"ใหม่กว่า" มิจำต้อง "เหนือกว่า" สิ่งเก่า

มนุษย์มักคิดเป็นเส้นตรง โดยเห็นว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปมนุษย์มีพัฒนาการสูงขึ้น “สิ่งใหม่” ก็จะมาแทนของเก่า และเมื่อ “ใหม่กว่า” มันก็ต้อง “เหนือกว่า” “ดีกว่า” เสมอดังนี้เรื่อยไป
วันนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องจริงสัก 3 เรื่องมาเล่าสู่กันฟังเพื่อหักล้างความเชื่อนี้
เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีหน้าตาและการเดินเหินเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเรามีชื่อว่า Homo Sapiens ซึ่งปรากฏตัวเมื่อประมาณ 200,000 ปีก่อน ใช้หลายสิ่งในการดำเนินชีวิตซึ่งสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
และหลายสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็น “สิ่งใหม่” และก็กลายเป็น “สิ่งเก่า” จนหายไปและก็ปรากฏตัวอีกครั้งเป็น “สิ่งใหม่” ดังนั้น การเป็นเส้นตรงซึ่งหมายถึงมี “สิ่งใหม่” ที่ “เหนือกว่าเก่า” เกิดขึ้นเสมออย่างต่อเนื่องไปจึงไม่เป็นความจริง
สิ่งคลาสสิกที่มนุษย์ใช้มาตลอดจนถึงวันนี้ก็ได้แก่ ไฟ ล้อ การเขียน เครื่องมือในการซ่อมแซม เครื่องมือในการประกอบการเกษตร การใช้เงินหรือสิ่งของเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน กระจก แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มหมักดอง ฯลฯ
ส่วน “สิ่งเก่า” ที่หายไปเเละวนกลับมาเป็น “สิ่งใหม่” ในปัจจุบัน ได้แก่ รถไฟฟ้า (มีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20) รถจักรยาน ยาจากสมุนไพร พลังงานความร้อนพลังแสงอาทิตย์และพลังลมผลิตไฟฟ้า แผ่นเสียงไวนิล ฯลฯ
เรื่องแรกคือ เรื่องเครื่องบินโดยสารที่บินเร็วกว่าเสียงที่มีชื่อว่า Concorde ในทศวรรษ 70 ผู้คนตื่นเต้นมากเพราะมันช่วยตัดชั่วโมงเดินทางไปครึ่งหนึ่ง และบอกว่านี่คืออนาคตของการเดินทางทางอากาศของโลก
แต่ผลิตมา 20 ลำ และใช้บินพาณิชย์เพียง 14 ลำก็จอดเเบบไม่ต้องแจว ม้วนเสื่อไปในปี 2546 หลังจากเกิดอุบัติเหตุตอนบินขึ้นจากสนามบินในปารีสในปี 2543 มีผู้โดยสารเสียชีวิต 113 คน
สาเหตุที่ “ใหม่กว่า” แต่ไม่ “เหนือกว่า” ก็เพราะมีต้นทุนการดูแลสูงกินเชื้อเพลิง 4 เท่าของเครื่องบินเจ็ทปกติต่อผู้โดยสารหนึ่งคน จนทำให้ค่าตั๋วแพงกว่าเกือบสิบเท่า จนทำให้มีผู้โดยสารที่รวยจริงเท่านั้นที่ใช้บริการ
นอกจากนี้มีเส้นทางจำกัดอีกด้วยเพราะมันส่งเสียงดังมาก การบินเร็วกว่าเสียงนั้นเมื่อถึงจุดที่มันเร็วกว่าเสียงก็จะมีเสียงดังเหมือนระเบิดที่เรียกว่า Sonic Boom จนหลายเมืองมิให้บินข้าม ดังนั้นจึงต้องเป็นเส้นทางบินเหนือมหาสมุทร
เช่น บินระหว่างลอนดอนและนิวยอร์กข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้สถานะการเงินของสายการบินย่ำแย่ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9-11 ขึ้นในปี 2544 ผู้คนบินกันน้อยลงกว่าเก่ามากและเมื่อถูกซ้ำเติมด้วยอุบัติเหตุที่ปารีส
แถมเครื่องบินเจ็ทแบบปกติมีประสิทธิภาพมากขึ้น กินเชื้อเพลิงน้อยลง Concorde ก็จบลงแบบไม่มีใครคิดถึงมันอีก
เรื่องที่สองคือ ไอเดียเรื่องสำนักงานชนิด paperless (ไม่มีการใช้กระดาษ) ซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 70 เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลก่อตัวขึ้น ผู้คนคิดว่าต่อนี้ไปสำนักงานทั้งหมดจะเลิกใช้กระดาษ ทุกอย่างจะเป็นดิจิทัลทั้งหมด หนังสือก็จะสูญพันธุ์เพราะล้าสมัย กระดาษจะไม่มีใครต้องการอีกต่อไป
