Gen Alpha ทำครูปวดหัว สมาธิสั้น ติดไถจอ ขาดแรงจูงใจที่จะเรียน

Gen Alpha ทำครูปวดหัว สมาธิสั้น ติดไถจอ ขาดแรงจูงใจที่จะเรียน

Gen Alpha โตมากับแท็บเล็ต เรียนผ่านวิดีโอสั้น ใช้ AI ทำการบ้าน พวกเขาไม่เหมือนเด็กรุ่นก่อนๆ ต้องปรับระบบการศึกษายังไง เมื่อพวกเขาเริ่มหมดไฟกับการเรียนตั้งแต่ประถม?

KEY

POINTS

  • Gen Alpha มีสมาธิสั้นและหมดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ครูในหลายประเทศสังเกตว่า เด็กยุคนี้จดจ่อกับบทเรียนได้ไม่นาน ขาดแรงผลักดันภายใน และมักไม่อยากเรียนรู้สิ่งที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความสนใจของตัวเอง
  • เด็กรุ่นนี้โตมากับเทคโนโลยี ส่งผลต่อพฤติกรรมในห้องเรียน ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่าเจนก่อนๆ หลายเท่า ทำให้ชินกับข้อมูลที่รวดเร็วทันใจ ไม่ถนัดการคิดเชิงลึกหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาต่อเนื่อง
  • ระบบการศึกษาแบบเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์ ครูจำนวนมากมองว่าหลักสูตรและวิธีการสอนที่มีอยู่ ไม่สามารถดึงดูดหรือพัฒนาเด็กเจนใหม่นี้ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกต่อไป จำเป็นต้องปรับการสอนครั้งใหญ่

เด็ก Gen Alpha (เจนเนอเรชันอัลฟ่า) ที่เกิดตั้งแต่ช่วงปี 2010 - 2020 (อายุราวๆ 5-15 ปี) กำลังเข้าสู่ระบบการศึกษาในยุคที่เปลี่ยนไปอย่างมาก และสร้างความท้าทายใหม่ให้ครูทั่วโลก เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก เด็กรุ่นใหม่จึงเข้าสู่โรงเรียนพร้อมพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเด็กรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลในห้องเรียนมากกว่าที่เคย

ในขณะที่เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มสะดวกและเปิดโอกาสในการเรียนรู้ในยุคนี้มากขึ้น แต่ครูจำนวนไม่น้อยกลับเริ่มตั้งคำถามว่า เด็กรุ่นนี้กำลังเผชิญปัญหาอะไรบางอย่าง เพราะพวกเขาสะท้อนพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยดี ทั้งเรื่องสมาธิสั้น เสพติดการไถถหน้าจอมากเกินไป และขาดความสนใจในการเรียนรู้

ผลการเรียนตกต่ำ สะท้อนปัญหาเชิงระบบ Gen Alpha เรียนแบบ "ไม่อิน" และ "ไม่รับผิดชอบ"

รายงานล่าสุดจาก National Assessment of Educational Progress (NAEP) ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2025 ระบุว่า ทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 4 และมัธยมต้นในหลายรัฐลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดย "เพ็กกี้ คาร์" (Peggy Carr) กรรมาธิการจากศูนย์สถิติการศึกษาของชาติ บอกชัดว่า “ผลลัพธ์การเรียนตกต่ำดังกล่าว แสดงให้เห็นว่านักเรียนในปี 2024 ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น”

เอลิซาเบธ แม็คเฟอร์สัน (Elizabeth McPherson) ที่รู้จักกันในชื่อ “Ms Mac” บน TikTok เล่าว่า บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด “เด็กหลายคนดูเฉยชา ไม่ผูกพันกับการเรียนรู้ของตัวเอง และปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่แรงจูงใจอย่างเดียว แต่มันคือปัญหาเชิงระบบ”

เธอยกตัวอย่างว่า เมื่อเด็กเรียนรู้ว่าการทุ่มเทไม่ใช่ปัจจัยในการเลื่อนชั้น และการขาดเรียนบ่อยๆ ก็ไม่มีผลอะไรกับเกรดของพวกเขา พวกเขาก็เริ่มไม่เห็นความสำคัญของการเข้าเรียนทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ

ในทำนองเดียวกัน แมตต์ ไอเคิลดิงเกอร์ (Matt Eicheldinger) อดีตครูผู้กลายมาเป็นนักเขียนขายดีของ New York Times และนักสร้างคอนเทนต์บน TikTok อธิบายเสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็ก Gen Alpha มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นและไม่มีความผูกพันกับการเรียน ก็คือ การแพร่หลายของสมาร์ตโฟน และการนำอุปกรณ์ เช่น iPad เข้ามาใช้ในโรงเรียน

แม้กลับมาเรียนแบบเจอตัวต่อตัวหลังโควิด-19 แต่เด็กยังเสพติดจอ

เด็กมัธยมต้นคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดจากสมาร์ตโฟน เมื่อโลกโซเชียลเต็มไปด้วยสิ่งเร้า ทำให้เด็กโฟกัสกับการเรียนในห้องได้น้อยลง ปัญหาหลายอย่างเป็นผลมาจากโลกโซเชียล เช่น การกลั่นแกล้งทางโซเชียล ความเครียด และดราม่าต่างๆ สิ่งเหล่านี้ถูกพาเข้ามาในโรงเรียนด้วย ทำให้ครู นักจิตวิทยา และผู้บริหารต้องแบกรับปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน

เกบบ์ แดนเนบริง (Gabe Dannebring) ครูและ TikToker ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน เผยว่า เด็กรุ่น Alpha มีปัญหาเรื่องการโฟกัสอย่างชัดเจน เพราะในเวลาว่าง พวกเขาก็ไถดูหน้าจอแทบตลอดเวลา พอมาเจอการเรียนที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อนานๆ จึงรู้สึกเบื่อหรือไม่มีแรงจูงใจในการเรียน

เขายังเล่าอีกว่า เด็กยุคนี้มีแนวโน้มมีอาการวิตกกังวลสูง จนส่งผลต่อการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก “ผมเห็นเด็กหลายคนเกิดอาการแพนิกเวลาต้องพรีเซนต์หน้าชั้นเรียน ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนในเจนก่อนๆ” 

เทคโนโลยียุคใหม่ เป็นพรหรือคำสาปสำหรับเด็กๆ กันแน่?

แม็คเฟอร์สัน ชี้ว่าเทคโนโลยีมีทั้งด้านดีและด้านลบ เด็กรุ่นนี้มีโอกาสเข้าถึงความรู้มหาศาล แต่มันก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย นั่นคือการเสพติดความพอใจแบบทันที ทำให้พวกเขาไม่สามารถทนกับกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้เวลานาน ความอดทน หรือความพยายามจดจ่อเพื่อเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อดีตครูอย่าง ไอเคิลดิงเกอร์ เล่าว่า ตอนที่โรงเรียนของเขาเริ่มแจก iPad ให้เด็กใช้ เหล่าบรรดาครูต่างคาดหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ ทั้งในแง่การเรียน การสื่อสารกับผู้ปกครอง และมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเสริมบทเรียนด้วย

แต่ผลที่ได้กลับตรงข้าม “เด็กหลายคนติดเกม ติดการไถฟีดหน้าจอ แม้แต่ตอนเรียนยังควบคุมตัวเองไม่ได้เลย” ยิ่งไปกว่านั้น เด็กหลายคนอยู่หน้าจอตลอดทั้งวันในโรงเรียน แล้วยังกลับไปเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตต่ออีก 4-5 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน

แดนเนบริง อธิบายเพิ่มเติมว่า อัลกอริธึมของโซเชียลมีเดียส่งคอนเทนต์ที่ทั้งสนุกและตรงกับความสนใจเฉพาะของแต่ละคน นั่นทำให้การเรียนแบบดั้งเดิอย่าง “การอ่านหรือเขียน” ดูไม่น่าสนใจเท่าสิ่งที่พวกเขาได้จากโซเชียลมีเดีย “ถ้าเด็กเคยชินกับคอนเทนต์ที่เร็ว มีภาพเคลื่อนไหว และมีเรื่องที่เขาสนใจเฉพาะตัว มันทำให้การอ่านบทความธรรมดาย่อมรู้สึกน่าเบื่อ”

อีกทั้งมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นคุณค่าของวิชาพื้นฐาน หากไม่เห็นผลตอบแทนชัดเจน เช่น เงินเดือนหรือประโยชน์ที่ได้รับในทันที ส่งผลให้ “แรงจูงใจจากภายใน” (ความพยายามที่เราจะทำอะไรสักอย่างแม้มันจะยาก) กำลังจางหายไป 

ครู ผู้ปกครอง ควรปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อเข้าใจและเชื่อมต่อกับ Gen Alpha?

แม็คเฟอร์สัน เชื่อว่าต้อง “ฟื้นฟูความรับผิดชอบในการเรียน” และต้องเปลี่ยนวิธีการสอน “เราไม่สามารถใช้วิธีการสอนแบบเดิมกับเด็กเจนใหม่ได้อีกต่อไป ต้องมีการเรียนรู้แบบลงมือทำ ศึกษาจากโลกจริง มีโปรเจกต์ มีการจำลองสถานการณ์ และเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง”

ไอเคิลดิงเกอร์เสนอว่า เด็กควรเรียนรู้การตรวจสอบแหล่งข้อมูลว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันเด็กมักอ้างอิงข้อมูลความรู้ที่พวกเขาสนใจจากวิดีโอยอดฮิต ที่อาจมาจากคนที่ไม่มีความรู้จริง

ขณะที่ แดนเนบริง ชี้ให้เห็นถึงอีกหนึ่งความท้าทายก็คือ AI เขาบอกว่า เด็กบางคนใช้ AI ทำการบ้านหรือทำรายงานแทบทั้งหมด แต่ครูหลายคนยังไม่รู้ตัวเลยว่างานที่ได้มาจาก AI ล้วน ๆ ซึ่งสะท้อนว่าเทคโนโลยีแม้จะช่วยเรียนรู้ได้ แต่ก็เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กไปโดยสิ้นเชิง

ท้ายที่สุดนักวิชาการหลายฝ่ายสรุปว่า การเลี้ยงดูสั่งสอนเด็กยุคนี้ ครู-ผู้ปกครอง คงไม่ต้องถึงขั้นที่จะทิ้งวิธีการสอนแบบดั้งเดิม แต่ต้องรู้จักปรับใช้เทคฯ และวิธีการสอนที่มีอยู่ให้เข้ากับยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากในห้องเรียนเป็นอันดับแรก 

 

 

อ้างอิง: Newsweek, NAEPLliteracyInstitute