ตกหลุมรัก "บังกาลอร์"

ตกหลุมรัก "บังกาลอร์"

เคยมั้ย...เปิดนิตยสารท่องเที่ยวแล้วเห็นภาพสวยๆ เรื่องราวดีๆ ก็อยากเก็บกระเป๋าเดินทางแล้วจองตั๋วไปที่นั่นทันที ตอนนี้ฉันกำลังเป็นแบบนั้น

นิตยสาร Lonely Planet ที่อยู่ในมือ นำเสนอข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ คือมีการจัดอันดับ 10 สุดยอดเมืองน่าเที่ยวแห่งปี พอพลิกดูแล้วก็เห็นว่ามี บังกาลอร์ ติดอันดับกับเขาด้วย


แปลกดีเหมือนกัน เพราะในความรับรู้ของฉัน เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของอินเดียแห่งนี้เป็นเมืองที่น่าลงทุนมากกว่าจะมาท่องเที่ยว


แต่...ไม่เคยไป จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่น่าเที่ยว ว่าแล้วก็จัดกระเป๋ากันเลยดีกว่า


..............


เที่ยงคืนเศษ บังกาลอร์ทั้งเมืองถูกความมืดมิดห่มคลุมจนแทบมองไม่เห็นทาง ทว่า รถตู้คันนั้นก็พาเราแล่นตะบึงฝ่าราตรีกาลมาจนถึงที่พักในย่านกลางเมืองได้อย่างปลอดภัย แม้จะกินเวลาไปมากกว่า 1 ชั่วโมงก็ตาม


Silicon Valley of India คือภาพเมืองบังกาลอร์ที่รู้จัก เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยดีๆ บริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่านั้นที่อยู่ในความทรงจำของฉัน แต่การเดินทางมาเยือนบังกาลอร์ครั้งแรกในชีวิต ทำให้ภาพจำของฉันเปลี่ยนไป


บังกาลอร์ (Bangalore) หรือ บังกาลูรู (Banguluru) เป็นเมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ(Karnataka) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ชื่อเมืองนี้หมายถึงสถานที่ที่มีการต่อสู้ ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่า Banguluru มาจากต้น Benga ที่รู้จักในนาม India Kino


ประวัติของเมืองนี้ระบุไว้ว่า บังกาลอร์ถูกค้นพบในปี 1537 โดยจักพรรดิ์ Vijaynagar มอบที่ดินบริเวณนี้ให้แก่ Kempegowda ซึ่งเป็นผู้นำเผ่า Yelahanka Phabhu และมีความสำคัญในศตวรรษที่ 18 ภายใต้การปกครองของ Hyder Ali และ Tipu Sultan บริเวณนี้เป็นหลักฐานของการต่อสู้ระหว่าง Tipu Sultan และอังกฤษ สุดท้ายอังกฤษชนะ แต่สุลต่าน Tipu ก็กลับเข้ามาปกครองดินแดนแห่งนี้ในปี 1831


บังกาลอร์เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจติด 1 ใน 5 ของอินเดีย ที่มีนิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา และเชนไน ร่วมอันดับด้วย หากดูจากจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ก็มีพอๆ กับกรุงเทพมหานครของเรา คือราวๆ 6.5 ล้านคน (กรุงเทพฯ 7 ล้านคน) แน่นอนว่า ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ บังกาลอร์อาจจะอึดกว่าสักเล็กน้อย เพราะเนื้อที่น้อยกว่า แต่ก็ไม่มากมายนัก


แม้วันนี้บังกาลอร์จะมีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังเลือกรถเมล์เป็นพาหนะในการเดินทาง สังเกตได้ว่ารถเมล์ทุกๆ คันจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่เบียดเสียดเยียดยัดกันอยู่ในรถรูปทรงสีเหลี่ยมแคบๆ นั้น ส่วนรถตุ๊กตุ๊ก(Auto Rickshaw) ก็ได้รับความนิยมไม่ต่างกัน และถ้าจะนับจำนวนกันจริงๆ ฉันว่า ตุ๊กตุ๊กบังกาลอร์น่าจะมีเยอะกว่าแท็กซี่เมืองไทย


เพื่อให้ได้อรรถรสในการเดินทาง ฉันต้องใช้บริการตุ๊กตุ๊กสีเหลืองเขียวของเมืองนี้แน่นอน


