Gen Z อยากกลับเข้าออฟฟิศกว่ารุ่นอื่น ได้เรียนรู้ เติบโตในสายงาน

ผลสำรวจเผย 42% ของ Gen Z กระตือรือร้นที่จะกลับเข้าออฟฟิศมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ พวกเขามองว่าทำให้ได้เรียนรู้และเติบโตในสายงาน ได้เข้าสังคม และดีต่อสุขภาพจิตใจ
KEY
POINTS
- 42% ของ Gen Z รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ในขณะที่คนรุ่นก่อนอย่าง Gen X มีเพียง 33% เท่านั้นที่อยากกลับเข้าออฟฟิศตามคำสั่ง RTO
- เหตุผลที่ Gen Z อยากกลับไปทำงานในออฟฟิศมากกว่า เพราะว่าพวกเขาอยากทำงานกับเพื่อนร่วมงาน อยากมีที่ปรึกษา ช่วยให้เรียนรู้ทักษะสำคัญ สร้างเครือข่ายทางอาชีพ
- การทำงานจากบ้านทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาต้องการกลับมาใช้ชีวิตการทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น ทำให้ได้เข้าสังคม
แม้ว่าหลายบริษัทจะมองว่า Gen Z เป็นกลุ่มพนักงานที่ฝึกยาก และความสามารถในการทำงานเป็นทีมแย่กว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่ผลสำรวจล่าสุดกลับพบว่า คนรุ่นนี้มีแนวโน้มอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าที่หลายคนคาดคิด
ยืนยันจากผลสำรวจของ FTI Consulting พบว่า 42% ของพนักงาน Gen Z บอกว่าพวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ และอีก 33% ก็เปิดรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ในขณะที่คนรุ่นก่อนอย่าง Gen X มีเพียง 33% ที่ตื่นเต้นในการกลับเข้าออฟฟิศ และมีเพียง 25% เท่านั้นที่ยอมรับการกลับมาออฟฟิศได้
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Gen Z เปิดรับการกลับไปทำงานในออฟฟิศมากกว่าคนรุ่นก่อน อาจเป็นเพราะพวกเขายังอยู่ในช่วงต้นของอาชีพการงาน ซึ่งการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานและที่ปรึกษาทางอาชีพ ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ทักษะสำคัญและสร้างเครือข่ายได้เร็วกว่าการทำงานจากระยะไกล
นอกจากนี้ คนรุ่นนี้ยังมองว่าการทำงานจากบ้านยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาต้องการกลับมาใช้ชีวิตการทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น ทำให้ได้เข้าสังคม ได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า
เปิดประสบการณ์วัยทำงาน Gen Z การทำงานที่ออฟฟิศมีข้อดี
เพจ ไคลีย์ แม็กซ์เวลล์ (Paige Kylie Maxwell) นักสังคมสงเคราะห์วัย 28 ปีจากออสติน รัฐเท็กซัส เคยทำงานแบบ work from home ระหว่างปี 2022-2024 และเธอยอมรับว่ามันให้อิสระมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมและสุขภาพจิตของเธอ
"ตอนทำงานที่บ้านมันก็ดีนะ ฉันมีอิสระมากขึ้น แต่พอนานเข้า ฉันเริ่มกลายเป็นคนที่ไม่อยากออกจากบ้าน ฉันไม่ค่อยเจอใครนอกจากเพื่อนกลุ่มเดิม และนั่นทำให้ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น" เธอเล่า
เมื่อเธอกลับมาทำงานที่ออฟฟิศในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะต้องใช้เวลาปรับตัว แต่เธอก็รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะช่วยให้เธอมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้น และสุขภาพจิตของเธอก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในทำนองเดียวกัน จูเลีย เยตส์ (Julia Yates) ที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคคล วัย 26 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในนิวยอร์กบอกว่า เธอชอบทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า เพราะมันช่วยให้เธอเรียนรู้และเติบโตในอาชีพได้เร็วขึ้น
"ฉันคิดว่าการทำงานที่ออฟฟิศเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการพัฒนาอาชีพ คุณได้เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่นและซึมซับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่ง Gen Z หลายคนก็เข้าใจว่าพวกเขาต้องการสิ่งนี้ ต่างจาก Gen X ที่มีประสบการณ์มากแล้วและไม่ต้องการการพัฒนาในระดับเดียวกัน"
คำสั่ง Return to Office (RTO) ส่งผลกระทบต่อกำลังคนของบริษัท
