Exclusive Talk: ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ รื้อราก ‘เหยียดผิว’ ในอเมริกา

Exclusive Talk: ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์  รื้อราก ‘เหยียดผิว’ ในอเมริกา

ปม ‘เหยียดผิว’ กรณี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ก่อให้เกิดจลาจลความรุนแรงในหลายๆ รัฐ ไม่ต่างจากหลายครั้งในประวัติศาสตร์อเมริกา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? หาคำตอบจาก 'รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์' ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

“บาปหนึ่งที่ติดตัวชาวอเมริกันมาตั้งแต่อดีต ก็คือ การค้าทาส พวกเขาบังคับลักพาคนผิวดำมาจากแอฟริกา มาค้าขายเป็นแรงงานทาส ” รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เล่าถึงการ ‘เหยียดผิว’ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาก็เคยใช้ชีวิตที่นั่นกว่า 13 ปี

ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นสื่อมวลชนให้สำนักข่าวบีบีซี ปัจจุบันเป็นอาจารย์ เป็นนักเขียน มีคอลัมน์ในบางกอกโพสต์,The Straits Times สิงคโปร์, มีงานบรรยายทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

เขาบอกว่า ถ้าจะกำจัดปัญหาการเหยียดสีผิวออกไปคงลำบาก อย่างดีที่สุดคือประคองไม่ให้ปะทุ แล้วค่อยๆ เยียวยา

 

  • พราะอะไรคนอเมริกัน(บางส่วน)ไม่ชอบคนผิวดำ ดูถูกดูแคลนมานานกว่าศตวรรษ 

ผมเคยอยู่ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ อเมริกา เป็นสังคมที่มีคนอพยพย้ายมาตั้งรกรากอยู่อย่างต่อเนื่อง ผสมผสานคนหลายชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา หลายศาสนา จึงมีความหลากหลาย เมื่อคนขาวมาตั้งรกรากขยายอาณาจักร บาปหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่อดีตคือ การค้าทาส พวกเขาบังคับลักพาคนผิวดำมาจากแอฟริกา มาค้าขายเป็นแรงงานทาส ส่วนใหญ่ต่างด้าวจะเข้ามาด้วยความสมัครใจ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า มีแต่คนผิวดำจากแอฟริกานี่แหละที่โดนบังคับให้มา

ปัญหาคนผิวดำฝังรากมาตั้งแต่กำเนิดประเทศ แม้วันเวลาจะผ่านไป ก็ยังมีความตึงเครียด ทั้งๆ ที่ขัดกับอุดมการณ์ อุดมคติการตั้งประเทศ เอาแรงงานของแอฟริกาเข้ามา ขณะที่รัฐธรรมนูญการตั้งประเทศ เน้นความเสมอภาค ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ

ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์การก่อตั้งประเทศกับพฤติกรรมการพัฒนาประเทศปะทุขึ้น เคยมีสงครามกลางเมืองเมื่อ 160 ปีที่แล้ว ฆ่าชีวิตคนอเมริกันระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้มากกว่าทุกสงคราม การเหยียดสีผิวฝังรากลึก หลังจากสงครามกลางเมือง ฝ่ายเหนือชนะรวบรวมประเทศอเมริกาและขยายเป็น 50 รัฐในที่สุด แต่ปัญหาผิวสีก็ไม่ได้หายไป ปะทุเป็นระยะ ช่วงที่ชัดเจนที่สุดคือช่วงสงครามเวียดนาม คนผิวดำมีสิทธิไม่เท่าคนผิวขาว เสมือนพลเมืองชั้นสอง เวลาขึ้นรถเมล์ต้องขึ้นด้านหลัง ห้องน้ำที่ใช้ต้องแยกจากคนผิวขาว

  IMG_0365

 

  • ในทางปฎิบัติความเสมอภาคไม่ได้เกิดขึ้นจริงเหมือนที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ?

ในทศวรรษปี คศ.1960 คนผิวดำออกมาประท้วง ทับซ้อนกับสงครามเวียดนาม การประท้วงรอบนั้น คนผิวดำได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น มีพ.ร.บ.ออกมาให้ความเสมอภาค แต่ในทางปฎิบัติไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาก็ยังเป็นชนชั้นล่าง ด้อยกว่า ทั้งการศึกษา ความมั่งคั่งเรื่องเงินๆ ทองๆ