สารภาพตามตรงว่าจำถนนหนทางในเมืองนี้ได้ไม่แม่นเอาเสียเลย เพราะเพิ่งมาครั้งแรก แถมแผนที่ก็ยังทำฉันงงไปสามรอบแปดรอบ สรุปคือบอกตุ๊กตุ๊กว่าจะไปไหน แล้วก็ปล่อยตัวเองไปตามทาง เท่านั้น


เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวอินเดียที่ทำให้คนทั่วโลกชื่นชมก็คือ การแต่งกาย ชาวอินเดียเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังคงห่มส่าหรีเป็นกิจวัตร ฉันชอบมาก เพราะได้เห็นส่าหรีหลายแบบ สีสันสวยงาม ครั้นจะซื้อมาใส่บ้างก็เกรงว่าจะเป็นอาหมวยในคราบสาวแขก


จริงอยู่ที่เมืองนี้เป็นเมืองไอที มีตึกสูงๆ รูปทรงแปลกๆ มากมาย ย่านใจกลางเมืองก็ดูวุ่นวายไม่ต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วโลก แต่ท่ามกลางความศิวิไลซ์ ฉันพบว่าบังกาลอร์ยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ มีสวนสาธารณะมากมาย และต้นไม้ที่อายุเกินกว่า 100 ปีก็มีจนแทบนับไม่ถ้วน สมแล้วที่ได้รับสมญานามว่า The Garden City


Lal Baugh เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ที่มีความหมายว่า "สวนสีแดงในอังกฤษ" สวนแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นสวนแบบดั้งเดิมที่เริ่มสร้างในสมัยที่ Hyder Ali เป็นสุลต่านแห่งราชอาณาจักรไมซอร์(Mysore) แต่มาเสร็จสิ้นในสมัยสุลต่าน Tipu ซึ่งเป็นลูกชาย


ฉันเดินเข้าไปในสวนที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ด้านหนึ่งมีทะเลสาบขนาดกว้าง ส่วนอีกด้านก็เป็นแปลงต้นไม้หลายสายพันธุ์ สังเกตว่าตลอดทุกซอกมุมของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้จะมีคู่รักชาวอินเดียยึดครองพื้นที่ที่ตัวเองพอใจแล้วก็นั่งพลอดรักกันแบบไม่ต้องอายใครเลยทีเดียว เห็นแล้วก็นึกถึงประเทศเวียดนาม ที่นั่นจะกอด จูบ ลูบ คลำ ก็อย่าได้แคร์สายตาใคร แต่คนไทยอย่างฉันกลับอายแทน

ยอมรับว่าสวนนี้เป็นเหมือนปอดของบังกาลอร์จริงๆ เพราะเดิน 2 ชั่วโมงก็ยังไม่ทั่ว ป่วยการจะเดินให้เมื่อยเท้า เราเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายแทน


รถคันเล็กพาเรามาหยุดอยู่ที่ Vidhana Soudha ซึ่งเป็นที่ทำการของสภานิติบัญญัติ และสำนักงานของรัฐบาล ความน่าสนใจของสถานที่แห่งนี้อยู่ที่สถาปัตยกรรมเป็นแบบ Neo Darvidian สร้างด้วยหินแกรนิต มีโดม 4 โดม และมีสิงห์ 4 หัว ตั้งอยู่บริเวณทางเข้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์อินเดีย


เวลาน้อยทำให้เราต้องปล่อยให้ตัวเองเยี่ยมชมสถานที่สำคัญนี้แต่เพียงด้านหน้า ก่อนจะนั่งรถต่อไปยังปราสาทที่สวยงามราวกับอยู่ในตำนานแห่งเทพนิยาย ใช่แล้ว ฉันหมายถึง Bangalore Palace ที่เป็นพระราชวังในฤดูร้อนของสุลต่าน Tipu นั่นเอง


ฉันเดินดูพระราชวังบังกาลอร์ที่หน้าตาละม้ายคล้ายพระราชวังวินเซอร์แห่งอังกฤษแบบไม่ผิดเพี้ยนอยู่ราวชั่วโมงเศษ ภายในพระราชวังอายุกว่า 110 ปี ประดับประดาได้วิจิตรงดงามสมกับเป็นพระราชวังนั่นแหละ แต่ฉันก็แอบมีคำถามในใจว่าทำไมผู้มีอำนาจในยุคก่อนๆ จึงชอบกิจกรรม "ล่าสัตว์"


