Gen Z เผชิญความเหงา มีคนรุ่นใหม่เพียง 17% ที่รู้สึกผูกพันกับสังคม

Gen Z เผชิญความเหงา มีคนรุ่นใหม่เพียง 17% ที่รู้สึกผูกพันกับสังคม

วัยทำงานชาว Gen Z ในสหรัฐ ยังเผชิญกับโรคระบาดความเหงา ผลสำรวจจาก Harvard ชี้ ชาวอเมริกันอายุต่ำกว่า 30 ปี เพียง 17% เท่านั้น ที่รู้สึกผูกพันลึกซึ้งกับชุมชน

KEY

POINTS

  • Gen Z กำลังเผชิญกับ "โรคระบาดความเหงา" ในระดับที่น่าตกใจ ผลสำรวจล่าสุดจาก Institute of Politics แห่ง Harvard Kennedy School เผย ชาวอเมริกันที่อายุต่ำกว่า 30 ปี เพียง 17% เท่านั้นที่รายงานว่าตนเองรู้สึก "ผูกพันลึกซึ้งกับชุมชน"
  • กลุ่มตัวอย่าง Gen Z ส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใดๆ เลย และเกือบ 1 ใน 3 กำลังมองหาการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือสังคม
  • ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาซับซ้อนนี้ และนำเสนอวิธีแก้ไข เพื่อช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางสังคมให้กับ Gen Z เช่น ให้ติดต่อหาคน 5 คนในทุกๆ สัปดาห์

 

คนรุ่นใหม่ชาวอเมริกันวัยทำงานกลุ่ม Gen Z กำลังเผชิญหน้ากับ "โรคระบาดความเหงา" ในระดับที่น่าตกใจ ผลสำรวจล่าสุดจาก Institute of Politics แห่ง Harvard Kennedy School เผยตัวเลขที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยพบว่ามีชาวอเมริกันที่อายุต่ำกว่า 30 ปี เพียง 17% เท่านั้นที่รายงานว่าตนเองรู้สึก "ผูกพันลึกซึ้งกับชุมชนอย่างน้อยหนึ่งแห่ง"

นอกจากนี้ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคนรุ่นใหม่ที่รายงานผ่านแบบสำรวจ ว่า ตนเองมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเกือบ 1 ใน 3 ยังคงรู้สึกกำลังมองหาการเป็นส่วนหนึ่ง หรือไม่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งเลย 

โดยผลสำรวจดังกล่าว ได้สำรวจผ่านการสัมภาษณ์วัยทำงานคนรุ่นใหม่ชาวอเมริกันจำนวน 2,096 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 - 29 ปี ทั่วสหรัฐ ซึ่งจากผลสำรวจข้างต้น ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหงาที่กำลังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ในอัตราที่น่ากังวล

โซเชียลมีเดีย-อนาคตที่ไม่แน่นอน ตัวการหลักโรคระบาดความเหงา

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สาเหตุของ "โรคระบาดความเหงา" นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชี้ชัด บางส่วนโทษว่าเป็นผลมาจากโซเชียลมีเดียสำหรับระดับการแยกตัวที่สูงเช่นนี้ ในขณะที่บางส่วนเชื่อว่าเป็นปัญหาเชิงระบบ และเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตที่ไม่แน่นอนมากกว่า

จอห์น เดลลา โวลเป (John Della Volpe) ผู้อำนวยการด้านการสำรวจของ Institute of Politics กล่าวถึงกลุ่มคนรุ่นนี้ว่า "เป็นรุ่นที่ต้องเผชิญกับการแยกตัวโดดเดี่ยวในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งพวกเขาอยู่ในวัยสร้างตัวพอดี แถมยังเติบโตมาท่ามกลางระบบเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง เผชิญกับค่าที่อยู่อาศัยและการศึกษาที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่คนรุ่นก่อนๆ ก็บ่นว่าพวกเขาอ่อนแอ ไม่แข็งแกร่งพอ"

แม้ต้นตอของปัญหาจะไม่ชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญอย่าง แคสเลย์ คิลแลม (Kasley Killam) นักสังคมวิทยาที่จบจากฮาร์วาร์ด ก็ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อเพิ่มความรู้สึกผูกพันทางสังคม ในหนังสือของ Killam ชื่อ "The Art and Science of Connection" เธอแนะนำแนวทาง 5-3-1 ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการสนับสนุนจากการวิจัยสำหรับการรักษาสุขภาพทางสังคม (Social Fitness)