แม้กระทั่งชาวเอเชียอย่างพวกเรายังไม่ถูกเหยียดเท่าคนผิวดำ แม้ระบบสังคมอเมริกาจะพยายามเยียวยาให้ทุนการศึกษาและสวัสดิการพิเศษแก่คนผิวดำ แต่คนผิวดำก็ยังเป็นชนชั้นล่างอยู่ดี ดังนั้นการเหยียดสีผิวจึงมีมาตลอด โดยเฉพาะในหมู่รัฐทางใต้ที่แพ้สงครามกลางเมือง

 

  • การเหยียดผิวที่ปะทุครั้งล่าสุด มีนัยยะอย่างไร

การเหยียดผิวรอบนี้ปะทุขึ้นในรัฐมินนิโซตา เมื่อตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุกับจอร์จ ฟลอยด์ คนผิวดำจนเสียชีวิต ซึ่งใครได้ดูคลิปวิดีโอก็จะรู้สึกบาดหมางใจ ทนไม่ไหว ตำรวจเอาเข่าทับคอซึ่งๆ หน้า จนหายใจไม่ออก ตายเป็นชนวนให้เกิดจลาจลในวงกว้าง มีสองประเด็นที่ผมมอง คือ ไม่ควรมองข้ามรากเหง้าปัญหาคนผิวดำในสังคมอเมริกา ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แก้ไม่ได้แบบเบ็ดเสร็จ

และตำรวจอเมริกันมักจะใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำเป็นพิเศษ จะเรียกว่ามีอคติก็ได้ เพราะคนผิวดำจะถูกมองว่ามีพิรุธมากกว่าคนชาติอื่น ที่ผ่านมาคนเอเชียไม่ค่อยสร้างปัญหา คนผิวดำจะมีเรื่องเป็นระยะ อย่างปีค.ศ. 1992 ชนวนที่ตำรวจทุบตี ร็อดนีย์ คิง (Rodney King) คนผิวดำที่โดนคนผิวขาวรังแก ก็ทำให้เกิดจลาจล

สมัยรัฐบาลโอบาม่า ก็มีเรื่องเหยียดผิวเป็นครั้งคราว ขนาดโอบาม่าเป็นคนครึ่งขาวครึ่งดำ มาถึงยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาให้ท้ายตำรวจ แทนที่จะพูดแบบกลางๆ หรือปรองดองเห็นใจซึ่งกันและกัน ผมมองว่า ปัญหาการเหยียดสีผิวกำจัดลำบาก ดีที่สุดคือประคอง ไม่ให้ปะทุ แล้วค่อยๆ เยียวยา

การเหยียดผิวรอบนี้บานปลายมากเป็นประวัติการ การประท้วงเมื่อปีค.ศ.1960ไม่รุนแรงและกว้างเหมือนครั้งนี้ที่มีปัญหาจลาจลร้อยกว่าเมือง ทั้งปล้มสะดม เผาตึก ไม่เคยลามไปทั่วประเทศแบบนี้ เพราะคนอเมริกันกำลังเก็บกด นี่คือปัจจัยที่สองเรื่องปัญหาปากท้อง คนตกงาน เศรษฐกิจถดถอย ในห้วงเวลาที่ประเทศแตกแยกแบ่งขั้วถ่างขึ้นเรื่อยๆ 

 

  • ปัญหาภาวะผู้นำมีส่วนทำให้สังคมอเมริกาเกิดความแตกแยกไหม

เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาบริหารท่ามกลางความแตกแยก ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแบบฉิวเฉียด แทนที่จะสร้างความปรองดอง เขากลับเล่นและเลือกข้าง ประกอบกับปัญหาไวรัสโควิดระบาดมาเสริมทัพอีก ทำให้คนต้องล็อกดาวน์กักตัวอยู่บ้าน ก็มีความกดดัน พร้อมจะปะทุ จนมีเรื่องการเหยียดผิว ก็เลยระเบิด และปีนี้ก็เป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐด้วย ทำให้ทรัมป์ต้องพยายามทำแต้มการเมืองทุกวิถีทาง

 

  • คาดว่าการจลาจลจะคลี่คลายอย่างไร

มีการใช้กำลังของทางราชการ ไม่ว่าตำรวจท้องถิ่น ทหารระดับรัฐ ถึงขนาดประธานาธิบดีขู่ว่า จะเอากองทัพมาช่วยปราบจลาจล ยิ่งทำให้สถานการณ์แรงขึ้น ถ้าบอกว่ารัฐบาลคงรับมือไม่ได้ เรื่องนี้ยังสรุปอย่างนั้นไม่ได้ครับ 