มีขาสัตว์ขนาดใหญ่ถูกสตัฟฟ์ไว้มากมาย ไม่เพียงแค่ซากแห่งความภูมิใจ พวกเขายังติดรูปถ่ายขณะโค่นสัตว์ต่างๆ ไว้ให้ดูต่างหน้าด้วย นึกแล้วก็อดสงสารพวกมันไม่ได้ และเหตุที่สัตว์ต่างๆ ลดจำนวนลงไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็มาจากมนุษย์ที่นึกว่าตัวเองใหญ่กว่าธรรมชาติเหล่านี้


รู้สึกใจคอไม่ค่อยดี ฉันเลยออกมานั่งรับลมเย็นๆ ด้านหน้าพระราชวัง บริเวณนี้มีบริการนั่งรถม้าพาชมพระราชวังโดยรอบ มีชาวอินเดีย 2-3 คน สนใจกิจกรรมนี้ เลยพากันขึ้นไปนั่งให้รถม้าพาวน อารมณ์ราวกับเป็นเจ้าหญิงในนิทานไม่มีผิด


เราไปแวะที่โบสถ์ St.Mary Basilica ซึ่งขณะนี้กำลังมีพิธีแต่งงาน ความเก่าแก่ของโบสถ์เมื่อผสมรวมเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมในวันนี้ แม้ฉันจะมีพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวมาแต่กำเนิด แต่ก็แอบขนลุกกับความเข้มขลังของมนต์พิธีในศาสนาคริสต์นี้ไม่ได้ แอบเห็นเจ้าสาวน้ำตาไหล เธอคงซาบซึ้งใจกับวันนี้จริงๆ


ถึงจะเป็นมหานครที่ทันสมัย มีอุตสาหกรรมมากมายจนสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่ถ้าพูดถึงความศรัทธา ชาวเมืองบังกาลอร์ยังคงมั่นคงในศาสนาของตัวเองอย่างเหนียวแน่น โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่นี่นับถือศาสนาฮินดู เราจึงได้เห็นภาพผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าไปประกอบกิจในฐานะศาสนิกชนที่ดีเนืองแน่นวัดทุกเวลา และทุกวัน


Bull Temple เป็นวัดที่ชาวฮินดูทุกคนนับถือมาก และเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ในแง่ของการขอพรด้านสุขภาพ เราเดินเข้าไปในวัดแบบไม่รู้ข้อมูลอะไร แต่ชาวอินเดียก็ใจดีมาเล่าให้ฟังว่าที่นี่มี "วัว" เป็นสิ่งเคารพบูชา เพราะวัวเป็นพาหนะของพระอิศวร ผู้คนจึงนับถือกันมาก


นักบวชฮินดูแนะนำให้เราลูบที่ขาของวัวหินแกะสลัก ท่านว่าเราจะสุขภาพดี ฉันว่าความเชื่อที่ไม่มีพิษมีภัยแบบนี้น่าลอง ก็เลยลูบไปซะจนขาหินมันแผล็บ


เดินต่อไปอีกวัดที่อยู่ใกล้ๆ กัน พบว่าด้านในนั้นมีพิธีกรรมอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ มีนักบวชฮินดูหลายรูปนั่งอยู่ในวงล้อมใต้ศาลา พวกเขากำลังเผาสิ่งของหลายอย่างจนควันโขมงคลุ้ง ส่วนนักบวชอีกกลุ่มก็แบกรูปเคารพของเทพเจ้าอีกองค์บนบ่า แล้วก็แห่มารอบๆ


พิธีวันนั้นทำให้ฉันตื่นตาตื่นใจ หากใครเคยไปวัดแขกแถวๆ สีลมบ้านเราอาจจะเคยเห็น ซึ่งงานแบบนี้เรียกว่า "นวราตรี" เป็นการบูชาเจ้าแม่ทุรคาที่จะมีขึ้นทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 9 วัน จังหวะพอดีที่เรามาตรงช่วงนั้น จึงได้อยู่ร่วมในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์


