สังคม(ไทย)นิยมโซตัส ?

สังคม(ไทย)นิยมโซตัส ?

การรับน้องใหม่ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามหรือเรื่องผิดบาป แต่การรับน้องด้วยระบบเต่าล้านปีอย่างโซตัสไม่ควรมีอีกต่อไปในสังคมที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน

เมื่อฤดูกาลแห่งการเปิดเทอมใหม่เริ่มต้นขึ้น..

ที่ลานหน้าคณะของแทบทุกมหาวิทยาลัยจะมีเสียงรุ่นพี่ตะโกนเรียกให้น้องปีหนึ่งมาตั้งแถว สั่งให้ 'หมอบ' 'ลุก' 'นั่ง' หรือพูดจาข่มขู่ จัดฉากดราม่าในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า

"ให้พาเพื่อนมาเข้าเชียร์ให้ได้ร้อยคน ถ้ามาไม่ครบ คนที่มาต้องถูกลงโทษ"

"พูดอะไรไม่ได้ยิน ตอบใหม่!!"

"ถ้าพรุ่งนี้มาเข้าเชียร์น้อยกว่านี้ พี่ปี2 ต้องรับผิดชอบ" พี่ปี3 กล่าว

และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้เป็นภาพการรับน้องใหม่ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยของเมืองไทยมานานนม แม้กระทั่งในพ.ศ.นี้ ก็ยังพบว่ามีการรับน้องด้วยระบบแบบนี้อยู่หลายแห่ง ทั้งๆ ที่เราเรียกตัวเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่การกระทำ(ของรุ่นพี่)กลับใช้หลักอำนาจนิยมแทนหลักความเสมอภาค

แม้แต่การทำกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยของคนระดับปัญญาชนยังเป็นแบบนี้ คงไม่ต้องถามต่อว่าประชาธิปไตยของประเทศนี้จะเบ่งบานได้จริงหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า

อำนาจที่หลงทาง

แต่เดิมระบบ SOTUS มาจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า Fagging system ต่อมาระบบนี้ได้อยู่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ วชิราวุธวิทยาลัยและโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ) และโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปัจจุบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และระบบนี้ถูกสืบทอดต่อกันมายังปัจจุบัน

"ระบบโซตัสช่วยละลายพฤติกรรมนะ ทุกคนผ่านการเลี้ยงดูจากที่บ้านและที่โรงเรียนสมัยมัธยมมาไม่เหมือนกัน การละลายพฤติกรรมก็เพื่อที่จะทำให้น้องๆ ได้รู้จักกัน ได้ร่วมกิจกรรมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะในชีวิตจริงของคนเราก็ไม่มีอะไรที่จะถูกใจเราไปทุกอย่าง ระบบโซตัสก็ช่วยให้สอนเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่งก่อนที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในสังคม สำหรับเราพอผ่านระบบนี้มา ก็ทำให้ได้เพื่อนๆ จากกิจกรรมนี้ เราได้ผ่านอะไรที่ยากลำบากมาด้วยกัน ได้เห็นน้ำใจกัน เพราะเรื่องนี้มันจะเกิดขึ้นแค่ช่วงเดียวคือตอนปีหนึ่งเท่านั้น บางครั้งเราก็ต้องเปิดใจยอมรับเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ เชื่อว่าการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องระบบโซตัสจะได้อะไรกลับมาแน่นนอน" นีรัมพร ฝันเยื้อง อดีตพี่ว๊ากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าถึงข้อดีของโซตัสในมุมมองของเธอ

