เมื่อกฎหมายทำร้าย 'เด็ก'

เมื่อกฎหมายทำร้าย 'เด็ก'

ไม่ต้องเห็นใจก็ได้ แต่ขอให้เข้าใจว่า...เด็กไร้สัญชาติไม่ใช่อาชญากร

ภาพอันน่าสลดใจของเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงที่ถูกนายจ้างทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้านหนึ่งอาจถือเป็นความวิปริตโหดร้ายในจิตใจของผู้กระทำ แต่อีกด้านต้องยอมรับว่าเงื่อนไขทางกฎหมายและสังคมก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยังมีเด็กอีกมากต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ โดยมี "การเพิกเฉย" ของผู้คนในสังคมเป็น "แรงผลัก" พวกเขาเหล่านั้นให้ดำดิ่งสู่ชะตากรรมอันโหดร้าย

“หนูชื่อพลอยค่ะ มาจากอำเภอแม่สอด พวกเราเกิดและเติบโตในประเทศไทย รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทยมาโดยตลอด แม้จะมีคนบอกเราว่าไม่ใช่คนไทยก็ตาม หนูไม่เคยคิดว่าการที่พ่อแม่ของหนูเป็นพม่า จะทำให้พวกหนูเป็นคนที่กระทำผิดกฎหมาย"

"เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่พวกหนูรู้ว่าเราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้แก่แผ่นดินที่เราอาศัย เราอยากให้ผู้ใหญ่ให้โอกาส มองเราเป็นเด็กที่ควรได้รับการคุ้มครองเหมือนเด็กไทยคนอื่นๆ หากเด็กต่างด้าวเกิดในประเทศไทย พวกเราควรจะได้ใบสูติบัตร มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และได้พัฒนาตามความสามารถ พวกเราขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเห็นคุณค่าของเรา เราจะเติบโตมาเป็นคนดี และจะทำประโยชน์ให้ประเทศไทย กรุณาระงับการออกกฎหมายใดๆ ที่จะทำให้พวกเราตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงและเป็นอันตราย”

นี่คือหนึ่งเสียงเล็กๆ ตัวแทนของเด็กไร้สัญชาติหรือเด็กเคลื่อนย้ายในจำนวนอีกนับไม่ถ้วนที่ออกมาขอความเห็นใจ ในวาระที่กระทรวงมหาดไทยพยายามผลักดันร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรของผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้เฉพาะกลุ่มเด็กที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ได้สิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเช่นเดียวกับบิดาและมารดา ภายในระยะเวลาที่บิดาและมารดาได้รับอนุญาต ส่วนเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการจดทะเบียนหรือถือสัญชาติไทย จะถือว่าเป็นผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีผลให้เด็กกลุ่มนี้ต้องถูกผลักดันออกนอกประเทศ

ทั้งนี้หากร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้กลุ่มเด็กต่างชาติที่เข้าประเทศไทยโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ และเด็กที่เกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย หรืออยู่ในสถานะระหว่างขอสถานะทางทะเบียนที่ถูกต้อง ต้องถูกจับกุม ผลักดันส่งกลับ โดยปราศจากผู้ดูแล ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงละเมิดและแสวงประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า เรื่องนี้มีผลกระทบกับเด็กนับล้านคน รวมถึงเด็กที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งไทยไม่ได้ให้สัญชาติกับเขา ประเด็นที่จะพูดถึงมี 3 ประเด็น คือ 1. ที่มา 2.ข้อกฎหมาย 3.ข้อเสนอแนะหรือทางออก

สำหรับที่มาในกฎหมายสัญชาติเดิม กล่าวไว้ว่า ผู้ที่เกิดในประเทศไทยให้ถือว่าเป็นคนไทยโดยหลักดินแดนและสายเลือดซึ่งเป็นหลักในกฎหมายดั้งเดิมมา แต่ด้วยประเด็นความมั่นคงและจำนวนประชากรที่มากขึ้น ทำให้เราไม่ให้คนที่เกิดในประเทศไทยได้สัญชาติ เนื่องจากความเกรงกลัว ในคนบางคนที่ไม่ควรได้สัญชาติไทย จึงได้จำกัดคน 3 กลุ่มไว้ ดังนี้ หนึ่ง คือกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยชั่วคราว แรงงานต่างด้าว และชนกลุ่มน้อยชาวเขา สอง คือกลุ่มที่ได้รับอนุญาติให้อาศัยชั่วคราว หรือผู้ที่ถือพาสปอร์ต เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยว และสาม คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งสถานะของพวกเขาคือผิดกฎหมายคนเข้าเมือง

จนนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายในปี 2550 ออกมาเป็น พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 4 ในปีพ.ศ. 2551 แต่ที่่ผ่านมาก็ยังมีเด็กจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งถือเป็นการขัดและละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาสิทธิเด็ก ขัดกฎหมายในประเทศ อย่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก และขัดเจตนารมณ์กฎหมายสัญชาติเอง เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านมาต้องการให้เด็กเป็นคนไม่ผิดกฎหมาย

“เด็กเกิดในประเทศไทย พวกเขาไม่ได้เข้าเมือง ฉะนั้นเด็กจะผิดกฎหมายตรงนี้ไม่ได้ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะมันทำให้เด็กกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา เนื่องจากกฎหมายคนเข้าเมืองมีโทษจำคุกด้วย เด็กกลายเป็นผู้กระทำผิดอาญาตั้งแต่แรกคลอดมาเลย กลายเป็นอาชญากรที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีหน้าที่จับกุมและผลักดันออกนอกประเทศไทย ซึ่งนี่คือเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องออกมาทบทวนตอนนี้ เพราะมีผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ที่เกิดในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก”

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้ติดตามกรณีปัญหาสัญชาติมานาน ซึ่งมองว่ากฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน

“ที่น่าสงสาร คือกระเหรี่ยง มูเซอ อย่างที่เราทราบกันดีว่าไม่ประเทศนี้อยู่บนโลก ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าเด็กพวกนี้มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และยังมีเด็กไร้รากเหง้าที่ถูกทิ้งไว้ในชุมชนอีกเท่าไหร่ หรือถูกทิ้งไว้ตามถังขยะบ้าง เร่ร่อนบ้าง ซึ่งเราถือเป็นเหยื่อของกฎหมาย”

"ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 สิ่งที่เราทำคือแก้มาตรา 7 ทวิเก่า เป็น 7 ทวิใหม่อย่างที่ท่านเห็น ถูกซ่อมในปีพ.ศ. 2551 คนที่เกิดในไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทย จะอยู่ในไทยฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามกำหนดในกฎกระทรวง สิ่งที่เจรจาต่อรองกันคือว่าจะไม่ให้สัญชาติก็ไม่เป็นไร แต่อย่าไปถือว่ามนุษย์คนหนึ่งที่เกิดในประเทศไทยที่ไม่ได้เข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายเลย"

"อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องให้สัญชาติ แต่จำเป็นต้องพาเขาไปพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง"

"ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากฎกระทรวงตัวนี้ ทำหน้าที่กฎหมายคนเข้าเมืองพิเศษ ซึ่งวันนี้มันเหมือนเราไม่เคยได้ 7 ทวิ วรรค 3 ใหม่ ...ขอคำเดียวค่ะ ขอคำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 มันก็จะทำให้เกิดความผูกพันของประเทศไทยกับปฏิญญาสากล วันนี้กฎกระทรวงฉบับที่ท่านทั้งหลายเห็น มันเหมือนเราไม่ได้แก้ เหมือนกลับไปอยู่ที่เดิม เหมือนเราไม่ได้ทำอะไรเลยในปี พ.ศ.2551"

"ท่านเห็นด้วยไหมว่ามันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ถ้าใครคนหนึ่งไม่เคยทำผิดคดีอาญา เขาจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายอาญาได้อย่างไร เห็นด้วยไหมคะ” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ตั้งคำถาม

