"ตรุษจีน 2566" เจาะแหล่งผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ที่ย่านเจริญไชย

"ตรุษจีน 2566" เจาะแหล่งผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ที่ย่านเจริญไชย

ถอดรหัสเทศกาล "ตรุษจีน" กับความเชื่อการ "ไหว้เจ้า" ที่ถูกสืบทอดมายาวนานกว่า 4,000 ปี ทั้งสองสิ่งนี้ผูกโยงข้ามโลกมาถึงย่านไชยเจริญ แหล่งผลิต "กระดาษเงินกระดาษทอง" เครื่องประกอบประเพณีจีนที่ใหญ่ที่สุดในไทย

หากสีทองอร่ามจะกลายเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนบนถนนมังกร สีแดงชาดก็คงไม่ต่างจากจิตวิญญาณของคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราชแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สีสัน และความคึกคักในห้วงเทศกาล "ตรุษจีน 2566" ที่ไม่ว่ามองไปทางไหนก็จะเต็มไปด้วยผู้คน สีแดง และสีทอง

ภายในตรอกเจริญไชยที่ซุกตัวอยู่ข้างๆ แยกแปลงนามก็ไม่ต่างกัน เพราะในช่วงก่อนถึงวันไหว้ตรุษจีน ตั้งแต่หัววันจนตกบ่ายแก่ๆ "วันดี ติรโสภี" เจ้าของร้าน "ตั้งเคี่ยวมิ้น" ยอมรับว่า ยังไม่ได้วางมือจากกระดาษเขียนบิลเลย

"ใครๆ ก็ต้องมาที่นี่ เพราะครบวงจรที่สุดแล้ว" เจ้าของร้านคนเดิมบอกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ขณะกำลังควานหาของให้ลูกค้าที่ยืนรออยู่ คำว่าครบวงจรดังกล่าวหมายรวมถึงทั้งของกิน ของใช้ ของไหว้ ที่จำเป็นต้องใช้ในวันตรุษจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพูดถึง "กระดาษไหว้เจ้า" ในพิธีจีนต่างๆ แล้วล่ะก็ "ย่านเจริญไชย" นั้น ถือว่าใหญ่ที่สุดแล้ว 

 

  • ชุมชนจีนผู้ผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ของไหว้สำคัญวันตรุษจีน

"ไม่ต่ำกว่า 30 ร้านนะ" หนุ่ม - ฉัตรชัย เติมธีรพจน์ จากร้าน "ตังอา" คะเนร้านขายอุปกรณ์-กระดาษไหว้เจ้าที่เรียงรายตั้งแต่ แยกแปลงนามถึงวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ทะลุซอยท้ายตลาดข้างวัด ออกไปทางวัดคณิกาผล จนถึงปอเต็กตึ้ง

จากหนังสือ "บันทึกเจริญไชย : คนจีนสยาม" ระบุว่า ย่านเจริญไชยตั้งอยู่บริเวณริมถนนเจริญกรุงตอนบน เป็นส่วนหนึ่งของย่านที่มีผู้ประกอบกิจการ และแรงงานชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยคำว่า "เจริญไชย" นั้น สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า "เจริญกรุง" และ "พลับพลาไชย" โดยนำมาใช้เป็นชื่อตรอกเรียกว่า ตรอกเจริญไชย โดยเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนว่า ตงเฮงโกย

"ตรุษจีน 2566" เจาะแหล่งผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ที่ย่านเจริญไชย

ชาวจีนที่อพยพมายังประเทศไทยในช่วงเวลานั้นเป็นผู้นำความรู้ ความสามารถ ภูมิปัญญา ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีนมาด้วย ประกอบกับย่านเจริญไชยถูกรายล้อมด้วยวัด และศาลเจ้า ทำให้ชาวจีนในบริเวณนี้นำความรู้ที่มีมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ขึ้น

เป็นย่านการขายสินค้าวัฒนธรรมประเพณีที่ครบทุกอย่าง ถือเป็นแหล่งเดียวที่มีของใช้ใการประกอบพิธีกรรมของชาวจีน ทั้งงานแต่งงาน งานศพ งานศาลเจ้า