ในปัจจุบัน พบว่าการรับน้องแบบไม่เหมาะสมและใช้วาจาข่มขู่มีให้เห็นได้บ่อยกว่ากิจกรรมที่ช่วยสร้างความคุ้นเคยระหว่างพี่น้องหรือเพื่อนใหม่ แม้ความหมายของโซตัสจะชัดเจน แต่ว่าขอบเขตค่อนข้างจะคลุมเครือ จึงมีการนิยามและกำหนดความหมายของคำเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน บางแห่งก็ตีความให้รุ่นพี่มีอำนาจออกคำสั่งให้น้องปี1 ทำในสิ่งซึ่งเกินขอบเขต ไม่เหมาะสม ตามที่ปรากฏในข่าวหลากหลายช่องทาง

โดยรุ่นพี่มักอ้างว่าเป็นวิธีการรับน้องแบบโซตัสที่ทำกันมานาน แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เคยรู้ถึงความหมายที่แท้จริงและไม่ได้ตระหนักถึงเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแต่ละยุคสมัยแต่ละวัฒนธรรม มีเพียงการกล่าวอ้างเรื่องระบบอาวุโสของรุ่นพี่และการออกคำสั่งให้น้องทำตาม ซึ่งเป็นเพียง 2 ใน 5 ข้อของระบบโซตัสแบบดั้งเดิมเท่านั้น การนำระบบนี้มาใช้รับน้องแบบขาดๆ เกินๆ จึงไม่น่าจะใช่วิธีที่ควรปฏิบัติระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การรับน้องด้วยระบบโซตัสมีมานานแล้ว เป็นการรับน้องโดยใช้อำนาจของรุ่นพี่บังคับรุ่นน้อง ใช้อำนาจแบบแนวดิ่งคือรุ่นพี่อยู่เหนือรุ่นน้อง รุ่นน้องมีหน้าที่ทำตามคำสั่ง โดยการรับน้องแบบนี้เริ่มในโรงเรียนทหารในยุโรปก่อน ต่อมามหาวิทยาลัยเอกชนในยุโรปและอเมริกาเห็นว่าเข้าท่าดี จึงเลียนแบบเอามาใช้บ้าง ทำให้การรับน้องแบบอำนาจนิยมนี้แพร่ระบาดไปทั่วมหาวิทยาลัยของยุโรปและอเมริกา แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้คนตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของมนุษย์กันมากขึ้น โซตัสก็หมดไป

"มันมีมาเป็นร้อยๆ ปีแล้วครับ แต่ตอนนี้ยุโรปกับอเมริกาเขาเลิกไปหมดแล้ว ยุโรปเขาเหลือแต่การจัดงานต้อนรับ เขาไม่รับน้องในความหมายที่รุ่นพี่ต้องมีอำนาจมาสั่งรุ่นน้องแล้ว เพราะว่าพอเขาเคารพในหลักของความเสมอภาค เรื่องพวกนี้มันก็หมดไป ทีนี้ประเทศไทยก็ไปรับเอาประเพณีรับน้องแบบอำนาจนิยมเข้ามา โดยที่ทำสืบต่อกันมาแล้วไม่รู้ว่าต้นตำรับที่ยุโรปและอเมริกาเขาเลิกไปหมดแล้ว ประการแรกที่เราบอกว่าเป็นประเพณีไทยที่ทำกันมานี่ไม่จริง เพราะว่ารับน้องเป็นของฝรั่ง แต่ว่าคนที่เขาคิดไว้เขาเลิกไปหมดแล้ว

สองคือประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของความเสมอภาคของมนุษย์ ดังนั้นรุ่นพี่ไม่มีความชอบธรรมใดๆ อยู่แล้วที่จะมาสั่งรุ่นน้อง รุ่นพี่รุ่นน้องเสมอภาคกัน จะมาสั่งให้ทำโน่นนี่นั่นในสิ่งซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ มันเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอยู่แล้วครับ"

