คนข้ามเพศ 65% ในสิงคโปร์โดนเหยียดแรงในที่ทำงาน ทั้งที่มีกฎหมายคุ้มครอง

แม้สิงคโปร์จะผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน แต่ก็พบว่าในการบังคับใช้ยังไม่ครอบคลุมถถึงกลุ่มพนักงานคนข้ามเพศและ LGBTQ+ ซึ่งอาจไม่มีที่ยืนในสังคมการทำงาน
KEY
POINTS
- ปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานยังคงเกิดกับพนักงานข้ามเพศในสิงคโปร์ พวกเขาเผชิญกับการกดดัน และการดูถูกจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ
- งานวิจัยเผย คนข้ามเพศ 65% เคยเผชิญเหตุการณ์เชิงลบในที่ทำงาน ทั้งๆ ที่สิงคโปร์มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจากการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน แต่การบังคับใช้ยังไม่คุ้มครองครอบคลุมไปถึงคนข้ามเพศ
- เมื่อกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการคุ้มครองเฉพาะสำหรับบุคคลข้ามเพศและ LGBTQ+ ทำให้พวกเขายังคงต้องพึ่งพากระบวนการร้องเรียนที่ไม่เป็นความลับ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการบังคับใช้
ประเทศที่ก้าวหน้าทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีอย่างสิงคโปร์ ยังคงประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน โดยมีรายงานว่ายังคงพบการเหยียดเพศ อายุ และเชื้อชาติของพนักงานในหลายๆ บริษัท แม้ว่าล่าสุดสิงคโปร์เพิ่งจะผ่านร่างกฎหมายใหม่ในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานก็ตาม
เปิดตัวอย่างเคสของ ซาราห์ (นามสมมติ) หญิงข้ามเพศวัย 29 ปี ซึ่งทำงานที่บริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง เธอโดนเหยียดเพศอย่างรุนแรงในที่ทำงาน หลังจากที่แจ้งหัวหน้างานว่าเธอกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นผู้หญิง แต่เธอกลับถูกตอบสนองในทันทีด้วยการใช้คำพูดหยาบคายและถูกถามว่าเธอได้ตัดอวัยวะเพศของตนเองหรือไม่
อีกทั้งหัวหน้ายังสั่งให้เปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอกเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ไม่ได้กำหนดไว้สำหรับพนักงานคนอื่นๆ เช่น ต้องสวมเสื้อของบริษัทและกางเกงวอร์มเท่านั้น ให้ลบสีเล็บที่ทำมา และตัดผมสั้น ทั้งที่ไม่มีกฎการแต่งกายเช่นนี้สำหรับเพื่อนร่วมงานคนอื่น
แม้ซาราห์จะร้องเรียนปัญหานี้ต่อพันธมิตรไตรภาคีเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรมและก้าวหน้า (TAFEP) แต่เธอกลับต้องยุติเรื่องดังกล่าวเมื่อพบว่า การร้องเรียนของเธอจะไม่เป็นความลับ ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เธอเล่าความในใจว่า “ไม่มี LGBTQ+ คนใดที่อยากเปิดเผยเคสของตนเองสู่สาธารณะ นอกจากจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เราอยากมีงานทำ ไม่อยากโดนเหยียดเพศ แต่บริษัทกลับถูกลงโทษเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
65% ของ LGBTQ+ ในสิงคโปร์ ยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
จากการศึกษาล่าสุดของคณะสาธารณสุขศาสตร์ Saw Swee Hock แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) องค์กรการกุศล Transbefrienders และองค์กรพัฒนาเอกชน TransgenderSG พบว่า 65% ของคนข้ามเพศในสิงคโปร์เคยโดนเหยียดเพศและเจอประสบกับเหตุการณ์เชิงลบในที่ทำงาน รวมถึงการคุกคามและการใช้วาจาทำร้าย ขณะที่ 36% ถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา
การศึกษานี้จัดทำขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิงหาคมปี 2024 และได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2025 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหวังว่ากฎหมายใหม่ที่มุ่งต่อต้านการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานจะช่วยลดปัญหานี้ลง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว สิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน โดยกำหนดให้บริษัทที่มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติต้องเสียค่าปรับสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1,240,000 บาท) สำหรับความผิดครั้งแรก และ 250,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 6,230,000 บาท) สำหรับการกระทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลตามรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ
