บูติก +บุญ : เปรมฤทัยกับ The Family Tree

บูติก +บุญ : เปรมฤทัยกับ The Family Tree

ธุรกิจร้านค้าปลีก ก็สามารถสร้างกิจกรรมกับชุมชนและสังคมได้ และเป็นแรงผลักดันจากความต้องการสองอย่างในเวลาเดียวกันคือ

การทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงชีพ และการหล่อเลี้ยงจิตใจ กับการสร้างกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้บนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชนและการเป็นผู้ "คัดสรร" ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตของชุมชน โดยมีเงื่อนไขว่า สินค้าต้อง "มีดี" และมีที่มาจากคนทำมือภายในประเทศด้วย

เปรมฤทัย โตเสริมกิจ จบการศึกษาจากคณะ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านงาน มัคคุเทศก์ในบริษัททัวร์สัญชาติออสเตรเลีย และประสบการณ์งานนำทัวร์ไปสัมผัสชุมชนทั่วไทย ผนวกกับความผูกพันกับชุมชน "ชาวกุย" ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเธอเองในต.บ้านสวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีวัฒนธรรมการ "ทอผ้าไหม" และ "ย้อมสีผ้าไหมจากวัสดุธรรมชาติ" โดยเฉพาะ "สีดำจากผลมะเกลือ" (Ebony dyed silk) เพื่อรักษาเนื้อผ้าให้คงอยู่ยาวนานหลายสิบปี โดยปราศจาก "สารเคมี" นำมาสู่ร้านบูติกกลางย่านนักท่องเที่ยวเมืองหัวหินชื่อร้าน The Family Tree

ร้านขนาดเท่าโรงรถจอดรถได้แค่ 1 คันแห่งนี้ จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากชุมชน ที่เปรมฤทัยกับสามี ปีเตอร์ ริชาร์ดส์ หนุ่มอังกฤษที่ทำงานในองค์กรเอกชนสายงานพัฒนา "การท่องเที่ยวเพื่อชุมชน" (Community Based Tourism) ตั้งความหวังไว้จะเป็นธุรกิจเพื่อเลี้ยงชีพและสามารถตอบสนองความตั้งใจที่จะเป็นการเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบในชุมชนได้

จุดเริ่มต้นหลังจากสำรวจทำเล เธอเลือกปักหลักที่ ถ.นเรศดำริห์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นการเช่าพื้นที่ลานจอดรถ และปรับปรุงให้เป็นร้านค้าของที่ระลึก จากชุมชนทั่วไทย ในชื่อ The Family Tree

"อยากเปิดร้านภายใต้คอนเซ็ปต์ Fair Trade ทั้งสนับสนุนงานแฮนด์เมด ผลิตโดยกลุ่มชุมชน หรือศิลปินอิสระที่ผลิตสินค้าแนวกรีน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีดีไซน์ใหม่ๆ เก๋ๆเป็นแนวของตัวเอง การผลิตสินค้ามีการดูแลผู้ผลิตที่ดี ที่สำคัญอยากช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าได้ค่อนข้างน้อย มีข้อจำกัดด้านปริมาณ ซึ่งอยากให้ร้านมีส่วนช่วยเป็นตลาดให้กับกลุ่มเหล่านี้ ที่เขาจะไม่สามารถสู้กับ mass ได้ จึงทำให้เหมือนเป็นเสน่ห์ เป็นจุดขายของร้านไป ที่สินค้าแฮนด์เมด ทำมือโดยกลุ่มชาวบ้าน มีน้อยชิ้น ส่วนใหญ่จะมีแค่ชิ้นเดียว หมดแล้วหมดเลย เป็นต้น ทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษกับผลิตภัณฑ์" เปรมฤทัยเล่าถึงแรงบันดาลใจ

ในแง่การลงทุน ที่ต้องเช่าพื้นที่ในสนนราคารายปีๆละ 3 แสนกว่าบาท เธอบอกว่า จากการดำเนินกิจการมา 3 ปี ธุรกิจในทำเลหัวหิน ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มผู้ใหญ่และครอบครัว และมีกำลังจ่าย และส่วนใหญ่เป็นผู้มองหา "สินค้าที่พิเศษ" และพร้อมที่จ่ายในราคาสูงกว่าราคาในตลาดไนท์บาซาร์ รวมไปถึง การนำเสนอ "เรื่องราว" และ "ที่มา" ของสินค้าจากชุมชน ที่เธอสามารถบอกเล่าลูกค้าได้ว่า เงินที่พวกเขาจ่ายไป จะไปถึง "ชุมชนผู้ผลิต" และ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง "พื้นที่สีเขียว" จากกิจกรรมปลูกป่าในจ.ชัยภูมิ เพื่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรม สำหรับผู้สนใจได้

อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายสินค้าในแนว OTOP ที่ต้องอาศัยการลงพื้นที่เพื่อสรรหา สินค้า "ทำมือ" แปลกใหม่ และตอบโจทย์ "สนับสนุนการรักษ์สิ่งแวดล้อม" และ "สนับสนุนชุมชน" ด้วยนั้น ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่มีฐานการผลิตแบบเป็นโรงงานของตัวเอง จำเป็นต้อง ลงแรง ในการคัดเลือก แหล่งที่มาของสินค้า และชุมชนผู้ผลิต

"จุดแรกสุดคือ สินค้าต้องโดน(ใจ)ลูกค้า สำหรับการขายหน้าร้าน" เปรมฤทัยอธิบายถึง ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดที่จะขายได้จริง และยกตัวอย่าง งานที่ตอบโจทย์ทุกข้อของเธอได้ มีอาทิ งานเครื่องประดับลูกปัดที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล

นอกจากการซื้อมาขายไป เปรมฤทัย บอกว่า การสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ผลิตจากชุมชนต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เธอเชื่อว่า ช่วยตอบโจทย์กิจการยั่งยืนที่เธออยากเป็นได้ เพราะในบางกลุ่มชุมชนที่มาร่วมออกร้าน OTOP ตามงานออกร้านที่จัดโดยหน่วยงานรัฐบาลหรือองค์กรอิสระ ที่เมืองทองธานีปีละหลายครั้งนั้น ผลิตภัณฑ์อาจจะยังไม่เข้าขั้น เกรดเอ แต่การช่วยอุดหนุน และนำสินค้ามาเป็นส่วนหนึ่งในร้าน ซึ่งถือเป็นกิมมิค ไม่สวยแต่แปลก หรือ ไม่เนี้ยบแต่เป็น "ของแถม" ให้กับลูกค้่า ถือเป็นกำไรในแง่จิตใจ

"เราซื้อมาเพราะบางทีเราสงสารคนเฒ่าคนแก่มานั่งขายของที่เมืองทอง สินค้ามันสู้งานของกลุ่มองค์กรใหญ่หรือผลิตภัณฑ์ของเอกชนที่เขามีระบบจริงจังไม่ได้หรอก แต่เราอุดหนุนและคอยสนับสนุนให้เขาสู้ต่อไปน่ะ"

สินค้าหลักในร้าน The Family Tree ประกอบด้วยงานศิลปะของศิลปินที่คิดบวก เช่น งานกรีน เปเปอร์มาเช่ ของคุณอเล็กซ์ ที่ทำจากงานกระดาษ สร้อยที่ทำจากกระดาษที่ทำด้วยกลุ่มเพื่อนๆ friends international กระเป๋าหนังที่ทำจากเศษหนัง หรือกระเป๋าที่ทำจากขวดน้ำรีไซเคิล งานผ้าและผลิตภัณฑ์แบบไทยๆ เช่น ผ้าไหมทำมือของไทย มีทั้งย้อมสีธรรมชาติและย้อมมะเกลือ ของละเล่นและตุ๊กตาแบบไทยๆ ซึ่งที่ร้านมีกลุ่มผู้ผลิตที่หลากหลายมากกว่า 40 กลุ่ม และสินค้าทีแตกต่างกันมากว่า 200 ชนิด ทำให้มีสินค้าที่เหมาะกับคนทุกผู้ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกจนวัยชรา

และ งานจากองค์กรต่างๆที่เน้นช่วยเหลือชุมชน เช่นองค์กรเฟรนด์ (Friend) กลุ่มมะโนรม ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น

อยากเป็น social enterprise ขายได้แต่ต้องอดทน

จากระยะเวลาเปิดร้านเข้าสู่ปีที่ 3 ผลกำไรตอบแทนที่สามารถเลี้ยงชีพได้ แม้จะติดขัดในเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเปรมฤทัย บอกต่อว่า ถ้าไม่มีต้นทุนหลัก 1 ล้านบาทขึ้นไป การเช่าพื้นที่ ควรจะมองหา ทางเลือกในการจ่ายค่าเช่ารายเดือน มากกว่าจะปล่อยให้เงินทุนหลายแสนจมอยู่กับค่าเช่าจ่ายเหมารายปี บวกกับเงินสำรองในการจับจ่ายสินค้าจำเป็นต้องมีในการหมุนเวียนสินค้าใหม่ๆในร้านด้วย

กับงานหน้าร้าน เปรมฤทัย ยังบอกอีกว่า ความขยันในการ "สื่อสารเรื่องราวที่มาของสินค้า" เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะสามารถเพิ่มยอดขายได้ และจะนำไปสู่การดำรงอยู่ของร้านเล็กๆ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจแบบ social enterprise