โซตัสหลงยุค

ไม่เพียงแต่จะไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่การฝักใฝ่และยึดถืออยู่กับประเพณีรับน้องด้วยระบบล้าหลังเช่นนี้ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาพรวมด้วย ยิ่งอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แน่นอนว่าไทยต้องการพัฒนาคนให้มีศักยภาพ กล้าคิดกล้าทำ มีความคิดสร้างสรรค์และทันสมัย ไม่ใช่แค่ฟังและทำตาม แต่การพัฒนาคนในต้นทางของการผลิตปัญญาชนจากรั้วมหาวิทยาลัยกลับไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าการรับน้องแบบโซตัสไม่ใช่เรื่องปกติและควรทำต่อ พวกเขามองว่าในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น การอยู่ในวังวนที่ล้าหลังไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อีกต่อไป

การก่อเกิดของหน้าเพจในเฟซบุ๊คเพื่อคัดค้านการรับน้องด้วยระบบโซตัสจึงมีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เพจรู้ทันโซตัส, Anti-Sotus, เลิกรับน้องมารักน้องดีกว่า, เด็กม.บูรพาไม่เอาว้าก ไม่เอาระบบโซตัส, NO SOTUS in KU, Sotus แม่งเหี้ย, วิพากษ์ว้าก SOTUS, ศูนย์เยียวยาแผลใจ ผู้ประสบภัยจากการรับน้อง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Anti SOTUS international edition เป็นต้น

ปลาเป็น (นามปากกา) ที่ปรึกษาเพจ รู้ทันโซตัส บอกว่า เพจนี้สร้างขึ้นมาเพราะพวกเขาต้องการเห็นเด็กไทยคิดเป็น ที่ผ่านมามีการรับน้องแบบโซตัสและมีการเรียกร้องให้ยกเลิกหรือคัดค้านระบบนี้มาตลอด แต่ก็ไม่สามารถขจัดออกไปจากมหาวิทยาลัยได้จริง จึงอยากสร้างเพจที่สื่อสารถึงน้องใหม่และคนทั่วไปว่าในอีกมุมหนึ่งหากไม่ต้องการโซตัส น้องปี1 ก็ควรลุกขึ้นมาปฏิเสธรุ่นพี่ด้วยเหตุและผลอย่างกล้าหาญ

"ผมมองว่าเด็กปี1 นี่เขาอยู่กันยังไงถึงให้รุ่นพี่มากดขี่ข่มเหงได้ แม้ระบบนี้จะฝังรากมานาน แต่ผมว่าอยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าคนไม่เอาซะอย่างเขาจะทำอะไรได้ อย่างประเด็นการเข้าประชุมเชียร์เพื่อรับรุ่นเนี่ย เป็นประเด็นที่เถียงกันมาไม่รู้กี่ปีแล้ว รุ่นก็เป็นเพียงตัวเลขไว้นับว่าสาขานั้นๆ มีมากี่ปีเท่านั้นเอง"

ที่ปรึกษาเพจนี้ ยังบอกอีกว่า เพจของพวกเขายังทำหน้าที่รับฟังปัญหาของน้องใหม่ พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิต่างๆ รวมถึงรับฟังความไม่สบายใจของน้องๆ เวลาถูกรับน้องหรือเข้าประชุมเชียร์กับพี่ว๊าก

"เท่าที่คุยมาร้อยทั้งร้อยไม่มีใครชอบเลย น้องที่เข้ามาคุยกับบอกว่ารุ่นพี่ชอบขู่ บางคนก็สะท้อนว่ามันทำให้เสียเวลาเรียน แต่เขาไม่กล้าเถียง ไม่กล้าพูด เราก็มีคำแนะนำให้ตรงๆ ว่าอย่ากลัว เพราะรุ่นพี่ไม่ใช่พ่อแม่เรา ถ้ามีอะไรรุนแรงให้แจ้งความ หรือถ้าโดนกดขี่ข่มเหง ให้น้องพาพ่อแม่มาหารุ่นพี่คนนั้นเลย คุยเลยว่ากิจกรรมรับน้องที่นี่เป็นยังไง"