กฎหมายใหม่นี้ ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้ในปี 2569 หรือ 2570 เป็นการยกระดับจากแนวทางของไตรภาคีปัจจุบัน หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว กระทรวงแรงงานอาจดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม เช่น การจำกัดสิทธิพิเศษของบริษัทนั้นๆ ในการขอใบอนุญาตทำงานแก่ลูกจ้างชาวต่างชาติ
ทำไมยังมีข้อจำกัดของกฎหมายฉบับนี้ ที่ยังคงไม่ครอบคลุมวัยทำงานข้ามเพศ
ตัน ซี เลง (Tan See Leng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวเน้นไปที่ประเด็นหลักที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด โดยร้อยละ 95 ของกรณีที่ถูกร้องเรียนอยู่ในขอบเขตของกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเนื่องจากรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศยังสามารถยื่นเรื่องต่อ TAFEP ได้
เขาเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานในทุกรูปแบบ รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล LGBTQ+ ด้วย และกรณีดังกล่าวจะยังคงได้รับการคุ้มครองภายใต้แนวทางไตรภาคี
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกตั้งคำถามว่า "เหตุใดรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจึงไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใหม่ แต่ได้รับการคุ้มครองเพียงภายใต้แนวทางเท่านั้น" รมว.แรงงาน ก็ให้คำอธิบายว่า กฎหมายใหม่นี้ยังต้องการเวลาในการปรับปรุงเพิ่มเติม และพัฒนารายละเอียดให้ครอบคลุมมากขึ้น และเมื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมได้ครบถ้วน ก็จะสามารถขยายขอบเขตการคุ้มครองได้
“…นี่เป็นแนวทางที่รอบคอบและสอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมในปัจจุบัน และเป็นวิธีที่เราสามารถก้าวไปข้างหน้าต่อได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้คำมั่น
ภาคอุตสาหกรรมเผชิญกับความท้าทายในการจ้างงานคนข้ามเพศ
ฮารีนเดอร์ปาล ซิงห์ (Hareenderpal Singh) กรรมการผู้จัดการของ HRS Security Services ยอมรับว่าอุตสาหกรรมรักษาความปลอดภัย รวมถึงอีกหลายๆ อุตสาหกรรม ยังคงมีอคติกับพนักงานข้ามเพศ องค์กรเองก็เผชิญกับความท้าทายในการจ้างงานคนข้ามเพศ เนื่องจากพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยในอุตสาหกรรมมาโดยตลอด แต่ซิงห์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอนาคต
เขาเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารกำหนดทิศทางที่ถูกต้องและดำเนินนโยบายที่จะช่วยให้พนักงานข้ามเพศไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ในขณะที่ยอมรับว่าอคติบางอย่างจะยังคงมีอยู่ในระดับบุคคล
“มันต้องใช้เวลา โลกกำลังเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้างมากขึ้น คนรุ่นเก่าในบริษัทรักษาความปลอดภัยหลายแห่งกำลังเกษียณออกไปจำนวนมาก และคนหนุ่มสาวกำลังเข้ามาแทนที่ กรอบความคิดจะเปลี่ยนไป” ซิงห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเหรัญญิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมหน่วยงานรักษาความปลอดภัย อธิบายภาพรวมให้เห็นชัดเจนขึ้น
ซิงห์สังเกตว่าแม้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศจะไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างชัดเจนภายใต้กฎหมาย แต่บริษัทต่างๆ จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่เลือกปฏิบัติต่อลักษณะใดๆ เขามองว่าพนักงานทุกเพศทุกวัยสมควรได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาได้รับความเคารพ และได้รับการยอมรับในตัวตนของพวกเขา การสร้างวัฒนธรรมที่ให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในชีวิตของพนักงานข้ามเพศ
แนวโน้มในอนาคตต่อการป้องกันการเหยียดเพศในที่ทำงาน
ผลการศึกษาล่าสุดยังพบว่า 85.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ใช่คนข้ามเพศ เห็นด้วยว่า กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติของสิงคโปร์ควรรวมอัตลักษณ์ทางเพศเป็นลักษณะที่ได้รับการคุ้มครองด้วย ขณะที่ 92.4% เชื่อว่าบริษัทไม่ควรมีสิทธิ์เลิกจ้างหรือปฏิเสธการจ้างงานบุคคลข้ามเพศเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา
เรย์เนอร์ ตัน (Rayner Tan) รองศาสตราจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ จาก NUS และหนึ่งในนักวิจัยของการศึกษาดังกล่าว เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจในสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
“การส่งเสริมความเข้าใจและการรักษาศักดิ์ศรีของบุคคลข้ามเพศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสังคมที่ครอบคลุมและยุติธรรม” เขาย้ำเตือนทิ้งท้ายในที่สุด