ในห้องมืดๆ เหม็นๆ เหมือนห้องรมควันอาหารในยุโรป เราก็คิดว่า น่าจะสร้างสรรค์อย่างอื่นได้อีก ถ้าทำเรื่องอาหารก็ไม่เลวเลย น่าจะขายท่องเที่ยวได้ ก็เลยมาศึกษาเรื่องอาหารรมควัน เพราะเราเข้าใจวิทยาศาสตร์และศิลปะ ทำให้เราเข้าใจการทำอาหาร จนผมพัฒนาชีสห้าออกมาห้าหกชนิด เพราะต้องการลดการนำเข้า
ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับการทำอาหาร แต่พ่อผมเป็นทูตทหารจะมีการจัดเลี้ยงอาหารคนบ่อยๆ ทำให้ผมเห็นว่า โลกอาหารกว้างมาก ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยตัดสินใจเอาดีทางอาหาร ศึกษาหาความรู้และค้นคว้ารากเหง้าอาหารแต่ละชนิด ก็เลยเข้าใจว่า อาหารแต่ละอย่างมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอย่างไร ศึกษาไปถึงประวัติศาสตร์โลก สนุกมาก
จนเป็นที่มาของทัวร์ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ?
เลอทัวร์ เดอ อ่างขาง เริ่มช่วยกันคิดตั้งแต่ปี 2552 ด้วยความคิดว่า เชฟที่ถูกเชิญมาจากต่างประเทศเห็นว่าอ่างขางมีความสวยงามมาก แต่นั่งทานอาหารในอาคารอย่างเดียว คนไม่ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศ ผมก็เลยคิดกับเพื่อนๆ ว่ามาทำเอ็กซ์คูซีฟทัวร์แบบเว่อร์ๆ กันไหม คิดขนาดกลางเต้นท์บนหน้าผา แต่เจอข้อจำกัดบนดอย ตอนนั้นคุญหญิงหนิง ลูกสาวของหม่อมเจ้าภีรเดช ก็มาช่วยคิดช่วยทำ ออกมาเป็นทัวร์แบบนี้ ปีละหลายครั้ง คือ เสพอาหารอร่อยมาก บรรยากาศดีๆ ในสวนโครงการหลวง ดนตรีไพเราะ
เป็นคนชอบธรรมชาติ ?
สมัยเด็กๆ ผมชอบดูนก ศึกษาธรรมชาติในป่า และหลังจากนั้นก็ไปออกทะเล ตกปลา ก็เลยรู้จักความหลากหลายทางทะเล ทำให้เรารู้จักโลกกว้างตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นอยากจะเข้าใจโลกมากกว่าเข้าใจคน ตอนมาบวชเริ่มเข้าใจคน จึงมาศึกษาเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ชาวเขาต้องการอะไรในชีวิต และเรามาช่วยเขา ไม่ได้มาบงการ เราก็ใช้หลักจิตวิทยาพอสมควร อย่างการทำโครงการหลวง เราก็ต้องช่วยเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการให้อาชีพที่ดีกว่าเดิม สมัยก่อนชาวเขาตัดป่า ปลูกฝิ่น ไม่ทำอาชีพอื่น พอโครงการหลวงเข้ามา ก็เปลี่ยนให้ปลูกอย่างอื่นที่ยั่งยืนกว่านี้ ไม่ต้องลงดอยไปทำอาชีพอื่น
เห็นบอกว่า คุณช่วยสร้างแบรนด์ให้เกษตรกรชาวอีสานด้วย ?
แรกเริ่มเดิมทีจะทำโครงการหลวง ก็อยากช่วยคนอีสาน เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เป็นสินปลูกแต่ข้าว เมื่อเราพัฒนาโครงการหลวงมาหลายโมเดล ถ้าจะช่วยคน ผมคิดว่า อย่าเพิ่งกระโดดเข้าไป ต้องคิดและวิจัยก่อน อะไรปลูกได้ ทำผลิตภัณฑ์ได้แล้วไปสอน และหลังจากนั้นทำตลาด เหมือนโอท็อปสมัยก่อนทำออกมาไม่มีคนช่วยซื้อ เราต้องทำกลไกตลาดให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย ต้องช่วยเหลือครบวงจร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพราะใจผมไปผูกกันคนอีสาน ตอนที่รู้จักเพื่อนนักปฏิบัติธรรม ก็เลยจับมือกับคนกลุ่มนั้่น แล้วไปสำรวจว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราก็ตระเวนในอุดร อีสานไม่เหมือนภาคเหนือ น้ำไม่เยอะ จะเน้นการเพาะปลูกคงยาก ก็เลยเน้นเรื่องการแปรรูป เริ่มจากข้าวกล้องงอก ก็คิดสูตรไม่เหมือนใคร แต่ขายไม่ดีมาก เพราะทุนน้อย ก็เลยลองทำอย่างอื่นแหวกแนวกว่านี้ เป็นซีเรียลจากข้าว โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านให้เหมาะกับตลาด คงต้องใช้เวลาปรับปรุงให้สินค้ามาตรฐานกว่านี้ เป็นธุรกิจที่ผมลงทุนร่วมกับชุมชน ซึ่งเอาอุดมการณ์โครงการหลวงมาใช้ โดยเราเป็นผู้รับซื้อและเป็นผู้สอน สอนเสร็จเรายกให้พวกเขา ตอนนี้มีสองแบรนด์ เป็นเนยแข็ง ซึ่งมีเกษตรกรทั่วประเทศเลี้ยงโคนม เราก็เลยตัดสินใจว่า เราและเกษตรกรรวยกันได้จากการทำเนยแข็งขายโรงแรมห้าดาว และคิดจะส่งออก ถ้าเนยแข็งดีๆ มาจากประเทศนั้นประเทศนี้ในยุโรปได้ แล้วทำไมเนยแข็งดีๆ จะส่งออกมาจากประเทศไทยไม่ได้