ส่วนเพจ Anti-Sotus ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะมียอดกดไลค์กว่า 11,000 ไลค์ โดยแกนนำอย่าง โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ (Anti-SOTUS) ได้เล่าถึงการรวมกลุ่มก่อตั้งเป็นคณะทำงานว่า กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องฯ ก่อตั้งมาได้ 3 ปีแล้ว โดยมีการเปลี่ยนชุดการทำงานกันมาตลอด เกิดจากความร่วมมือกันของมหาวิทยาลัย 10 แห่ง โดยในปี 2556 นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นเจ้าภาพในการทำงาน

"ปีนี้สิ่งที่เราเคลื่อนไหว เราต้องการแค่ให้น้องปี 1 สามารถเลือกได้ว่าจะเข้ากิจกรรมหรือไม่เข้ากิจกรรม แต่ไม่ได้ไปห้ามหรือต่อต้านกิจกรรมรับน้องของเขานะครับ เพราะแบบนั้นมันก็เหมือนเราไปสั่งเขาอีกเหมือนกัน แต่เราบอกว่าเราขอคนละครึ่งทาง คือเสนอว่าให้น้องเลือกได้ไหม ก็เหมือนการจะขายสินค้าสักอย่างหนึ่ง เราก็ต้องบอกด้วยว่าสินค้านั้นมันดีอย่างไร และก็ให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะซื้อหรือไม่ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ตัวน้องก็ควรมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเข้าหรือไม่เข้า"

โตโต้เล่าอีกว่า สิ่งที่พบในปีนี้คือบางมหาวิทยาลัยยังมีการจัดกิจกรรมรับน้องที่เป็นความลับ ซึ่งส่อแววว่ามักจะมีปัญหาตามมา แต่ก็มีหลายแห่งที่ให้ความร่วมมือกับทางกลุ่มเป็นอย่างดี มีการถ่ายทอดสดกิจกรรมรับน้อง กระจายข่าว และติดตามการรับน้องในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เป็นภาคีเครือข่าย เพื่อให้การรับน้องที่ไม่เหมาะสมลดน้อยลง

สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์ปริญญา ที่สะท้อนว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นต้องใช้หลักการของความเสมอภาค ไม่ใช่รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่เท่านั้น แต่รุ่นพี่ก็ต้องเคารพรุ่นน้อง เคารพซึ่งกันและกัน ต่อไปหากคนไทยมีความตระหนักในหลักความเสมอภาคของมนุษย์มากขึ้น การยอมรับในเรื่องโซตัสนี้จะน้อยลง

"ถ้าตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยทำไมไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย จะสำเร็จได้อย่างไรล่ะในเมื่อมหาวิทยาลัยยังไม่เคยปลูกฝังให้เคารพหลักความเสมอภาคกันเลย ถึงจุดหนึ่งผมทำนายว่า ไม่น่าจะเกิน 10 -15 ปีต่อจากนี้ รับน้องระบบโซตัสในประเทศไทยจะหมดไปโดยสภาพหลัก บางที่ที่ยังเหลืออยู่จะกลายเป็นพวกที่ล้าหลัง จะกลายเป็นอะไรที่มีน้อยลงไปทุกทีและพ้นสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่ามันขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ มันก็คือพ้นสมัยไปแล้วครับ ขณะนี้เป็น Critical Mass (ภาวะมวลวิกฤต) คือถ้าเกิดมีนิสิตนักศึกษาถึงจำนวนที่มากพอ ยุคหนึ่งมันก็จะหมดไปเอง"

แม้การขจัดระบบโซตัสในรั้วมหาวิทยาลัยไทยอาจใช้เวลานาน แต่ถือเป็นก้าวที่ดีอีกก้าวของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิทธิและความเสมอภาคและหันมาเปลี่ยนแปลงสังคมที่ตนเองอยู่ให้ดีขึ้น เพราะสังคมในรั้วการศึกษาย่อมสะท้อนสังคมในระดับชาติ