สถาบันการเมืองของอเมริกา ไม่ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ความน่าเชื่อถือของตุลาการ ศาลยุติธรรม ระบบรัฐสภา พรรคการเมือง สถาบันการเมืองต่างๆ ยังเข้มแข็ง ดังนั้นสถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พวกเขาจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

 

  • ความวุ่นวายในอเมริกาจะส่งผลกระทบต่อประเทศในอาเซียนไหม

อภิมหาอำนาจอย่างอเมริกาก็กำลังตึงเครียดต่อกรกับจีน อเมริกากำลังมีปัญหาแตกแยกในสังคมลึกขึ้นเรื่อยๆ มีการประท้วง ใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรง เป็นสังคมที่ไม่มีความสุข มีความขัดแย้งและตึงเครียด ชนวนที่ทำให้สังคมที่กำลังเก็บกดเป็นมากขนาดนี้ แสดงว่าสะสมมานาน

ผลกระทบที่มีต่ออาเซียนในตอนนี้ น่าจะเป็นปรากฎทางสื่อและภาพลักษณ์ ดังนั้นหากตอนนี้อเมริกาจะเป็นประเทศอภิมหาอำนาจอย่างแต่ก่อนคงลำบาก ระเบียบระบบโลกที่อเมริกาเป็นฝ่ายตั้งขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าระบบองค์การสหประชาชาติ, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ,องค์การการค้าโลก, ธนาคารโลก, องค์การอนามัยโลกฯลฯ อเมริกาเอง ก็ถอนตัวจากตรงนั้นตรงนี้ ทั้งๆ ที่ตั้งกฎกติกา แต่ตอนนี้อเมริกาปฎิเสธ ในทางตรงข้าม จีนมีความสงบเรียบร้อย แม้จะเป็นเผด็จการในประเทศ แต่จัดระเบียบประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในสายตาข้างนอก

ความตึงเครียดระหว่างสองอภิมหาอำนาจจีนกับอเมริกา ก็มีนัยยะ กลุ่มอาเซียนต่างๆ มองว่า ถ้าให้อเมริกาเป็นผู้นำโลก คงยากจะฝากผีฝากไข้ แม้หลายประเทศจะไม่พอใจการกระทำของจีนในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ หรือทะเลจีนตะวันออก หรือการสร้างเขื่อนตามอำเภอใจแถบลุ่มแม่น้ำโขง จีนเดินหมากในเชิงรุก ส่วนชนชาติอเมริกันกำลังเสียความน่าเชื่อถือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

IMG_0367 (1)  

 

  • เป็นช่วงแย่ที่สุดของอเมริกาไหม

ถ้าชาวโลกมองว่า สถานการณ์ในอเมริกาตอนนี้ดูแย่ที่สุด ก็ต้องมองในอดีตด้วย อเมริกาเคยแย่มาหลายช่วง เคยมีสงครามกลางเมือง เคยฆ่าฟันกันในประเทศเมื่อ 160 ปีที่แล้ว และเมื่อ 80 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจในอเมริกาแย่มาก ช่วงหลังก็มีความแตกแยกฝังรากลึก แทบจะเยียวยาไม่ได้ ดังนั้นจลาจลครั้งนี้ ต้องดูตามบริบทอื่นๆ ด้วย ต้องไม่ลืมว่ากำลังภายในอเมริกาก็ไม่น้อย ยังเป็นผู้นำโลกทางทหาร ทางเทคโนโลยี แม้ว่าอเมริกามีภาวะถดถอย แต่ก็ยังมีความแกร่งแฝงอยู่

  • ถ้าเทียบระหว่างสังคมอินเดียที่มีวรรณะกับการเหยียดผิวในอเมริกา อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

สังคมอินเดีย หรือไทย ก็มีชนชั้นตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ สิ่งเหล่านี้มากับศาสนา วัฒนธรรม สังคม แต่ในอเมริกา การเหยียดผิวเป็นสิ่งแปลกปลอม ตั้งระบบขึ้นมาเอง ไม่ได้มาจากสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

อินเดียก็มีความตึงเครียดระหว่างชนชั้น แต่อเมริกาตอกย้ำสองปัจจัย คือ ข้อ 1.เอาคนแอฟริกันมาเป็นแรงงานทาส โดยใช้กำลังบังคับ ข้อ 2. คนผิวดำเป็นชนชั้นล่างมาตลอด ไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งในอินเดียและหลายประเทศไม่ได้เป็นแบบนี้ สังคมไทยก็มีมุสลิม แต่ไม่ได้มีโครงสร้างที่กดขี่

