100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

วันที่ 1 มีนาคม 2556 เป็นวันครบรอบ "100 ปี เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

"เพลงสรรเสริญพระบารมี" นับเพลงประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ และถือเป็นเพลงสำคัญของแผ่นดินอีกเพลงหนึ่ง ร่วมกับ "เพลงชาติ"

แต่เดิมในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามได้ใช้เพลงประโคมอย่างโบราณเพื่อใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติ เครื่องประโคมที่สำคัญได้แก่ มโหระทึก สังข์ แตรงอน ปี่ไฉน กลองชนะ และอื่นๆ ต่อมาเมื่อขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก ช่วงปีพ.ศ.2394 ได้มีครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ Impey เดินทางเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหลวง ต่อมาทหารอังกฤษอีกนายหนึ่งชื่อ Thomas Knox ได้เดินทางเข้ามาและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงให้ทำหน้าที่ฝึกทหารในวังหน้า ทั้งคู่เป็นผู้ที่นำเพลง "God Save The Queen" ซึ่งถือเป็นเพลงถวายพระเกียรติพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษมาใช้ในกรุงสยาม โดยมีการประพันธ์เนื้อร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อถวายพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฎหลักฐานสำคัญอยู่ในหนังสือ Siam Recorder

ต่อมาไม่นานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงได้ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาไทยลงในทำนอง God Save The Queen โดยให้ชื่อว่า "จอมราชจงเจริญ" ดังนี้

ความ สุขสมบัติทั้ง บริวาร

เจริญ พละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว

จง ยืนพระชนมาน นับรอบ ร้อยแฮ

มี พระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงเพียงจันทร์

จนกระทั่งขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเกาะชวาในปีพ.ศ.2414 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทหารอังกฤษจึงได้ใช้เพลง "God Save The Queen" บรรเลงเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จแบบเดียวกับที่ใช้ในกรุงสยาม

ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองปัตตาเวีย เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลลันดา ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามพระองค์ว่าจะให้ใช้เพลงอะไรบรรเลงเพื่อเป็นเพลงถวายพระเกียรติรับเสด็จ พระองค์จึงทรงสั่งให้บรรเลงเพลง "God Save The Queen" เช่นเดียวกับในกรุงสยาม ทหารฮอลลันดาจึงทูลถามอีกครั้งว่า สยามมิได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเหตุใดจึงใช้เพลง "God Save The Queen" พระองค์จึงได้รับสั่งมิให้มีการบรรเลงเพลงดังกล่าวเป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนครจึงได้มีการประชุมครูดนตรีเพื่อสรรหาเพลงสรรเสริญพระบารมีแทนเพลง "God Save The Queen" โดยได้มีการเลือกทำนองเพลง "บุหลันลอยเลื่อน" บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และให้เฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็ก ชาวฮอลันดา เรียบเรียงใหม่ให้ออกแนวดนตรีตะวันตกเพื่อใช้กับแตรฝรั่งไปพลางก่อน

หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่ามีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วยทำนองอย่างปัจจุบันเป็นครั้งแรกก็คือ สูจิบัตรการแสดงดนตรีถวาย เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2431 เป็นกำหนดการเล่นมโหรีของทหารบกและทหารเรือในงานเปิดศาลายุทธนาธิการ โดยได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงเล่นลำดับแรกและใช้เนื้อร้องสำหรับทหาร นิพนธ์โดยนายพลตรีเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ดังนี้

"ข้า วร พุทธ เจ้า เหล่า วิริย พล พลา สบ ไสมย กาละ ปีติกมล ร่วม นร จำเรียง พรรค์ สรร ดุริย พล สฤษดิ มณฑล ทำ สดุดี แด่ นฤบาล ผล พระ คุณะ รักษา พล นิกายะ ศุข สานติ์ ขอ บันดาล พระ ประสงค์ใด จงสฤษดิ ดัง หวัง วร หฤไทย ดุจ ถวาย ไชย ฉนี้"

จึงเชื่อได้ว่าทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างปัจจุบันน่าจะมีก่อนงานเปิดศาลายุทธนาธิการ ซึ่งน่าจะออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีลงสรงคราวสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ในปีพ.ศ.2429 และจากการค้นคว้าทำให้ทราบว่าทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นการขยายทำนองเพลงอัตราชั้นเดียวที่ใช้ประโคมเวลาเสด็จแล้วนำมาแต่งเป็นอัตราสองชั้นจนออกมาเป็นทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยท่านครูมีแขก แต่ก็มีบางส่วนเชื่อว่าเป็นการประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย

นอกเหนือจากเนื้อร้องทหารแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังได้ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องในแบบอื่นๆ และกรมศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้ในโรงเรียนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2445 มีดังนี้

"ข้า วร พุทธ เจ้า เหล่า ยุพ ยุพ ดี ยอ กร ชุลี วร บทบงสุ์ ส่ง ศัพท์ ถวาย ไชย ใน นฤ ประสงค์ พระ ยศ ยิ่ง ยง เยน สิร เพราะ พระ บริบาล ผล พระ คุณะ รักษา ปวง ประชา เปน ศุขะ สาร ขอ บันดาล พระ ประสงค์ ใด จง สฤษดิ ดัง หวัง วร หฤไทย ดุจ ถวาย ไชย ฉนี้"

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงนำเนื้อร้องเดิมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาปรับปรุงแก้ไข โดยทรงพระราชนิพนธ์ใหม่และเปลี่ยนคำว่า “ฉนี้” เป็น “ชโย” ดังนี้

"ข้าวระ พุทธเจ้า เอามะโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บุญญะดิเรก เอกบรมะจักริน พระสยามินทร์ พระยศะยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเปนศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จง สฤษดิ์ ดัง หวังวระหฤทัย ดุจจะถวายไชย ชโย"

เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์นี้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2556 พร้อมกับมีประกาศเพิ่มเติมท้ายบทร้อง ดังนี้ "คำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีบทนี้ สำหรับใช้ทั่วไปได้ในโรงเรียนทั้งผู้ชายและผู้หญิงเหมือนกันหมด ให้โรงเรียนทั้งหลายฝึกหัดนักเรียนให้ร้องตามถ้อยคำบทใหม่นี้และให้เปนอันเลิกใช้บทเก่าได้" ลงนาม เจ้าพระยาพระเสด็จ เสนาบดี ผู้แจ้งประกาศ

เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถูกนำมาขับร้องอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้มีการออกประกาศว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 8 เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อวันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2483 โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่า "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงเห็นควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า "สยาม" และตัดทอดข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้

"ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย ดุจถวายไชย ชโย"

เนื้อร้องนี้ถูกยกเลิกไปหลังจากจอมพลแปลก พิบูลสงครามสิ้นสุดอำนาจทางการเมือง รัฐบาลจึงได้นำเนื้อร้องฉบับเต็มซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 กลับมาใช้เป็นเพลงถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์หรือเพลงสรรเสริญพระบารมีดังเดิม

วันที่ 1 มีนาคม 2556 ที่กำลังจะถึงนี้ จึงเป็นวันครบรอบ "100 ปี เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ใช้ขับร้องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

........

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย (www.t-h-a-i-l-a-n-d.org)