เมื่อมาเห็นวิถีชีวิตแบบนี้ ภาพเมืองทันสมัยที่เคยระลึกก็เปลี่ยนไปทันที ยกเว้นแต่จะเดินทางไปยังถนนที่คึกคักอย่าง Brigade & MG Road ทั้งสองถนนนี้เชื่อมต่อกัน คล้ายสยามสแควร์บ้านเรา แต่อาจจะยาวกว่า ที่นี่มีร้านค้ามากมาย ส่วนร้านอาหารก็ละลานตาชนิดที่ว่า เกือบครบทุกชาติในโลกนี้ ทั้งอาหารจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป ส่วนร้านกาแฟเก๋ๆ แน่นอน พบได้ที่ถนนเส้นนี้


เดินอยู่แป๊บเดียวก็ต้องเปลี่ยนสถานที่ เพราะละแวกนี้หาของฝากที่ดีๆ แทบไม่ได้ ตุ๊กตุ๊กคันเดิมจึงพาเราไปชอปปิงที่ตลาดใหญ่ๆ แห่งหนึ่ง แถว Commercial street เขาว่าที่นี่เป็นแหล่งซื้อสินค้าราคาถูก โดยมากจะมีร้านขายเครื่องประดับ กำไล ตุ้มหู เสื้อผ้าก็จะเน้นไปที่ชุดประจำชาติของชาวอินเดีย เช่น ส่าหรี ผ้าตัดเสื้อ และผ้าคลุมไหล่ หน้าตาคล้ายๆ กับพาหุรัดบ้านเราไม่ผิดเพี้ยน


ได้ของติดไม้ติดมือมาแล้วก็พร้อมกลับที่พัก วันนี้เราเจอนักเรียนไทยที่มาศึกษาในบังกาลอร์หลายคน พวกเขาแนะนำให้ฉันไปกินอาหารไทยที่ร้าน ลานไทย ซึ่งอยู่ในย่านใจกลางเมือง ไม่ไกลออกไปเท่าไรนัก


ด้วยความที่คิดถึงอาหารไทยสุดที่รักฉันจึงตรงดิ่งไปที่นั่นอย่างไม่มีลังเล และก็ไม่ผิดหวัง นี่เป็นส้มตำ ต้มยำ แกงเขียวหวาน ที่ฉันคิดถึงที่สุด ใครไปบังกาลอร์อย่าพลาดร้านลานไทยเลยทีเดียว


บังกาลอร์เป็นเมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีก็จริง แต่สิ่งที่ฉันจดจำได้เพิ่มเติมจากการเดินทางมาในทริปนี้ก็คือ บังกาลอร์มี "ชีวิต" ที่น่าสนใจ ทั้งผู้คน ศาสนา วัฒนธรรม หรืออาจจะรวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่ดูแปลกตาอีกมากมาย


เห็นแบบนี้แล้วก็ต้องให้เขาเป็น 1 ใน 10 เมืองที่ใครๆ ก็อยากมาเที่ยว จากการจัดอันดับของนิตยสาร Lonely Planet นั่นแหละ

.....................

การเดินทาง

บังกาลอร์ เป็นเมืองที่อยู่ทางใต้ของอินเดีย เป็นเมืองใหญ่ที่ใช้เวลาเดินทางไม่นาน เพียง 3 ชั่วโมงครึ่งจากกรุงเทพฯ ก็สามารถสัมผัสบรรยากาศของเมืองไอทีแห่งนี้แล้ว


การบินไทย มีเที่ยวบินตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-บังกาลอร์ สอบถาม โทร. 0 2356 1111 หรือ www.thaiairways.co.th ส่วนสายการบินอื่นๆ อาจต้องไปต่อเครื่อง เช่น Malaysia Airline มีบินไปบังกาลอร์เหมือนกัน แต่ต้องไปต่อเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย หรือ Srilankan Airline ก็จะต้องแวะไปต่อเครื่องที่โคลอมโบ
ไปอินเดียต้องทำวีซ่า แนะนำว่าให้ทำล่วงหน้าสัก 2 สัปดาห์ เพราะขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยากสักเล็กน้อย ถ้ามีอะไรผิดพลาดจะได้มีเวลาแก้ไขได้ทัน


เวลาที่บังกาลอร์ช้ากว่าไทยราว 1 ชั่วโมงครึ่ง ไปถึงก็อย่าลืมเทียบเวลาให้ถูก เดี๋ยวจะพลาดเรื่องสนุกๆ ในบังกาลอร์