ในขณะที่อุดมการณ์ประเทศอเมริกาอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม ความเสมอภาค แต่ในเชิงพฤตินัยไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะความอคติฝังรากอยู่ในโครงสร้าง ยกตัวอย่าง การรับสมัครเข้าทำงาน ถ้ามีตัวเลือกระหว่างคนผิวดำ คนเอเชีย คนผิวขาว คนลาติน คนดำจะต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนชาติอื่น ผมได้สัมผัสเรื่องนี้มาแล้ว คนเอเชียยังโชคดี สังคมอเมริกาไม่ได้มองคนเอเชียด้วยความอคติ ถ้าเกิดอาชญากรรม คนเอเชียไม่ได้ถูกสงสัยเป็นคนแรกๆ

อคติที่มีต่อคนผิวดำ เป็นบาปหรือมลทินมาตั้งแต่แรก และบางทีคนผิวดำก็รู้สึกว่าพวกเขาด้อยกว่า ทำให้เขามีพฤติกรรมไม่สุภาพ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ถูกต้อง พยายามเอาดีในเรื่องการเล่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล เพื่อหาความก้าวหน้า แต่บางทีระบบสังคมก็ไม่เอื้อให้เขาเท่าเทียมกับคนอื่น

 

 

  • การเหยียดผิวเป็นอคติอย่างหนึ่งในคนอเมริกันรุ่นเก่า?

ผมคิดว่า การเหยียดผิว มันฝังรากลึกไปกว่าเรื่องรุ่นหรืออายุ จะเห็นว่า คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะทันสมัย ทันโลก หรืออย่างไรก็ตาม การเหยียดผิวก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ และรัฐทางใต้ ถ้าจะบอกว่ารัฐทางใต้แพ้สงครามกลางเมืองทำให้เลิกฆ่ากัน ก็ไม่ถูกอีก เพราะเรื่องเหยียดผิว มันฝังรากทั่วประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่

 

  • ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้เสถียรภาพในอเมริกาถูกลดทอนลงไหม?

เอกภาพของอเมริกาไม่เคยแตกแยกแบบนี้มาก่อน เสถียรภาพทางการเมืองหมดไปเยอะ ถ้าจะทำให้มีความสมานฉันท์ก็เป็นเรื่องยาก อย่างยุคประธานาธิบดีโอบาม่า พยายามสร้างความสมานฉันท์ก็ได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากอีกฟากไม่ยอมรับ

ก่อนเกิดเหตุการณ์ไวรัสโควิดระบาด ตลาดหุ้นอเมริกาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจมาโดนทุบตอนไวรัสโควิดระบาด ตอนนี้อเมริกาเศรษฐกิจถดถอย สังคมและการเมืองแตกแยก และมีการใช้ความแตกแยกมาเป็นประโยชน์กับการเมือง และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ ผู้นำหันหน้าออกข้างนอก และโทษข้างนอกมากขึ้น โทษจีน ประณามองค์การอนามัยโลก เราคงจะได้เห็นแบบนี้มากขึ้น

 

  • จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด

ไทยเป็นแค่หางแถว อเมริกามีปัญหาขาดเอกภาพและความน่าเชื่อถือต่อประชาคมโลก แล้วจะมาเป็นผู้นำโลกคงยาก เป็นอานิสงส์ให้จีนเดินหมากเชิงรุก หลายประเทศแถบนี้อาจจะยอมจีนมากขึ้น แม้อเมริกาจะย่ำแย่หลายเรื่องทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่อย่าลืมว่าทุนเดิมของอเมริกาสูงมาก ความเป็นอภิมหาอำนาจและอานุภาพทางทหารก็ยังไม่เป็นที่สองรองใคร

ส่วนความสัมพันธ์ของไทยกับมหาอำนาจสองขั้ว ไทยจะทำอย่างไรที่จะเหยียบเรือหลายแคมต่อไป ที่ผ่านมาเราทำได้ดีมาตลอด อเมริกาเป็นพันธมิตรกับไทยตามสนธิสัญญา หากไทยจะไม่ให้น้ำหนักอเมริกาเท่าเดิม จะทำอย่างไรไม่ทิ้งทั้งอเมริกาและฟากตะวันตก ขณะเดียวกันก็ยอมรับจีนด้วย ตอนนี้ไทยยึดอาเซียนเป็นหลัก พึ่งพิงญี่ปุ่น ร่วมมือกับเกาหลีใต้มากขึ้น ไทยต้องเหยียบเรือหลายแคม เพื่อให้ประเทศเรามีดุลยภาพเดินหน้าได้ทุกทางตามเงื่อนไขสถานการณ์ในอนาคต