อย่างไรก็ดีตลอดทศวรรษ 80 และ 90 ก็ยังไม่เห็นมีสำนักงาน paperless เกิดขึ้นดังคาดและแม้จนถึงปัจจุบันโลกกลายเป็นไฮบริดคือใช้ดิจิทัลและกระดาษปนกัน
มีหลายสาเหตุที่ทำให้มันไม่เกิดขึ้นจริง ถึงแม้เทคโนโลยีไอทีจะก้าวไปไกลยิ่งขึ้นทุกทีก็ตาม ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมาโลกบริโภคกระดาษเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว และคาดว่าจากที่ใช้กัน 420 ล้านตันทั้งโลกในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 476 ล้านตันในปี 2575
สาเหตุที่ “ใหม่” มาแทน “เก่า” ไม่ได้ทั้งหมดก็เป็นเพราะ
(ก) เทคโนโลยีปริ้นเตอร์ก็ก้าวหน้าเช่นกัน พิมพ์เร็วขึ้นมาก คุณภาพดีขึ้น และต้นทุนการพิมพ์ลดต่ำลง
(ข) เอกสารและหลักฐานทางกฎหมายของภาครัฐและเอกชนก็ยังจำเป็นต้องเป็นกระดาษอยู่ดี (สมุดฝากเงินนิยมเป็นกระดาษโดยไม่ใช้ดิจิทัล ใบปริญญา สัญญา ใบรับรอง)
(ค) การต้มตุ๋นหลอกลวงในปัจจุบันทำให้ไว้ใจกระดาษมากขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าอยู่ดีๆ ตัวเลขฝากเงินในรูปแบบดิจิทัลบัญชีอาจหายไปได้
(ง) ธรรมชาติมนุษย์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยสรุปโลกจึงไม่มีสำนักงานที่ paperless มีแต่ less paper เท่านั้น
เรื่องที่สาม มาจากงานวิจัยของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งมีผู้นำมาเขียนต่อในนิตยสาร Psychology Today (Christopher Berglandฉบับ March 19, 2021) โดยพบว่าการเขียนลงบนกระดาษซึ่งเป็นเรื่องเก่า มีความเหนือกว่าการบันทึกข้อมูลลง tablet และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเรื่องสมัยใหม่
ผู้วิจัยแบ่งนักศึกษาญี่ปุ่น 48 คนออกเป็นกลุ่มที่จดบันทึกบนสมุดนัดเวลาด้วยมือตามวิธีเก่า และกลุ่มที่บันทึกข้อมูลแบบดิจิทัล โดยทั้งสองกลุ่มใช้ข้อมูลเดียวกันที่ซับซ้อนพอควร เพราะมีทั้งวันนัดสอบ กำหนดส่งการบ้าน ตารางเรียน ฯลฯ ของเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
สิ่งที่พบก็คือกลุ่มดั้งเดิมกระทำได้เร็วกว่าและแม่นยำกว่า หลังจากนั้นก็ให้ตอบคำถามที่ลงรายละเอียดเพื่อทดสอบความจำว่าทั้งสองกลุ่มมีความจำแตกต่างกันหรือไม่ โดยวัดคลื่นสมองพร้อมไปด้วย
นักวิจัยใช้ fMRI เป็นเครื่องมือวัดการไหลเวียนของเลือดในสมอง เมื่อสมองส่วนที่รับผิดชอบความจำ ความรู้สึก การคิดวิเคราะห์ การเคลื่อนไหว ฯลฯ มีความคึกคักขึ้นก็ต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เลือดก็จะไหลไปบริเวณนั้นเป็นพิเศษ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าการจดบันทึกด้วยมือทำให้นึกถึงข้อมูลหรือความจำได้ดีกว่า
เขาจึงสรุปว่าการจดบันทึกลงบนกระดาษทำให้เกิด 4 ข้อนี้ขึ้นคือ
(1) สามารถจดบันทึกได้เร็วขึ้น
(2) ทำให้เกิดบันทึกที่เป็นส่วนตัวไม่เหมือนใคร กล่าวคือสามารถทำเครื่องหมายด้วยสี ต่าง ๆ เครื่องหมายต่าง ๆ เขียนโน้ตย่อประกอบ ใช้กระดาษปิดมีกาว (Post It) ประกอบ ซึ่งช่วยความจำได้เป็นอย่างดี
(3) การเขียนทำให้สมองหลายส่วนทำงานมากกว่า
(4) ช่วยทำให้จำได้ดีกว่า ประโยคสำคัญที่นักเรียนนักศึกษาที่มักชื่นชมของใหม่ว่า “เหนือกว่า” ควรรับฟังก็คือ “ควรใช้การจดลงบนกระดาษสำหรับข้อมูลที่เราต้องการเอาไปเรียนรู้และจดจำ”
“สิ่งใหม่” ในวันนี้จะกลายเป็น “สิ่งเก่า” ในอนาคต เเละอาจกลับมาเป็น “สิ่งใหม่” อีกครั้งกลับไปกลับมาจนทำให้การปรับตัวอย่างคล่องตัวสำหรับทุกคนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในทุกโอกาสอย่าลืมว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์” นะครับ.