ขณะที่ วรางคณา มุทุมล เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการเด็กย้ายถิ่นประจำประเทศไทย กล่าวเสริมถึงกรณีที่ไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่า ในฐานะที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติที่เราควรจะต้องปฏิบัติตามและพยายามส่งเสริมให้แนวทางกฎหมายในประเทศสอดคล้องกับมาตรฐานนั้น หรือถ้ามีกฎหมายอื่นใดที่เปิดช่องทางให้มีการละเมิดสิทธิ เป็นความเสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อเด็กจะต้องมีการระงับไม่ให้มีการนำมาบังคับใช้

ทั้งนี้ข้อเสนอคือข้อสังเกตจากคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติที่มีต่อประเทศไทย นั่นคือจะต้องรับประกันเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่ หรือว่าจะมีสัญชาติใดในประเทศไทย ไม่ว่าภาษาใด ศาสนาใด จะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันและได้รับการดูแลให้ปลอดจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ

“ในขณะนี้พยายามส่งเสริมให้มีการพัฒนาเครือข่ายการบริการทางสังคมที่เป็นระดับภูมิภาค เลยอยากจะสรุปในความเป็นจริงว่าช่วงหลายสิบปีเรามีความก้าวหน้าในหลายรูปแบบ มีความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะแก้ไขจุดที่มันเป็นข้อบกพร่อง พยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย แล้วเราก็ทำได้ดี ดังนั้นเราก็ไม่อยากจะให้รัฐบาลทำมาตรฐานของตัวเองตกต่ำลงไป อยากจะให้รักษามาตรฐานนี้ไว้ ยกระดับเรื่อยๆ หรืองดเว้นการกระทำอันใดที่มีผลหรือเปิดช่องให้เกิดอันตรายและล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก”

. . .

ฉากชีวิตของเด็กไร้สัญชาติ ดูเหมือนจะมีที่ทางอยู่ในการรับรู้ของสาธารณชนไม่บ่อยครั้งนัก...

ถ้าไม่ใช่เพราะถูกทารุณกรรมอย่างโหดเหี้ยม เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ก็ต้อรอจนถึงวันเด็ก(ไร้สัญชาติ) ซึ่งทุกครั้งก็มักจบลงด้วยความสงสาร เห็นใจ และ "ผ่านเลยไป"

มึดา นาวานารถ เด็กหญิงชาวปกากะญอที่เกิดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป และจบลงด้วยการได้สัญชาติไทย

แม้เส้นทางชีวิตที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมาย แต่มาถึงวันนี้เธอยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องเป็นนักกฎหมายว่าด้วยเรื่องสัญชาติ ทำเรื่องสัญชาติ ต่อสู้เรื่องสัญชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา ประสานร่วมกับหน่วยงานแห่งรัฐ ในการให้สถานะความเป็นคนไทย สร้างที่ยืนและการมีตัวตนให้กับน้องๆ ที่มีชะตากรรมเดียวกันเธอ

สังคมไทยจะปล่อยให้เด็กๆ เหล่านี้ต่อสู้เพียงลำพังหรือ?

----------------------
ข้อเสนอต่อรัฐบาล

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เสนอแนะรัฐบาล 6 ข้อ ดังนี้

1. เด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ต้องไม่มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

2. ต้องช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เกิดในประเทศไทยตามกฎหมายทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก

3.ต้องดำเนินการกับเด็กเหล่านี้ ตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติและเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ให้เด็กได้รับการพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีศักยภาพสูงสุด

4. เด็กทุกคนต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ได้รับการจดทะเบียนการเกิดและได้รับสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทยหรือสัญชาติอื่นใดตามความเป็นจริง

5.เด็กต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าจะเกิดในประเทศไทยโดยบิดามารดา เป็นผู้เข้ามาราชอาณาจักรไทย โดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง

6. รัฐบาลต้องทบทวนร่างกฎกระทรวงนี้นำกลับไปตั้งคณะทำงานพิจารณายกร่างขึ้นใหม่ โดยมีนักกฎหมาย นักสิทธิเด็ก นักสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมในการทำงานเพื่อจะดำเนินการ ให้ได้ตามข้อเสนอข้อ 1-5 ที่เสนอไป