อภิมหาอมตะ 'กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง' นิรันด์กาล

อภิมหาอมตะ 'กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง' นิรันด์กาล

การกลับมาของโครงการในตำนาน กับข้อถกเถียงที่(ควร)ไปไกลกว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว

ในที่สุดโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงก็กลับมาเป็นข่าวอีกรอบ นี่เป็นอีกหนึ่งในอภิมหาอมตะนิรันดร์(โครง)การของรัฐที่เงื้อง่า ผลัก-หยุด-ผลัก-หยุดเป็นรอบที่เท่าไหร่ไม่รู้

พยายามค้นกลับไปว่าปีแรกที่มีการเริ่มผลักดันโครงการนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปเจอวาระที่ททท.เสนอเข้าครม.ปี 2539 จะปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภูเก็ต ภูกระดึง โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้า แต่เมื่อค้นๆ ต่อไป โน่นเขาผลักกันมาตั้งแต่ 2525 เพราะภูแห่งนี้เป็นที่รู้จักในความสวยงามสถานที่เหมาะกับการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นศตวรรษ 2500 ด้วยซ้ำไป

ประเด็นการคัดค้านหลัก มองผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการสูญเสียเอกลักษณ์ของเส้นทางเดินขึ้น “ครั้งหนึ่งในชีวิตพิชิตภูกระดึง” ที่หนุ่มสาวใฝ่ฝันอยากจะขึ้นไปสักครั้ง ส่วนฝ่ายอยากได้มองไปที่ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว จะมีผู้คนมาเยือนมากขึ้น แล้วก็พยายามชี้ว่าการสร้างกระเช้ายุคนี้น่ะกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยสุด

ซึ่งวิวาทะ ทำลายสิ่งแวดล้อม v.s. ไม่ทำลายแถมได้ท่องเที่ยว วนกันมา 30 ปีแล้ว สรุปใจความรวม ฝ่ายที่ผลักดันมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว อธิบายว่ากระเช้าทำให้คนทุกเพศวัยขึ้น-ลงได้ภายในวันเดียว ปมที่สำคัญที่จะได้ประโยชน์ที่สุดคือเศรษฐกิจรายได้ ปัจจัยรองลงมาก็เช่นการลดขยะ ลดแออัด การแก้ปัญหานำส่งผู้ป่วยลงไปรักษา ฯลฯ

จริงหรือไม่ที่การท่องเที่ยวคือคำตอบ?

โดยส่วนตัว ผู้เขียนไม่ได้คิดว่ากระเช้าจะทำลายธรรมชาติหรอกนะ แต่ก็ไม่คิดว่าการจะมาสร้างกระเช้าเอาตอนนี้มันจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้จริง

 ก็เพราะโลกเปลี่ยน !

 โดยเฉพาะสภาพการแข่งขันของวงการท่องเที่ยวในต้นศตวรรษ 21 มันเปลี่ยนไปแล้ว

 เมื่อ 40 ปีก่อน กระเช้าไฟฟ้าเป็นของแปลกใหม่ สมัยโน้นสิงคโปร์เพิ่งจะบูมเกาะเซนโตซ่า กระเช้าข้ามทะเลเปิดให้บริการเมื่อ 1974 (2517) ลำพังแค่กระเช้าก็เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนให้ไปทดลองใช้บริการได้ด้วยตัวของมันเอง แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงบัดนี้ ที่ไหนๆ ก็มีกระเช้าไฟฟ้า มันไม่ได้แปลกประหลาดหรือดึงดูดผู้คนอยากไปนั่งเล่น ในทางกลับกันสำหรับๆ หลายๆ คนมันก็แค่พาหนะหนึ่งที่อยากให้ถึงๆ ที่หมายโดยเร็ว ไอ้ความสูง วิวทิวทัศน์จากสายตานกน่ะ ตั๋วเครื่องบินราคาถูกกว่ารถทัวร์มีให้เลือกและน่าสนุกกว่าเป็นกอง

ต้องถามย้ำกันอีกที อะไรคือจุดขายของภูกระดึง ที่คิดว่าสร้างกระเช้าแล้วผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะขับรถไปตีตั๋วนั่งกระเช้าตอนเช้าลงมาตอนบ่าย?

จุดขายของภูกระดึงคือธรรมชาติงดงาม อากาศเย็นสบายบนความสูงตั้งแต่ 400-1,200 เมตร ที่ราบบนนั้นกว้างใหญ่พอได้เดินเหนื่อย มีจุดไปเที่ยวชมหลายจุด แต่ทว่าจุดขายเหล่านั้นก็เหมาะเฉพาะช่วงเช้าและเย็น การจะขึ้นไปดูอะไรข้างบนตอนเที่ยง อาจจะไปได้แค่จุดเดียว เพราะอากาศร้อน จุดชมวิวแต่ละจุดห่างกันและต้องเดิน

การจะเที่ยวชมธรรมชาติภูกระดึงแบบเต็มอิ่มจึงควรจะไปพักแรม ถึงจะสัมผัสภูกระดึงได้เต็มที่ แต่ก็เกิดมีคำถามอีก กระเช้ามาแล้วก็ช่วยผู้ที่จะไปค้างแรมแค่ขนเต๊นท์อุปกรณ์ของตัวเองขึ้นกระเช้า นอนสักคืนเที่ยวสักวันเย็นหอบเต๊นท์ลงกระเช้ามาพื้นราบ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ นักท่องเที่ยวแบกเต็นท์ แบ็คแพ็คเกอร์ที่อยากสัมผัสธรรมชาติจริงๆ เขาคงอยากเดินสัมผัสความเปลี่ยนแปลงของชั้นความสูงตลอดรายทางขึ้นมามากกว่า

อ้าว ! ต้องถามย้ำอีกที แล้วกระเช้าที่ลงทุนนี่จะส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่มไหนล่ะ?