เหมือนอย่างร้านของเขานั้น เป็นร้านตัดเย็บผ้าสำหรับใช้ในงานประเพณีตั้งแต่ ศาลเจ้าไปจนถึงงานศพโดยสืบทอดกิจการต่อกันมา 3 รุ่นแล้ว ปัจจุบันหนุ่มบอกว่า จะเน้นงานประเภทศาลเจ้ามากกว่า เป็นสินค้าที่แยกประเภทออกไป อย่างงาน โคมเจ้า หรือ ถ่งฮวง ในภาษาแต้จิ๋ว อันถือเป็นเอกลักษณ์ของร้าน ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น วิชาชีพเหล่านี้จะเข้ามาอยู่ที่ประเทศไทยมากมาย และหลงเหลือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

"ทางเมืองจีนก็จะมาดูแบบแล้วก็เอากลับไปทำนะ แต่สุดท้ายก็ต้องมาซื้อที่นี่ เพราะยังไงก็ทำไม่เหมือน" เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม

ภายในร้านเต็มไปด้วยกระดาษไหว้เจ้าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทียนเถ่าจี้ (กระดาษสีแดงขนาดใหญ่สำหรับไหว้เจ้า), กิมจั้ว (กระดาษเงินกระดาษทอง), กิมเต้า (ถังเงิน ถังทอง), อวงแซจี้ (ใบเบิกทาง) และตั้วกิม (เงินจีน) ที่ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหน้าร้าน วันดียืนยันว่า ช่วงตรุษจีนจะมีผู้คนเดินมาถามหาอยู่ไม่ขาดสาย

"ช่วงหน้าเทศกาลคนจะเยอะมาก ทุกวันนี้ต้องเปิดร้านตั้งแต่ 7 โมงเช้า กว่าจะปิดบางทีก็ 5 ทุ่ม ต้องรอลูกค้าที่เขาเดินทางมาไกล เพราะของไหว้นี่จะจัดมั่วไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคนที่ซื้อไปเขาไม่รู้ เอาไปไหว้ทีนี้ก็จะมั่วไปกันใหญ่"

"ตรุษจีน 2566" เจาะแหล่งผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ที่ย่านเจริญไชย

ถึงแม้ร้านจะอยู่ด้านหลังถนนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เป็นอุปสรรคกับการค้าขายของเธอ และครอบครัวแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่ที่เดินเข้ามาที่ร้านนั้น จะเป็นขาประจำที่รู้จักมักคุ้นกันดีอยู่แล้ว และบางครั้งก็มีบ้างที่มีขาจรหลงเข้ามา ซึ่งวันดีรับรองว่าขายให้ได้หมด

"เราจัดชุดให้ด้วย แนะนำลูกค้าได้ ทำให้เขาเห็นว่าเราจริงใจกับเขา แต่ก็ต้องมีความรู้กับของแต่ละชนิดด้วย มีทั้งขายปลีก และขายส่ง เราทำกระดาษเองแบบกระดาษก็จะมีลวดลายที่แตกต่างไปจากร้านอื่นๆ ก็ส่งไปทั่วประเทศนะ ใครมาซื้อเราก็ขายหมด ส่วนใหญ่เขาก็เอาไปขายต่อนั่นแหละ"

ไม่ทันขาดคำ เธอก็หันไปอธิบาย "ถุงไหว้เสริมพลังโชคลาภ" ออพชั่นที่เพิ่งออกมาใหม่ สำหรับองค์ไฉ่ซิ่งเอี๊ยที่จะเสด็จลงมาในปีนี้โดยเฉพาะอย่างตั้งใจ

 

  • "กระดาษไหว้เจ้า" คุณค่าอาชีพโบราณจากอดีตถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้การเดินทางไปเยาวราชสามารถไปได้อย่างสะดวกสบายด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยลงปลายทางที่ “สถานีวัดมังกร” แล้วเดินไปที่ทางออกประตู 1 ซึ่งช่วยให้หลายคนไปจับจ่ายของไหว้ที่จำเป็นในวันตรุษจีนสะดวกมากขึ้น เกือบทุกร้านมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาซื้อของไหว้กันอย่างคึกคัก แม้จะล่วงเลยเวลามาถึงย่ำค่ำแล้วก็ตาม อย่างเช่น “ร้านฮะซุ่นเส็ง (เอี๊ยะหลี)” ของ “เจ๊จัง” ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่มีลูกค้าเดินเข้ามาเลือกหยิบของอย่างไม่ขาดสาย

ด้วยทำเลของตึกแถวแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับกำแพงวัดมังกรฯ ทำให้ข้าวของที่นำมาขึ้นแผงวางขายกันจึงหนีไม่พ้นสินค้าวัฒนธรรม เหมือนร้านนี้ ที่เริ่มต้นมาจากร้านทำขนมเปี๊ยะจากรุ่นอากง ต่อมาจึงได้เริ่มขายกระดาษไหว้เจ้า จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ และเปลี่ยนมาทำกระดาษไหว้เจ้าอย่างเดียวมาจนถึงปัจจุบัน

“ทำเองทั้งหมด ซื้อกระดาษมาแล้วก็เอามาตอก มาทาสีเอง เป็นโรงงานเล็กๆ อยู่ที่บ้านนี่ ยาวไปเกือบถึงวัดเล่งเน่ยยี่ได้ประมาณ 30 เมตรได้ มีคนที่มาจากเมืองจีนมาช่วยทำขนมบ้าง ตัดกระดาษบ้าง พอผูกพันมันก็เรียนรู้เองโดยอัตโนมัตินะ” เธอยืนยัน

สิ่งหนึ่งที่เธอมองเป็นเอกลักษณ์ของย่านกระดาษไหว้เจ้าแห่งนี้ อยู่ที่ความเป็นมิตรแก่กัน ไม่เคยมีปัญหาแย่งลูกค้ากัน หากของร้านไหนไม่ครบก็แนะนำให้ลูกค้าสามารถเดินไปดูอีกร้านหนึ่งได้ ซึ่งมุมนี้ อาส หรือ “ภูมิสิษฐ์ ภูริทองรัตน์” รุ่นที่ 2 ของ “ร้านบู้เช้ง” ที่มีจุดเด่นในเรื่องงานกระดาษไหว้เจ้าโดยเฉพาะ กงพั้ว สำหรับไหว้แม่ซื้อ ยอมรับว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนแบบนี้ทำให้เขาสามารถตัดสินใจหันหลังจากใบปริญญาที่เรียนมารับช่วงที่บ้านทำกระดาษอย่างเต็มตัว

“เรามองว่ามันมีคุณค่า และมีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเองอยู่น่ะครับ” เขาให้ความเห็น

"ตรุษจีน 2566" เจาะแหล่งผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ที่ย่านเจริญไชย

ขณะที่ เจ๊จัง มองว่า อนาคตสิ่งที่พ่อแม่สร้างไว้นั้นลึกๆ ก็อยากให้รุ่นลูกมาช่วยสานต่อ แต่อย่างไรก็ตาม เธอก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นแบบแผนตายตัว เพราะลูกๆ ของเธอเองหลังจากร่ำเรียนมาก็สร้างลู่ทางของตัวเองเอาไว้แล้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบรรดามังกรเลือดใหม่เหล่านี้จะไม่มีแววกับเรื่องนี้เลย เพราะไม่นานมานี้ เธอก้ได้มีการพูดคุยถึงระบบการจัดสต็อกสินค้าใหม่ ที่สามารถเช็คปริมาณของ และบาร์โค้ดเพื่อสะดวกในการจัดการมากขึ้นกับลูกๆ อยู่ด้วย

"ถ้าเขามองเห็นคุณค่าตรงนี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาต้องทำต่อแน่นอน" หนุ่มยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น นั่นก็เพราะช่องทางการตลาด รวมทั้งโอกาสยังเปิดกว้างเสมอ

เหมือนกับการหลอมรวมวัฒนธรรมระหว่างไทย และจีนในยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งชัดเจน และเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นเรื่อยๆ

"บางบ้าน สวดพระไทย แต่ทำกงเต็กด้วย เพราะพ่อมีเชื้อจีน แต่เผานะ ไม่ฝังตามแบบคนจีน มันก็ผสมกลายเป็นเนื้อเดียวกันหมดแล้ว แทบจะแยกกันไม่ออก ของก็ยังทำขายได้ต่อไป ตราบใดที่ลูกจีนยังมีความเชื่อตรงนี้อยู่" หนุ่มเผยความหวัง

 

  • ย้อนรอยตำนานและต้นกำเนิด "กระดาษไหว้เจ้า"

งานเทศกาลที่สืบย้อนกลับไปกว่า 4,000 ปีนี้ นอกจากการครอบรอบโคจรของดวงดาวตามปฏิทินจันทรคติของจีนแล้ว ยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ที่มาพร้อมกับวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ตามธรรมเนียมจีนจะมีการไหว้เจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคลตามหลัก "โป๊ยโจ่ย" : การไหว้เจ้า 8 เทศกาล