หลังยุคโควิด หลายบริษัทเริ่มออกมาตรการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ (RTO) ซึ่งนำไปสู่เสียงคัดค้านจากพนักงานบางส่วน และเร่งอัตราการลาออกที่เพิ่มขึ้น ตามผลสำรวจข้างต้นรายงานด้วยว่า 74% ของพนักงานที่ทำงานจากบ้านเต็มรูปแบบ และ 62% ของพนักงานที่ทำงานแบบไฮบริด บอกว่า พวกเขามีแนวโน้มจะหางานใหม่ หากถูกบังคับให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา
สำหรับกลุ่มผู้ที่ทำงานทางไกลในปัจจุบัน 88% ชี้ว่าพวกเขายินดีที่จะทำงานในออฟฟิศอย่างน้อยบางช่วงของสัปดาห์ โดย 33% ระบุว่ายอมรับการเข้าออฟฟิศได้ไม่เกิน 2 วันต่อสัปดาห์ และ 29% ระบุว่าเข้าออฟฟิศได้ 3-4 วันต่อสัปดาห์ มีเพียง 12% ของพนักงานที่ทำงานทางไกล ที่ไม่เต็มใจที่จะเข้ามาที่ออฟฟิศเลย
ที่น่าสังเกตคือ ปัจจัยด้านการจ้างงานที่สำคัญ 3 อันดับแรกที่มักถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ได้แก่ เงินเดือนและสวัสดิการ (73%) การเพลิดเพลินกับงาน (56%) และสวัสดิการด้านสุขภาพ (50%)
อย่างไรก็ตาม สำหรับพนักงาน Gen Z ปัญหานี้อาจไม่รุนแรงเท่ากับพนักงานรุ่นก่อนๆ เนื่องจากพวกเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นอาชีพ และมองว่าออฟฟิศเป็นสถานที่ที่ให้โอกาสในการพัฒนา มากกว่าจะมองว่าการเดินทางมาที่ทำงานเป็นภาระ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ เงื่อนไขชีวิตวัยทำงานแต่ละรุ่นแตกต่างกัน ความต้องการสถานที่ทำงานจึงต่างกันไปด้วย
ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ไบรอัน ดริสโคลล์ (Bryan Driscoll) ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ให้ความเห็นว่า การที่ Gen Z ยอมรับการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ได้เพียงเพราะพวกเขาต้องการร่วมงานกับเพื่อนร่วมทีม หรือพัฒนาอาชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือ การทำงานที่บ้านมักทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มั่นคง และค่าตอบแทนต่ำ (บางบริษัทให้เงินเดือนคนที่ WFH น้อยกว่าคนที่เข้าออฟฟิศ)
ขณะที่ เควิน ทอมป์สัน (Kevin Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและซีอีโอของ 9i Capital Group มองว่า Gen Z มีปัจจัยรบกวนและภาระชีวิตที่น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ จึงอาจไม่เป็นปัญหามากนักหากกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศ "คนรุ่นนี้ยังโสดกันเยอะ ไม่มีภาระทางครอบครัวมากนัก และสามารถย้ายที่อยู่เพื่อโอกาสงานที่ดีกว่า ต่างจากคนรุ่นเก่าที่มีลูกหรือภาระอื่น ๆ ทำให้การทำงานจากบ้านเป็นสิ่งจำเป็น"
สอดคล้องกับความเห็นของ นาตาลี อี. นอร์ฟัส (Natalie E. Norfus) ที่ปรึกษาด้าน HR และผู้ก่อตั้ง The Norfus Firm เธอเสริมว่า Gen Z ยังอยู่ในช่วงสร้างอาชีพ พวกเขาต้องการการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว การสร้างเครือข่าย และการมีตัวตนในที่ทำงาน ต่างจาก Gen X ที่มีประสบการณ์มากพอและมีทีมสนับสนุนอยู่แล้ว จึงทำงานที่บ้านได้โดยราบรื่น
ท้ายที่สุดแล้ว การกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศอาจไม่ใช่กับดักเสมอไป สำหรับวัยทำงานบางกลุ่มถือว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสในการเติบโตทางอาชีพของพวกเขา เนื่องจากการทำงานจากบ้านไม่ได้เป็นประสบการณ์ที่ดีเสมอไป พนักงานรุ่นเก่ามีเวลาหลายปีในการสร้างเครือข่ายและพัฒนาอาชีพ ก่อนที่ WFH จะแพร่หลาย แต่ Gen Z ไม่มีช่วงเวลาให้ได้พัฒนาสิ่งเหล่านั้นเลย
"ถ้าทั้งงานของคุณอยู่แต่ในหน้าจอ ไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีวัฒนธรรมองค์กร และไม่มีเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานที่ใส่ใจคุณเลย ออฟฟิศอาจไม่ได้เป็นกับดักของผลิตภาพ แต่เป็นที่พึ่งพาทางสังคม ตอบโจทย์พวกเขาได้ในแง่ความมั่นคง คำแนะนำที่ดี และโอกาสเติบโตในสายงาน" ดริสคอลล์ อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน
อ้างอิง: Newsweek, FTI Consulting