จุดเด่นที่เป็นข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวของภูกระดึงก็คือความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่สร้างอะไรขึ้นมากไม่ได้ ถนนหนทาง อาคารร้านค้า การท่องเที่ยวบนนั้นคือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นสำคัญ ดังนั้นกระเช้าที่จะสร้างก็แค่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ขึ้นไปก็แค่ดูวิว ถ่ายรูป ชื่นชมธรรมชาติ

อยากจะเห็นเอกสารวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนของโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงอย่างยิ่ง เพราะนี่ต่างหากที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญสำหรับการตัดสินใจจะสร้างหรือไม่สร้าง

หากไม่ให้สังคมเสียเวลา รัฐควรต้องเปิดเผยเอกสารการวิเคราะห์ผลตอบแทนดังกล่าว

พ.ศ. 2525 ประเทศไทยกำลังเปิดรับนักท่องเที่ยว มีแคมเปญเวลคัมทูไทยแลนด์ เกิดปีท่องเที่ยวไทยที่ประสบความสำเร็จมากมาย ในยุคนั้นสถานที่เที่ยวไหนๆ ล้วนแต่สดใหม่ และกระเช้าไฟฟ้าก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ ในยุคนั้นลาว เขมร พม่า เวียดนามยังปิดประเทศ คู่แข่งของไทยก็มีแค่สิงคโปร์ที่พยายามสร้าง man-made destination มาแข่ง สวนนกจูร่งเอย หรือต่อมาก็มีไนท์ซาฟารี มาเลเซียนั้นยังไม่มีความคิดเรื่องการท่องเที่ยวเลย เพิ่งจะมาคิดทำในทศวรรษหลังจากนั้น

แต่พ.ศ.นี้ 2562 ต้นศตวรรษที่ 21 ทุกชาติในอาเซียนกำลังแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง แต่ละชาติพยายามหาจุดแข็งของตนมาขาย อะไรที่เป็นข้อดีจากเพื่อนบ้านก็ลอกไปทำใหม่แถมดีกว่าต้นแบบ ลำพังกระเช้าไฟฟ้าเพื่อนั่งดูธรรมชาติสีเขียวๆ แล้วก็ลงมา เป็นสินค้าที่ไม่ได้เปรียบอะไรเลยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มุ่งนักท่องเที่ยวอยากเที่ยวชมวิวทิวทัศน์เป็นการเฉพาะ มิหนำซ้ำกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติตัวจริงก็รังเกียจ เพราะอยากจะเดินขึ้นผจญกับเส้นทางไต่ 9 ก.ม.ให้ได้สักครั้งในชีวิตมากกว่า

ความที่เป็นเขตอนุรักษ์ ดังนั้นภูกระดึงจะไม่สามารถพัฒนาให้เป็นรีสอร์ตหรือสวนสนุกขนาดใหญ่เหมือนกับหลายๆ ประเทศ อย่างเวียดนามก็พัฒนาบาน่าฮิลล์ ภูเขาตากอากาศของชาวฝรั่งเศสให้เป็นรีสอร์ตและสวนสนุกยุคใหม่ มีอาคารย้อนยุคทรงปราสาทยุคกลางเป็นจุดขาย นักท่องเที่ยวมากมายหลั่งไหลขึ้นไปเที่ยว และเขาก็ใช้กระเช้าไฟฟ้าเป็นพาหนะนำขึ้นไป ส่วนที่เกาะลังกาวี อยากกระตุ้นการท่องเที่ยวก็สร้างกระเช้าขึ้นไปดูวิวบนภูเขาสูง แล้วก็ต้องสร้างอาคารจุดชมวิวต่างๆ เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้มันคุ้มค่าการตีตั๋วขึ้นไปสักหน่อยจึงมี Sky Dome, Sky Rex ทางที่สร้างเดินชมภูเขาให้รู้สึกคุ้มค่าขึ้นมา

ผลการศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนจึงควรจะเป็นหัวใจสำคัญของการพิจารณาที่จะสร้างหรือไม่ แทนที่จะเป็นประเด็นเรื่องสร้างแล้วกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่อย่างไร

อย่าให้เกิดกรณีถมลงไปแล้วไม่เต็ม กระเช้าไฟฟ้ากลายเป็นเชื้อของข้ออ้างจะไปก่อสร้างและลงทุนอะไรต่างๆ บนยอดภูเพิ่มเติมขึ้นไปอีก นอกจากสถานีกระเช้าแล้ว ก็จะขยายเพิ่มเป็นอาคารร้านค้า โดยเฉพาะร้านอาคารเพราะกรณีที่หลวงแบบนี้มักจะมีการเซ้งลี้ให้กับพรรคพวกไปเหมาสิทธิ์สัมปทานกันโดยตลอด

โลกมันเปลี่ยนไป การท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป แต่โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ยังไม่เปลี่ยนตาม วันดีคืนดีก็จุดประกายผลักดันขึ้นมา

สามารถเรียกว่า อภิมหาอมตะกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงนิรันดร์กาลได้แล้วกระมัง

 

--------------------------

คอลัมน์ : สมรู้ | ร่วมคิด
กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย วันจันทร์ที่่ 16 ก.ย.62