"คนจีนพบพลังที่มีผลกับดวงชะตา จังหวะการไหว้จะสอดคล้องกับช่วงเวลากับดวงดาว" จิตรา ก่อนันทเกียรติ ระบุในมุมมองของผู้สนใจศึกษาด้านวัฒนธรรมจีนถึงความเชื่อที่เหล่าลูกหลานมังกรสืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยการไหว้เหล่านี้เป็นหลักคิดแบบ Win-Win Solution

"นึกถึงตอนที่เราซื้อสลากออมสินกับล็อตเตอรี่ ถ้าซื้อลอตเตอรี่แล้วคุณไม่ถูก เงินมันหมดไปเลย แต่ถ้าคุณซื้อออมสินแล้วไม่ถูก เงินก็ยังอยู่ ดังนั้นไหว้เจ้า ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ของไหว้ที่คุณไหว้ ไม่ว่าจะเป็นไก่ต้ม เป็นเป็ดพะโล้ เป็นหมู หรืออะไรก็ตาม ยังได้กินได้ใช้ ส่วนที่เสียไปมันน้อยมากก็คือ กระดาษเงินกระดาษทอง"

ขณะที่สีสันของเสื้อผ้าในหน้าเทศกาลนั้นไม่ต่างกับการเล่นกับพลังรูปแบบหนึ่ง

"มันคือการเล่นกับคำว่า Power of light หรือ Power of Color ทำไมต้องเสียงดังๆ สิ่งไม่ดีมันเป็นความวังเวง มันคือการเล่นกับพลังของเสียง พลังของแสง พลังของสี พลังของความเป็นสิริมงคล กับข้าวไหว้ ของไหว้ทุกอย่างต้องมีความหมายมงคลหมด" เธอขยายความเพิ่มเติม

"ตรุษจีน 2566" เจาะแหล่งผลิต "กระดาษไหว้เจ้า" ที่ย่านเจริญไชย

ส่วนที่มาของกระดาษไหว้เจ้านั้น วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนเล่าตำนานกระดาษไหว้เจ้าให้ฟังว่า ในสมัยราชวงศ์ฮั่นที่ ไช่หลุน ที่คิดค้นกระดาษขึ้นได้นั้น ครั้งหนึ่งมีการทำกระดาษเหลืองออกมา ญาติของไช่หลุนจึงเสนอให้นำกระดาษเหล่านี้ไปเซ่นไหว้เทวดา และบรรพบุรุษแทน

"ตามคติของมนุษย์เรา อย่างเรื่องไตรภูมิพระร่วง มีเรื่องสวรรค์ มนุษย์ นรก อยู่ ดังนั้น โลกมนุษย์เราก็ใช้กระดาษขาว ส่วนนรก และเทวดาก็ใช้กระดาษเหลือง ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดการเผากระดาษ ของเทวดากับพระพุทธคนจีนก็ไม่ได้ถวายอะไรมากมาย เพียงแต่เป็นการแสดงความกตัญญูต่อสิ่งศักดิ์สิทธิที่คุ้มครองดูแลเรา ก็จะมีแค่เงินกับทองเท่านั้น แต่ถ้าจะเผาไปให้ผี จริงๆ ถือเป็นความเชื่อของทุกชาติเลยก็ว่าได้ว่า ตายไปแล้วก็ต้องไปทำมาหากิน หุงข้าว เพาะปลูก

ดังนั้น ปัจจัยสี่ต้องพร้อม ตายไปแล้ว ต้องมี ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม พาหนะ จึงมีการเผากระดาษ การทำกงเต็กไปให้ แต่เทวดาไม่ต้องใช้เพราะท่านเป็นทิพย์อยู่แล้ว ส่วนผีก็ต้องเผาอีกอย่างหนึ่ง ต้องเผามนตราการไปสู่สุขคติภูมิ" วิโรจน์อธิบาย พร้อมชวนตั้งข้อสังเกตถึงสื่อกลางในการติดต่อระหว่างภพภูมิที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อในแต่ละสังคม

“สังเกตไหม เวลาคนไทยติดต่อกับบรรพบุรุษจะไปทางน้ำ หากเราอยากให้ปู่ย่าตายายได้กินอะไร เราก็ทำอย่างนั้นไปถวายพระ เราต้องอาศัยท้องพระเป็นสื่อ ก่อนจะกรวดน้ำอุทิศไปให้ ส่วนคนจีน ไปทางไฟ จุดทางนี้ปุ๊ป ไปทางโน้นได้เลย” ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน กล่าวทิ้งท้าย