ลดคนอย่างไรให้ได้งาน | เส้นทางแห่งผู้นำ

กลยุทธ์ของหลายๆ องค์กรในโลกคือ การลดตำแหน่ง “ผู้จัดการ” นอกจากลดงบประมาณการจ้างคนที่มีฐานเิงนเดือนสูงแล้ว ก็เพิ่มงานให้หัวหน้าคนอื่นๆ ต้องดูแลลูกน้องเพิ่มขึ้น แต่ยังมีวิธีที่แม้ลดคนก็ยังคงได้งานที่มีประสิทธิภาพอยู่ด้วย
คุยกันต่อเรื่อง Rapid, Unpredictable, Paradoxical, and Tangled (RUPT) ใครจะคิดว่าตอนนี้กลยุทธ์ของหลายๆ องค์กรในโลกคือ การลดตำแหน่ง “ผู้จัดการ”
นิตยสาร Entrepreneur.com เขียนบทความถึงการปรับโครงสร้างของบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Amazon ซึ่งประกาศว่าภายในไตรมาสแรกของปีใหม่นี้ จะลดจำนวนผู้จัดการ Middle Managers ในอย่างมีนัยสำคัญ คำนวณไว้ว่ามีถึง 13,834 ตำแหน่ง โห…
ถ้าคิดเป็นจำนวนเงิน ก็ยิ่งเป็นตัวเลขน่าตื่นใจ นั่นคือจะประหยัดงบบริษัทไปได้ถึง 2,100 – 3,600 ล้านดอลลาร์ Amazon CEO Andy Jassy บอกว่า การปรับลดชั้นการทำงานนี้ มีเป้าหมายเพิ่มอัตราพนักงานต่อหัวหน้าขึ้นอย่างน้อย 15% ภายในไตรมาสแรกของปีนี้
สมัยผมทำงานเป็นที่ปรึกษาฯ เราเคยมีสูตรว่า จำนวนคนที่หัวหน้าดูแลไม่ควรเกิน 8-10 คน แต่ต่อจากนี้ เราอาจเห็นตัวอย่างหัวหน้าหนึ่งคนต่อลูกน้องหลายสิบคน หรือเป็นร้อยก็ได้
ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งกล่าวกับผมเมื่อเร็วๆ นี้อย่างน่าสนใจ “ถ้าให้พี่เลือกได้ คนที่พี่จะเลือกให้ออกก่อนก็คือผู้จัดการ เพราะงานที่พวกเค้าทำ พี่ทำแทนได้ แต่พี่จะไม่เอาคนหน้างานออก เพราะนั่นคืองานที่ผู้บริหารอย่างพี่ลงไปทำเองไม่ได้” อือม์... น่าคิด
ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
1. ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น Why is this happening? การลดตำแหน่งผู้จัดการมีแรงจูงใจหลักสองสามอย่าง เรื่องแรกก็ไม่พ้นเรื่องเงิน เพราะผู้จัดการย่อมได้เงินเดือนสูงกว่าลูกน้อง หายไปคนเดียวประหยัดไปเท่ากับคนในทีมหลายหัว เรื่องที่สองคือความคลุมเครือของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ผู้บริหารประเทศไหนก็ย่อมปวดหัวว่าจะเอาไงดี ตะวันตกก็ไม่เริ่ม ตะวันออกก็ไม่รุ่ง จีน อินเดีย เหนื่อยทั้งนั้น ขนาดอเมริกาว่ารักกันเหนียวแน่นกับเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ยังจู่ๆ จะมาประกาศกำแพงภาษีซะงั้น ส่วนข้อสามคือการลดขั้นตอนการทำงาน ในเมื่อทำงานจากบ้าน Work from home ได้ ก็น่าจะทำงานแบบ Work without boss ได้
2. ความท้าทายที่จะตามมา The challenges that follow แม้ว่าเนื้องานอาจจะเดินไปได้ แต่ปัจจัยหลักที่ต้องคิดก็คือจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการบริหารคน ในทีมหัวหน้าหนึ่งลูกน้องร้อยจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งผู้นำหลายคนบอกว่า เด็กรุ่นใหม่ดูแลยาก ให้เงินเดือนอย่างเดียวไม่พอ ต้องได้ใจจึงจะได้งาน แล้วใครจะไปมีเวลาคุยกับคนเป็นร้อย อย่าลืมว่าถ้าไม่มี Middle Manager คนที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนย่อมเป็นระดับ Director ซึ่งท่านเหล่านี้ปกติงานก็รัดตัวภารกิจล้นหลามอยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาไล่คุยกับคนในทีม
3. ปัญหาการสื่อสาร Communication is critical “P” ใน RUPT คือ Paradoxical แปลว่าสถานการณ์อันย้อนแย้ง เช่นการสื่อสารนี่แหละ เทคโนโลยีอาจทำให้เราสื่อสารกันง่ายขึ้นบ่อยขึ้น เช่นการส่งอีเมล การส่งแชต กระทั่งการประชุมออนไลน์ หากการสื่อสารด้วยแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นการสื่อสารที่ดีเสมอไป มนุษย์ยังต้องการพูดคุยแบบเปิดใจ ยิ่งผู้นำยิ่งต้องสามารถซื้อใจซื้อความรู้สึกจากการจับเข่าคุยกับคนของตน แต่จะไปเอาเวลาที่ไหน ปัจจุบันแค่จะให้ผู้จัดการคนหนึ่งคุยกับลูกน้องสิบคนให้ทั่วก็ยังยาก แล้วผู้บริหารควรทำอย่างไรหากมีลูกน้องเป็นร้อย?
ทางออกของสมการนี้คือการผสมผสานเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยของผู้นำ เครื่องมือเหล่านี้สามารถทำให้ผู้นำทีมสามารถสอดส่องดูแลเป็นไปของลูกทีมทุกคนได้ดีโดยไม่ต้องใช้เวลามาก โฟกัสเฉพาะจุด 20% ที่ส่งผลต่อการทำงานของทีม 80% และ A.I. จะช่วยให้คำแนะนำเสมือนมี Mentor ส่วนตัวในการรับมือกับสถานการณ์ด้านคนต่างๆ
Augmented Leadership จะช่วยทำให้องค์กรของคุณลดคนโดยได้งานครับ!