เปิดวิธีแก้ความเหงาให้ Gen Z ด้วยแนวทาง 5-3-1

นักสังคมวิทยาจากฮาร์วาร์ด อธิบายว่า แนวทาง 5-3-1 เปรียบเสมือนการออกกำลังกายทางสังคม สำหรับผู้คนที่อยากร่างกายแข็งแรง การเดิน 10,000 ก้าวก็สามารถช่วยพัฒนาสุขภาพกายได้ ขณะที่การออกกำลังกายทางสังคมก็จะทำให้คนเราเชื่อมปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมได้ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพใจที่แข็งแรงขึ้นได้เช่นกัน โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ 

• ติดต่อพูดคุยกับผู้คน 5 คนที่แตกต่างกันในทุกๆ สัปดาห์

• รักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด (แฟน ครอบครัว เพื่อนสนิท) อย่างน้อย 3 ความสัมพันธ์ ให้คงอยู่เสมอ

• มีการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับคนใกล้ชิดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในทุกๆ วัน (ใช้เวลาร่วมกันแบบเจอหน้ากัน)

คิลแลม เสริมว่า ตัวเลขเหล่านี้อาจสูงหรือต่ำเกินไปสำหรับบางคน แต่โดยทั่วไปแล้ว จากข้อมูลจากการวิจัยเกี่ยวกับปริมาณเวลาและปริมาณความสัมพันธ์ที่ดี ชี้ว่า การทำให้ได้เทียบเท่ากับมาตรฐาน (5-3-1)  ของผู้ที่ 'ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง' ในเรื่องความสัมพันธ์นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเยี่ยม

วิจัยฮาร์วาร์ดเผย ปัจจัย No.1 ช่วยให้อายุยืนยาว+มีความสุข คือ ความสัมพันธ์ที่ดี

สอดคล้องกับงานวิจัยยอดนิยมของฮาร์วาร์ดที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมากว่า 87 ปี ซึ่งได้ติดตามข้อมูลสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมทดลองกว่า 700 คน เพื่อค้นหาสิ่งที่นำไปสู่ชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข

งานวิจัยนี้พบว่า สิ่งสำคัญอันดับ 1 คือ คนที่มีความสุขที่สุดและมีอายุยืนยาวที่สุด มีความสัมพันธ์เชิงบวกและรักษาสุขภาพทางสังคม มาร์ค ชูลซ์ (Marc Schulz) และ โรเบิร์ต วาลดินเจอร์ (Robert Waldinger) ผู้อำนวยการ Harvard Study of Adult Development อธิบายว่าสุขภาพทางสังคมเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีต่อสุขภาพและมีความสมดุล

ชูลซ์ และ วาลดินเจอร์ แนะนำให้ผู้คนมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่แตกต่างกันสำหรับเรื่องราวที่แตกต่างกัน โดยในอุดมคติ ควรมีอย่างน้อยหนึ่งคน หรือมากกว่านั้น ที่สามารถช่วยเสริมสร้างในแต่ละด้านเหล่านี้ได้ นั่นคือ 

1. บุคคลที่ทำให้คุณรู้สึกมีความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety and security)

2. บุคคลที่ทำให้คุณรู้จักการเรียนรู้และการเติบโต (Learning and growth)

3. บุคคลที่คุณให้ความใกล้ชิดทางอารมณ์และการปรับทุกข์ (Emotional closeness and confiding)

4. บุคคลที่ทำให้คุณมีความสัมพันธ์โรแมนติก (Romantic intimacy)

5. บุคคลที่ช่วยคุณยืนยันตัวตนและสร้างประสบการณ์ร่วมกัน (Identity affirmation and shared experience)

6. บุคคลที่ให้ความช่วยเหลือ (ด้านข้อมูลและการปฏิบัติ) (Help - informational and practical)

7. บุคคลที่คุณรู้สึกมีความสนุกสนานและการพักผ่อน (Fun and relaxation)

พวกเขายังแนะนำว่า อย่าให้ความกลัวมาหยุดยั้งคุณจากการก้าวออกไปเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตของคุณ หรือเพื่อพบปะผู้คนใหม่ๆ "ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ละเอียดอ่อน หรือช่วงเวลาแห่งความใส่ใจอย่างเต็มที่ มันไม่สายเกินไปที่จะกระชับความสัมพันธ์ที่มีความหมายต่อคุณให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น"

 

อ้างอิง: CNBC, Harvard.edu, KasleyKillamAdultDevelopmentStudy