"เราอยากให้ลูกค้า เห็นและเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีของไทย ผ่านสินค้าของเรา เพราะส่วนใหญ่สิ่งที่เราจำหน่ายอยู่ในร้าน ล้วนแต่เป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนที่แตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีวิถีที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าม้ง ผ้าย้อมมะเกลือ งานอรัญญิก งานกะลา ตะไคร้ ดอกมะลิ ซึ่งเรากำลังนำเสนอความหมายของสิ่งเหล่านี้ผ่านตัวสินค้าของเรา กล่าวคือในระยะเวลาอันสั้นลูกค้าสามารถเห็นและเข้าใจ วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของเราได้ จากสินค้าเหล่านั้น และถ้าสนใจมากกว่า ก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีเวลาที่จะศึกษาและเข้าใจ"

"การจะทำร้านแบบนี้ได้ดี ต้องมีจิตอาสาพอสมควร ไม่งั้นจะขายสินค้าในร้านได้ยากมาก เพราะสินค้าหลายอย่างดูไม่แตกต่างจากสินค้าที่วางขายตามตลาดทั่วไป ตามแผงลอย ที่ราคาเหมือนจะถูกกว่า เช่น ผ้าไหม เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เราจะเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ความใส่ใจในตัวสินค้า เราต้องถ่ายทอดให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่าความแตกต่างของผ้าไหมราคาถูกกับราคาแพงอยู่ที่ไหน ด้ ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ฟังเราอธิบายถึงที่มาที่ไปของสินค้าเหล่านั้น กระบวนการในการผลิตที่แตกต่างกัน และการตอบแทนคืนสู่สังคมของร้านเรา ลูกค้าก็จะยินดีที่จะซื้อ และซื้ออย่างมีความสุข"

นอกจากจะสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้า กิจการนี้ต้องทำความเข้าใจกับ "ผู้ผลิต" ด้วย

"การดีลกับชุมชนก็โอเค คุยกันรู้เรื่องดี มีบ้างที่เป็นอุปสรรค แต่ก็ต้องใช้ความอดทน บางครั้งเราก็ต้องยอมที่จะเสียบ้าง ให้ยึดหลักเดินสายกลาย เนื่องจากร้านเน้นงานทำมือ น้อยชิ้นจึงไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อลูกค้าสักเท่าใด แต่จะเป็นอุปสรรคเมื่อลูกค้าต้องการของน้อยชิ้นของเราในปริมาณที่เยอะ เช่นนำไปขายต่อ เราก็จะเสียลูกค้าเหล่านี้ไป เพราะปริมาณการผลิตของเรามีจำกัด เช่น ผ้าไหมดำย้อมมะเกลือ ซึ่งเป็นสินค้าเด่นของเรา ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติของอ.โก๋ ซึ่งสวยงามระดับประเทศ เป็นต้น"

หัวใจของการเป็นเจ้าของร้านและเป็นลูกจ้างของตัวเอง เปรมฤทัยยังย้ำว่า สำคัญต้องขยันและอดทนในตอนต้น

"จะมีหลายๆครั้งที่คนเดินเข้าโดยไม่ซื้อ เราก็ต้องอดทน เพราะเรากำลังทำอะไรที่มีความหมาย แค่การได้ทำอะไรที่ดี มีจิตสำนึก และมีความหมาย ก็ดีแล้ว ขอให้เราต่อสู้จนสู้ต่อไปไม่ได้นั่นแหละ ไม่อยากให้ท้อถอยที่จะทำอะไรดีๆ เพราะเชื่อเถอะว่า ในสังคมเรายังมีคนดีอีกเยอะ ถ้าเรายึดมั่นและยืนหยัดที่จะทำดี ขอให้ทำไปเถอะ นั่นแหละ ดีที่สุดแล้ว และนี่ก็คือพลังของเรา ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นผลงานของเรา"

เมื่อเร็วๆนี้ เปรมฤทัยก็ได้เห็นเสียงตอบรับผลงานของเธอบ้างแล้ว จากการได้รับรางวัลจากองค์กรอิสระนานาชาติ Wild Asia ในสาขา "Inspiring Stories Competition" ซึ่งได้รับการโหวตจากกลุ่มคนทำงานในสายงานท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ( Green Circuit )และสื่อที่นำเสนอเรื่องราวท่องเที่ยวอย่าง Travel + Leisure Southeast Asia! (ดูรายละเอียดได้ที่ http://tourism.wildasia.org/2573/family-tree-fair-trade-mass-tourism/ และhttp://www.familytree-huahin.com)